กำกัด กำจัด ขจัด แผนบันได 3 ขั้น

พจนานุกรม ฉบับมติชน อธิบายความหมาย คำ 3 คำดังนี้

กำกัด : จำกัดให้แคบเข้า

กำจัด : ขับไล่

ขจัด : ทำให้สิ้นไป

ภาวะ 1) จำกัดให้แคบเข้า 2) ขับไล่ และ 3) ทำให้สิ้นไป นี้

ดูจะเป็นชะตากรรมของพรรคอนาคตใหม่ ภายใต้การนำของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล ขณะนี้

และสืบเนื่องยาวนานออกไป จนกว่าพรรคการเมืองนี้จะถูกทำ “ให้สิ้นไป” เท่านั้น

ไฉนจึงโหดเหี้ยม รุนแรงปานนั้น

 

แน่นอน จำนวนเก้าอี้ที่อยู่ระหว่าง 80-87 เสียง อันเหนือความคาดหมายจากการเลือกตั้ง 24 มีนาคม คือเหตุผลเบื้องต้น

การจะใช้เกม ใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง เข้าควบคุมพรรคอนาคตใหม่เสียแต่แรก

แตกจาก ส.ส.เขต 30 เสียง ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ประมาณ) 57 เสียง รวม ส.ส. 87 เสียงนั้น

มาด้วยกระแสความนิยมที่เหนือความคาดหมาย มิใช่การต่อสู้ในรูปแบบเดิม-เดิมของการเลือกตั้งสไตล์เก่า

ทำให้การจะร้องเรียนเพื่อให้ใช้นานา “ใบ” มาลดเสียงพรรคน้องใหม่นี้ผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงทำได้ไม่ถนัดไม้ถนัดมือนัก

พรรคอนาคตใหม่จึงยังน่าจะเป็น “เสาหลัก” ที่ปักลงกลางน้ำเชี่ยว ด้วยจุดยืนไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และไม่เอานายกรัฐมนตรีคนนอก

ถือเป็นจุดยืนอันแน่วแน่ ตรงไปตรงมา มิใช่การต่อรอง

เป็นจุดยืนและท่าทีของนักการเมืองรุ่นใหม่ ที่ไม่ต้องการเห็นการสืบทอดอำนาจ

ยากที่จะสั่นคลอน หรือประนีประนอม

ทำให้พรรคเพื่อไทยมีแนวร่วมอันแข็งแกร่งอย่างไม่คาดฝัน

 

ผลดังกล่าว ทำให้ฟากพรรคพลังประชารัฐที่จะเสนอ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี รวบรวมเสียงในสภาผู้แทนราษฎรให้เกิน 250 เสียง เป็นไปอย่างยากลำบาก

หรือแม้จะทำได้ ด้วยการเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย

แต่สภาพของหัวหน้าคณะรัฐประหาร จะกลายเป็นเป็ดง่อยทันที

อยู่ในสภาพเกิดเพื่อตายเท่านั้นเอง

ทำให้พรรคพลังประชารัฐยื้อเวลาออกไปให้นานที่สุด

โดยหวังว่า เวลาจะคลี่คลายปม “เงื่อนตาย” ลง

โดยจะรอการพิจารณาใบเหลือง ส้ม แดง ของ กกต.

รอผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ในเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.

รอผลการ “ดูด” ทางการเมือง ด้วยผลประโยชน์แห่งอำนาจ ซึ่งอาจทำให้เกิดงูเห่าในพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเล็กที่อยู่ฟากตรงข้าม

รอกระแสความเบื่อหน่ายของชาวบ้าน ที่ไม่เห็นทางออกการเมือง ซึ่งจะไปกดดันให้ฝ่ายตรงข้ามต้องเข้ามาร่วมหาทางออกการเมือง

ทั้งนี้ มีเป้าหมายที่จะส่ง พล.อ.ประยุทธ์ให้ถึงฟากฝันให้ได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 14 เมษายน นายเทพไท เสนพงศ์ ว่าที่ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก็ได้โยนหินออกมาให้สังคมพิจารณา

ให้ประเทศไทยจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

เปิดทางคนกลางต้องเป็นคนที่เข้าได้กับทุกฝ่าย ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง มีอยู่ด้วยกัน 4 คน

  1. พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท อดีต ผบ.ทบ. องคมนตรี
  2. นายพลากร สุวรรณรัฐ อดีตข้าราชการฝ่ายปกครอง มีประสบการณ์การปกครองค่อนข้างสูง องคมนตรี
  3. นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรืออังค์ถัด (UNCTAD)

และ 4. นายชวน หลีกภัย ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง

อ้างว่าเพื่อผลประโยชน์กับทุกฝ่าย

แม้แต่พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งมีจุดยืนชัดเจนคือไม่ต้องการการสืบทอดอำนาจ และรัฐบาลแห่งชาติ

ก็สามารถมาร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ และจะไม่มีการสืบอำนาจหลังได้รัฐธรรมนูญใหม่แล้ว

 

ข้อเสนอนี้ได้รับการปฏิเสธจากพรรคอนาคตใหม่ทันที

โดย น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค ระบุว่าขัดกับจุดยืน 3 ข้อ คือ

  1. ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีผู้นำฝ่ายค้าน หากมีรัฐบาลแห่งชาติก็จะไม่มีผู้นำฝ่ายค้าน อนาคตใหม่ไม่เห็นด้วย
  2. ต่อให้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ก็ขัดต่อหลักประชาธิปไตยระบบรัฐสภาอย่างชัดเจน ที่ต้องมีฝ่ายค้านคอยตรวจสอบและถ่วงดุลรัฐบาล
  3. หากมีรัฐบาลแห่งชาติ ก็หมายความว่าต้องมีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ทราบกันดีคือ ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจของ คสช.

ดังนั้น รัฐบาลแห่งชาติจึงเป็นไปไม่ได้สำหรับพรรคอนาคตใหม่

ความเป็น “ตัวของตัว” โดยชัดแจ้งเช่นนี้เอง ทำให้พรรคอนาคตใหม่เป็นประหนึ่งก้างขวางคอ ที่มิใช่เพียงแค่พรรคพลังประชารัฐ

หากแต่รวมถึง คสช. ซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายอนุรักษนิยมอย่างเข้มข้นด้วย

โดยมีกองทัพยืนเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้

ซึ่งทำให้เราได้เห็น พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ออกมาพาดพิงพรรคอนาคตใหม่อย่างแข็งกร้าว

ไม่ว่าไล่ให้ไปฟังเพลง “หนักแผ่นดิน”

การกล่าวโจมตีพวกซ้ายดัดจริต

และไม่ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยแท้จริง

ส่งผลให้พรรคอนาคตใหม่ถูกมองว่าเป็น “เป้าหมาย” อยู่ในแผนที่ไม่ได้ประกาศ

แต่ก็แจ่มชัดคือ ต้อง กำกัด กำจัด ขจัด พรรคนี้ออกไป

ดังนั้น ข้อโจมตี ข้อกล่าวหา รวมถึงการดำเนินคดี ทั้งในส่วนบุคคล ในส่วนพรรค ที่เชื่อมโยงไปถึงการยุบพรรค ทะลักทลายเข้าไปยังพรรคอนาคตใหม่อย่างไม่ขาดสาย

และน่าสังเกตว่า คสช.ได้ออกมาเป็นคู่ความเอง

เช่น แจ้งความ 2 ข้อหาอันเป็นผลจากกรณีที่เกิดขึ้นในปี 2558 ที่มีกลุ่มผู้ชุมนุม นำโดยนายรังสิมันต์ โรม กับพวกราว 20 คน ไปทำกิจกรรมหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่ง กทม. แล้วมาชุมนุมปิดล้อม สน.ปทุมวัน เมื่อตำรวจและทหารออกติดตาม ปรากฏว่านายรังสิมันต์วิ่งหลบหนี และมีรถตู้มารับ สอบสวนพบว่ารถคันดังกล่าวเป็นของธนาธร

จึงแจ้งความนายธนาธร ฐานร่วมยุยงปลุกปั่นให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116(2) (3)

และช่วยเหลือผู้อื่นซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด อันมิใช่ความผิดลหุโทษ เพื่อไม่ให้ต้องโทษ โดยให้ที่พำนักแก่ผู้นั้น โดยซ่อนเร้น หรือโดยช่วยผู้นั้นด้วยประการใด เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189

ทั้งนี้ ต้องขึ้นศาลทหาร

แต่ต่อมา พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ชี้แจงว่า ให้ไปยื่นร้องต่อศาลทหารเพื่อขอย้ายไปยังศาลปกติได้

นายธนาธรซึ่งยกมือซ้ายขึ้นสูง ชู 3 นิ้ว อันเป็นสัญลักษณ์ “ต่อต้านเผด็จการ-รัฐประหาร” ประกาศว่า สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ คือการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของทุกคน

“อย่าทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของผม เพราะมันไม่ใช่ มันเป็นเรื่องของคนที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทุกคน”

ซึ่งก็ได้รับปฏิกิริยาตอบสนองจากมวลชนที่มาให้กำลังใจจำนวนมาก

รวมถึงตัวแทนจากสถานทูตต่างๆ ถึง 12 ชาติ

สร้างความไม่พอใจให้กับกระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลไทย

ถึงกับเรียกตัวแทนสถานทูตมารับทราบการก้าวก่ายกิจการภายใน

ขณะเดียวกันนายธนาธรยังถูกตามขุดคุ้ยเรื่องหุ้น ที่รัฐธรรมนูญ 2560 ห้าม “เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ”

และระบุในมาตรา 98(3) ลักษณะต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.

ทั้งนี้ มีการค้นพบข้อสงสัยว่า นายธนาธรซึ่งถือหุ้นบริษัทวี-ลัคมีเดีย บริษัทซึ่งผลิตนิตยสาร Who อาจมีการแจ้งวันเปลี่ยนแปลงทะเบียนผู้ถือหุ้นในบริษัทวี-ลัคมีเดีย หลังวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. 6 กุมภาพันธ์ 2562

จึงจะเข้าลักษณะต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

โดยตอนนี้มีผู้ไปร้องเรียนต่อ กกต.ให้สอบสวนเรื่องนี้แล้ว

ซึ่งอาจเป็นอีกวิบากกรรมหนึ่งที่ต้องผชิญ แม้ว่านายธนาธรจะยืนยันว่าทำถูกต้องตามกฎหมายแล้วก็ตาม

 

ส่วนอีกแกนสำคัญของพรรคอนาคตใหม่

คือ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ก็เจอข้อกล่าวหาจากตัวแทน คสช. กรณีออกแถลงการณ์พรรคอนาคตใหม่ต่อกรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ซึ่งนายปิยบุตรเป็นผู้อ่านในงานแถลงข่าววันที่ 7 มีนาคม 2562

โดยวิจารณ์ “พลังดูดของ คสช.” ผ่านการจัดเฟซบุ๊กไลฟ์เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561

ซึ่งฝ่ายกฎหมาย คสช. เห็นว่าเป็นการ “พาดพิงและกล่าวหา คสช.” “โจมตีกระบวนการยุติธรรม” จึงเข้าแจ้งตำรวจ

ส่วนการถูกดำเนินคดีในพรรค ก็เจอหลายคดี อาทิ

นายบุญถาวร ปัญญาสิทธิ์ ทีมงานประชาชนและปกป้องรัฐธรรมนูญ ยื่นหนังสือร้อง กกต.พิจารณาส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยอ้างว่า “นายธนาธร-นายปิยบุตร” ประกาศยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าข่ายมีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครอง

ขณะที่ “ผู้กองปูเค็ม” หรือ ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล ยื่น กกต.ยุบ “อนาคตใหม่” เช่นกัน

โดยอ้างกรณีที่นายธนาธรให้สัมภาษณ์หมิ่นศาล ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดว่าการดำเนินคดีกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นการกลั่นแกล้ง หรือกรณีจำนำข้าวก็ไปต่อว่าผู้ตัดสิน

นอกจากนี้ นายธนาธรยังใช้ความเป็นเน็ตไอดอลของตัวเองไปปลุกระดม จูงใจคนรุ่นใหม่ที่ติดโลกโซเชียลแต่ไม่ค้นหาความจริง เพราะว่าเชื่อในตัวนายธนาธร ถือว่าเป็นการฉ้อฉล เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศ

ขณะที่อุ๊-หฤทัย ม่วงบุญศรี อดีตนักร้องและ ส.ก.พรรคประชาธิปัตย์ ร้องทุกข์กับตำรวจ กล่าวโทษนายปิยบุตรเขียนหนังสือและร่วมอภิปรายในเชิงวิชาการ แต่อาจกระทบ “ระบบการปกครองไทยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

อาการร่วมด้วยช่วยกันถล่มนี้

แม้จะเป็นลักษณะแยกกันเดิน รวมกันตี

แต่กระนั้นหากมองในภาพรวมแล้ว

ล้วนอยู่ในกรอบแผนบันได 3 ขั้น

กำกัด

กำจัด

ขจัด

แทบทั้งสิ้น

ด้านหนึ่ง เป็นการถอนก้างขวางคอการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช.

ด้านหนึ่ง เป็นการชิงล้มล้างกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดอันตรายต่อสถาบันหลักของชาติ

  อันถือเป็นการวัดกำลังของกลุ่มอนุรักษนิยม และขวาตกขอบ กับกลุ่ม #SaveThanatorn #SavePiyabutr ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่อย่างรุนแรง และมุ่งเอาเป็นเอาตาย อย่างที่เคยเห็นและเป็นไป เมื่อเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519