มนัส สัตยารักษ์ : คนโบราณอายุ82ปีแบบผม กลับชื่นชอบ “ธนาธร” และ ข้อเสนอ ของ ‘ไอติม NEWDEM’

พริษฐ์ วัชรสินธุ NEWDEM

เป็นเรื่องแปลกหรือเปล่าไม่ทราบ?

ผมซึ่งเป็นคนโบราณอายุ 82 ปี แต่กลับชื่นชอบการดีเบตของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หนุ่มหัวหน้าพรรค “อนาคตใหม่” ในศึกเลือกตั้ง 62 และหวังให้รัฐสภาใหม่ได้มีสมาชิกสภาที่มีความคิดและพูดจาตรงไปตรงมาอย่างไม่เกรงใจใครอย่างนี้

และที่ชอบเป็นพิเศษก็เพราะเขาพูดถึง “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ตรงใจผมที่ไม่เห็นด้วยในหลายประการ

ผมอยากได้คนอย่างนั้ไว้ในรัฐสภา เพื่อไว้คานกับนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งประกาศสืบทอดอำนาจ

ครั้นถึงช่วงเวลาหลังเลือกตั้งผ่านไปแล้ว ผมเริ่มอายุย่างเข้า 83 ปี ก็เพิ่มคนที่ควรชื่นชมขึ้นมาอีกคนหนึ่ง นั่นคือ “ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานกลุ่มหนุ่ม NEWDEM แห่งพรรคประชาธิปัตย์ (ซึ่งจำนวน ส.ส.ของพรรคไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลได้) พริษฐ์ซึ่งเป็น ส.ส.สอบตกได้มีความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษร เสนอต่อพรรคว่า ควรเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ”

ซึ่งตรงกับใจของผม ที่เห็นว่าไม่ควรจับมือกับฝ่ายใด ระหว่างพรรค “เชียร์นายกฯ ตู่” กับพรรค “ไม่เอานายกฯ ตู่” ประชาธิปัตย์ควรเดินสายกลาง คือเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” เพื่อรักษาอุดมการณ์ของตัวเอง ซึ่งเคยเป็นฝ่ายค้านคุณภาพ และต่อต้านแผด็จการทหารมาตลอด

นึกถึง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรมในปี 2535 ร่วมรัฐบาลกับประชาธิปัตย์ (ชวน หลีกภัย) พลังธรรมไม่ vote ให้รัฐบาลกรณีแจก ส.ป.ก.4-01 ไม่เป็นธรรมที่ภูเก็ต แล้วลาออกด้วยความมีมารยาททางการเมือง ในที่สุดนายกรัฐมนตรีต้องประกาศยุบสภา

ข้อเสนอของพริษฐ์ถูกใจผมอย่างจัง เพราะผมต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์ปฏิรูปตัวเองตรงจุดนี้ โดยเชื่อว่าเลือกตั้งครั้งหน้าจะไม่ “สูญพันธุ์” อย่างที่กรุงเทพฯ ในครั้งที่เพิ่งผ่านมา

พริษฐ์เป็นหลานนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นบุตรของพี่สาวคนโตของนายอภิสิทธิ์ อายุ 9 ขวบไปอยู่โรงเรียนประจำที่อังกฤษ ต่อมาสอบชิงทุน King”s Scholarship ของ Eton College เรียนจบปริญญาตรีควบโท สาขาปรัชญาการเมือง และเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ในระหว่างที่เรียนนั้นพริษฐ์ได้รับ Vote เป็น “President of Oxford Union” ด้วย

ในระหว่างการหาเสียง นายขวน หลีกภัย กล่าวปราศรัยขอเสียงสนับสนุนให้นายพริษฐ์ ตอนหนึ่งกล่าวทำนองว่า “นี่คือผู้ที่เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีในอนาคต”

โปรไฟล์อย่างนี้… ได้รับคำยกย่องจากอดีตนายกรัฐมนตรีถึงขนาดนี้ แต่พริษฐ์สอบตก หล่นไปอยู่อันดับที่ 3 หรือ 4 ในเขตที่ประชาธิปัตย์เคยชนะขาดมาหลายสมัย ทั้งสนามใหญ่เลือกตั้งทั่วไป สนามท้องถิ่น (ส.ก.และ ส.ข.) และสนาม “ผู้ว่าราชการ กทม.”

เป็นปมหรือประเด็นที่ฝ่ายยุทธศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์ควรจะนำไปวิเคราะห์อย่างยิ่ง

ถ้าถามผม ผมคงตอบว่า ประชาธิปัตย์ยังอ่านใจคนกรุงเทพฯ ใต้ไม่ขาด

นายอภิสิทธิ์พยายามอธิบายว่า คลิป “ข่าวงานแต่งงาน” จากฮ่องกง ทำให้คนไทยกลัว หันไปเทเสียงให้ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นคนเดียวที่สู้กับ “ระบบทักษิณ” ได้

ถ้าถามผม ผมคงตอบว่าเห็นด้วย แถมเพิ่มเติมให้อีกว่า คนกรุงเทพฯ นอกจากเชื่อมือ “ลุงตู่” แล้ว ยังไม่เชื่อมือนายอภิสิทธ์อีกด้วย ความล้มเหลวในการประชุมผู้นำอาเซียนที่พัทยา ทำประเทศไทยขายหน้าไปทั่วโลก เพราะนายอภิสิทธิ์ไม่ไว้ใจและไม่ใช้ทหาร-ตำรวจ คิดว่าทหาร-ตำรวจเป็นพวกทักษิณ จนดูเหมือนทุกคนเป็นศัตรูไปหมด

หลังจากนั้นประชาธิปัตย์ก็ทุ่มเทแรงกายและความคิดเพื่อ “ถอดยศทักษิณ” เพื่อดิสเครดิตนายทักษิณ ชินวัตร เป็นงานหลัก (ฮา)

ประชาธิปัตย์ไม่เพียงแต่จะสูญพันธุ์ในกรุงเทพฯ เท่านั้น ที่มั่นทางปักษ์ใต้ก็สูญเสียที่นั่งให้แก่ “หน้าใหม่” ไปอย่างเหลือเชื่อ เช่นที่ตรังของนายหัวชวน หลีกภัย

ที่ 3 จังหวัดภาคใต้ก็เสียที่นั่งให้แก่คนของพรรคประชาชาติ ของอาจารย์วันนอร์ มะทา

ที่สงขลา (บ้านเกิดของผม) ประชาธิปัตย์ถือดี ส่งอดีต ส.ส.ผู้มีฉายาว่า “วอลล์เปเปอร์” ในฐานะที่เดินตามหลังและเกาะติดนายกฯ อภิสิทธ์ แต่ชาวบ้านเขารู้ว่าวอลล์เปเปอร์เป็น ส.ส.น้ำเน่าที่ไม่เป็นสุภาพบุรุษ จึงพ่ายแพ้แก่หน้าใหม่ไปอย่างราบคาบเช่นกัน

เสียที่นั่งไปเช่นนี้ เป็นการยืนยันว่าประชาธิปัตย์ไม่เพียงแต่ไม่รู้ใจคนกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังประเมินน้ำใจคนปักษ์ใต้ผิดไปด้วย

ต่างทราบกันดีว่า รัฐบาลชุดต่อไป พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกรัฐมนตรี ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายประกอบการเลือกตั้งได้ออกแบบไว้ แต่น่าจะอายุไม่ยืน เพราะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ไม่สามารถบริหารตามใจและสบายใจได้อย่างรัฐบาลที่มาจาก คสช.

แต่ถึงกระนั้น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่สอบผ่านก็ยังอยากจะเข้าร่วมตามแนวคิดโบราณที่ว่า “กำขี้ดีกว่ากำตด” มีโอกาสสร้างผลงาน สนองนโยบายของพรรคในช่วงหาเสียง เช่น ช่วยเหลือเกษตรกร ช่วยเหลือชาวนา เพิ่มราคายางพาราและราคาปาล์ม เป็นต้น

แต่ประชาชนรู้ทันว่าที่ต้องการร่วมรัฐบาลนั้น ไม่ใช่เพื่อสนองนโยบาย แต่เพื่อสนองตัณหาในตำแหน่งต่างๆ แม้พรรคจะอยู่หางแถวก็ตาม

ในที่ประชุมพรรคเมื่อปลายเดือนมีนาคมนี้ใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมงหารือและถกเถียงกัน จึงน่าจะเคร่งเครียดพอสมควร ตามข่าวจากสื่อโซเชียลเห็นว่าเป็นการแตกหักอีกรอบของพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย จึงสรุปเป็นว่า ยังมีเวลาคุยกันอีกนานกว่า กกต.จะประกาศผลการเลือกตั้ง

“มีเรื่องอะไรไว้คุยกันในพรรค เพราะพรรคบอบช้ำมามากพอแล้ว”

แต่ผมเห็นด้วยกับพริษฐ์ วัชรสินธุ ที่ว่า “เริ่มประกาศตัวเป็นฝ่ายค้านอิสระเสียตอนนี้เลย ไม่ว่าใคร ฝ่ายใดจะมาเป็นรัฐบาลก็ตาม เพื่อความสง่างามของพรรคและรักษาอุดมการณ์ เป็นการเคารพ 3.9 ล้านเสียงที่ลงคะแนนให้”

ในฐานะที่ผมเป็น 1 ใน 3.9 ล้านเสียง ผมจึงขอบอกว่า ไม่ต้องการเห็นสภาพการต่อรอง แย่งชิงตำแหน่งหรือผลประโยชน์ดังที่ผ่านมาทุกสมัย