เกษียร เตชะพีระ | ประชานิยมฝ่ายซ้าย : ที่มาและทรรศนะ

เกษียร เตชะพีระ

ประชานิยมฝ่ายซ้าย : ที่มาและทรรศนะ (1)

ชองตาล มูฟ เจ้าแม่ประชานิยมฝ่ายซ้ายในปัจจุบัน เป็นนักทฤษฎีการเมืองชาวเบลเยียมและศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเวสต์มินสเตอร์ ประเทศอังกฤษ

เธอเคยเยือนสอนตามมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั้งในยุโรป ละตินอเมริกา และสหรัฐอเมริกา

ผลงานโด่งดังที่สุดของเธอซึ่งเขียนร่วมกับเออร์เนสโต ลาคลาว คู่ชีวิตผู้ล่วงลับ ได้แก่ Hegemony and Socialist Strategy : Towards a Radical Democratic Politics (อำนาจนำกับยุทธศาสตร์สังคมนิยม : สู่การเมืองประชาธิปไตยแบบถึงรากถึงโคน, ค.ศ.1985) รวมทั้งการอ่านตีความเชิงวิพากษ์งานของคาร์ล ชมิตต์ นักทฤษฎีการเมืองเยอรมัน

เมื่อเดือนกันยายนศกก่อน มูฟได้สนทนาเรื่องที่มาและทรรศนะของแนวคิดประชานิยมฝ่ายซ้ายกับโรสแมรี่ เบคเลอร์ บรรณาธิการหลักของเว็บไซต์ openDemocracy และสมาชิกคณะกรรมการประสานงานของ DiEM25 หรือ Democracy in Europe Movement 2025 (ขบวนการประชาธิปไตยในยุโรปปี 2025)

บทสนทนาของทั้งสองครอบคลุมประเด็นการผงาดขึ้นของประชานิยมฝ่ายขวาในยุโรปและอเมริกานับแต่ ค.ศ.2000 เป็นต้นมา นัยที่ปรากฏการณ์ดังกล่าวบ่งบอกเกี่ยวกับระบอบเสรีประชาธิปไตยในโลกปัจจุบัน และความจำเป็นต้องตอบโต้ประชานิยมฝ่ายขวาด้วยการหยั่งประชาธิปไตยให้เหยียดลึกลงไปในสังคม

บทสนทนาดังกล่าวตีพิมพ์ในชื่อ “Left populism over the years”, openDemocracy, 10 September 2018, (www.opendemocracy.net/en/can-europe-make-it/left-populism-over-years-chantal-mouffe-in-conversation-with-rosemar/) และเป็นประโยชน์ยิ่งในการเข้าใจพัฒนาการและแนวคิดการมองกระแสการเมืองประชานิยมในโลกปัจจุบัน

ผมจึงใคร่ขอถอดความเรียบเรียงมานำเสนอไปตามลำดับดังนี้ :

โรสแมรี่ เบคเลอร์ : ชองตาลนี่เป็นเวลายี่สิบปีพอดีหลังฉันสัมภาษณ์เธอครั้งล่าสุด ขอบคุณที่ให้โอกาสฉันได้คุยกับเธอในวาระที่เธอปรับสูตรข้อสรุปโครงการการเมืองและแนวคิดของเธอครั้งหลังสุดซึ่งตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ For a Left Populism (แด่ประชานิยมฝ่ายซ้าย โดยสำนักพิมพ์ Verso) ในปีนี้ (ค.ศ.2018) ฉันสนเท่ห์ใจใคร่รู้จากเธอว่าเธอคิดว่าการคิดของเธอได้ขยับเคลื่อนมาอย่างไรในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ทว่าอย่างแรกที่ฉันอยากทำคือ ตระหนักรับถึงความสำเร็จมากพอควรของเธอที่เล็งเห็นวิกฤตของประชาธิปไตยที่เรากำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้ล่วงหน้าตั้งแต่ยี่สิบปีก่อน

ตอนนั้นเป็นปี ค.ศ.1998 ห้าปีหลังจากเธอตีพิมพ์หนังสือเรื่อง The Return of the Political (การหวนกลับมาของความเป็นการเมือง) ครั้งแรก และหกปีนับแต่เธอเขียนเรื่อง Dimensions of Radical Democracy : Pluralism, Citizenship, Community (หลากมิติประชาธิปไตยแบบขุดรากถอนโคน : พหุนิยม, ความเป็นพลเมือง, ชุมชน) ในงานเหล่านั้น เธอได้คาดเล็งแล้วว่าพวกขวาแบบขุดรากถอนโคนจะผงาดขึ้นในหลายประเทศยุโรป

ตอนนั้นเอาเข้าจริงเธอมองเห็นแต่ปรากฏการณ์พรรคเสรีภาพของออสเตรีย และแน่ละรวมทั้งการก้าวรุดหน้าของ (ฌอง-มารี) เลอ เปน ผู้พ่อในฝรั่งเศสด้วย แต่เธอมองสิ่งเหล่านี้เป็นอาการแห่งวิกฤตเอกลักษณ์ทางการเมืองอันลึกซึ้งซึ่งระบอบเสรีประชาธิปไตยกำลังเผชิญอยู่ สิ่งที่ประทับใจฉันตอนนั้นก็คือ เธอไม่ได้เรียกร้องให้ระบอบเสรีประชาธิปไตยแตกดับไป ทว่าเชิญชวนอย่างเร่งด่วนให้ปรับเปลี่ยนระบอบเสรีประชาธิปไตยเสียใหม่ในลักษณาการที่จะสามารถเอาชนะวิกฤตประเภทต่างๆ เหล่านี้ได้นั่นเอง

ตอนนั้นเธอกำลังพูดถึงการทดลองวางท่าทีแบบเหยียบเรือสองแคม (triangulation คือเกี้ยวทั้งฝ่ายซ้ายจีบทั้งฝ่ายขวา – ผู้แปล) ของพรรคแรงงานยุคใหม่ในอังกฤษและพรรคเดโมแครตของประธานาธิบดีคลินตันในสหรัฐ และเรื่องที่ว่าพวกเขาขจัดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวาซึ่งเป็นแก่นสารองค์ประกอบของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ไปอย่างไร

เธอเถียงว่าการทำเช่นนี้ยิ่งไปเร่งให้การเมืองประชาธิปไตยประสบความล้มเหลวอันเป็นแบบฉบับเร็วขึ้น ว่ามันย่อมส่งผลให้ “ความเป็นการเมืองในมิติด้านความเป็นปฏิปักษ์ของมัน” สำแดงตัวมันเองออกมาในช่องทางอื่นๆ และเธอบ่งชี้ว่าความขัดแย้งจะบังเกิดขึ้นจากเอกลักษณ์รวมหมู่ประเภทอื่นๆ ซึ่งล้อมรอบรูปแบบการระบุเอกลักษณ์ในเชิงศาสนา ชาตินิยม หรือชาติพันธุ์ต่างๆ

ตอนสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เธอด่าว่าเอาอย่างค่อนข้างสาดเสียเทเสียต่อการหมกมุ่นประเภทใหม่ๆ แต่เรื่องคอร์รัปชั่นและ/หรือชีวิตทางเซ็กซ์ของพวกนักการเมืองซึ่งทำให้ผู้คนไขว้เขวเฉไฉไปจากเรื่องสำคัญ และแน่ละว่าไอ้การหมกมุ่นทั้งสองประเภทนั้นก็พิสูจน์ตัวมันเองว่าไม่ใช่แฟชั่นชั่วครู่ชั่วคราวแต่อย่างใด แต่สิ่งที่ฉันจำได้แม่นที่สุดก็คือเธออ้างอิงคำกล่าวของเอเลียส คาเนตติ (ค.ศ.1905-1994 นักเขียนชาวบัลแกเรียผู้ได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี ค.ศ.1980-ผู้แปล) อย่างเห็นชอบด้วยที่ว่า “ระบบรัฐสภานั้นฉวยใช้โครงสร้างทางจิตวิทยาของกองทัพที่รบพุ่งกันนั่นเอง” อันเป็นการรบพุ่งซึ่ง “บรรดาพรรคที่ประชันขันแข่งกันประกาศยกเลิกการฆ่าฟัน” แล้วเธอยังเตือนว่า เว้นเสียแต่ฝ่ายซ้ายตัวจริงปรากฏขึ้นมา “ความขัดแย้งอย่างเป็นปฏิปักษ์จะระเบิดเถิดเทิงขึ้นชนิดที่กระบวนการประชาธิปไตยจัดการไม่ไหว” ความที่มันดกดื่นไปด้วยคุณค่าทางศีลธรรมชนิดที่ต่อรองรอมชอมกันไม่ได้และรูปแบบการระบุเอกลักษณ์ที่ยึดมั่นถือมั่นว่ามันเป็นสรณะ

เมื่อเหลียวหลังดูหลายทศวรรษที่ผ่านมา เธอเห็นด้วยไหมว่าผลงานโดยรวมทั้งหมดของเธอได้รับอิทธิพลในทางประวัติศาสตร์มากพอควรจากการประสบพบเห็นเป็นประจักษ์พยานซึ่งการก่อร่างสร้างอำนาจนำแบบแธตเชอร์ขึ้นมาในโครงสร้างส่วนลึก (หมายถึง มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งพรรคอนุรักษนิยมของสหราชอาณาจักรระหว่าง ค.ศ.1979-1990-ผู้แปล) อันเป็นกระบวนการที่นักคิดทั้งหลาย อาทิ สจ๊วต ฮอลล์ กำลังขบคิดไขความให้แก่ฝ่ายซ้ายอยู่ตอนนั้น รวมทั้งการประสบพบเห็นความล้มเหลวของพรรคแรงงานยุคใหม่ของสหราชอาณาจักรหลังจากนั้นในอันที่จะผลิตอำนาจนำทวนกระแสชนิดใดๆ ขึ้นมา

ใช่หรือไม่ว่านี่คือการท้าทายประเดิมเริ่มแรกอันสำคัญให้เธอขบคิดสิ่งที่ต่อมาจะกลายเป็นประเด็นเรื่อง “ประชานิยมฝ่ายซ้าย”?

ชองตาล มูฟ : แต่ฉันเองอยากย้อนทวนหวนระลึกกลับไปก่อนหน้านั้นอีกหน่อย! มันสำคัญยิ่งที่จะต้องเริ่มเรื่องด้วยแนวทางทฤษฎีที่ฉันกับเออร์เนสโต ลาคลาว ร่างเค้าโครงขึ้นในปี ค.ศ.1985 ในหนังสือ Hegemony and Socialist Strategy : Towards a Radical Democratic Politics (อำนาจนำกับยุทธศาสตร์สังคมนิยม : สู่การเมืองประชาธิปไตยแบบถึงรากถึงโคน) แนวทางทฤษฎีที่ว่านี้ส่งอิทธิพลต่อการครุ่นคิดใคร่ครวญของฉันหลังจากนั้นทั้งหมด และหนังสือเล่มดังกล่าวก็ถูกออกแบบให้เป็นทั้งงานทฤษฎีและงานการเมืองไปในตัวเหมือนดังที่ปรากฏเป็นนิจศีลในงานของฉัน ตอนนั้นเรากำลังขบคิดกันอยู่ในสภาวการณ์ที่เฉพาะเจาะจงหนึ่ง ได้แก่ วิกฤตของรัฐสวัสดิการแบบเคนส์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง (หมายถึง จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ นักเศรษฐศาสตร์แนวเสรีนิยมเชิงสังคมชาวอังกฤษ ค.ศ.1883-1946 – ผู้แปล) และการผงาดขึ้นของลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่มากับลัทธิแธตเชอร์ เราห่วงกังวลเรื่องการเมืองฝ่ายซ้ายขาดสมรรถภาพที่จะพินิจพิจารณาการเคลื่อนไหวต่างๆ ซึ่งปรากฏขึ้นเป็นชุดภายหลังการกบฏของเยาวชนคนหนุ่มสาวในปี ค.ศ.1968 อันเป็นการแสดงออกของการต่อต้านต่างๆ ซึ่งไม่อาจสรุปเป็นสูตรขึ้นมาในเชิงชนชั้นได้

เรารู้สึกว่าที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากอุปสรรคทางญาณวิทยาในการคิดของฝ่ายซ้ายซึ่งเราเรียกว่า “ลัทธิยึดชนชั้นเป็นสรณะ” (class enssentialism) ทั้งพวกมาร์กซิสต์กับพวกสังคมประชาธิปไตย (social democrats) ล้วนคิดว่าผลประโยชน์ทางชนชั้นจะกำหนดอัตวิสัยทางการเมืองของคุณ แม้จะมีเฉดแตกต่างกันเล็กน้อยระหว่างสองพวกนั้นก็ตาม ในลัทธิมาร์กซ์ ความขัดแย้งหลักเป็นการขัดแย้งระหว่างชนชั้นกรรมาชีพกับชนชั้นกระฎุมพีและทุกสิ่งทุกอย่างต้องถูกจัดระเบียบล้อมรอบจุดยืนทางชนชั้นเหล่านี้ ฉันยังจำได้ตอนที่พวกเฟมินิสต์เรากำลังอภิปรายคำถามทำนองนี้กับพวกนักการเมืองฝ่ายซ้ายอยู่ พวกเขาบางคนจะบอกว่า “ใช่ เรื่องนั้นมันสำคัญมาก แต่คุณรู้ไหม อย่างแรกนะ เรามาทำการปฏิวัติกันก่อน แล้วจากนั้นค่อยมาดูกันว่าเราพอจะทำอะไรเรื่องนั้นได้บ้าง” เธอคงจำขั้นตอนเฉพาะเจาะจงที่ว่านั้นในระบบปิตาธิปไตยแบบทุนนิยมตามหลักลัทธิมาร์กซ์ได้ … หรือมิฉะนั้น พวกเขาบางคนก็จะบอกว่า “ไอ้นั่นมันแค่ความห่วงกังวลแบบนายทุนน้อยนี่นา” ฉันว่านั่นแหละค่ะคือจุดเริ่มต้นการคิดของเรา!

ดังนั้น คำถามแรกเริ่มเดิมทีของเราจึงเป็นคำถามทางการเมือง กล่าวคือ จะนิยามสังคมนิยมเสียใหม่ได้อย่างไรเพื่อให้สามารถบูรณาการข้อเรียกร้องต้องการของขบวนการสังคมแบบใหม่ทั้งหลายได้? เราจึงได้เสนอว่าต้องนิยามสังคมนิยมเสียใหม่ให้หมายถึงการทำให้ประชาธิปไตยกลายเป็นแบบขุดรากถอนโคน

(ยังมีต่อ)