สมหมาย ปาริจฉัตต์ : หลวงพ่อขอ… ปฏิรูปการศึกษาอย่าทิ้งศาสนา

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ช่วงเช้าก่อนรายการ ED Talk โดยนักคิดด้านการศึกษาเลื่องชื่อ 2 ท่านจะเริ่มขึ้น เจ้าภาพจัดรายการมอบทุนนักเรียนที่ยังไม่ได้รับในรอบแรกปี 2560 มีทั้งโรงเรียนดังในเมืองและโรงเรียนที่ห่างไกลบนดอย

สะท้อนแนวทางการดำเนินงานพิจารณาจากสภาพความจำเป็นจริงเป็นตัวตั้ง ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ให้ด้วยความเสมอภาค แม้โรงเรียนชื่อดังแต่ยังมีเด็กที่สมควรได้รับการสนับสนุน หรือโรงเรียนที่เด็กยากจน ขาดแคลนรุนแรง มีความสามารถและโอกาสที่จะพัฒนาตัวเอง มีอาชีพ มีชีวิตรอดต่อไปได้

ตัวอย่าง ทุนเพื่อประกอบอาชีพหลังเรียนจบ ไปขายขนมจีบ ซาลาเปา ขนมจีน ส้มตำ ชานมไข่มุก น้ำปั่นผลไม้ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ช่วยแม่-พ่ออยู่ที่บ้าน

ไม่ต้องมาผจญความยากลำบากในเมือง ฯลฯ

 

หลังเวที ED Talk จบลง พิธีเปิดงานปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ครั้งที่ 4 กำลังจะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ ประธานและแขกคนสำคัญทยอยขึ้นเวทีตามลำดับ

บุญเลิศ บูรณปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะเจ้าภาพหลักกล่าวต้อนรับ พร้อมเชิญชวนผู้ร่วมประชุมร่วมบริจาคและเป็นสักขีพยานการรับมอบเงินสมทบกองทุนปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ (กองทุน 10 บาท) จากหน่วยงาน องค์กร ชมรม สมาคม สถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน

“รองนายก อบจ.สุราษฎรณ์ธานีท่านให้เกียรติเดินทางมาร่วมงานกับเรา ในโอกาสที่ชาวเชียงใหม่นำเสนอผลงานด้านการศึกษา โดยเฉพาะนวัตกรรมการศึกษาเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันและกัน ก่อนนำไปปรับใช้ในแต่ละพื้นที่ เราเปิดกองทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ไม่ว่านักเรียนทั่วไปหรือเด็กชนเผ่า มีโอกาสได้รับเท่ากัน ตลอดจนครู อาจารย์”

“เป็นความภาคภูมิใจจากความร่วมมือร่วมใจ คนเชียงใหม่ไม่ทิ้งการศึกษาเพื่อให้ความเหลื่อมล้ำหายไปจากพื้นที่จังหวัดของเรา มอบสิ่งต่างๆ กับเด็กด้อยโอกาส ให้ได้รับการศึกษามีอาชีพจนพัฒนาเป็นผู้ประกอบการ เถ้าแก่น้อย ส่งต่อสิ่งดีๆ ด้วยความรักไปยังลูกหลานของเรา และน่ายินดีอย่างยิ่ง ท่านเจ้าคณะอำเภอหางดงเมตตารวบรวมผู้มีจิตศรัทธามาร่วมสมทบเข้ากองทุนด้วย”

เสียง “สาธุ” ดังขึ้นได้ยินไปทั่วห้อง หลังนายก อบจ.กล่าวจบ

 

ไพรัช ใหม่ชมพู รองนายก อบจ.เชียงใหม่ เลขานุการภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา รับไมค์มารายงานต่อ “เชียงใหม่ขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาระยะ 4 ปี (พ.ศ.2559-2562) มาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ปณิธาน พลเมืองเชียงใหม่ รักษ์วัฒนธรรม ทันการเปลี่ยนแปลง แสวงสัมมาชีพ ตามหลักการสำคัญ 4 เรื่องคือ 1.การศึกษาตลอดชีวิตของคนเชียงใหม่ 2.พื้นที่เชียงใหม่เป็นฐานการปฏิรูป 3.คนเชียงใหม่มีส่วนร่วมและรับผิดชอบ 4.กระจายอำนาจสู่สภาการศึกษา

“การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอนวัตกรรมการศึกษาเชียงใหม่ต่อสาธารณะ ตลอดถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมทางการศึกษาในปีที่ 4 ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของแผน มีกิจกรรมรับบริจาคกองทุน 10 บาทช่วง 2 วันสุดท้ายของเดือนมกราคมก่อนปิดการรับบริจาค และการเสนอผลงานของผู้ที่ได้รับทุนจากกองทุนครั้งที่ 1 ปี 2561”

“ในโอกาสนี้ขอเรียนเชิญท่านศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานพิธีเปิด”

 

“ขอชื่นชมยินดีกับชาวเชียงใหม่ทุกภาคส่วนซึ่งได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ตลอดมา เป็นการดำเนินการภายใต้การมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน ตามนโยบายของรัฐอย่างแท้จริง”

ขณะนี้รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการประกาศให้เชียงใหม่เป็นจังหวัดนำร่อง “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” เป็น 1 ใน 6 พื้นที่ คือ ระยอง ศรีสะเกษ สตูล กาญจนบุรี เชียงใหม่ และจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับได้ว่างานนี้ได้เสนองานที่เป็นนวัตกรรมของเชียงใหม่ ตามนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

กิจกรรมสำคัญอีกประการหนึ่งคือ โครงการระดมทรัพยากรเพื่อการจัดการศึกษาพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการในปีที่ 2 เพื่อนำไปเป็นทุนการศึกษาของผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการเรียนต่อ การประกอบอาชีพ ตลอดถึงยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคล ครู หน่วยงานที่มีผลงาน ตลอดถึงการวิจัยและพัฒนา เป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ทำให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนด้านอาชีพได้เพิ่มขึ้น

 

ผู้ว่าฯ กล่าวเปิดงานจบ นิมนต์พระเทพปริยัติ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ที่ปรึกษาคณะปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ กล่าวสัมโมทนียกถา และเป็นประธานรับมอบเงินบริจาคจากครู นักเรียน ผู้ปกครอง สถานศึกษา ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ

“กองทุน 10 บาท เป็นทุนหน้าหมู่ของชาวเชียงใหม่ เพื่อแสดงถึงการช่วยเหลือของชาวเชียงใหม่ คนเชียงใหม่ไม่ทิ้งกัน เป็นการทำบุญกุศลร่วมกัน กองทุนนี้ดำเนินการทุกปี อยากให้เป็นวัฒนธรรมของคนเชียงใหม่สืบเนื่องต่อไป”

“การศึกษาของเยาวชนไม่ควรทิ้งหลักธรรมของพระพุทธศาสนา เดิมเอาวิชาศีลธรรมมาสอนในโรงเรียน ให้เด็กเยาวชนเข้าถึงคำสอนของพระพุทธองค์ เพื่อเป็นคนดีของสังคม ในนามของคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ขออนุโมทนาให้งานสำเร็จ ขอฝากเรื่องศีลธรรม วัฒนธรรม ให้กลับคืนมาสู่เด็กและเยาวชนอีกครั้ง”

ผู้เข้าประชุมหลายร้อยทยอยกันไปยืนต่อแถวจากหน้าเวทีไปถึงกลางห้องประชุม พิธีกรประกาศรายนามและจำนวนเงินเป็นระยะๆ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด รองนายก อบจ. ปลัด อบจ. ประธานสภา อบจ. ผอ.สำนักการศึกษา อบจ.เชียงราย โรงเรียนดาราวิทยาลัย โรงเรียนแม่อายวิทยาคม กก.ตชด.33 คณะกรรมบริหารภาคีเชียงใหม่ โรงเรียนอนุบาลสุมาลี อ.ดอยสะเก็ด ฯลฯ

ครู นักเรียน อุ้มกล่องที่อาสาสมัครออกไปขอรับบริจาคตามโรงเรียน ชุมชนทั้งในเมืองจนถึงบนยอดดอย นักเรียนชนเผ่าแม้ยากจนแต่มีใจกุศลร่วมใส่กระบอกไม้ไผ่ เดินขึ้นไปวางในพานถวายเจ้าคณะจังหวัด เพื่อมอบต่อให้กับกรรมการบริหารภาคีฯ ดำเนินการตามเจตนาของผู้บริจาคต่อไป

ผู้มีจิตศรัทธาทำบุญเพื่อการศึกษา แต่ละรายบริจาคเท่าไหร่ ยอดรวมเป็นอย่างไร ครั้งที่สองมากหรือน้อยกว่าครั้งแรก ประเภททุนและหลักเกณฑ์การให้ของกองทุน 10 บาทเป็นอย่างไร ติดตามตอนต่อไป