แมลงวันในไร่ส้ม/ กรณี ‘ฝรั่งขี้นก-ข้าวสาร’ แทรก ‘การเมืองไทย’ ข่าวฮอตจาก ‘สน.ปทุมวัน’

แมลงวันในไร่ส้ม

กรณี ‘ฝรั่งขี้นก-ข้าวสาร’

แทรก ‘การเมืองไทย’

ข่าวฮอตจาก ‘สน.ปทุมวัน’

กรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เข้ารับทราบข้อหาอันเนื่องจากการชุมนุมของนักศึกษาเมื่อปี 2558 เมื่อวันที่ 6 เมษายน ที่ สน.ปทุมวัน โดยมีตัวแทนทูตประเทศต่างๆ เข้าสังเกตการณ์

ก่อให้เกิดความไม่พอใจจากรัฐบาล

อาทิ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ออกมาตำหนิว่า ถือว่าผิดหลักการทางการทูตของสหประชาชาติ ที่ไม่ควรมาแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม

การที่สถานทูตจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมของประเทศนั้นๆ ควรเป็นกรณีพลเมืองของประเทศนั้นเข้าไปเกี่ยวข้องในคดี

หรือเกิดเหตุยุ่งเหยิงขึ้นในประเทศ ซึ่งจะต้องสังเกตการณ์อยู่ห่างๆ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องภายในประเทศ ถ้ามีเรื่องที่สงสัย หรือไม่แน่ใจ ควรสอบถามมายังกระทรวงการต่างประเทศ

นายดอนยังกล่าวว่า จะเชิญผู้แทนจากสถานทูตต่างๆ มาพูดคุยถึงเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหลักการและจรรยาบรรณ รวมถึงขอความร่วมมือ อย่าให้เกิดเรื่องลักษณะนี้ขึ้นอีก เพราะก่อนหน้านี้ กระทรวงการต่างประเทศก็เคยทำหนังสือเวียนแจ้งเตือนไปแล้ว

ส่วน น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า เบื้องต้นทราบว่าคณะทูตและผู้แทนองค์การระหว่างประเทศที่ไปปรากฏตัวในวันนั้นเป็นเพราะได้รับเชิญจากธนาธรเอง

ขณะที่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกอนาคตใหม่ ได้ออกมาตอบโต้การชี้แจงของ น.ส.บุษฎีว่า ช่วงเย็นของวันที่ 4 เมษายน เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติติดต่อมายังพรรคอนาคตใหม่ทนายความของนายธนาธร และ สน.ปทุมวันด้วยตัวเอง แสดงความต้องการจะขอเข้าร่วมสังเกตการณ์การแจ้งข้อกล่าวหาต่อนายธนาธรในวันที่ 6 เมษายน ซึ่งเรื่องนี้สามารถสอบถามไปยัง สน.ปทุมวันเองได้

ส่วนทูตจากสหรัฐอเมริกา, แคนาดา และสหภาพยุโรป พรรคอนาคตใหม่มีสัมพันธ์อันดีอยู่แล้ว ต่อให้นายธนาธรเป็นผู้เชิญเอง ถ้าไม่ใช่ประเด็นน่าห่วงกังวลจริงๆ ตัวแทนนานาชาติเหล่านี้ก็จะไม่ร่วมติดตามสถานการณ์ เพราะมีธรรมเนียมทางการทูตในการทำงานอยู่

แต่ที่ 12 ตัวแทนนานาชาติมาร่วมสังเกตการณ์นั้น เพราะเห็นว่า การใช้กฎหมายความมั่นคงตามมาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่นนั้นถือเป็นเรื่องร้ายแรงมาก และน่ากังวลมากขึ้นไปอีกเมื่อถูกใช้กับ หัวหน้าพรรคการเมือง ที่เพิ่งลงเลือกตั้งครั้งแรก แต่ได้รับ ส.ส.ถึง 80 กว่าที่นั่ง

 

เป็นที่เข้าใจได้ว่า จุดอ่อนไหวของรัฐบาล คสช. คือปัญหาการยอมรับจากนานาประเทศ และยังมีอาการหวั่นไหวต่อการเติบโตพรวดๆ ของพรรคอนาคตใหม่

เมื่อมีตัวแทนต่างชาติแสดงออกในลักษณะดังกล่าว จึงเกิดความไม่พอใจ ทั้งจากรัฐบาลเอง และบรรดากองเชียร์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.เอง กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นตัวแทนทูตจริงหรือเปล่า ตอนนี้ให้กระทรวงการต่างประเทศติดตามอยู่ โดยพูดคุยกับเอกอัคราชทูตต่างๆ

สื่อบางสำนักเสนอข่าวและบทความในทำนองว่า ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงการเมืองและการเลือกตั้งประเทศไทยอย่างไม่เหมาะสม

ส่วนกองเชียร์รัฐบาล แสดงความเห็นในโซเชียลมีเดียว่า ตัวแทนทูต คงเป็นฝรั่งขี้นกแถวถนนข้าวสาร ที่นายธนาธรจ้างมาจัดฉากให้ความสำคัญกับตนเอง

“มติชนออนไลน์” ได้ตั้งประเด็นสำรวจความเห็นประชาชนและผู้อ่านในประเด็นนี้ในเฟซบุ๊ก มติชนออนไลน์ มีผู้เข้าร่วมโหวต 1 หมื่นโหวต ในจำนวนนี้ 4% ระบุว่า จัดฉากเชิญฝรั่งขี้นก และอีก 96% ระบุว่า ต่างชาติสนใจเลือกตั้งไทย

ส่วนในทวิตเตอร์ มติชนออนไลน์ มีผู้ร่วมโหวต 1,981 โหวต ในจำนวนนี้ 15% ระบุว่า จัดฉากเชิญฝรั่งขี้นก และ 85% ระบุว่า ต่างชาติสนใจเลือกตั้งไทย

โดยมีการแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจ อาทิ “จะเชิญหรือไม่เชิญไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไรเลย ต่างชาติเขามองคดีธนาธรถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม คดีเกิดปี 2558 แต่เพิ่งมากระตือรือร้นดำเนินคดีปี 2562 และจะเอาพลเรือนไปขึ้นศาลทหาร แค่นี้เขาก็พอจะมองออกว่ากลั่นแกล้งธนาธร”

“ธนาธรจะเป็นคนเชิญผู้แทนสถานทูตต่างชาติมาสังเกตการณ์เองหรือไม่ จริงๆ ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญนะ เรื่องที่สำคัญจริงๆ ที่กระทรวงการต่างประเทศต้องสนใจ ควรสนใจ และควรทำความเข้าใจให้ถูกคือ ทำไมตัวแทนจากสถานทูตต่างชาติประจำไทยเหล่านั้น ถึงมากันอย่างพร้อมเพรียง ส่วนประเด็นว่า ใครเชิญ หรือเชิญเอง อันนั้นยิ่งโฟกัสแถลงเฉพาะจุดนี้ ก็ยิ่งดูโง่ๆ นะ”

อีกความเห็นระบุว่า “ถ้าฝรั่งขี้นกจริง ต้องปลดตำรวจตรงนั้นให้หมด ให้ไปนั่งฟัง เข้าไปในสถานีตำรวจได้ไง เกิดเป็นผู้ก่อการร้าย จะทำไง”

“จะเชิญหรือไม่เชิญก็ไม่ต่างกัน เพราะถึงเชิญ หากพวกเขาไม่สนใจ พวกเขาก็คงไม่มาหรอก มันบังคับกันไม่ได้ นี่แสดงว่าพวกเขาให้ความสนใจเรื่องนี้มาก และในฐานะที่เขาทำงานที่นี่ พวกเขาคงต้องทำรายงานกลับไปยังหน่วยงานของพวกเขาที่ต่างประเทศ”

“เหมือนวงเวียนประวัติศาสตร์ ครับ ต่างชาติรู้ว่าขณะนี้ประเทศไทยเป็นอย่างไร และมีแนวโน้มการใช้อำนาจรัฐจัดการกับคนในประเทศอย่างใด แต่คนไทยไม่รู้ครับ”

“ต่างชาติก็ต้องสนใจการเมืองไทยสิ เค้าจะได้คำนวณถูกว่าควรมาลงทุนในไทยดีหรือไม่ ไม่มีต่างชาติที่ไหนเค้าอยากจะมาลงทุนกับประเทศที่เป็นเผด็จการ นึกอยากจะปิดหรือจะทำอะไรก็ทำหรอก มันเสี่ยง”

และสุดท้าย เมื่อวันที่ 10-11 เมษายน กระทรวงการต่างประเทศได้เชิญตัวแทนต่างชาติ มีทูตระดับต่างๆ มารับฟังคำชี้แจงของรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ที่แสดงความห่วงใยต่อบทบาทของตัวแทนทูตในวันที่ 6 เมษายน

 

ขณะที่โฆษกสถานทูตสหรัฐในไทย และตัวแทนสหภาพยุโรป หรืออียู แถลงยืนยันว่ากระทำตามแนวปฏิบัติปกติทางการทูต ไม่ได้แทรกแซงใดๆ เพราะไม่ได้แสดงความเห็นที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายไหน

ถือว่าการตอบโต้จากตัวแทนทูต แสดงถึงการปฏิเสธและไม่ยอมรับข้อกล่าวหาของนายดอนอย่างตรงไปตรงมา

กลายเป็นอีกมุมของผลการเลือกตั้ง ที่แม้จะบรรลุผลในการเล่นงานคู่แข่งของรัฐบาล แต่ไม่เป็นผลดีกับรัฐบาลในด้านการต่างประเทศ