พลโท ดร.พงศกร รอดชมภู : การพัฒนาระบบดิจิตอล หนทางพ้นการตกอับ

พลโท ดร. พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

ภายหลังมี พรบ.คอมพ์ฯฉบับใหม่และการโจมตีจากทั้งภายในและภายนอกประเทศจนบริการภาครัฐหยุดทำการไปหมด ก็ทำให้คาดหมายได้ว่าระบบของภาครัฐไม่มีความพร้อมในการเข้าสู่ระบบดิจิตอลอย่างแท้จริงและจากประสบการณ์ที่ทำงานภาครัฐมานานก็พอจะเข้าใจเหตุผล บทความนี้จึงมุ่งให้ความเห็นต่อภาคเอกชนกลุ่มที่ไม่เอารัด เอาเปรียบประชาชนและเกษตรกรและนักอุตสาหกรรมทั่วไปในการช่วยกันกอบกู้ประเทศชาติให้พ้นจากยุคอานาล็อกเกษตรกรรมและเข้าสู่ยุคดิจิตอลเพื่อให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไปอีกครั้งหนึ่ง

สิ่งที่จำเป็นในการรองรับการผลิตในขณะนี้คือ ข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big data เนื่องจากขณะนี้ได้มีข้อมูลในเรื่องต่างๆมากมายและนับไม่ถ้วนที่ต้องทำการวิเคราะห์อย่างรวดเร็ว เราพบกับคำว่า variety, volume, velocity คือความหมายทั้ง ๓ ประการที่กล่าวไปแล้ว ข้อได้เปรียบคือคนไทยมีสัดส่วนการใช้โทรศัพท์มือถือและการเข้าถึงแหล่งข้อมูลต่างๆสูงกว่าประเทศอื่นๆมาก เพียงแต่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้และจัดระเบียบกันอย่างถูกต้องจริงจังเท่านั้น

เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมจะขอยกตัวอย่างการผลิตทางการเกษตรเช่นข้าว ซึ่งเราทราบดีว่าปัญหาของเกษตรกรมี ๕ ประการคือ การไม่เป็นเจ้าของที่ดิน การไม่มีแหล่งน้ำเพียงพอทำการผลิตแบบทยอยได้ตลอดทั้งปี ปัจจัยการผลิตราคาสูง ไม่สามารถแปรรูปและหีบห่อได้เอง และไม่มีตลาดรองรับ

Big data จะช่วยอะไรเราได้บ้าง เริ่มแรกคือทุกอย่างจะต้องวัดได้หมด ข้อมูลจึงจะถูกนำมาใช้ได้ การทำเกษตรกรรมต้องเป็นระบบใหญ่อย่างที่รัฐบาลพยายามทำแปลงใหญ่ แต่แปลงใหญ่นั้นถ้าจะให้เกษตรกรได้ประโยชน์จริงถ้าไม่ได้เป็นเจ้าของที่ ก็ต้องสามารถรวบรวมโดยเกษตรกรนั้นเองได้ประโยชน์สูงสุด ระบบการเงิน ระบบสินเชื่อ ทุกอย่างต้องเชื่อมโยงกันหมดก่อน จึงจะเริ่มต้นทำการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ถูกหลอกโดยนายทุนและบริษัทปัจจัยการผลิต ตัวเลขอะไรที่จะบอกได้ต้องอยู่ในระบบBig data ทั้งหมด

เรื่องแหล่งน้ำเป็นปัญหาหลักของเกษตรกร ในประเทศอิสราเอลแหล่งน้ำมีจำกัดแต่ด้วยการใช้ระบบน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติทั้งหมด จึงไม่เหลือน้ำทิ้งโดยเสียเปล่า กรณีของน้ำถ้าไม่สร้างบ่อเก็บระบบปิดหรือการใช้น้ำหยด ก็จะใช้น้ำอย่างสิ้นเปลืองไปอย่างเปล่าประโยชน์ ทุกหยดของน้ำและวิธีการใช้น้ำต้องได้รับการตรวจสอบและใช้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด และหากต้องการประสิทธิภาพสูงสุดต้องทยอยจ่ายน้ำให้กับผู้ต้องใช้ในเวลาที่ต้องการและเท่าที่ต้องใช้เท่านั้น เพื่อให้สามารถมีน้ำใช้ตลอดทั้งปีในแต่ละแปลงเป็นการเฉพาะ

ในเรื่องปัจจัยการผลิต ภาคเอกชนที่ต้องการลดราคาปัจจัยการผลิตและสูญเสียจากการเก็บรักษา โดยร่วมมือกับเกษตรกร แยกออกเป็นเรื่องปุ๋ย เมล็ดพันธุ์และยาฆ่าแมลง ในเรื่องปุ๋ย ต้องผลิตเครื่องผสมปุ๋ยที่สามารถปรับสูตรให้เหมาะกับทุกสภาพดินและพันธุ์ได้ ไม่ใช่สูตรเสมออย่างที่ใช้กันอยู่ หากเกษตรกรมีตัวอย่างพืชและมีเจ้าหน้าที่เกษตรหรือมหาวิทยาลัยใกล้เคียงมีข้อมูลสภาพดิน สภาพอากาศ ตลอดพื้นที่และตลอดทั้งปีก็จะคำนวณออกมาเป็นสูตรปุ๋ยรายวันได้ทันที และเมื่อเกษตรกรผสมปุ๋ยได้เอง ราคาจะถูกกว่าซื้อและประหยัดกว่าเพราะอาศัยปุ๋ยที่ยังค้างในดินและพืชที่รับปุ๋ยนั้นมาบอกเราว่าควรใช้ปุ๋ยรอบต่อไปอย่างไร ส่วนเมล็ดพันธุ์ ปัจจุบันมีการเอาเปรียบเกษตรกรโดยการสร้างระบบการเก็บเกี่ยวที่ไม่อาจเก็บพันธุ์ไว้ปลูกในรอบต่อไปหรือเรียกว่าเป็นหมัน เครื่องคัดพันธุ์โดยใช้ต้นแบบจากพันธุ์พื้นเมืองที่เกษตรกรปรับระบบได้จะช่วยให้เกษตรกรเลือกได้ว่าควรปลูกพืชชนิดใด ในเวลาไหนที่จะให้ผลผลิตต่อไร่ได้สูงสุด เป็นการลดต้นทุนและบริหารจัดการด้วยเกษตรกรเอง ส่วนยาฆ่าแมลงนั้น เกษตรกรควรรวมกลุ่มกันซื้อเครื่องผสมยาฆ่าแมลง ในแนวทางเดียวกับเครื่องผสมปุ๋ย และในหลักการเดียวกัน ก็จะทำให้ต้นทุนลดลงต่ำสุดและมีผลต่อการฆ่าแมลงได้เหมาะสมที่สุด ในกรณีที่ใช้ตัวห้ำหรือตัวเบียนและเกษตรทางเลือกอื่นก็ลักษณะเดียวกัน

การแปรรูปและการหีบห่อเป็นหัวใจของการขาย กรณีชาวนา ปัจจุบันถูกพ่อค้าส่งออกและโรงสีเอาเปรียบในเรื่องราคารับซื้อ ที่เป็นปัญหามากกว่านั้นคือเมื่อรัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือชาวนา ก็จะมีการสวมสิทธิโดยนำเข้าแบบผิดกฎหมายจากต่างประเทศ มีผลเสียทั้งคุณภาพสินค้าและไม่อาจซับข้าวได้หมดจริง รัฐบาลขาดทุน เกษตรกรขายไม่ได้ทุนคืน คนรวยคือคนกลางเช่นเดิม ดังนั้นหากเกษตรกรรวมกลุ่มกันสร้างโรงสีขนาดเล็กที่ควบคุมด้วยระบบสารสนเทศ ร่วมกับภาคเอกชนที่เป็นผู้แทนจำหน่าย ข้อมูลที่เกิดขึ้นคือในแต่ละแปลงนา จะมีเหมือนเป็นลายพิมพ์ DNA ว่า ข้าวที่สีออกมาและซีลในถุงสุญญากาศนี้ผลิตโดยใคร คุณภาพข้าวเป็นแบบไหน วิ่งไปขายที่ใดกันบ้าง ใช้เวลาเท่าไร ถึงผู้บริโภคคนไหนบ้าง และที่ไหน

สืบเนื่องจากการแปรรูปและหีบห่อดังกล่าว ตลาดจะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไปเพราะสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่ถูกลงสำหรับผู้ซื้อ แต่เป็นราคาที่แพงขึ้นสำหรับผู้ขาย คนกลางในการจัดจำหน่ายเริ่มไม่จำเป็น การส่งออกตรงจากผู้ผลิตที่มีการสีข้าวอย่างมีประสิทธิภาพนี้ จะมีลักษณะเฉพาะเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในทุกระดับและทุกสังคมเอง การจัดการก็มีระบบการซื้อขายผ่านเครือข่าย การชำระเงินผ่านธนาคาร มีประกันคุณภาพสินค้าและการขนส่ง โดยที่ยังมีกำไรถึงผู้ผลิตได้เป็นจำนวนมาก

ตัวอย่างการผลิตเดียวนี้ สามารถนำไปใช้ในทุกประเภทของสินค้า ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงตลาด โดยไม่ต้องกังวลถึงการไม่มีตลาด เพราะตลาดมีอยู่ทุกหน ทุกแห่ง ปัญหาที่สำคัญคือ ตลาดในปัจจุบันจะมีลักษณะเฉพาะมากขึ้นและมีปริมาณจำกัดมากขึ้น การจะหวังตัดเย็บเสื้อผ้าโหลแล้วขายไปทั่วโลกนั้นเป็นสิ่งทำได้ยากหรืออาจทำไม่ได้เลย แต่การเลือกที่จะผลิตอย่างรวดเร็วในเวลาที่เฉพาะเจาะจง ในปริมาณที่พอดีไม่มาก ไม่น้อย จากผู้ซื้อที่อยู่ทุกแห่งในโลกนั้น ความแม่นยำในข้อมูลเท่านั้นที่จะช่วยได้

Big data ปัญหาใหญ่คือ การไม่แบ่งปันข้อมูลกันระหว่างธุรกิจต่างๆ ดังนั้นจึงควรจะมีธุรกิจให้บริการข้อมูลขนาดใหญ่นี้เกิดขึ้น เช่นการมีข้อมูลความต้องการของลูกค้าตลอดทั้งโลก ข้อมูลพื้นฐานการผลิตเช่นที่ดิน ข้อมูลลักษณะของสินค้าที่จะทำการผลิตเปรียบเทียบกับคู่แข่งทั่วโลก และมีข้อแนะนำสำหรับผู้เริ่มต้นเข้ามาในวงการทั้งเรื่องโอกาส ช่องทางการตลาดและแหล่งทุน

ที่จริงแล้ว ข้อมูลต่างๆก็มีอยู่แล้วในปัจจุบัน แต่อาจจะขาดการนำมารวบรวมและวิเคราะห์อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อาจมีคำถามว่าจะมนุษย์จะสามารถวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลนี้ได้อย่างไร แน่นอนว่าเรื่องนี้นำไปสู่เรื่องสำคัญต่อไปคือระบบข้อมูลข่าวสารที่เรียกว่า Artificial Intelligence (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์ ตัวอย่างใกล้ตัวเช่น SIRI ในมือถือค่ายแอปเปิ้ล หรือแม้แต่การค้นหาใน google เมื่อเราพิมพ์ผิด google ก็จะเลือกคำที่ใกล้เคียงที่สุดให้ หรือแปลภาษาให้ ไปจนถึงนิยายวิทยาศาสตร์ทั่วไป

ในอนาคตอันใกล้ การวิเคราะห์ด้วยระบบ AI นี้จะเลือกคำตอบที่ดีที่สุดในการผลิตได้ แต่ประเทศไทยยังขาดภาคเอกชนที่สนใจและสร้างงานประเภทนี้อีกเป็นจำนวนมาก หากเห็นว่าเรื่อง Big data เป็นเรื่องสำคัญดังที่กล่าวมาแล้ว การรอให้ภาครัฐเริ่มต้นนั้นดูจะเป็นความฝันที่ไกลเกินเอื้อม แต่หากภาคเอกชนคิด ริเริ่มทำกันในวงแคบๆแล้วขยายตัวออกไปโดยเริ่มจากการผลิตง่ายๆก่อน จากนั้นใช้การคำนวณการผลิตให้ตรงกับอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณน้ำในขณะนั้นไปจนกระทั่งถึงรสนิยมของลูกค้าทั่วโลก เป้าหมายก็จะบรรลุได้ในไม่ช้า ทำให้คนไทยมีโอกาสมากขึ้นในสังคมโลกแห่งการแข่งขันที่เข้มข้นนี้