สัตว์มนุษย์ กระบวนการทดลอง เพื่อสำรวจความเป็นสัตว์ที่ซ่อนเร้นในตัวมนุษย์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในหลายตอนที่ผ่านมา เรานำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับนิทรรศการ “ประเทศเล็กที่สมบูรณ์” ของประทีป สุธาทองไทย

และได้กล่าวไปว่า ในระยะเวลาช่วงท้ายๆ ของนิทรรศการ จะมีศิลปะการแสดงที่เป็นส่วนขยายของนิทรรศการนี้จัดขึ้น

นั่นก็คือการแสดงที่มีชื่อว่า “สัตว์มนุษย์ / HUMANIMAL”

ของดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักสร้างสรรค์ศิลปะแห่งการเคลื่อนไหวเพื่อการสื่อสารและบำบัดจิตใจ

ด้วยความที่เราได้ไปชมมา

เราเลยขอนำเสนอเรื่องราวของการแสดงที่ว่านี้กัน

“สัตว์มนุษย์” เป็นชื่อที่ดุจดาวได้มาจากนิยายอันโด่งดังในปี พ.ศ.2519 ของ พ.ต.อ.ลิขิต วัฒนปกรณ์ คุณปู่ของเธอ (ซึ่งเคยถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน)

เนื้อหาในนิยายเผยให้เห็นความโหดร้ายสามานย์ ความละโมบโลภมาก และสันดานที่แท้จริงของมนุษย์

รวมถึงสื่อภาพของการคืบคลานของทุนนิยมที่เข้ามาในตัวชนบท

ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้มนุษย์เผยทั้งสันดานดิบ หรือสร้างเกราะกำบังให้ตนเองอยู่ในกรอบของความปลอดภัย

“งานของประทีปเป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่ผู้มีอำนาจรวบรวมแนวคิดของตนมาทำเป็นหนังสือ ตำรา เพื่อปลูกฝังความเชื่อว่าสิ่งที่อยู่ในตำราเหล่านี้เป็นของจริง เป็นของดี เพื่อกล่อมเกลาประชาชน ทั้งๆ ที่แนวคิดนั้นอาจจะไม่จริงหรือไม่ดีก็ได้ ดาวก็เลยเริ่มต้นจากปกหนังสือของประทีป ด้วยการไปค้นหาหนังสือเก่าของคุณปู่มาอ่าน ซึ่งเขียนจากเรื่องจริงในมุมมองของเขา เราก็เอาความจริงในหนังสือออกมาเชื่อมโยงกับนิทรรศการนี้”

“คำว่า “สัตว์มนุษย์” ในหนังสือของคุณปู่เป็นนิยามเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว ที่มองว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ คนที่มีความชั่วความเลวคือสัตว์มนุษย์ แต่พอผ่านไป 40 กว่าปี แนวคิดเรื่องการยอมรับความเป็นมนุษย์มันต่างไปแล้ว ทุกวันนี้เรามองว่ามนุษย์ทุกคนต่างก็มีความเป็นสัตว์อยู่ในตัวกันหมด เราคิดว่าไม่เห็นจะต้องไปผลักไสไล่ส่งมันออกไป เพราะพอถึงเวลาจวนตัว พอมีคนมากระตุ้นความเป็นสัตว์ของเราให้ออกมาวิ่งเพ่นพ่าน เราก็ควบคุมมันไม่ได้ เพราะเราไม่รู้จักมัน”

“ในเมื่อมันอยู่ในตัวเรา ทำไมเราไม่โอบกอดทั้งส่วนดีทั้งส่วนเสียของเราเอาไว้ การแสดงในครั้งนี้เป็นการตั้งคำถามกับหนังสือของคุณปู่ เกี่ยวกับความเป็นสัตว์ประเสริฐ และความเป็นสัตว์มนุษย์ ซึ่งดาวคิดว่าทุกคนต่างก็มีดีมีแย่เหมือนๆ กัน” ดุจดาวกล่าวถึงที่มาของการแสดงครั้งนี้ของเธอ

โดยการแสดงครั้งนี้ ดุจดาวเชิญแขกรับเชิญจากหลากหลายสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน, นักร้อง/นักแสดง, นักแสดงละครเวที, นักเขียน, ยูทูบเบอร์ ที่หลายคนอาจรู้จักและคุ้นเคยกันไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็น อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์, ดุษฎี ฮันตระกูล, เกรียงไกร ฟูเกษม, ปานรัตน์ กริชชาญชัย, โตมร ศุขปรีชา, ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์, วีรพร นิติประภา, อุทิศ เหมะมูล, ศุภสวัสดิ์ บุรณเวช, วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล, ประดิษฐ์ ประสาททอง, ประทีป สุธาทองไทย, หญิง-รฐา โพธิ์งาม, ปอนด์-ภริษา ยาคอปเซ่น, ทัศยา เรืองศรี, ปรัชญพร วรนันท์ มาร่วมทำการแสดงสดเชิงทดลองในแต่ละวัน

โดยดุจดาวเชื้อเชิญให้ผู้ชมเข้าไปสังเกตการณ์ปฏิกิริยาของนักแสดงรับเชิญเหล่านี้ ที่มีต่อชุดคำถามต่างๆ ของเธอ เพื่อปลดเปลื้องอาวุธหรือเกราะป้องกันของความเป็นมนุษย์ ที่ปกปิดซ่อนเร้นความเป็นสัตว์ในตัวพวกเขา

ในบางวัน ตัวดุจดาวเองก็จะเข้าไปนั่งในห้องนี้ และเชิญให้นักจิตบำบัดมืออาชีพมาทำกระบวนการเหล่านี้กับเธอบ้าง

การแสดง “สัตว์มนุษย์” เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้สำรวจความเป็นสัตว์ที่หลบซ่อนอยู่ในตัวของมนุษย์อย่างเงียบๆ ที่บอกว่าเงียบๆ ก็เพราะนักแสดงรับเชิญเหล่านี้ ต้องเข้าไปอยู่ภายในห้องสี่เหลี่ยมปิดที่สร้างขึ้นในห้องแสดงงาน

ด้านหน้าของห้อง มีบานหน้าต่างกระจกใสขนาดใหญ่ เปิดให้ผู้ชมได้เห็นอากัปกิริยาของพวกเขาผ่านหน้าต่าง และจอมอนิเตอร์ (บางครั้งแสงสว่างภายในห้องก็จะเปลี่ยนสีสัน และบางครั้งกระจกก็ถูกบดบังด้วยฝ้าขุ่นและหมอกควันมองข้างในไม่เห็น)

ด้วยความที่เป็นห้องเก็บเสียง ผู้ชมอย่างเราจึงไม่อาจได้ยินเสียงตอบคำถามของพวกเขาเลยแม้แต่น้อย อย่างมากเราก็ได้แต่อ่านเอาจากการขยับเขยื้อนของปากและอากัปกิริยาของพวกเขา แล้วคาดเดากันไปต่างๆ นานาเท่านั้นเอง

และในบางห้วงขณะของการชม เราก็เผลอเอาคำถามเหล่านั้นมาครุ่นคิดและแอบตอบในใจไปด้วยเช่นกัน

“งานของดาวที่ผ่านมามักจะเป็นงานแสดงเชิงทดลอง คือการมอบประสบการณ์ให้กับผู้ชม นอกจากการสื่อสารเรื่องราวเนื้อหา การแสดงครั้งนี้เราอยากให้คนดูได้รับสองประสบการณ์คือ หนึ่ง ได้ใช้ความพยายามมองมนุษย์ให้นานขึ้น ด้วยเหตุนี้เราจึงตัดการได้ยินออกไป เพื่อให้ผู้ชมได้สังเกตภาษาร่างกาย และรายละเอียดอื่นๆ นานขึ้น ลึกขึ้น (อีกเหตุผลที่ไม่ให้ได้ยินเสียง เพราะมันเป็นหนึ่งในจริยธรรมของการทำการแสดงเชิงทดลองกับแขกรับเชิญ ที่เธอต้องรักษาความเป็นส่วนตัวของพวกเขา โดยให้ผู้ชมเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์), สอง เพื่อให้ผู้ชมมีที่ว่างมากพอจนมีกระบวนการคู่ขนานที่พวกเขาตั้งคำถามกับตัวเองจากคำถามที่เราถามแขกรับเชิญเหล่านั้น”

“ในโลกเราทุกวันนี้ มนุษย์เราชอบเอาแต่ส่วนดีๆ ส่วนที่ขัดเกลาแล้วมาใส่กรอบโชว์ ส่องไฟ ส่วนที่ขรุขระ ไม่สมบูรณ์แบบ เรามักจะเก็บเอาไว้หลังบ้าน สิ่งนี้ทำให้เราเข้าใจผิดมาตลอดว่า ต้องมีแต่ส่วนดีๆ เท่านั้นที่สมควรถูกเอามาแสดง”

“แต่ตอนเราทำการแสดง ช่วงเวลาที่ดาวชอบที่สุดคือตอนทำแล็บ คือทุกการแสดงต้องมีการซ้อม ที่เขาจะโยนโจทย์ให้ลองทำโน่นทำนี่ แล้วดูว่านักแสดงจะตอบโต้ยังไง ช่วงเวลาที่นักแสดงเผชิญกับโจทย์ใหม่ๆ แล้วดึงทุกอย่างในตัวมาใช้ บางครั้งงงบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ดาวชอบห้วงเวลานั้นมาก ดาวมองว่า ความหวั่นไหว เปราะบาง ความทำอะไรไม่ได้คล่องนัก บางทีมันก็เป็นสิ่งสวยงามของมนุษย์”

“การแสดงครั้งนี้ก็เหมือนกัน แทนที่เราจะส่องไฟไปยังสิ่งที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว เราก็ย้ายมาส่องไปยังสิ่งไม่เสร็จสมบูรณ์ ที่ไม่จำเป็นต้องประดิษฐ์ให้เนี้ยบกริบให้เห็นแทน”

“สัตว์มนุษย์ / HUMANIMAL” เปิดการแสดง 16 รอบ ตั้งแต่วันที่ 21-24, 28-31 มีนาคม และ 18-21, 25-28 เมษายน พ.ศ.2562 (ทุกวันพฤหัสฯ-อาทิตย์) ตั้งแต่เวลา 20.00-21.15 น.

ที่ 100 ต้นสนแกลเลอรี่, BTS ชิดลม ทางออก 4

จำหน่ายบัตรราคา 650 บาท (การแสดงเป็นภาษาไทยและมีคำบรรยายภาษาอังกฤษ)

สอบถามเพิ่มเติม โทร.08-1207-7723, 09-8792-2954 หรืออีเมล [email protected]

ขอบคุณภาพถ่ายจาก 100 ต้นสนแกลเลอรี่, ดุจดาว วัฒนปกรณ์ ถ่ายภาพโดย วชร กัณหา, ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์