หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ / ‘มะขามเปียก’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
นกขุนแผนและกวาง - เมื่อพวกมันออกมาในแหล่งอาหารพร้อมกัน ช่วยกันระมัดระวังภัย นี่คือการพึ่งพาอีกอย่างหนึ่ง

หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ

‘มะขามเปียก’

หน่วยพิทักษ์ป่า ลูกไม้แดง

ป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันตก

กองไฟริมลำห้วย ซึ่งกระแสน้ำไหลรอดต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ล้มทอดตัวยาวมานานหลายปี

ตะเคียนต้นนี้ล้มมานานแล้ว มีตะใคร่เขียวๆ ขึ้นเกาะ

ในฤดูแล้ง สายน้ำไหลรอดลำต้น ด้านข้างเป็นท่าน้ำ คนในหน่วยใช้เป็นที่อาบน้ำ ซักผ้า

ฤดูฝน น้ำขึ้นสูง ขอนตะเคียนทำหน้าที่คล้ายสะพานให้คนเดินข้ามไปอีกฝั่ง

“นานแล้วครับ มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาที่นี่” วสันต์ พิทักษ์ป่ารุ่นเก่าเล่า

“เขามีความคิดว่า อยากเอาตะเคียนต้นนี้ไปสร้างศาลาที่จังหวัด” วสันต์หยุดพูด สักพักคล้ายกระตุ้นให้คนอยากฟังต่อ

“ตอนกลางคืน เขาเห็นผู้หญิงนั่งบนขอน พอเช้าเขารีบกลับเลยครับ บอกไม่เอาแล้ว”

เรื่องเล่าทำเอาหลายคนไม่ลงอาบน้ำตอนกลางคืน

 

ข้างกองไฟค่ำนี้ว่างเปล่า แคร่ไม้ไผ่ไม่มีคนนั่งผิงไฟเหมือนทุกวัน มีเพียงแมวตัวอ้วนกลมสีตุ่นๆ ชื่อว่าหมอก นอนขดตัวอยู่ข้างกองไฟ ด้วยท่าทางขี้เกียจๆ

ความคึกคักอยู่ในครัว

เตาไฟควันโขมง เสียงตำเป็นจังหวะ ผู้ชายหลายคนสาละวนกับการตำพริกแกง

พรุ่งนี้พวกเขาจะออกเดินลาดตระเวน ใช้เวลาในป่าร่วม 10 วัน

นอกจากเครื่องใช้ส่วนตัว อุปกรณ์ทำงาน เปล ฟลายชีต อาวุธ จะมีเสบียง ซึ่งข้าวสารจะมากกว่าอย่างอื่น

พวกเขาแบ่งใส่ถุงแยกเป็นกองๆ กองละเท่ากันเพื่อใส่เป้แต่ละคน

ข้าวสารสำคัญ แต่ที่ขาดไม่ได้เลยในการเดินป่าคือ พริกแกง

“บางทีเดินไปตั้งวันหนึ่งแล้วนึกได้ว่าลืมพริกแกง ต้องส่งคนกลับมาเอาครับ” สาธิตเล่า

พริกแกงช่วยเพิ่มรสชาติ ไม่ว่าจะเป็นบะหมี่สำเร็จรูป ปลากระป๋อง หรือผักที่หาได้จากริมห้วย

นอกจากพริกแกง อีกสิ่งที่จำเป็นในรายการเสบียงคือ มะขามเปียก

“ช่วยให้กับข้าวรสดีขึ้นครับ เปรี้ยวๆ เผ็ดๆ” พวกเขาให้เหตุผล

 

ปลายเดือนพฤศจิกายน

ผมพบกับทีมสำรวจประชากรเสือโคร่ง จากสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ

เกริกพล ผู้ช่วยหัวหน้าสถานี นำทีมมา

“ไปอยู่ไหนก็ไม่พ้นครับ” เขาพูด เราดีใจที่ได้พบกัน หลายปีก่อนผมอยู่ร่วมทีมกับพวกเขา

งานสำรวจประชากรเสือโคร่งในป่าทุ่งใหญ่และห้วยขาแข้ง ทำต่อเนื่องมาหลายปี

สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เก็บข้อมูลนี้ นอกเหนือจากร่วมดูแลป้องกันแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า โดยใช้ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) เป็นเครื่องมือ

ทุกปี ทีมจากเขานางรำจะเดินทางเข้ามาป่าทุ่งใหญ่ทั้งสองฝั่ง ปีละแห่ง

ปีนี้พวกเขาได้รับกล้องดักถ่ายเพิ่ม และต้องการให้ระยะเวลาสำรวจสั้นลง

เพื่อให้ข้อมูลแม่นยำขึ้น จึงแบ่งไปทำงานพร้อมกันสองฝั่ง

“ทีมนางรำยึดบ้านพี่แล้วนะครับ” เกริกพลพูดขำๆ

การศึกษาเรื่องเสือโคร่ง ทำอย่างละเอียดมากขึ้น

นอกจากในป่าห้วยขาแข้ง พวกเขาจับเสือในป่าทุ่งใหญ่ฝั่งตะวันออก ติดเครื่องส่งสัญญาณวิทยุด้วย

“เราพบว่า เสือจากขาแข้ง เดินไปทุ่งใหญ่ บางตัวทะลุไปพม่าเลยครับ”

สมโภชน์ ดวงจันทราศิริ หัวหน้าสถานีเล่าให้ฟัง

ผืนป่ารอบๆ ป่าห้วยขาแข้งสำคัญ ป่าห้วยขาแข้งนั้นเปรียบเสมือนแหล่งเพาะพันธุ์ที่ดี

ป่ารอบๆ ทั้งป่าทุ่งใหญ่ แม่วงค์ คลองลาน อุ้มผาง

คือพื้นที่รองรับที่เสือจะไปอยู่

 

เกริกพลนำทีมมาด้วยพาหนะสองคัน

คันหนึ่งคือ ป้าหมี รถ toyota LN 106 คู่ทุกข์คู่ยาก อายุกว่า 20 ปี

อีกคันคือ ท่านแก่ อายุมากกว่าป้าหมี เป็นรถคันแรกของสถานี จอดทิ้งไว้นาน ได้รับการชุบชีวิตขึ้นมาใหม่

“เครื่องแรง บุกดี แต่ยังมีปัญหาจุกจิกๆ ครับ” เกริกพลว่า

วันนี้เขาพบว่า หม้อน้ำท่านแก่รั่ว

นอกจากต้องออกไปซื้อเสบียง พวกเขาต้องเอาท่านแก่ไปซ่อมหม้อน้ำด้วย

ส่วนเสือผอม หัวหน้าหน่วย ต้องออกไปส่งข้อมูลลาดตระเวน

และเข้าประชุมประจำเดือน

ตั้งแต่เช้า เสือผอมเปิดฝากระโปรงรถ เริ่มซ่อมแซม คนในป่าทุ่งใหญ่ ส่วนมากจะมีทักษะในการแก้ไขและซ่อมแซมรถเฉพาะหน้า ให้สามารถเดินทางต่อได้

“ใครมีสบู่ เอามาครับ” เขาใช้สบู่ถูๆ หม้อน้ำ อุดรอยรั่ว

“ไข่ไก่ไม่มี” ตอกไข่ใส่หม้อน้ำ เป็นการแก้ไขรอยรั่วหม้อน้ำอีกวิธี

“งั้นเอามะขามเปียกมา” เสือผอมสั่ง เขาเอามะขามเปียกแปะรอยรั่ว

เราหยุดดูน้ำในหม้อน้ำและใช้มะขามเปียกปะเป็นระยะ

กระทั่งเดินทางถึงสำนักงานเขตในเวลาบ่ายของอีกวัน

 

ทั้งพริกแกงและมะขามเปียก คือเสบียงสำคัญ เมื่อทำความรู้จักให้ดี บางที “มะขามเปียก” ก็ไม่ได้ทำได้แค่เป็นส่วนประกอบอาหาร

ทำความรู้จักตัวเองให้ดี

บางทีเราอาจทำอะไรได้มากกว่าที่เคยทำ…