ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ต้นทโลก กับศาสนาผี ที่ปราสาทพิมานอากาศ ในพระราชวังเมืองพระนคร

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ในพระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา มีนิทานเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าได้เสด็จมายังโคก หรือเกาะแห่งหนึ่ง และได้ประทับอยู่ใต้ต้นไม้ที่ชาวเขมรเขาเรียกกันว่า “ต้นทโลก” (อ่านว่า ทะ-โลก) ชาวเขมรจึงเรียกพื้นที่บริเวณนั้นว่า “โคกทโลก” ซึ่งต่อมากลายเป็นพื้นที่สำคัญของชาวเขมร

บนต้นทโลกต้นนั้น มีตะกวดตัวหนึ่งพำนักอาศัยอยู่ จึงได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าอยู่ทุกเช้าค่ำ จนกระทั่งวันหนึ่งเจ้าตะกวดตัวนี้ก็ได้ปีนลงมาแลบลิ้นเลียอาหารที่มีผู้นำมาถวายต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงเห็นดังนั้นจึงมีพุทธทำนายว่า ต่อไปโคกน้อยที่เรียกกันว่าโคกทโลกนี้จะกลายมาเป็นผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่ ซึ่งก็คือกรุงกัมพูชา

ส่วนเจ้าตะกวดตัวนี้ก็จะได้กลับชาติมาเกิดใหม่เป็นปฐมกษัตริย์ของดินแดนแห่งนี้

แน่นอนว่า ในพระราชพงศาวดารระบุว่า การณ์ก็เป็นไปตามพุทธทำนายนั่นแหละนะครับ

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่ชาวเขมรบางกลุ่มจะยังนับถือ “ตะกวด” เป็น “สัตว์ศักดิ์สิทธิ์” หรือ “บรรพชน” ของตน เพราะยังมีร่องรอยของการนับถือตะกวดปรากฏอยู่ แม้กระทั่งในพระราชพงศาวดารของพวกเขาเอง

แถมยังมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่อีกนิดหนึ่งว่า ในพระราชพงศาวดารเล่มที่ว่านี้ ในฉบับแปลไทยก็มีวงเล็บถึงข้อความเอาไว้ในทำนองที่ว่า เพราะชาวเขมรมีบรรพบุรุษเป็นตะกวดที่มีลิ้นสองแฉก ดังนั้น จึงเป็นพวกที่คบไม่ได้ ซึ่งก็หมายความว่า ที่ชาวเขมรคบไม่ได้เพราะบรรพบุรุษมีลิ้นสองแฉก ไม่ใช่เพราะเป็นที่ตัวของตะกวด

ในสมัยหนึ่ง ตะกวดจึงดูจะไม่ได้มีความหมายไปในทิศทางที่เลวร้ายอะไรนัก (“ตะกวด” เป็นคำที่ไทยยืมมาจากคำว่า “ตรอกวด” ในภาษาเขมร ตรงกับคำไทยว่า “แลน” หรือ “เหี้ย” ก่อนที่ต่อมาจะถูกจำแนกขาดจากกันด้วยนิยามทางชีววิทยาในสมัยหลัง)

แม้กระทั่งในสังคมไทยก็ตาม เพราะผู้แปลเองก็เขียนไว้ในวงเล็บอยู่ทนโท่ว่า ที่เขาใส่ร้ายชาวเขมรว่าคบไม่ได้เป็นเพราะมีบรรพชนที่มีลิ้นสองแฉก ไม่ใช่ที่มีบรรพชนสืบมาจากตะกวด

ส่วนผู้แปลนั้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นนายพลตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ หรือนายทองดี ธนะรัชต์ ผู้เป็นบิดาบังเกิดเกล้าของอีกหนึ่งอดีตท่านผู้นำของประเทศอย่างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์นั่นเอง

 

แต่เรื่องที่ผมอยากจะพูดถึงในที่นี้ ไม่ใช่เรื่องของตะกวดหรอกนะครับ เพราะที่จริงแล้ว ประเด็นสำคัญในข้อเขียนชิ้นนี้มุ่งเป้าไปที่เจ้าต้นไม้ที่ชื่อว่า “ต้นทโลก” ตามอย่างที่ตั้งเป็นชื่อของข้อเขียนไว้นั่นแหละ

เจ้า “ต้นทโลก” ที่ว่านี้ เมื่อก่อนเข้าใจกันว่าคือต้นหมัน ในโลกภาษาไทย ซึ่งก็เป็นต้นไม้ที่พบได้โดยทั่วไป แต่ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าไม่ใช่ต้นไม้ชนิดเดียวกันเสียหน่อย แถมยังไม่มีผู้รู้ออกมาอธิบายว่า สรุปแล้วภาษาไทยเรียกว่าต้นอะไรแน่? ดังนั้น จึงต้องเรียกชื่อเจ้าต้นไม้ชนิดนี้ด้วยชื่อซาวด์แทร็กในภาษาเขมรไปพลางๆ

อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ (อย่างน้อยก็จากในพระไตรปิฎก) ทำให้เราทราบว่า ที่จริงแล้วพระพุทธเจ้าไม่เคยเสด็จออกจากชมพูทวีปเลยสักนิด

ส่วนนิทานเรื่องพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมายังที่โน่นที่นี่ในอุษาคเนย์ แล้วทรงมีพุทธทำนายว่า ต่อไปพื้นที่บริเวณนั้นจะกลายเป็นผืนแผ่นดินใหญ่ มีราชอาณาจักรอันไพศาลนั้น ก็เป็นนิทานเพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับทั้งดินแดน, ตัวรัฐเอง และรวมไปถึงราชวงศ์ที่ปกครองดินแดนแห่งนั้น ซึ่งพบได้โดยทั่วไปทั่วทั้งอุษาคเนย์

ดังนั้น สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าก็คือ ทำไมผู้แต่งนิทานจึงต้องผูกเรื่องให้พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ที่ใต้ต้นทโลกต่างหาก?

 

คําตอบง่ายๆ ก็น่าจะเป็นเพราะว่า “ต้นทโลก” นั้น เป็นต้นไม้ที่ชาวเขมรเขาถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ ในทำนองเดียวกับที่บ้านเรามีเจ้าพ่อต้นไทร หรือเจ้าแม่นางตะเคียน ดังนั้น จะให้พระพุทธเจ้าไปประทับที่ใต้ต้นอะไรได้เล่าครับ ถ้าไม่ใช่ที่ใต้ต้นหมัน?

ยิ่งเมื่อชนชาวอุษาคเนย์นั้นยังมีความเชื่อร่วมกันอีกอย่างนั่นก็คือ “พนัสบดี” หรือ “เจ้าแห่งป่า” นั้นไม่ใช่สิงโต หรือสัตว์ชนิดอื่นที่ไหน แต่เป็น “ต้นไม้ใหญ่” นั่นก็หมายความว่า ต้นไม้เหล่านี้มีพลังอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ และเป็นศูนย์กลางของอาณาบริเวณบางอย่างอยู่นั่นเอง

ในกรณีของนิทานเรื่องโคกทโลกนั้น ต้นหมันที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับอยู่ย่อมเป็นศูนย์กลางของบารมีบางอย่าง ที่มีมาก่อนที่ศาสนาจากชมพูทวีป ไม่ว่าจะเป็นพุทธหรือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จะถูกเผยแพร่เข้ามาในกัมพูชา และอุษาคเนย์ทั้งภูมิภาค

หลักฐานที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ การที่เมื่อสองสามปีที่ผ่านมานี้ นักโบราณคดีได้ขุดค้นเข้าไปที่รากฐานของปราสาทสำคัญแห่งหนึ่งคือ “ปราสาทพิมานอากาศ” แล้วพบว่ามีการฝังต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งไว้ที่ใต้ปราสาทนั้น

ซากของต้นไม้ต้นดังกล่าว ไม่ได้ถูกใช้งานในแง่ของโครงสร้างสถาปัตยกรรม หรือใช้สำหรับรับน้ำหนักใดๆ ทั้งสิ้น เป็นการฝังลงไปเฉยๆ เท่านั้น

จึงทำให้เชื่อกันว่า เป็นการฝังในเชิงพิธีกรรม

ถูกต้องแล้วนะครับ ซากของต้นไม้ใหญ่ที่ถูกนำมาฝังเพื่อประโยชน์ในเชิงพิธีกรรมข้างใต้ “ปราสาทพิมานอากาศ” ที่ว่านั้นก็คือ “ต้นทโลก” นั่นเอง

 

ปราสาทพิมานอากาศนั้น ถึงแม้จะเป็นปราสาทที่มีขนาดไม่ใหญ่นักเมื่อเทียบกับปราสาทอื่นๆ ในวัฒนธรรมขอมโบราณ แต่ก็เป็นปราสาทที่ถือได้ว่าสำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะเป็นปราสาทที่สร้างขึ้นอยู่ในเขตพระราชวังของเมืองพระนคร และใช้งานต่อเนื่องมาจนถึงสมัยนครธม หรือเมืองพระนครหลวง

ตัวปราสาทพิมานอากาศอย่างที่เห็นกันในปัจจุบันนั้น สร้างขึ้นในช่วงก่อน พ.ศ.1600 ไม่นานนัก แต่นักโบราณคดีกัมพูชาเชื่อกันว่าปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นทับปราสาทหลังเดิมที่สร้างมาตั้งแต่ช่วง พ.ศ.1450 และก็ไม่มีรายงานว่า เจ้าต้นทโลกที่ถูกฝังอยู่ข้างใต้ปราสาทนั้น ถูกฝังมาตั้งแต่ที่สร้างปราสาทหลังแรก หรือปราสาทหลังปัจจุบัน

แต่ถ้าจะให้เดา (ศัพท์ลำลองของคำว่า สันนิษฐาน) ก็เชื่อได้ว่าเป็นสิ่งที่มีมาแต่เดิมนั่นแหละครับ

เพราะปราสาทพิมานอากาศยังมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับศาสนาผีพื้นเมืองอุษาคเนย์ ที่ไม่ใช่เรื่องของพราหมณ์-ฮินดูแน่ อยู่อีกเรื่องหนึ่ง ดังปรากฏอยู่ในหลักฐานของชาวจีนที่เดินทางเข้าไปในเมืองนครธมเมื่อราวๆ พ.ศ.1800 นั่นก็คือบันทึกของโจวต้ากวาน

โจวต้ากวานบันทึกเอาไว้ว่า กษัตริย์ของนครธมจะต้องขึ้นไปบรรทมกับ “นางนาค” ที่ปราสาทพิมานอากาศทุกวัน ไม่เช่นนั้นแผ่นดินจะไม่เป็นสุข

ส่วนนางนาคที่ว่าจะมีจริงหรือไม่ก็ไม่สำคัญ เพราะเรื่องเล่าเช่นนี้ย่อมเป็นความหมายเชิงสัญลักษณ์ มากกว่าที่จะยึดถือเป็นจริงเป็นจัง

และก็แน่นอนด้วยว่า “นางนาค” ที่ว่านี้ย่อมเป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจของศาสนาผีดั้งเดิมในกัมพูชา เพราะชาวเขมรเชื่อว่าต้นตระกูลกษัตริย์ของตนเองที่มีชื่อว่า “พระทอง” (ซึ่งก็คือชาติต่อมาของตะกวดบนต้นทโลก?) ได้มาเสกสมรสกับนางนาค จนได้เกิดเป็นบ้านเป็นเมืองใหญ่โตกันแถวๆ ที่พระพุทธเจ้าเคยมาประทับอยู่ใต้ต้นทโลก แล้วได้มีพุทธทำนายไว้นั่นแหละ

การที่ขุดพบซากของต้นทโลกอยู่ที่ใต้ปราสาทพิมานอากาศ จึงไม่ใช่สิ่งที่บังเอิญ เพราะสอดคล้องกับความเชื่อในศาสนาผีพื้นเมืองของกัมพูชา ดังปรากฏความอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชานั่นเอง