จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 19-25 เมษายน 2562

จดหมาย

0 ร.6

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 2011 วันที่ 1-7 มีนาคม 2562

ในคอลัมน์ จ๋าจ๊ะ วรรณคดี โดย ญาดา อารัมภีร

เขียนเรื่อง จันทรา-อาทิตย์  ดังความตอนหนึ่งว่า

…วรรณคดีส่วนใหญ่ มักจะเปรียบผู้ชาย กับดวงอาทิตย์ เปรียบผู้หญิง กับดวงจันทร์

แต่มีอยู่เรื่องที่แปลกไปกว่าเขาเพื่อน

คือ เรื่อง วิวาหพระสมุทร

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ทั้งดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ แทนตัวเจ้าหญิงอันโดรเมดา

ดังตอนที่เจ้าชายอันเดร พระเอกของเรื่อง ยืนร้องเพลงเกี้ยวอยู่ใต้หน้าต่างของนางเอก

ด้วยทำนองเพลงคลื่นกระทบฝั่ง

 

อันโดรเมดา สุดาสวรรค์

ยิ่งกว่าชีวัน เสน่หา

ขอเชิญชาวสวรรค์ ขวัญฟ้า

เปิดวิมาน มองมา ให้ชื่นใจ

 

ถึงกลางวัน สุริยัน แจ่มประจักษ์

ไม่เห็นหน้า นงลักษณ์ ยิ่งมืดใหญ่

ถึงราตรี มีจันทร์ อันอำไพ

ไม่เห็นโฉม ประโลมใจ ยิ่งมืดมน

 

อ้าดวงสุรีย์ศรี ของพี่เอย

ขอเชิญเผย หน้าต่าง นางอีกหน

ขอเชิญจันทร์ แจ่มกระจ่างกลางสกนธ์

เพื่อให้ พี่ยล เยือกอุรา

รัชกาลที่ 6 ทรงนำคำว่า ดวงสุรีย์ศรี ที่หมายถึงดวงอาทิตย์ และคำว่าจันทร์ ในข้อความ

“…ขอเชิญจันทร์แจ่มกระจ่างกลางสกนธ์

เยี่ยมมาให้ พี่ยล เยือกอุรา”

มาแทนตัวเจ้าหญิงอันโดรเมดานั้น

ผมอยากเสนอ “มุมมอง” หรือ “ตีความ” ที่ต่างออกไปว่า

เป็นการเปรียบเทียบ อุปมาอุปไมย ให้เห็นถึง

ความสว่างของดวงอาทิตย์ (แสงแดด) ในเวลากลางวัน

และความสว่างของดวงจันทร์ (แสงจันทร์) ในเวลากลางคืน

จะมืดมิด มืดมน จนมองอะไรไม่เห็น เพราะไม่เห็นหน้าของนาง (อันโดรเมดา)

คือไม่เห็นหน้านาง ก็เลยหน้ามืด หรือมันมืดเพราะไม่เห็นหน้าของนาง

จึงขอให้ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ช่วยส่องแสง ให้หน่อย

จะได้เห็นหน้าของนางได้ชัดๆ

ถึงกลางวัน สุริยันแจ่มประจักษ์

ในเวลากลางวัน แม้แสงแดด (จากดวงอาทิตย์) จะแรงกล้า สว่างมาก (แจ่มประจักษ์)

ไม่เห็นหน้านงลักษณ์ยิ่งมืดใหญ่

แต่ก็ยังมองไม่เห็นหน้าของเธอ (นงลักษณ์) มันเลยมืดมาก (ใหญ่)

ถึงราตรี มีจันทร์อันอำไพ

ในเวลากลางคืน (ราตรี) แม้มีแสง (จันทร์) ส่องสว่าง (อันอำไพ)

ไม่เห็นโฉมประโลมใจยิ่งมืดมน

ไม่เห็นหน้า (โฉมประโลมใจ) ก็ยังคงมืดมน มืดมิด เหมือนเดิม

หรือไม่ว่า กลางวันหรือกลางคืน หากไม่เห็นหน้าของนาง มันก็ยิ่งมืด

อ้าดวงสุรีย์ศรีของพี่เอ๋ย

ขอให้ดวงอาทิตย์ (สุรีย์ศรี) ของพี่

ขอเชิญเผยหน้าต่างนางอีกหน

จงช่วยส่องสว่าง (เย) ให้ได้เห็นหน้า (ต่าง) ของ (นาง) อีกสักครั้ง (หน)

ขอเชิญจันทร์แจ่มกระจ่างกลางสกนธ์

ขอ (เชิญ) ให้ดวงจันทร์ที่ส่องสว่างกลางสกนธ์

เพื่อให้พี่ยลเยือกอุรา

ช่วยส่องแสง (เยี่ยม) ให้พี่ได้เห็น (ยล) หน้าของนางด้วย

ส่วนความจริงจะเป็นฉันใด ก็ต้องถามพระมหาธีรราชเจ้า (ร.6) ผู้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องวิวาหพระสมุทรเอาเอง

คีตา พญาไท

 

ขอบคุณแทนด๊อกเตอร์ญาดา อารัมภีร

ที่จ๋าจ๊ะ วรรณคดี ทำให้คีตา พญาไท มีจดหมาย (อย่างยาว) มาหา

พร้อมข้อสังเกตถึงข้อยกเว้นทางภาษา ที่ผู้ทรงแต่ง

อาจจะเลือกใช้คำที่แตกต่างจาก “ขนบ”

ซึ่งแม้จะแปลก และแตกต่าง

แต่ผู้อ่านก็น่าจะ “รับได้” โดยนุ่มนวลสวัสดี

ซึ่งคงเป็นส่วนดีของผู้ที่ชื่นชอบ “วรรณคดี”

“วรรณคดี” ที่กล่อมเกลาให้รับความแตกต่างด้วยความละมุนละม่อม

ต่างจาก บ.ก.ผู้กร้านกระด้าง

อ่านจดหมายเสร็จ ใจลากเข้าไปเรื่องการเมืองอันระอุโน่นทีเดียว

เพราะแค่สูตรคำนวณ ส.ส.ที่น่าจะเป็นสูตรเดียว

ตีความเป็นอื่นใดไม่ได้

แต่นี่ล่อกันซะสะบักสะบอม เรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

ยังหาทางออกกันได้หรือไม่ ก็ยังไม่รู้-เฮ้อ (ฮา)