อภิญญา ตะวันออก : เก่ง วรรณศักดิ์-มองมุมใหม่ในวิถีเสรีชนเขมร

อภิญญา ตะวันออก

ไม่ใช่การเรียนรู้ซึ่งกันระหว่าง 2 ขั้วความเชื่อทางสังคม แต่ ณ จุด “ปะทะ” ความเชื่อการเมืองซึ่งเป็นขนบวัฒนธรรมอันเกิดขึ้นไม่นานนี้ สำหรับกัมพูชาแล้ว พวกเขาเผชิญหน้ากับมันมาตั้งแต่ราวปี 2498 เลยทีเดียว

เป็นวาระเลือกตั้งสภานิติบัญญัติครั้งที่ 2 หรือ 3 กระมัง

ว่ากันว่ามันเป็นสนามประลองของพวกคนหนุ่ม นักสู้หน้าใหม่ที่พากันดาหน้ามารวมตัวกันในนาม “พรรคประชาธิปไตย”

แน่ละ พวกเขาเป็นขั้วตรงข้ามกับพรรครัฐบาล ที่ร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับพิสดาร มีพรรคประชาธิปไตยเป็นหัวหอกในสภา แต่ก็พ่ายแพ้แก่พรรคสังคมราษฎรนิยมที่มีอดีตกษัตริย์สีหนุหนุ่มเป็นเจ้าของ

พลัน การต่อสู้ระหว่าง 2 ระบอบแนวคิดที่มีพัฒนาการออกไป ระหว่างกลุ่มคนหนุ่มหัวก้าวหน้าที่เข้าร่วมพรรคประชาธิปไตย ที่สู้กับพรรรคเสด็จฯ (สีหนุ) ตามที่เรียกกัน และนั่นนับเป็นการปราฏตัวครั้งแรกของเหล่าปัญญาชนมากความสามารถ ผู้มีแนวคิดอุดมการณ์ใหม่ที่เรียกกันว่า “สังคมนิยมประชาธิปไตย” (ใหม่) อาทิ เขียว สัมพัน ฮู นิม ฮู ยุน เก่ง วรรณศักดิ์ (*)

แต่สำหรับเก่ง วรรณศักดิ์ (2468-2551) นั้น เขายังได้ชื่อว่าเป็นกวี นักเขียน ผู้เชี่ยวชาญภาษาตะวันออกที่ไม่เพียงแต่ด้านภาษาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นนักนวัตกรรมที่ออกแบบภาษาเขมรบนแป้นพิมพ์ดีดอีกด้วย (2495)

มากกว่านั้น เก่ง วรรณศักดิ์ ยังเป็นพี่เอื้อยดูแลกลุ่มนักเรียนทุนฝรั่งเศส ตั้งแต่สล็อต ซอ (พล พต) เอียง สารี และกลุ่มเขมรแดงเกือบทั้งหมดที่เขาให้คำปรึกษา ซึ่งทันทีที่คนกลุ่มนี้กลับประเทศก็กระโจนสู่การเลือกตั้ง-สนามการเมืองแบบรัฐสภา ที่พวกเขาคาดหวังจะมีบทบาทแก้ไข

ในนามสมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปไตย

 

โดยทีแล้ว ผู้เชี่ยวชาญพล พต ศึกษา (ฟิลิป ชอร์ต) ให้น้ำหนักอิทธิพลต่อพล พต ของเก่ง วรรณศักดิ์ ไว้ไม่น้อย ทั้งที่โดยทั่วไปแล้ว ในทางการเมือง เก่ง วรรณศักดิ์ ได้อาศัยทักษะทางวิชาการโจมตีระบอบสีหนุต่างกรรมต่างวาระที่มีชื่อเสียง จนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็น “จอมต่อต้านระบอบกษัตริย์” ผู้ถูกจดจำมากคนหนึ่ง

ซึ่งสำหรับเก่ง วรรณศักดิ์แล้ว เขามีความเห็นว่า อิทธิพลสถาบันกษัตริย์เขมรทางการเมืองมีส่วนสร้างความอ่อนแอแก่ประเทศ และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมเขาจึงสนับสนุนยกเลิกระบบราชวงศ์

เก่ง วรรณศักดิ์ ได้ชื่อว่ามีวาทะปราศรัยที่จับใจปวงประชา หลักฐานชิ้นหนึ่งคือภาพหาเสียงที่ติดตาตรึงใจคนรุ่นต่อมาในการเลือกตั้งครั้งนั้น ทว่าสำหรับเก่ง วรรณศักดิ์แล้ว เขากลับสอบตก และไม่เคยเฉียดใกล้วิถีการเมืองอีกเลยนับแต่นั้น นอกจากตำแหน่งผู้อำนวยการกองงานวัฒนธรรมแผนก “มอญ-เขมร” ที่ได้รับจากลอน นอล (เขมรสาธารณรัฐ/2513) แต่ก็เป็นเพียง 1 ปี ก่อนจะรับตำแหน่งนักการทูตเขมรประจำฝรั่งเศสในช่วงระยะสั้น

ดูเหมือนเขาจะไม่เคยเหมาะกับงานการเมือง และพรรคประชาธิปไตยที่เขาเข้าร่วม มีพวกคนหนุ่ม ส.ส.ใหม่จำนวนน้อยแต่คุณภาพ และมีความสำคัญในรัฐสภา แต่ในที่สุดผู้ก่อตั้งและหัวหน้าพรรคก็ถึงแก่อาสัญจากการถูกฆาตกรรมจนก่อการเปลี่ยนแปลงมากมายตามมา

กระนั้น วิวาทะสะเทือนสังคมที่เก่ง วรรณศักดิ์ เปิดประเด็นก็ร้อนแรงและสร้างขนบที่ไม่คุ้นเคยทางการเมือง โดยเฉพาะประมุขแห่งรัฐสีหนุที่รู้สึกขัดพระทัยในการกระทำของนักวิชาการผู้นี้ เพียงการขังคุกระยะและกักบริเวณบ้านพักระยะสั้น ในความผิดข้อหายุยงปลุกปั่นนิสิตนักศึกษาให้ออกมาประท้วงและกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาล

และเป็นนัยยะว่า เก่ง วรรณศักดิ์ มีผู้สนับสนุนอย่างกว้างขวาง

 

ความเป็นกวี อาจารย์และนักวิจัยหัวก้าวหน้า เก่ง วรรณศักดิ์ ในปี พ.ศ.2507 ได้สร้างความแตกตื่นแก่แวดวงปัญญาชนเขมร ด้วยข้อกล่าวหาโจมตีพจนานุกรมเขมรเล่มแรกกัมพูชา (2481) อย่างไม่ยี่หระต่อความศรัทธาในหมู่ประชาชนที่มีต่อผู้นำศาสนาสูงสุดของประเทศ

ทว่านี่กลับเป็นจุดเริ่มต้นของการจุดประกายทางสังคม ว่าด้วยการปกป้องวัฒนธรรมและรากเหง้าภาษาเขมร ที่เขาเห็นว่าถูกนำไปเล่นแร่แปรธาตุทางการเมืองโดยอาศัยความศรัทธาต่อศาสนาอย่างปราศจากการตั้งคำถามถึงความถูกต้องทางวิชาการ

เก่ง วรรณศักดิ์ ได้เสนอทฤษฎี “หลักการสร้างคำศัพท์ใหม่” (Principal de cr?ation des mots nouveaux) หักล้างทฤษฎีสมเด็จจวน นาต (2426-2512) ที่ขัดกับโครงสร้างและวิวัฒนาการภาษาเขมร (khmerization) อันเป็นรากเหง้าภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติกโดยกล่าวหาว่าพระนักวิชาการท่านนี้เป็นเพียงเครื่องมือชนชั้นปกครองจากสมัยอินโดจีนถึงยุคสังคมราษฎรนิยม

และเพื่อหักล้างต่อมรดกกรรมแห่งราชสำนักจากพจนานุกรม ที่ดัดแปลงรากศัพท์บาลีสันสฤตจากจารึกมาประดิษฐ์เป็นภาษาเขมร ที่ไม่ยึดโยงกับรากภาษาเขมรฉบับนี้ ก่อให้เกิดการค้นคว้าอภิปรายตามมาอย่างกว้างขวาง และทำให้เก่ง วรรณศักดิ์ ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากนิสิตปัญญาชนจำนวนมาก

เช่นเดียวกับทฤษฎี khmerization ที่ถูกผลักดันนำไปใช้สอนในโรงเรียนทั่วประเทศ และทำให้ภาษาเขมรฉบับจวน นาต ที่รับใช้ประเทศใน 2 ทศวรรษก่อนถึงกาลสิ้นสุด

องค์กรของรัฐด้านการศึกษาเกิดความก้าวหน้าในกระบวนทัศน์ทางสังคม

ทว่ารัฐบาลกลับรู้สึกเสียหน้า และหวั่นเกรงการแสดงออกของประชาชนต่อปรากฏการณ์ที่งานวิจัยของเก่ง วรรณศักดิ์ มีชนะเหนือผู้นำสูงสุดทางศาสนาซึ่งเป็นตัวแทนของสถาบันกษัตริย์และรัฐบาล

 

อีกทฤษฎีภาษาของเก่ง วรรณศักดิ์นี้ ถูกใช้เป็นแบบเรียนต่อมาร่วม 2 ทศวรรษ

นับเป็นการต่อต้านมรดกกรรมเชิงอำนาจต่อฝ่ายรัฐบาล ที่พยายามปกป้องคุณค่า จารีตและธรรมเนียมเก่าแก่ที่สั่นสะเทือนจากวิถีการแสดงแบบใหม่ที่นำโดยประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย

ทั้งหมดนี้มีให้เห็นถึงความเป็นธรรมชาติในการต่อสู้ทางสังคมของผู้นำความคิดเขมร นัยที พวกเขาล้วนมีความบ้าบิ่นเป็นอาภรณ์ของการแสดงต่อขั้วตรงข้ามอย่างสุดโต่งในแบบของตน

ซึ่งทั้งหมดนี้มีให้เห็นจากแทบทุกฝ่าย ตั้งแต่พล พต-คอมมิวนิสต์ เก่ง วรรณศักดิ์-เขมรเสรีไม่เอากษัตริย์ และชนชั้นอีลิตจากราชสำนัก-สมเด็จสีหนุ

และน่าจะตกทอดมาถึงสมเด็จมหาเดโชฮุน เซน ผู้นำเขมรคนปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จาก หลังทฤษฎี khmerization ตามหลักภาษาศาสตร์ของเก่ง วรรณศักดิ์ ที่หักล้างกันไปมา แม้จะยังไม่พบงานวิจัยยุคต่อมาที่สามารถหักล้างได้

ทำให้งานเขียนของเก่ง วรรณศักดิ์ ยังแพร่หลายและใช้กันในสถาบันศึกษาอีกครั้งนับแต่ปี 2536 หลังการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับจารีตนิยมว่าด้วยการสถาปนาระบอบพระมหากษัตริย์ และการรื้อฟื้นคุณค่าภาษาฉบับจวน นาต ซึ่งต่อมาอีกครั้งได้กลายเป็นโครงสร้างเชิงอำนาจของฝ่ายรัฐ เมื่อสมเด็จ ฮุน เซน ประกาศให้โรงเรียนของรัฐทั่วประเทศตลอดจนองค์กรสื่อสารมวลชนใช้พจนานุกรมฉบับสมเด็จพระสังฆราชจวน นาต อย่างมีนัยยะสำคัญ

โดยเฉพาะคำประกาศที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปีเดียวกับที่เก่ง วรรณศักดิ์ ถึงแก่กรรม

 

เก่ง วรรณศักดิ์ ยอมรับว่าตนเป็นตัวแทนการต่อสู้เพื่ออัตลักษณ์แห่งความเป็นเขมรดั้งเดิม และนั่นมันได้ถูกพิสูจน์แล้วว่า การบูชาคุณค่าดังกล่าวได้นำมาซึ่งลัทธิคลั่งชาติ ที่ก่อความหายนะแก่ชาติบ้านเมืองมาแล้ว

เช่นเดียวกับกับดักที่ผูกติดที่เขามองไม่เห็น นั่นคืออัตลักษณ์ความเป็นเขมรที่ผ่านออกมาในบทกวี เรื่องสั้นและบทวิจารณ์ที่สร้างคุณูปการต่อคนรุ่นหลัง

โดยเฉพาะแง่งามของภาษาที่เปี่ยมไปด้วยอรรถรสเย้ายวนในคำอุปมาอุปไมยอย่างมีชั้นเชิงซึ่งล้วนแต่มีอยู่ในพุทธวรรณคดีซึ่งอยู่ในงานของเขาทั้งหมดเป็นส่วนใหญ่

และนั่นคือสิ่งที่ทำให้เก่ง วรรณศักดิ์ ได้รับการยกย่องในฐานะนักปฏิวัติสุนทรีย์ในภาษาเขมรสมัยใหม่ ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่พบกวี นักเขียนที่เต็มไปด้วยขนบอันแตกต่างจากดั้งเดิม

และแม้จะมีลูกศิษย์จำนวนมากชื่นชมแห่งความเป็นชั้นเชิงทางภาษา ทว่าอิทธิพลของเก่ง วรรณศักดิ์ กลับแทบไม่พบในนักเขียนเขมรปัจจุบัน

 

ได้ชื่อว่าก้าวหน้ากว่านักเขียน-นักวิชาการยุคปฏิวัติสังคมและยุคหลัง แต่ชื่อของเก่ง วรรณศักดิ์ กลับถูกจดจำน้อยนิดในบรรดาผู้หลงใหลในวรรณศิลป์เขมร และอัตลักษณ์บางอย่างที่เขาเรียกมันว่าเขมรบริสุทธิ์จากยุคนครวัดนครธม

ต่อความพยายามที่จะกลับไปสู่วิทยาการแห่งยุคนั้น ทำให้เก่ง วรรณศักดิ์ กลายเป็นเจ้าทฤษฎีพิสดารที่เขาให้นิยามกับมันว่า การคิดนอกกรอบต่อศาสตร์แขนงหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวกับตัวตนอุดมการณ์สังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ (**)

เพียงแต่คนในสังคมกลุ่มหนึ่งต่างหากที่ขาดมุมมองและสุนทรียศาสตร์จัดวางพื้นที่ แก่นักหลงใหลในศาสตร์เสรีชน

————————————————————————————————————–
(*) เช่นเดียวกับการสะกดชื่อแบบทฤษฎีสมเด็จพระสังฆราชจวน นาต, บางสำนักเขียนเก่ง วันนะสัก หรือเก่ง วันสัก
(**) พนมเปญโพสต์/2558