สุรชาติ บำรุงสุข : 40 ปีแห่งการล้อมปราบ (13) สงคราม ความกลัว ความตาย!

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“สูงขึ้นไปสูงขึ้นไปไม่ระย่อ ไม่รู้ท้อรู้หน่ายคลายถวิล
ถึงแดดจ้าฟ้าหม่นพิรุณริน ไม่สูญสิ้นศรัทธาที่ตราใจ”
อุชเชนี

 

ถ้าเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นจุดของความ “พลิกผัน” ของการเมืองไทยแล้ว อาจจะต้องกล่าวว่าจุดพลิกนี้มีจุดเปลี่ยนที่สำคัญมาจากเหตุการณ์ในปี 2518

ซึ่งหากมองจากมุมทั้งของการเมืองภายนอกและการเมืองภายในของไทยแล้ว คงจะต้องถือว่า 2518 เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ

จนอาจจะต้องกล่าวว่า เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปี 2518 นั้นเป็นดังการผลัก “โมเมนตัมขวา” ให้ขับเคลื่อนไปสู่ความรุนแรงในอนาคต

เพื่อตอบโต้กับการขยับตัวขึ้นสู่กระแสสูงของฝ่ายซ้ายในไทย

นักสังคมนิยมในห้องเรียน

ในท่ามกลางการก่อตัวของกระแสซ้าย พวกเราเริ่มหันไปอ่านหนังสือในทางสังคมนิยมมากขึ้น

การอภิปรายในห้องเรียนก็ออกไปในทิศทางเช่นนั้นด้วย หนึ่งในตัวอย่างของพวกผมในกรณีนี้ก็คือ การเรียนวิชา “อุดมการณ์การเมืองในประเทศกำลังพัฒนา” มีอาจารย์ท่านหนึ่งที่เพิ่งจบกลับมาจากสหรัฐมาสอนพวกเรา

ซึ่งในการสอนขณะนั้นอาจารย์ก็พยายามปรับตัวกับ “กระแสซ้าย” ด้วยการสอนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอุดมการณ์และความคิดทางการเมืองของฝ่ายซ้าย

การอภิปรายเพื่อตอบคำถามอาจารย์กลายเป็นปัญหา เพราะเราเริ่มอหังการในความเริ่ม “เอียงซ้าย” ว่า “อาจารย์สอนผิด” ในตอนที่มีการพูดถึงแนวคิดของประธานเหมา

คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่าผลจากสภาพเช่นนี้ทำให้พวกเราถูกวิจารณ์ว่าไม่ได้เป็น “มาร์กซิสต์” หากแต่เป็น “เหมาอิสต์” ต่างหาก เพราะพวกเราในการ “สะวิงซ้าย” นั้น เติบโตบนพื้นฐานของหนังสือของประธานเหมามากกว่าตำราของมาร์กซ์

ความอหังการเช่นนี้เป็นผลมาจากการที่เราเชื่อว่าเราอ่าน “ตำราฝ่ายซ้าย” มาโดยตรง เพราะในยุคปี 2517 ต่อปี 2518 นั้น หนังสือจากจีนที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ปักกิ่งถูกสำนักพิมพ์ในไทยนำมาจัดพิมพ์ขายใหม่ และจำหน่ายอย่างกว้างขวางโดยไม่จำเป็นต้องกังวลกับปัญหาข้อกฎหมาย เพราะถือว่าได้มีการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตแล้ว แม้ พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ และข้อกฎหมายเรื่อง “หนังสือต้องห้าม” ที่ผิดกฎหมายยังมีผลบังคับใช้อยู่ก็ตาม

จำได้ว่าครั้งหนึ่งในห้องเรียนมีการยกประเด็นเรื่อง “ประชาธิปไตยรวมศูนย์” ขึ้นมาในชั้น

พวกเราดูจะอภิปรายได้มาก เพราะประเด็นนี้เป็นหนึ่งในหัวข้อที่ปัญญาชนฝ่ายซ้ายในขณะนั้นให้ความสนใจ

แต่ดูเหมือนคำตอบทางทฤษฎีของพวกเรากับคำตอบของอาจารย์ในการสอบจะแตกต่างกันอย่างมาก

เราเริ่มอภิปรายในห้องเรียนด้วยประเด็นเรื่อง “ชนชั้น” และ “การขูดรีด” ทางเศรษฐกิจ… ภาษาและคำพูดของพวกเราขยับไปทางซ้ายอย่างชัดเจนมากขึ้น

ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้ห้องเรียนถูกแบ่งเป็น “2 ค่าย” ทางความคิดอย่างชัดเจนด้วย หรือเป็นดัง “ฝ่ายตะวันตก” และ “ฝ่ายตะวันออก” อยู่ในชั้นเรียน

แม้ปี 2518 จะเริ่มเห็นถึงอาการ “เอียงซ้าย” ของคนหนุ่มสาวในยุคนั้นชัดเจนขึ้น

แต่ขณะเดียวกันก็เห็นถึงอาการ “เอียงขวา” ของชนชั้นนำ และผู้นำทหารเป็นแรงตอบโต้มากขึ้นเช่นกัน

โมเมนตัมของความกลัว

เมื่อต้องกลับเข้ามาทำงานในส่วนกลาง ทำให้ผมได้กลับเข้ามาใช้ชีวิตนักกิจกรรมกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) อีกครั้ง

ชีวิตผมกับพี่น้องกรรมกรที่อ้อมน้อยกลายเป็นประสบการณ์และความทรงจำที่จำต้องทิ้งไว้เบื้องหลัง

การกลับสู่ชีวิตกับศูนย์กลางนิสิตฯ ในปี 2518 นั้น เป็นความท้าทายทั้งในทางวิชาการและงานเคลื่อนไหว

เพราะปัญหาทางการเมืองและความมั่นคงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2518 จนถึงการล่มสลายของระบบการปกครองฝ่ายขวาที่นิยมตะวันตกในอินโดจีนจากเดือนเมษายนของปีดังกล่าว ผนวกเข้ากับการเคลื่อนไหวของขบวนการทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากฝ่ายต่างๆ ทั้งซ้ายและขวา

จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปี 2518 เป็นหนึ่งในหมุดหมายของเวลาที่มีความสำคัญต่ออนาคตของการเมืองไทยเป็นอย่างยิ่ง

เพราะเหตุการณ์ต่างๆ ล้วนเกิดขึ้นเป็นดังการสะสม หรือที่อาจเรียกในภาพพจน์ของสำนวนตะวันตกว่าเป็นปรากฏการณ์ “สโนว์บอล”

หรือเสมือนกับก้อนหิมะที่กลิ้งลงมาจากที่สูงที่สะสมทั้งมวลและความเร็วเข้าด้วยกัน และพร้อมที่จะพุ่งเข้าสู่สิ่งที่ขวางหน้าอย่างไม่เกรงกลัวว่าจะเกิดผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้น

ฉะนั้น เมื่อต้องย้อนกลับไปคิดถึงสถานการณ์ในปี 2518 แล้ว ผมรู้สึกว่าพวกเราในขบวนนิสิตนักศึกษาขณะนั้นยัง “อ่อนหัด” กับการวิเคราะห์สถานการณ์อย่างมาก

เรามักจะมองเห็นแต่การขึ้นสู่กระแสสูงจากชัยชนะของฝ่ายซ้ายในอินโดจีน

แต่เรากลับไม่ค่อยตระหนักถึงผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากชัยชนะดังกล่าว ในความเป็นจริงแล้ว ชนชั้นนำ ผู้นำทหาร ชนชั้นกลาง และบรรดากลุ่มอนุรักษนิยมในสังคมไทยกลัวต่อความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ชุดนี้อย่างมาก

จนอาจจะต้องสรุปว่า พวกเขากลัวมากกว่าที่พวกเราคิด

และคงต้องยอมรับว่าความกลัวเช่นนี้ทำให้ “โมเมนตัมขวา” มีทิศทางไปสู่การเป็นกระแส “ขวาจัด” มากขึ้นเรื่อยๆ

กลุ่มผู้มีสถานะและอำนาจในสังคมไทยกำลังกังวลกับความไม่แน่นอนของอนาคต และกลัวความพ่ายแพ้เช่นในอินโดจีนจะเกิดขึ้นในไทย

ปัญหาก็คือ จะทำอย่างไรเมื่อความกลัวทางการเมืองเช่นนี้ทวีมากขึ้นอย่างไม่มีจุดลงตัว

และดูเหมือนพวกเราเองก็จะประเมิน “โมเมนตัมของความกลัว” อย่างไม่ค่อยชัดเจนนัก

พวกเราพอจะตอบได้ชัดว่าอย่างไรเสียกลุ่มดังกล่าวก็คงจัดตั้งกลุ่มฝ่ายขวาขึ้นมาต่อต้านการเคลื่อนไหวของพวกเรา

แต่ในปี 2518 เราก็ยังคิดว่าพื้นที่การเคลื่อนไหวเช่นนี้ยังไม่น่าจะถูกปิดลงทันที เป็นแต่เพียงมีความจำกัดมากขึ้น

แต่เมื่อระยะเวลาค่อนไปในช่วงปลายปีแล้ว พวกเราเองก็ชักไม่มั่นใจว่าการประเมินสถานการณ์เช่นนี้จะยังถูกต้อง

เพราะเราเริ่มเห็นสัญญาณของความตายที่เกิดขึ้นกับพวกเขา

สัญญาณมรณะ

การเคลื่อนไหวของขบวนนักศึกษาประชาชนเริ่มเผชิญกับการต่อต้านอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นในปี 2518

แม้ในปี 2517 จะมีสัญญาณอันตรายจากกรณีการสังหาร “แสง รุ่งนิรันดรกุล” ผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง เขาถูกยิงเสียชีวิตที่ป้ายรถเมล์ในกลางปี 2517

แต่เมื่อเริ่มต้นปี 2518 ก็มีการสังหารผู้นำการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งหากมองไปในบริบทของชนบทแล้ว เป้าหมายการสังหารดูจะมุ่งกระทำต่อผู้นำชาวนาเป็นหลัก

จากปี 2518-2519 มีผู้นำชาวนาถูกลอบสังหารถึง 21 ชีวิต

และหนึ่งในผู้นำชาวนาคนสำคัญของภาคเหนือ คือกรณี “พ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง” ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ ซึ่งถูกสังหารในวันที่ 31 กรกฎาคม 2518 (บางแหล่งข้อมูลกล่าวว่าจากปี 2517-2519 มีผู้นำสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือถูกลอบสังหารไปเกือบ 40 คน)

ในปี 2518 ก็เช่นกันที่มีการสังหารนักศึกษาที่ทำกิจกรรมดังเช่นกรณีของ “นิสิต จิรโสภณ” (ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์อธิปัตย์ ที่เป็นหนังสือพิมพ์ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย) ซึ่งเชื่อว่าเขาถูกผลักตกจากรถไฟ ขณะเดินทางไปทำข่าวการต่อสู้ของประชาชนในภาคใต้

หรือการลอบสังหารผู้นำนักเรียนของโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ชื่อ “มานะ อินทสุริยะ” เป็นต้น

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าในปี 2518 เป็นดังจุดเริ่มต้นอย่างชัดเจนของปรากฏการณ์ “ขวาพิฆาตซ้าย”… การไล่ล่าเริ่มขึ้นแล้ว!

ต่อมาในปี 2519 การสังหารเช่นนี้ก็ดูจะเข้มข้นมากขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ “อมเรศ ไชยสะอาด” ผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลถูกลอบสังหารขณะออกค่ายอาสาพัฒนาที่อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา แม้แต่ค่ายอาสาก็ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้นำนักศึกษาอีกต่อไป (อมเรศมีตำแหน่งเป็นเหรัญญิกของศูนย์นิสิตฯ) จากกรณีของแสง นิสิต มานะ จนถึงอมเรศ สัญญาณความรุนแรงในการจัดการกับนักศึกษาดูจะชัดเจนมากขึ้น กระบวนการ “ขวาพิฆาตซ้าย” เริ่มออกแรงขับเคลื่อนแล้ว

เหตุการณ์สำคัญต่อมาในช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ก็คือการลอบสังหาร ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย (อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

และอีกไม่กี่วันถัดมา ก็มีการปาระเบิดใส่โรงเรียนช่างกลพระรามหก ซึ่งเป็นโรงเรียนช่างกลที่มีจุดยืนทางการเมืองร่วมกับศูนย์กลางนิสิตฯ มากกว่าจะเป็น “ช่างกลกระทิงแดง” หรือ “ช่างกลฝ่ายขวา”

สัญญาณของความตายและความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ทำให้พวกเราที่ทำงานเคลื่อนไหวเริ่มรู้สึกถึง “ภัยมืด” ที่ไม่รู้ว่าจะมาถึงตัวเราเมื่อใด

เพราะก่อนจะถึงการเสียชีวิตของอาจารย์บุญสนอง ได้มีผู้นำฝ่ายซ้ายในสาขาต่างๆ ถูกลอบสังหารเสียชีวิตไปแล้วถึง 27 ราย

อาจารย์บุญสนองเป็นรายที่ 28 และกรณีนี้ก็เป็นการยืนยันอย่างชัดเจนอีกครั้งหนึ่งถึงกระบวนการไล่ล่า ที่มีลักษณะของการจัดตั้งเพื่อ “ไล่ล่า” อย่างเป็นขบวนการ และเป็นการ “ล่าสังหาร” ที่มุ่งประสงค์ชีวิตด้วย

สำหรับผมและเพื่อนๆ แล้ว การสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่รู้สึกใกล้ตัวมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีอมเรศ จำได้ว่าข่าวการเสียชีวิตของอมเรศมาถึงพวกเราที่ศูนย์ตอนค่ำแล้ว พวกเราซึ่งกำลังนั่งคุยกันอยู่ต่างรู้สึกตกใจกันอย่างมาก เพื่อนผู้หญิงบางคนปล่อย “โฮใหญ่” เพราะอมเรศเป็นเพื่อนคนหนึ่งที่เข้ามาช่วยงาน และเห็นกันในศูนย์กลางนิสิตฯ

ความตายคืบคลานมาถึงพวกเราจริงๆ แล้วหรือ?

ในช่วงเวลาเช่นนั้น ผมจึงเริ่มเห็นคนที่รู้จักมักคุ้นบางคนเริ่มหายไปจากการเคลื่อนไหว ซึ่งก็มีโอกาสได้รับรู้ต่อมาว่าที่บางคนตัดสินใจยุติบทบาทในเมือง เพราะสัญญาณของการ “ฆ่า” ได้เกิดขึ้นแล้ว หลายคนจึงเริ่มตัดสินใจเดินทางออกสู่ชนบท พวกเราเองที่ทำงานเคลื่อนไหวก็เริ่มได้รับคำเตือนให้ระมัดระวังตัวให้มากขึ้น…

ปรากฏการณ์ล่าสังหารเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องของการ “ล่าแม่มด” แบบในยุคปัจจุบัน เพราะยุคนี้เป็นการไล่ล่ากันในเว็บไซต์ แต่คนยุคผมถูกล่าจริงๆ และมีชีวิตเป็นเดิมพัน

ฉะนั้น สถานที่ปลอดภัยของการถูกล่าจึงดูจะมีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นคือ “ฐานที่มั่น” ในป่า!

ชีวิตในศูนย์นิสิต

หลังจากการเคลื่อนไหวเข้าช่วยเหลือการประท้วงของ “ไทยการ์ด” แล้ว ผมเข้ามาร่วมงานกับศูนย์กลางนิสิตฯ อย่างเต็มตัว ซึ่งในขณะนั้นมี “พี่เกรียง” (เกรียงกมล เลาหไพโรจน์) เป็นเลขาธิการ ผมกับพี่เกรียงรู้จักกันมาก่อนแล้วในฐานะรุ่นพี่ที่จุฬาฯ เนื่องจากในยุคนั้นรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ยังเรียนอยู่ด้วยกันในพื้นที่ของคณะรัฐศาสตร์ ก่อนจะแยกออกไปมีพื้นที่ของตัวเองเช่นในปัจจุบัน ศูนย์มีอาคารของตนเองอยู่ที่สี่แยกคอกวัว (ซึ่งเป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์ 14 ตุลาฯ ปัจจุบัน) โดยรัฐบาลได้มอบพื้นที่บริเวณนี้ให้กับศูนย์ เพื่อใช้ในการจัดสร้างอนุสาวรีย์ฯ และเมื่อยังไม่มีการสร้าง จึงทำให้พวกเราใช้อาคารบริเวณนี้เป็นที่ทำการ และเป็นดัง “ศูนย์ประสานงาน” การเคลื่อนไหว

ชีวิตในศูนย์ทำให้ผมได้เพื่อนสนิทอีก 2 คนจนถึงปัจจุบัน คือ “บูรณ์” (สมบูรณ์ สิมะแสงยาภรณ์ รองเลขาธิการฝ่ายการศึกษา) และ “หวาย” (สวาย อุดมชัยเจริญกิจ รองเลขาฝ่ายเศรษฐกิจ) และยังมีเพื่อนๆ อีกหลายคนที่เข้าช่วยงานในศูนย์ โดยผมอาจจะไม่มีโอกาสเอ่ยชื่อได้ทั้งหมด

ในยุคนั้น ศูนย์ได้เข้าไปช่วยเหลือและสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มกรรมกรและชาวนา เป็นต้น ซึ่งหลายครั้งที่พวกเราทำหน้าที่ประสานงานและประสานความคิดในการทำงาน

จนอาจกล่าวได้ว่าปี 2518 เป็นสัญญาณถึงการกำเนิด “สามประสาน” ของกลุ่มพลังกรรมกร ชาวนา และนักศึกษา ที่ตกลงใจในการเคลื่อนไหวร่วมกัน และจะหนุนช่วยซึ่งกันและกันในยามที่ต้องเผชิญกับ “อำนาจทมิฬ” คุกคาม

สำหรับผมแล้ว ความสนใจหันกลับมาสู่เรื่องของฐานทัพอเมริกันในไทยอีก และหลังจากการเคลื่อนไหว 4 กรกฎาคม 2518 ก็คาดการณ์ได้ว่าประเด็นนี้จะถูกยกระดับเป็นเรื่องใหญ่ของขบวนนักศึกษาอย่างแน่นอน

ผมเริ่มกลับมาสู่ความเป็น “นักวิชาการ” อีกครั้ง โดยทำหน้าที่เก็บข้อมูลและเตรียมการศึกษา อีกทั้งรัฐบาลคึกฤทธิ์เองก็ประกาศชัดเจนในนโยบายว่า ฐานทัพสหรัฐจะต้องถอนออกจากไทยภายใน 1 ปี การประกาศเช่นนี้ท้าทายทั้งต่อรัฐบาล กองทัพ กลุ่มปีกขวาต่างๆ และรวมทั้งขบวนนักศึกษาที่เริ่มหันมาจับประเด็นเรื่องฐานทัพอเมริกันเป็นปัญหาหลักของการเคลื่อนไหวด้วย

หนึ่งปีของนโยบายถอนฐานทัพอเมริกันออกจากประเทศไทยภายใต้สถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของอินโดจีน ผสานเข้ากับการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมของกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะการเคลื่อนของขบวนนักศึกษาแล้ว ปี 2518 จึงอาจเปรียบเปรยว่าเป็นดังชื่อของภาพยนตร์เรื่อง “The Year of Living Dangerously”

หรือเป็น “ปีอันตราย” อย่างแท้จริง!