เพ็ญสุภา สุขคตะ : พรพระสีวลี แม้นได้ลาภอย่าหมายโลภ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

รูปปั้นพระสีวลีที่ผุดพรายขึ้นตามวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรสยามในทุกๆ ภูมิภาค ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในวงการพุทธศิลป์ไทย สันนิษฐานว่าความนิยมในการทำรูปเคารพของพระธุดงค์ในท่ายืน (บ้างก้าวเดิน) ถือกลด สะพายบาตร ดูสมถะน่าเลื่อมใสเช่นนี้ เพิ่งน่าจะเริ่มมีขึ้นไม่เกิน 50 ปีมานี่เอง

ยืนยันได้จากการที่ดิฉันลองสอบถามเพื่อนพ้องน้องพี่ในแวดวงวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลป์หลายคน ต่างตอกย้ำว่า “ไม่เคยพบว่ามีการสร้างรูปเคารพพระสีวลีในทำเนียบพุทธศิลป์มาก่อนในแวดวงโบราณคดี ชิ้นเก่าสุดประเมินแล้วไม่น่าจะเกิน 40-50 ปี”

เรื่องราวเกี่ยวกับพระสีวลีที่จะนำเสนอในบทความชิ้นนี้มีอยู่ 2 ประเด็น

ประเด็นแรก ทำไมพระสีวลีจึงได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของ “โชคลาภ” ถึงกับผู้ศรัทธาตั้งฉายาให้ท่านว่า “พระสีวลีมหาลาภ” เยี่ยงนี้แล้วจะมิขัดกับ “สภาวธรรม” ของพระอรหันต์ผู้ห่างไกลจากกิเลสดอกละหรือ?

ประเด็นที่สอง ทำไมช่างศิลป์ถึงได้ตีความด้านประติมาณวิทยาออกมา กำหนดรูปลักษณ์ให้พระสีวลีต้องอยู่ในท่าเดินธุดงค์ถือกลด สะพายบาตร ไปรับเอาคตินี้มาจากไหน

 

พระสีวลีมหาลาภ ขอพรเพื่อโลภ?

การที่คนไทยและเพื่อนบ้านในละแวกอุษาคเนย์บางกลุ่ม เช่น มอญ พม่า ไทใหญ่ ลาว มีความเชื่อเรื่องพระสีวลีว่าเป็นสัญลักษณ์แห่ง “ลาภสักการะ” นั้น มีที่มาจากพุทธดำรัสตอนที่ทรงนิยามคุณลักษณะพิเศษของพระอรหันต์แต่ละรูปในบรรดา “อสีติสาวก” 80 รูปว่ามีความเป็น “เอตทัคคะ” หรือความเป็นเลิศในด้านต่างๆ

พระสีวลีเป็นหนึ่งในกลุ่มพระอสีติสาวก ที่ได้รับการตรัสยกย่องว่าเป็น “ภิกษุผู้เลิศด้วยลาภหาผู้ใดเสมอเหมือนไม่” หากฟังเผินๆ แล้วพุทธศาสนิกชนอาจรู้สึกแปร่งๆ ทะแม่งๆ ชอบกล เนื่องจากพระอสีติสาวกรูปอื่นๆ ล้วนได้รับคำยกย่องจากพุทธองค์ไปในเชิงหลุดพ้นหรือค่อนข้างสร้างสรรค์ เช่น เป็นเลิศแห่งปัญญา เป็นเลิศแห่งความสมถะสันโดษ เป็นเลิศแห่งการรักษาพระวินัย เป็นต้น

แต่แล้วจู่ๆ พระสีวลีกลับเป็นเลิศด้าน “การได้รับลาภสักการะ”? มองในแง่ธรรมะ “ลาภ” จะเป็น “เลิศ” ได้อย่างไรฤๅ

เมื่อศึกษาประวัติพระสีวลีอย่างละเอียดแล้วจะพบว่า ท่านเป็นพระอรหันต์ที่มีบทบาทในการเผยแผ่พระธรรมในฐานะ “กองเสบียงฝ่ายสนับสนุนผู้อยู่เบื้องหลัง” มากกว่าที่จะเป็นกองทัพแถวหน้า เพราะท่านไม่ได้สันทัดในด้านการบรรยายธรรม หรือไม่ได้โดดเด่นสามารถจำแนกสาธยายธรรมเหมือนเช่นพระภิกษุบางรูป

จุดแข็งของพระสีวลีอยู่ที่ เมื่อไปไหนมาไหนมักจะมีผู้ทำบุญใส่บาตรมากเป็นพิเศษแบบไม่ขาดสาย ไหลลื่นต่อเนื่องประหนึ่งสายน้ำ อันเนื่องมาจากผลบุญหรือกรรมเก่าของตัวท่านเอง ในอดีตชาติสมัยที่มีพระพุทธเจ้าพระนามว่า “พระวิปัสสี” พระสีวลีเกิดมาในตระกูลคนเลี้ยงผึ้ง ได้ทำบุญใหญ่ด้วยการตักบาตรน้ำผึ้งแด่พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น พร้อมถวายน้ำผึ้งแด่พระภิกษุและแจกจ่ายแก่มหาชนอย่างถ้วนหน้าอีกจำนวนมากถึง 600,000 กองทาน

ทั้งๆ ที่พระราชาแห่งเมืองมาขอซื้อน้ำผึ้งในราคาสูงถึง 6,000 กหาปณะ เพราะพระราชาพระองค์นั้นต้องการแข่งดีด้วยการประกาศว่าพระองค์มีกำลังความสามารถในการใส่บาตรพระมากกว่าบุคคลอื่นทั่วพื้นพิภพ พระสีวลีเป็นผู้ไม่เห็นแก่เงินทองจึงไม่ยอมขายน้ำผึ้ง แต่กลับนำไปทำบุญด้วยตัวเอง

อานิสงส์ของการตักบาตรน้ำผึ้งครั้งนั้นเองถือเป็นยอดมหาทานที่ทำให้พระสีวลีได้รับพรจากพระพุทธเจ้าว่า แม้นเกิดกี่ภพกี่ชาติก็ตาม พระสีวลีจักเป็นผู้ได้ลาภสักการะกินใช้ไม่หมดไม่สิ้น

ประเพณี “ตักบาตรน้ำผึ้ง” ของกลุ่มชนชาวมอญ น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับพระสีวลี (ชาวมอญเรียกพระสีวลีว่า “พระสิมพลี” หรือ “พระฉิมพลี”) เพราะชาวมอญน่าจะเป็นกลุ่มชนแรกๆ ที่ให้ความนับถือพระสิมพลีมาเนิ่นนานแล้วก่อนที่คนไทยจะนับถือตาม

พระสีวลีได้มาบวชกับพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าในชาติสุดท้ายจนบรรลุพระอรหันต์ตั้งแต่เป็นสามเณรน้อยวัยเพียง 7 ขวบเศษ ด้วยเพ่งเห็นความทุกขเวทนาของสังขารที่ตนต้องดิ้นรนอยู่ในครรภ์มารดานานถึง 7 ปี 7 เดือน 7 วัน (อีกอดีตชาติหนึ่งพระสีวลีเคยเป็นกษัตริย์ยกทัพไปปิดล้อมเมืองของข้าศึกนานถึง 7 ปี 7 เดือน 7 วัน ส่งผลให้ต้องมาใช้กรรมไม่สามารถคลอดได้ตามกำหนด ทั้งๆ ที่เกิดในวรรณะกษัตริย์)

อาศัยจุดเด่นแห่งการ “มีลาภเป็นเลิศ” ท่านจึงทำหน้าที่ช่วยเหลือกองทัพธรรมของพระพุทธองค์ด้วยการเป็นกองเสบียง ทุกครั้งที่พระสงฆ์จาริกไปตรัสเทศน์สอนโปรดสัตว์โลกตามดินแดนอันห่างไกลทุรกันดาร ปัญหาใหญ่ที่คณะสงฆ์ประสบคือ การขาดแคลนภัตตาหาร น้ำดื่ม เพราะการเดินทางจากเมืองหนึ่งสู่อีกเมืองนั้น คณะธรรมจาริกต้องใช้เวลาแรมรอนกลางป่าเขาทุ่งร้างหลายวัน

ปัญหาดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นเลย หากมีพระสีวลีร่วมขบวนยาตราไปด้วย เพราะทันทีที่พระสีวลีเปิดบาตร เหล่าเทวดาและมนุษย์ (ซึ่งมาจากไหนก็ไม่ทราบ เนื่องจากบางแห่งร้างไร้ผู้คน) ก็จะมาแหนห้อมรุมใส่บาตรให้แก่พระสีวลีจนล้นเกินจะฉันรูปเดียวได้หมด

กล่าวกันว่า “บาตรใบเดียว” ของพระสีวลีนั้น “ใหญ่” พอที่จะเป็นเสบียงเลี้ยงกองทัพธรรมได้ครั้งละมากกว่า 500 ชีวิตทุกครั้งไป นี่จึงเป็นคุณูปการอันใหญ่หลวงของ “ภิกษุผู้มีลาภเป็นเลิศ” ด้วยปัจจัยที่ได้มานั้น ช่วยเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลผู้อื่น

ฉะนั้น คุณค่าแห่ง “ลาภสักการะ” ของผู้มาขอพรจากพระสีวลีจึงมีเงื่อนไขอยู่ที่ว่า หลังจากที่ท่านได้ลาภนั้นแล้ว ท่านจักนำไปบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างไรบ้างต่างหาก หรือการบูชาพระสีวลี ใจคอคิดจะขอพรเพียงเพื่อความโลภ?

 

พระสีวลี เกี่ยวข้องกับ
ครูบาเจ้าศรีวิชัยหรือไม่?

ตามที่อธิบายมาแล้วข้างต้นว่าพระสีวลีทำหน้าที่ช่วยงานพระพุทธศาสนาในฐานะ “กองเสบียงบุญ” เพื่อนำมาแบ่งปันแก่พระภิกษุรูปอื่นๆ โดยเฉพาะวีรกรรมครั้งสำคัญของท่านในช่วงที่คณะธรรมยาตราต้องเดินทางไกลประสบกับความหิวโหย โชคดีที่มีพระสีวลีร่วมทางไปด้วย ทำให้กองทัพธรรมรอดตาย

ด้วยเหตุนี้ ช่างปั้นจึงได้ถ่ายทอดลักษณะของพระสีวลีในอิริยาบถพระธุดงค์ ถือกลด สะพายบาตร (ทว่าพระสีวลีในยุคหลังๆ เริ่มมีรูปลักษณ์ใหม่ในท่านั่งรับบาตร รูปแบบใหม่นี้อาจสร้างความสับสนกับรูปพระอุปคุตพอสมควร)

พระธุดงค์ถือกลดสะพายบาตรนี้ ช่างปั้นเอาต้นแบบหรือได้รับแรงบันดาลใจมาจากไหน เท่าที่ดิฉันได้ศึกษาด้านประติมาณวิทยามานั้น พบว่าเคยมีการทำประติมากรรมของพระภิกษุในลักษณะคล้ายคลึงกัน (ยืนสะพายบาตร) มาแล้ว 2 บุคคล ได้แก่ ครูบาเจ้าศรีวิชัย กับพระมาลัยปางโปรดสัตว์นรก

สามารถกล่าวได้หรือไม่ว่า รูปปั้นครูบาเจ้าศรีวิชัยในท่ายืนถือไม้เท้า คล้องลูกประคำ (เดิมตั้งใจออกแบบให้สะพายบาตรด้วย) ณ เชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งออกแบบปั้นโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และนำมาติดตั้งหน้าวัดศรีโสดาเมื่อปี 2506-2507 นั้น เป็นรูปปั้นที่ส่งอิทธิพลให้แก่รูปลักษณ์มาตรฐานของพระสีวลีที่เราเห็นๆ กันเกือบทั่วทุกแห่ง ไม่มากก็น้อย

หรือหากมองว่ารูปปั้นครูบาเจ้าศรีวิชัยชิ้นดังกล่าวมีอายุแค่ 55-56 ปีเท่านั้น อาจจะใหม่เกินไปไหม เพราะคติการบูชาพระสีวลีก็มีมานานพอสมควร กรณีที่ว่ารูปปั้นพระสีวลีน่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากรูปปั้นครูบาเจ้าศรีวิชัยหรือไม่นั้นยังไม่มีข้อสรุป ดิฉันเพียงลองโยนก้อนหินถามทางผู้อ่านให้ช่วยกันขบคิดต่อยอดเป็นปฐม

ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว ก็ยังไม่มีการศึกษาว่ารูปปั้นพระสีวลีองค์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยหรืออุษาคเนย์นั้นสร้างขึ้น ณ แห่งใด เมื่อไหร่กันแน่ ใครออกแบบ เกิดขึ้นก่อนหรือหลังรูปปั้นครูบาเจ้าศรีวิชัย?

ระหว่างครูบาเจ้าศรีวิชัยกับพระสีวลีมีอะไรที่พอจะเชื่อมโยงกันได้บ้างไหม ความเกี่ยวข้องของพระอริยสงฆ์สองรูปนี้ มีปรากฏในหนังสือประวัติครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่แต่งเป็นคร่าวซอโดยบุคคลผู้มีอายุร่วมสมัยกับครูบาเจ้าศรีวิชัย นั่นคือ “พระภิกษุท้าวสุนทรพจนกิจ”

ในบทแรก หลังจากสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยแล้ว พระภิกษุท้าวสุนทรพจนกิจกล่าวยกยอคุณความดีของครูบาศรีเจ้าวิชัยว่า “ในอดีตชาติท่านคงจะทำบุญด้วยน้ำผึ้ง จึงมีลาภสักการะคล้ายกับพระสีวลี แต่ด้วยความที่ท่านไม่สนใจในเงินทอง ต้องการมุ่งไปสู่พระนิพพานมากกว่า จึงสละเสียซึ่งลาภทั้งปวง”

 

รูปลักษณ์พระสีวลีรับมาจาก
พระมาลัยโปรดนรก?

ในขณะเดียวกัน มีประติมากรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (ราวรัชกาลที่ 3) อีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจยิ่ง นั่นคือรูปปั้นพระมาลัยในปางโปรดสัตว์นรก หรือที่นิยมเรียกว่าพระมาลัยโปรดนรก

นำเสนอด้วยรูปพระภิกษุยืนเหนือดอกบัว ครองจีวรห่มเฉียง ตกแต่งลวดลาย เหนือบ่าซ้ายมีสังฆาฏิพาดเป็นแถบยาว รัดด้วยประคดอก บ่าขวาสะพายบาตร มือขวาห้อยลงแนบลำตัวทางด้านหน้า มือซ้ายยกขึ้นถือตาลปัตร (ในภาพตาลปัตรหายไปแล้ว) มองลงไปเบื้องล่างที่ซึ่งเหล่าสัตว์นรกเปรตอสุรกายกำลังถูกทรมาน

เรื่องราวของพระมาลัย พระอรหันตสาวกรูปสำคัญที่นิยมการท่องนรก-สวรรค์เพื่อนำสภาวะที่เห็นมาบอกเล่าพรรณนาให้มนุษย์ตระหนักในเรื่องบาปบุญนี้ ดิฉันจักกล่าวโดยละเอียดในโอกาสหน้า เนื่องจากรูปเคารพพระมาลัยในท่านั่งถือตาลปัตร มีประเด็นที่สร้างความสับสนต่อการตีความด้านประติมาณวิทยา ด้วยมีลักษณะละม้ายคล้ายคลึงกับพระศรีอาริยเมตไตรยเป็นอย่างมาก

ในที่นี้ พระมาลัยอยู่ในท่ายืนสะพายบาตร นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลป์หลายท่าน เท่าที่คุยกันวงใน ต่างลงความเห็นว่า มีเค้ามากทีเดียวที่พระมาลัยปางโปรดนรกลักษณะนี้เอง น่าจะเป็นต้นแบบให้แก่การทำรูปเคารพของพระสีวลีในยุคปัจจุบัน

มีข้อสังเกตว่า การทำรูปเคารพของพระมาลัยมีก่อนพระสีวลีนานแล้ว เริ่มตั้งแต่สมัยอยุธยาสืบต่อมาจนรัตนโกสินทร์ แต่หลังจากช่วง พ.ศ.2475 เป็นต้นมา เรื่องราวของพระมาลัยก็ค่อยๆ เลือนหายไปจากงานพุทธศิลป์สยาม ในทางกลับกัน บังเกิดความนิยมในการสร้างรูปเคารพของพระสีวลีขึ้นแทนที่ ซ้ำเป็นท่วงท่าที่คล้ายกัน

ประมาณว่า ล้าสมัยไปแล้วใช่ไหมที่จะสอนให้คนเชื่อเรื่อง “บาปบุญนรกสวรรค์” เพราะมนุษย์ยุคนี้หันไปสนใจต่อ “ลาภสักการะ” มากกว่า