“ประชาธิปไตยที่ไม่ยึดกติกาสากล” = ไม่มีทางออก ?

เลือกตั้ง 24 มีนาคมที่ผ่านมา ความเห็นต่อความเป็นไปของประเทศแยกออกเป็น 2 ทาง

ทางหนึ่ง เชื่อว่าอะไรต่ออะไรจะดีขึ้น เพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แม้จะถูกครหาหรือตั้งข้อรังเกียจอยู่บ้างว่ากติกาไม่เป็นธรรม แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีข้ออ้างว่าเป็นรัฐบาลที่ผ่านกระบวนการแบบประชาธิปไตย ในความเชื่อที่ว่าในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น ถึงจะเอ่ยอ้างอย่างไรในเรื่องสิทธิ เสรีภาพของประชาชน แต่ที่สุดแล้วจะจบลงที่ผลประโยชน์แลกเปลี่ยนที่คุ้มค่ามากกว่า

เมื่อมีข้ออ้างว่าเป็น “ประชาธิปไตยแบบที่เหมาะสมกับประเทศ” แล้ว ข้อจำกัดต่างๆ ที่จะทำให้ความสัมพันธ์มีปัญหาก็น่าจะหมดไป

คนที่เชื่อในทางนี้พยายามที่จะชี้และโน้มน้าวให้เห็นว่า ประชาธิปไตยที่แตกต่างจากนานาชาติไม่ได้เป็นปัญหาอะไรกับการพัฒนาประเทศ

มีการนำเสนอช่วงชิงความชอบธรรมจาก “ประชาธิปไตย”

อย่างไรก็ตาม มีอีกฝ่ายหนึ่งที่มองว่า “ประชาธิปไตยที่ไม่ยึดกติกาสากล” ไม่มีทางที่จะเป็นทางออกได้

เพราะ “แบบไทยๆ” ที่พยายามนำเสนอนั้น เริ่มต้นด้วยการเอาเปรียบ

การหาเหตุผลมาชี้ด้วยเสียงอันดังกว่าว่าเพื่อนร่วมชาติส่วนใหญ่อ่อนด้อย โง่เขลา จนไม่ควรจะมีสิทธิที่เท่าเทียมกับคนบางกลุ่มบางพวก

จิตสำนึกที่เอาเปรียบคนอื่นไม่มีทางที่จะสร้างการยอมรับจากคนส่วนใหญ่ได้

ที่สุดแล้วมีแต่ต้องใช้อำนาจที่เหนือกว่าบังคับให้คนส่วนใหญ่ต้องยอมจำนน

โดยอาจจะเป็นอำนาจจากกองกำลัง และอาวุธ หรืออำนาจจากกฎหมายที่ร่างขึ้นมาอย่างไม่เป็นธรรม และแต่งตั้ง หรือควบคุมกลไกให้บังคับใช้ตามที่ต้องการ

ซึ่งวิธีการเช่นนี้ไม่มีทางที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการชี้นำให้นานาชาติยอมรับในความเป็นประชาธิปไตยขึ้นมาได้

ไม่ว่าจะเขียนกฎหมายเอื้อผลประโยชน์ต่างชาติเพื่อแสวงหาความสนับสนุนสักเพียงใดก็ตาม

สองขั้วความคิดนี้สู้กันมาก่อนการเลือกตั้ง โดยต่างหวังว่าหลังเลือกตั้งความขัดแย้งจะคลี่คลาย

แต่แล้วดูเหมือนว่า “ผลการเลือกตั้ง” จะยิ่งก่อความแตกแยกรุนแรงขึ้นอีก

จากขัดแย้งเพราะความแตกต่างเชิงแนวคิด กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างช่วงวัยของคน

คำว่า “ยุทธศาสตร์ 20 ปี” ที่ฝ่ายผู้กุมอำนาจเชื่อว่าจะเป็น “จุดขายสำคัญ” เพราะแสดงถึงแนวคิดชัดเจนว่าจะนำประเทศไปทางไหน กลับกลายเป็นจุดอ่อนที่สร้างแรงต้านในเชิงลึก จากคนรุ่นใหม่ที่เชื่อในความเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวได้ดีกว่าของคนรุ่นตัวเองมากกว่าจะให้คนรุ่นเก่าที่หวาดระแวงความเปลี่ยนแปลงเป็นผู้กำหนด

ผลการเลือกตั้งที่ไม่ช่วยให้ฝ่ายมีอำนาจได้เปรียบอะไรเลย ทำท่าจะส่งผลให้ “รัฐประหาร” เป็นการ “เสียของ” อีกครั้ง

การดิ้นรนเพื่อรักษาเป้าหมายเอาไว้จึงเกิดขึ้น

ทว่ายิ่งดิ้นรนกลับกลายเป็นยิ่งกดดันให้ “คนรุ่นใหม่” ต้องลุกขึ้นสู้ ยิ่งนำความยุ่งยากมากันใหญ่

การใช้อำนาจกับประชาชนที่มีความตื่นตัว และมีผู้นำที่ชัดเจนในหลักการ และไม่เกรงกลัว

ก่อให้เกิดแรงปะทะที่ท้าทายอย่างยิ่ง

การเอ่ยถึงความจำเป็นต้องรักษา “คุณธรรมสูงส่ง” ไว้ โดยการทำทุกอย่างเพื่อให้เป้าหมายสำเร็จ โดยไม่เลือกวิธีการ ถูกตอบโต้ด้วยการตั้งคำถามที่ท้าทายคำตอบ ต่อคำถามที่ว่า “อำนาจที่ยกย่องว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากกว่า เกิดขึ้นจากการฉ้อฉล คดโกง ต้องใช้สารพัดเล่ห์เหลี่ยม ได้หรือ”