โฟกัสพระเครื่อง / โคมคำ/เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก พระเกจิดัง ‘หลวงพ่อเงิน’ วัดดอนยายหอม นครปฐม

หลวงพ่อเงิน จันทสุวัณโณ

โฟกัสพระเครื่อง / โคมคำ [email protected]

เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก

พระเกจิดัง ‘หลวงพ่อเงิน’

วัดดอนยายหอม นครปฐม

“หลวงพ่อเงิน จันทสุวัณโณ” วัดดอนยายหอม พระเกจิชื่อดังแห่งนครปฐม

นอกเหนือจากการปกครองและพัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรือง ยังเป็นแกนนำในการพัฒนาชุมชนและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน แต่ไม่ละเลยที่จะสั่งสอนธรรมะ อบรมสั่งสอนให้กระทำแต่ความดี จึงเป็นที่เคารพศรัทธา

จนได้รับการยกย่องว่า “เทพเจ้าแห่งดอนยายหอม” เมื่อดำริจะทำสิ่งใดก็จะได้รับความร่วมแรงร่วมใจจนงานประสบความสำเร็จตลอดมา

วัตถุมงคลที่สร้าง มีทั้งพระบูชา รูปหล่อ พระเครื่อง พระกริ่ง และเหรียญ ทุกรุ่นล้วนสร้างเพื่อหาปัจจัยบูรณะและสร้างเสริมศาสนวัตถุ รวมทั้งพัฒนาสาธารณูปการแก่ชุมชุนในพื้นที่และใกล้เคียงทั้งสิ้น

กลายเป็นที่นิยมและแสวงหามาตั้งแต่อดีตเรื่อยมาถึงปัจจุบัน ค่านิยมยิ่งสูงขึ้นตามกาลเวลา โดยเฉพาะ “เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก ปี 2488”

ทั้งนี้ เป็นเหรียญที่จัดสร้างในช่วงสงครามอินโดจีน โดยนายทองคำ พงศ์เจี่ย แกะบล๊อกและทำมาถวาย แม้ก่อนหน้านั้นสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลมามากมายหลายวัด แต่นี่เป็นครั้งแรกที่มีการสร้างเหรียญรูปเหมือน และขณะนั้นอายุเพียง 55 ปี จึงไม่กล้านำออกมาแจกจ่าย ด้วยเกรงคำครหา

ต่อมา ในปี พ.ศ.2493 จึงเริ่มนำออกมาแจก โดยเฉพาะในงานฉลองอายุครบ 60 ปี ในปีเดียวกันนั้น จึงใช้ปีที่เริ่มแจกเป็นปี พ.ศ.2493

จัดสร้างเป็นเนื้อทองแดงรมดำเพียงเนื้อเดียว จำนวนประมาณ 20,000 เหรียญ

ลักษณะเป็นเหรียญรูปทรงใบเสมา หูในตัว ด้านหน้า มีรูปเหมือนหลวงพ่อเงินอยู่ตรงกลาง ด้านข้างเป็นลายกนกล้อมรอบ ด้านบนเป็นช่องสี่เหลี่ยม มีจุดไขjปลาประกบซ้ายขวา เขียนคำว่า “หลวงพอเงิน”

สาเหตุเนื่องจากเหรียญที่แจกในช่วงแรกไม่ได้ตอกชื่อลงไป จากนั้นหลวงพ่อเงินให้นายทองคำ สร้างตัวตอกชื่อมาถวาย เพื่อใส่ในช่องสี่เหลี่ยมด้านบน แต่เมื่อทดลองตอกแล้ว “ไม้เอก” ไปทับหูเหรียญ ต้องมีการตะไบไม้เอกทิ้ง ทำให้เหรียญส่วนใหญ่ ตัวสระอิ ไม่ติด กลายเป็น “หลวงพอเงิน” หรือ “หลวงพอเงน”

อย่างไรก็ตาม หลวงพ่อท่านก็ไม่ได้ว่าอะไร ให้ปล่อยไว้เหมือนเดิม

ส่วนด้านหลังเรียบ มียันต์นะทรหด อยู่ตรงกลาง ล้อมด้วยยันต์ 4 ตัว ด้านบน คือ ตัว อุ ซ้ายขวา คือ ตัว พุทและโธ ตัวล่างสุด คือ ตัว ยะ ซึ่งเป็นยันต์ประจำตัวท่าน

เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก ผู้ใดมีไว้ในครอบครอง จึงเป็นสิริมงคลยิ่งนัก

เหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อเงิน (หน้า)

 

“พระราชธรรมาภรณ์” หรือ “หลวงพ่อเงิน จันทสุวัณโณ” เป็นคนบ้านดอนยายหอมโดยกำเนิด เกิดในครอบครัวเกษตรกรรมที่มีฐานะมั่งคั่งครอบครัวหนึ่งของบ้านดอนยายหอม เมื่อวันอังคารที่ 16 กันยายน 2433

สละเพศฆราวาส เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2453 ณ พัทธสีมาวัดดอนยายหอม โดยมีพระปลัดฮวย เจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม เป็นพระอุปัชฌาย์

พำนักจำพรรษา ณ วัดดอนยายหอม ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัย รวมถึงบทสวดมนต์ต่างๆ

เป็นพระเถระผู้เข้มขลังในพระเวทวิทยาคม ดังจะเห็นได้จากวัตถุมงคลต่างๆ ที่สร้าง และปลุกเสกเอาไว้ มีผู้นำไปใช้อาราธนาติดตัว แล้วเกิดประสบการณ์มาอย่างมากมายจนนับไม่ถ้วน

ในช่วงที่บวชใหม่ๆ ได้บอกแก่โยมพ่อว่า “อาตมาสละหมดทุกอย่างแล้ว โดยขอให้สัจจะปฏิญาณแก่พี่น้องชาวตำบลนี้ว่า อาตมาจะไม่ขอลาสิกขา อาตมาจะเป็นแสงสว่างทางให้เพื่อนมนุษย์ ขอให้โยมร่วมอนุโมทนาด้วยความยินดีและมั่นใจ”

ตั้งแต่เริ่มอุปสมบท มีความตั้งใจอย่างมาก มีขันติ วิริยะ สามารถท่องปาติโมกข์จบ และแสดงในเวลาทำสังฆกรรมได้ตั้งแต่พรรษาแรก หมั่นบำเพ็ญเพียรในการปฏิบัติสมถะ และวิปัสสนากัมมัฏฐาน ตามที่โยมพ่อแนะนำ เป็นเวลาถึง 4 ปีเต็ม

เหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อเงิน (หลัง)

 

ในปลายพรรษาที่ 5 หลวงพ่อเงิน พร้อมด้วยพระที่วัดอีก 2 รูป ออกธุดงค์ไปตามชนบท มุ่งหน้าขึ้นภาคเหนือ ค่ำที่ไหนก็ปักกลดพักแรมที่นั่น อาหารที่ฉันก็เพียงมื้อเดียว

การเดินทางในสมัยนั้น เดินทางด้วยเท้าเปล่า บ้านคนก็ไม่ค่อยมี เป็นป่าดงดิบที่เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด ซึ่งยากที่พระภิกษุผู้ที่ไม่มีอาวุธหรือเครื่องมือเพื่อป้องกันภัยจะธุดงค์ได้ตลอดรอดฝั่งด้วยความปลอดภัย เพราะเหตุที่ต้องประสบกับความยากลำบาก

ในการออกธุดงค์ในครั้งนั้น จึงมีเรื่องเล่าต่อมา หลังจากที่ “หลวงพ่อเงิน” วัดดอนยายหอม จ.นครปฐม กลับจากธุดงค์เป็นเวลา 4 เดือน ท่านได้มาปักกลดอยู่ข้างบ้านดอนยายหอม โดยที่มีผิวกายดำกร้าน ร่างกายซูบผอมราวกับคนชรา ชาวบ้านที่เดินผ่านไปมาจึงจำท่านไม่ได้

แม้แต่นายแจ้งซึ่งเป็นพี่ชาย ก็คิดว่าเป็นพระธุดงค์มาจากที่อื่น แต่พอเข้าไปดูใกล้ๆ ต้องตกตะลึง แทบจะปล่อยโฮออกมา พอได้สติจึงยกมือไหว้ แล้วถามท่านว่า “คุณเงินหรือนี่” ซึ่งหลวงพ่อเงินก็ตอบพร้อมกับหัวเราะว่า “ฉันเอง โยมพี่ทิดแจ้ง ฉันแปลกมากไปเชียวหรือ จึงจำฉันไม่ได้ ฉันมาปักกลดอยู่ที่นี่นานแล้ว เห็นพวกบ้านเราเขาเดินผ่านไปผ่านมาหลายคน แต่ไม่มีใครทักฉันเลย”

ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม เมื่อปี พ.ศ.2466 และท่านได้ละสังขารด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2520 ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี สิริอายุ 87 ปี พรรษา 66