คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : “การอภิเษก” ด้วยน้ำศักดิ์สิทธิ์ ในคติพราหมณ์-พุทธ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

พิธีก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกคือการพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์จากสถานที่สำคัญต่างๆ เพื่อจะนำมาใช้ในการ “อภิเษก” ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดขั้นตอนหนึ่ง ในการพระราชพิธีครั้งนี้นับว่ามีการตักน้ำศักดิ์สิทธิ์จากสถานที่ต่างๆ มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

“น้ำ” ถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในพิธีพราหมณ์ทุกอย่าง

ในการประกอบพิธีประจำวัน พราหมณ์จะมีภาชนะเรียกว่า “ชลปาตร” หรือบาตรใส่น้ำ ทำด้วยทองแดงและมีช้อนทำด้วยทองแดงเช่นเดียวกัน บางท่านบอกผมว่า ทองแดงเป็นสิ่งมีค่าหายากในอินเดียโบราณ ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีว่าอินเดียต้องนำเข้าทองแดงจาก “สุวรรณภูมิ” ไป แล้วจึงไปสร้างเทวรูปสำริดสวยๆ ได้

ทุกวันนี้ก็ยังเชื่อว่าภาชนะทองแดงใส่น้ำแล้วช่วยให้น้ำบริสุทธิ์สะอาดกว่าวัสดุอื่น

นอกจากชลปาตรแล้วในบางพิธีก็ใช้ “เต้า” หรือหม้อน้ำที่เรียกว่า “กลัศ” ซึ่งมักใช้สำหรับเสกทำน้ำมนต์หรือโสรจสรงเทวรูปเสียมากกว่า

นอกจากนี้ยังมีหม้อแบบที่มีพวยเหมือนกาน้ำ เรียกว่า “กมัณฑลุ” ซึ่งนิยมใช้กันในหมู่นักบวชฤษีชีไพร ใช้เป็นทั้งกระติกน้ำสำหรับดื่มและใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ด้วย

ภาชนะเกี่ยวกับน้ำนอกจากข้างต้นยังมีอีกมาก เช่น สังข์, ภาชนะทรงเขาสัตว์ที่เรียกว่า “เคามุข” หรือปากโค, สหัสธารา หรือตะแกรงสรงเหมือนฝักบัว ฯลฯ ซึ่งใช้ในวัตถุประสงค์ต่างๆ กัน

 

พราหมณ์ใช้น้ำหลากลักษณะในพิธีกรรม เช่น จิบหรือบ้วนเพื่อชำระวาจา เรียกว่าการ “อาจมานัม” (อาจมานมฺ) เวลาจิบไม่ได้จิบจากภาชนะ แต่ใช้ช้อนตักหรือรินใส่อุ้งมือ แล้วจิบจากโคนมือขวา

ที่จริง “มือ” นี่ท่านก็นับว่าเป็นสิ่งบรรจุน้ำอย่างหนึ่ง จึงบัญญัติเรียกส่วนต่างๆ ของมือว่า “ตีรถะ” ที่แปลว่าท่าน้ำหรือท่าข้าม แล้วกำหนดให้ใช้แต่ละส่วนแตกต่างกันไป ปลายมือนับถือเป็นทางออกสำหรับของถวายเทวดาจึงเรียก “เทวตีรถะ” (เวลาถวายอะไรก็เทลงให้ออกปลายมือ)

ด้านข้างมือฝั่งนิ้วก้อยมักใช้ชำระร่างกาย ไม่ได้มีความหมายในทางศักดิ์สิทธิ์ จึงเรียกว่า “กายตีรถะ” ช่องว่างระหว่างนิ้วโป้งกับนิ้วชี้มีไว้สำหรับถวายน้ำแด่บรรพบุรุษ จึงเรียกว่า “ปิตฤตีรถะ” (ท่าน้ำของเทพบิดรหรือผีบรรพบุรุษ)

ผมไม่แน่ใจว่าเพราะคติความเชื่อนี้หรือไม่ บางคนจึงถือว่า เวลารินน้ำให้ใครอย่ารินในท่าตะแคงมือให้น้ำออกจากฝั่งนิ้วโป้ง เขาว่ารินน้ำให้ผี!

ส่วนโคนมือเรียก “พรหมตีรถะ” หรือท่าน้ำของพรหม ใช้เป็นทางจิบน้ำเมื่อกระทำพิธีการต่างๆ นับว่าท่านี้ก่อให้เกิดความบริสุทธิ์แก่กาย-ใจ

 

นอกจากจิบก็มีการประพรม เรียกว่า “โปรกษณัม” (โปฺรกฺษณมฺ) คือใช้มัดหญ้าคาเล็กๆ หรือดอกไม้ใบไม้ประพรมน้ำลงบนร่างกายหรือวัตถุ ถ้ามีวัตถุประสงค์เพื่อการชำระล้างโดยตรงเรียกว่า “มารชนัม” แปลว่า ล้างออกไป

หาก “อาบ” เรียกว่า “สนาน” (สฺนานมฺ) ซึ่งในพระเวทและปุราณะกำหนดให้การอาบน้ำเป็น “กิจทางศาสนา” เพื่อความบริสุทธิ์สะอาด เพราะความไม่บริสุทธิ์สะอาดไม่ว่าทางกายหรือใจก็นับเป็นมลทินโทษ

การอาบน้ำในคติพราหมณ์นอกจากอาบเป็นส่วนตัวในทุกๆ วัน การเดินทางไปแสวงบุญยังที่ศักดิ์สิทธิ์ “ตีรถะ” ซึ่งคือท่าน้ำต่างๆ การลงอาบในแม่น้ำนั้นนับเป็นบุญกิริยาที่สำคัญยิ่ง

ส่วนคำว่า “อภิเษก” (อภิเษกมฺ) โดยศัพท์มีความหมายว่ารินหรือรดด้วยน้ำ แต่ไม่ได้ใช้ในความหมายของการอาบน้ำทั่วๆ ไปอย่างสนาน เพราะมีองค์ประกอบอื่น เช่น มนต์ที่ใช้กำกับ มีผู้ประกอบพิธี ฯลฯ

ในประเพณีของพราหมณ์ การอภิเษกไม่ได้ใช้แค่น้ำเท่านั้น จะใช้ของเหลวอย่างอื่น เช่น นม น้ำผึ้ง น้ำมันงา เนย น้ำผลไม้ น้ำหอม ฯลฯ หรือของที่ไม่ใช่ของเหลว เช่น ดอกไม้ เหรียญทองคำ ฯลฯ ก็ได้

พิธีบุษยาภิเษกในสมัยกรุงเก่าใช้ดอกไม้อภิเษก ซึ่งเดี๋ยวนี้พราหมณ์ยังทำอยู่ในเทวสถานบางแห่ง ผมเคยเห็นคลิปพิธี “กาญจนาภิเษก” หรือ “เสาวรณาภิเษก” ท่านจันทรเศขเรนทรสวามี ศังกราจารย์แห่งกาญจีปุรัมผู้ล่วงลับ เขาก็ใช้เหรียญทองคำจริงๆ สรงลงบนศีรษะท่าน

บางทีก็ใช้น้ำที่มีทองคำแช่อยู่สรงสนาน ก็อนุโลมเรียกว่าสรงด้วยทองคำได้

 

การอภิเษกในความหมายทางศาสนา นัยยะแรกก็เหมือนการสนาน คือการชำระให้บริสุทธิ์ ซึ่งเกิดจากวัสดุที่ใช้สรง เช่น น้ำจากแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ นม น้ำโอสถต่างๆ ฯลฯ กับด้วยมนต์ซึ่งพราหมณ์ใช้สวดขณะที่กำลังประกอบพิธีสรงสนานนั้น

นัยที่สองของอภิเษกคือ “การทำให้ศักดิ์สิทธิ์” นัยนี้ น้ำหรือสิ่งที่สรงเป็นเพียง “สื่อ” ที่นำพาความศักดิ์สิทธิ์จากอำนาจทิพยศักดิ์ไปสู่สิ่งที่รับอภิเษก

พูดแบบสมัยใหม่ว่า การสรงสนานได้เปลี่ยนผ่านสิ่งนั้นไปสู่ “สภาวะใหม่” ที่ศักดิ์สิทธิ์สูงส่งกว่าเดิมในทางศาสนา ซึ่งเท่ากับประกาศบทบาทหน้าที่และความสัมพันธ์ใหม่ต่อชุมชนด้วย

ดังนั้น การรับอภิเษกจะทำให้เกิดสถานภาพใหม่ เช่น อภิเษกพราหมณ์เพื่อเป็นหัวหน้าพราหมณ์ อภิเษกให้เป็นคุรุ อภิเษกให้เป็นกษัตริย์ อภิเษกให้เป็นเจ้านิกาย อภิเษกให้เป็นนักบวช เป็นสวามี เป็นสามี-ภรรยา ฯลฯ

แม้แต่เทพในเทวสถานก็รับอภิเษกด้วยเช่นเดียวกัน ในมุมมองภักติหรือมุมแห่งความภักดี การอภิเษกเป็นการถวายสักการบูชาเฉกเช่นเดียวกับที่ทำถวายกษัตริย์ (เทวพิธี คือราชพิธี) ในมุมความศักดิ์สิทธิ์ การอภิเษกคือการ “เสก” ให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์หรือรักษาไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์เดิม

 

ความศักดิ์สิทธิ์เช่นที่ว่าเป็นสิ่งต้องประกาศให้ผู้ศรัทธาทราบนะครับ

ดังนั้น เทวสถานจึงทำอภิเษกในลักษณะแสดงให้เห็น เช่น กระทำต่อหน้าผู้มาชุมนุม หรือในปัจจุบันก็มีถ่ายทอดสดตามเทวสถานดังๆ ในอินเดีย

นอกจากจะเป็นการประกาศความศักดิ์สิทธิ์ขององค์เทพแล้วยังเป็นการส่งเสริมศรัทธาของศาสนิกด้วย เพราะเชื่อกันว่าใครดูอภิเษกก็เป็นสวัสดิมงคล

ในอินเดีย ใครจะเป็นเจ้าภาพอภิเษกตามเทวสถานดังๆ นี้ ต้องจองล่วงหน้ากันนานๆ นะครับ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้คิว ถ้ามาเป็นเจ้าภาพเองไม่ได้ก็บริจาคไว้ เดี๋ยววัดจัดการให้

น้ำที่ใช้อภิเษกมักเป็นน้ำจากแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เช่น คงคา ซึ่งนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในแม่น้ำทั้งปวง หรือไม่ก็เป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ในท้องถิ่นนั้น เทพบางองค์อาจมีกำหนดเฉพาะว่าต้องใช้น้ำจากแหล่งใด แต่ถ้าไม่ได้อยู่ใกล้คงคาในปัจจุบันก็มีน้ำคงคาบรรจุขวดขายอยู่ทั่วไป พาหุรัดบ้านเรามีขายแทบทุกร้าน แต่จะใช่คงคาแท้หรือไม่ คงต้องวัดใจกันดูครับ เพราะไม่มีใครหรือหน่วยงานไหนการันตีให้ได้

แต่ถ้าไม่มีจริงๆ ชาวฮินดูก็ถือว่าอธิษฐานจิตเสกเอาก็ได้ ถือว่ามีศรัทธา น้ำก๊อกก็เป็นคงคาได้เช่นกัน

 

บ้านเราเมื่อมีการอภิเษกในพุทธศาสนาก็หยิบยืมรูปแบบของพราหมณ์มาใช้ เช่น สมณาภิเษก หรือเถราภิเษก จะต่างกันก็แต่ใช้พุทธมนต์แทนเทพมนต์ และผู้รับอภิเษกเป็นพระภิกษุ

ในพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยาน “อภิเษก” มีความหมายแตกต่างออกไป หมายถึงการเพิ่มพลังในทางจิตวิญญาณ ซึ่งมักแปลในภาษาอังกฤษว่า “empowerment” แม้โดยรูปแบบจะคล้ายคลึงกับพราหมณ์ คือมีการรดด้วยน้ำเช่นเดียวกัน แต่โดยสาระมีความแตกต่างในรายละเอียด

การอภิเษกในวัชรยาน มักอุปมาว่าเป็นการอภิเษกดุจเดียวกับราชาภิเษก คือใช้สัญลักษณ์เช่นเดียวกัน เช่น การรดน้ำ มงกุฎ ฯลฯ ซึ่งมิได้หมายถึงการตั้งให้เป็นราชาทางโลก แต่เป็นราชาทางธรรม ดุจเดียวกับพระพุทธะผู้เป็นธรรมราช

นอกจากความหมายของการมอบพรหรือพลังทางจิตวิญญาณ การอภิเษกในวัชรยานยังมีความหมายถึงการที่คุรุอนุญาตให้ศิษย์สามารถปฏิบัติธรรมในพระพุทธะหรือพระโพธิสัตว์บางองค์ได้ เนื่องจากการปฏิบัติในวัชรยานหากเกิดมิจฉาทิฐิก็อาจเป็นอันตรายได้ การอภิเษกจึงเท่ากับการรับอนุญาตจากคุรุสำหรับการปฏิบัติธรรม

ที่จริงในความหมายชั้นลึกของการอภิเษกในวัชรยาน คือการที่จิตสองดวงมาพบกัน แล้วจิตดวงหนึ่งได้ตอกย้ำถึงความศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่แล้วของจิตทุกดวง การอภิเษกจึงมิได้หมายถึงการเสกสร้างความศักดิ์สิทธิ์ที่ลึกลับขึ้นมาใหม่ แต่คือการมอบความรักและ “แวบหนึ่ง” ของประสบการณ์แห่งการตื่นรู้แก่ศิษย์ เพื่อที่ศิษย์จะสามารถเข้าใจความศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่แล้วของตนและโลกนี้ได้

นี่อาจเป็นความหมายของการ “อภิเษก” ที่น่าสนใจของพุทธศาสนา

และน่าจะสามารถสื่อสารกับคนร่วมสมัยได้