จรัญ มะลูลีม : อิหร่านหลังระบอบชาห์ สู่รัฐปฏิวัติอิสลาม

จรัญ มะลูลีม

การเมืองของอิหร่านหลังการปฏิวัติ

ในสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส การปฏิวัติอิสลามเป็นเรื่องที่แปลกและใหม่ การปฏิวัติในตะวันออกกลางเป็นครั้งแรกได้แก่ การปฏิวัติรัฐธรรมนูญในอิหร่านใน ค.ศ.1905 และการปฏิวัติของพวกยังเติร์ก ในอาณาจักรออตโตมาน (Ottoman Empire) ใน ค.ศ.1908

นับจากนั้นเป็นต้นมาได้มีการปฏิวัติมากมาย และในทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 20 รัฐส่วนใหญ่ในภูมิภาคตะวันออกกลางก็ถูกปกครองโดยรัฐบาลที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาจากความรุนแรงหรือโดยการขจัดผู้ปกครองเก่าออกไป

ก่อนหน้านี้ การปฏิวัติบางครั้งจะสำเร็จได้โดยการต่อสู้ของนักชาตินิยมที่ต่อต้านผู้ปกครองต่างชาติ แต่ต่อมาการปฏิวัติส่วนใหญ่จะได้รับความสำเร็จจากการกระทำของทหาร โดยทั้งหมดจะเรียกด้วยฉายาว่า “การปฏิวัติ” ซึ่งในเวลานั้นกลายเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรม

ในตะวันออกกลางมีอยู่เพียงบางกรณีเท่านั้นที่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวอย่างลึกล้ำในสังคมและมีผลต่อมาอย่างยิ่งใหญ่มากกว่าจะเป็นแค่การเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจสูงสุด

หนึ่งในนั้นแน่ละคือการปฏิวัติตามแนวทางอิสลามของอิหร่านใน ค.ศ.1979 (Islamic Revolution of 1979) ซึ่งก่อให้เกิดการเปรียบเทียบกับการปฏิวัติในฝรั่งเศส และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการเปรียบเทียบกับที่มาแห่งการปฏิวัติของรัสเซียด้วย

 

มีบางแง่มุมที่น่าสนใจที่รัฐบาลปฏิวัติอิหร่านได้ขอยืมมาจากยุโรป ในขณะที่สัญลักษณ์และอุดมการณ์ของการปฏิวัตินั้นเป็นเรื่องอิสลามมากกว่าเรื่องของยุโรป แต่รูปแบบและวิธีการนั้นบ่อยครั้งเป็นเรื่องของยุโรปมากกว่าอิสลาม

เช่นเดียวกับฝรั่งเศสและรัสเซียในสมัยของตน การปฏิวัติอิหร่านมีบทบาทอย่างสำคัญต่อผู้คนทั้งในระดับนานาชาติและในประเทศ

การปฏิวัติครั้งนี้ได้สร้างความประทับใจต่อประชาชนที่อยู่นอกประเทศอิหร่าน และในประเทศอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้วัฒนธรรมที่เหมือนกัน

แรงดึงดูดใจนี้โดยปกติแล้วจะมีความแข็งขันอยู่ในกลุ่มประชาชนที่ถือสำนักคิดชีอะฮ์ อย่างเช่น ทางใต้ของเลบานอนและรัฐแถบอ่าวเปอร์เซีย

แต่ไม่เป็นที่นิยมของเพื่อนบ้านซุนนีที่อยู่ติดกัน

มีอยู่ช่วงขณะหนึ่งที่การปฏิวัตินี้เข้มแข็งอย่างมากในโลกมุสลิมทั่วไป ความแตกต่างทางสำนักคิดนั้นมิได้เป็นสิ่งสำคัญแต่อย่างใด

อะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ผู้นำการปฏิวัติมิได้ถูกมองว่าเป็นชีอะฮ์หรือชาวอิหร่าน แต่เป็นผู้นำการปฏิวัติอิสลามเช่นเดียวกับคนหนุ่มตะวันตกหัวอนุรักษ์ที่มีความกระตือรือร้นต่อเหตุการณ์ในปารีสและเปโตรการ์ด

ผู้คนนับล้านทั้งชายและหญิงทั่วโลกอิสลามได้ขานรับต่อการปฏิวัติอิสลามด้วยอารมณ์ที่เพิ่มขึ้นแบบเดียวกัน ด้วยหัวใจที่ได้รับการยกระดับเช่นเดียวกันและด้วยความหวังที่ไร้ขอบเขตเช่นเดียวกัน และด้วยความเต็มใจอันเดียวกันที่จะปลดเปลื้องและลบล้างสิ่งที่น่ารังเกียจทุกอย่างและด้วยคำถามที่กระตือรือร้นต่ออนาคตเช่นเดียวกัน

การปฏิวัติในอิหร่านไม่เหมือนกับขบวนการอื่นๆ เพราะใช้ชื่อว่าการปฏิวัติแบบอิสลาม สัญลักษณ์และสโลแกนของการปฏิวัติคืออิสลาม

เพราะคำว่าอิสลามนั้นมีอำนาจที่จะโน้มน้าวมวลชนให้มาสู่การต่อสู้

 

บรรดาผู้นำการปฏิวัติตีความว่าอิสลามเป็นยิ่งกว่าสัญลักษณ์และสโลแกน มีความจำเป็นที่จะต้องต่อต้านศัตรูผู้ก่อความผิด ซึ่งหมายรวมถึงผู้ปกครองมุสลิมที่ไม่ใช้หลักการอิสลามที่แท้จริงและนำเอาแนวทางของคนนอกศาสนาที่แปลกแยกมาใช้ด้วย นั่นเป็นการบ่อนทำลายชุมชนผู้มีศรัทธาและกฎหมายอิสลามที่ใช้กันอยู่

โดยหลักการแล้ววัตถุประสงค์ของการปฏิวัติตามแนวทางอิสลามในอิหร่านและในประเทศอื่นๆ ในเวลาต่อมานั้นเป็นขบวนการปฏิวัติที่เกิดขึ้นเพื่อกำจัดการขยายตัวของสิ่งที่มาจากต่างชาติที่ยัดเยียดเข้ามาในแผ่นดินและประชาชนมุสลิมในศักราชแห่งการครอบครองและอิทธิพลของต่างชาติและเพื่อจะฟื้นฟูแบบแผนอิสลามของพระผู้เป็นเจ้าที่ถูกต้องขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบบันทึกของการปฏิวัติเหล่านี้ทั้งในอิหร่านและที่อื่นๆ ได้แสดงให้เห็นว่าการปฏิเสธตะวันตกนั้นยังไม่ครอบคลุมอย่างที่ได้โฆษณาไว้

อย่างน้อยบางสิ่งที่ส่งมาจากดินแดนของผู้ไม่ศรัทธาก็ยังได้รับการต้อนรับอยู่

 

หลังการปฏิวัติจะพบว่าแนวโน้มทางการเมืองของอิหร่านส่วนใหญ่จะถูกกำหนดด้วยความต้องการที่จะผนึกกำลังภายในประเทศ

การพูดถึงการส่งออกการปฏิวัติและอุดมการณ์ของการ “ไม่เอาทั้งตะวันออกหรือตะวันตก” (Neither East Nor West) ถูกใช้ไปในการปลุกความเคลื่อนไหวทางอุดมการณ์ของประชาชน ก่อให้เกิดความหวั่นใจขึ้นอย่างมากในหมู่เพื่อนบ้านแถบอ่าวเปอร์เซีย

ในทางปฏิบัติ อะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ได้ใช้นโยบายในภูมิภาคที่มีลักษณะหลายมิติ ซึ่งขึ้นอยู่กับหลักการสี่ประการได้แก่

ความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับชาติอาหรับที่ถูกเลือกแล้ว

ความสัมพันธ์ที่ถูกต้องและจริงจังกับตุรกีและปากีสถาน

ตลอดจนความสัมพันธ์ที่มีผลในทางเศรษฐกิจ

ต่อต้านประเทศที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ในอ่าวเปอร์เซียและค่ายอาหรับและต่อต้านอิสราเอล

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนทางการเมืองในประเทศและการดำเนินนโยบายทางการเมืองใดๆ ก็ยังคงมีอิทธิพลของศาสนาอิสลามอยู่อย่างสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการปกครองของประธานาธิบดีสายเหยี่ยวหรือสายพิราบก็ตาม

คาดหมายกันว่าแนวโน้มทางการเมืองของอิหร่าน ส่วนใหญ่จะยังคงมีอิทธิพลของการปฏิวัติตามแนวทางอิสลามอยู่ต่อไป

โดยผู้นำทางจิตวิญญาณจะเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจ