ธงทอง จันทรางศุ | พิมพ์พิการ

ธงทอง จันทรางศุ

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เพิ่งจะผ่านพ้นไปได้เพียงไม่กี่วัน

หนังสือที่ซื้อมาจากงานคราวนี้ยังกองอยู่ข้างตัวผมนี้เลย กว่าจะอ่านได้จบครบทุกเล่มคงใช้เวลานานอีกพอสมควร

มีเพื่อนหลายคนที่มีนิสัยเสียเหมือนกันกับผม คือพอเห็นหนังสือที่น่าอ่านแล้วก็เกิดอาการงกต้องซื้อไว้ก่อน

ไม่ต้องวางแผนล่วงหน้าว่าจะอ่านเมื่อไรหรอก

ปลงใจเสียว่าถ้าไม่ตายเสียก่อนก็คงอ่านจบจนได้

เพื่อเป็นเกียรติแก่งานหนังสือที่เพิ่งจบสิ้นลงไป

วันนี้เรามาคุยกันเรื่องหนังสือในเมืองไทยของเราดีกว่าครับ

เทคโนโลยีการพิมพ์ซึ่งเป็นเรื่องของชาวตะวันตกนั้นเพิ่งเข้ามาถึงบ้านเราเมื่อรัชกาลที่สามนี่เอง แต่เดิมมาหนังสือทุกอย่างของเราใช้วิธีเขียนด้วยลายมือทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา ตำรับตำราวิชาความรู้ต่างๆ เช่น เรื่องพิชัยสงครามหรือตำรายา ตำราภาษาไทย จึงมีจำนวนไม่มากฉบับ

พูดให้เด็กสมัยใหม่ฟังเข้าใจง่ายก็ต้องบอกว่าทุกอย่างเป็น Hand made ทั้งนั้น จะทำเป็นร้อยฉบับ พันฉบับเห็นจะไม่ง่ายนัก

ด้วยข้อจำกัดอย่างนี้ ความรู้ที่อยู่ในหนังสือจึงไม่ใช่เรื่องสามัญที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ง่าย

คนที่อ่านออกเขียนได้ก็มีจำนวนไม่มาก อะไรต่อมิอะไรดูลึกลับไปหมด

เมื่อเทคโนโลยีการพิมพ์จากโลกตะวันตกเข้ามาถึงเมืองไทย ทางราชการเองแรกทีเดียวก็ยังลังเลไม่แน่ใจว่าของใหม่จะมีคุณหรือมีโทษสถานใด

ดังนั้น เมื่อหมอบลัดเลย์เข้ามาตั้งโรงพิมพ์และพิมพ์กฎหมายตราสามดวงออกเผยแพร่ ทางราชการจึงเรียกเก็บหนังสือที่พิมพ์ด้วยเครื่องนั้นเข้ามาทำลายเสียทั้งหมด

เพราะในแง่มุมความคิดครั้งนั้นเห็นว่า การให้ประชาชนมีโอกาสรู้กฎหมายได้กว้างขวาง นั่นหมายความว่าคนที่ไม่สุจริตก็จะพลอยรู้กฎหมายไปด้วย

ในขณะที่คนสุจริตอีกจำนวนมากยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะเป็นช่องทางให้มีการเอารัดเอาเปรียบกันมากขึ้น

ทางราชการจึงต้องเข้ามาแทรกแซงด้วยวิธีข้างต้น

นั่นก็เป็นมุมมองอย่างหนึ่ง แต่เหรียญบาทมีสองด้านใช่ไหมครับ อีกด้านหนึ่งคือความเห็นฝ่ายที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนเข้ากับความก้าวหน้าของยุคสมัย

ผู้นำในเรื่องนี้ไม่ใช่ใครอื่น หากแต่คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเวลานั้นทรงผนวชเป็นพระภิกษุและเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ได้ทรงติดต่อสมาคมกับชาวตะวันตกที่อยู่ในเมืองไทยและทรงรู้จักเทคโนโลยีการพิมพ์เป็นอย่างดี

ดีจนถึงขนาดทรงตั้งโรงพิมพ์ส่วนพระองค์ขึ้นอยู่ที่หน้าวัดบวรนิเวศวิหารนั้นเอง

เมื่อทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ทรงเดินหน้าไปไกลถึงขนาดที่ทรงตั้งโรงพิมพ์ของหลวงขึ้นเรียกว่าโรงพิมพ์อักษรพิมพการ ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง

ออกสิ่งพิมพ์ที่เรียกชื่อว่าราชกิจจานุเบกษาเพื่อประกาศกฎหมายและข่าวของทางราชการให้ประชาชนทราบ

ขณะเดียวกันก็ทรงส่งเสริมให้คนเรียนหนังสือ อ่านหนังสือ

ตั้งแต่นั้นมาสิ่งพิมพ์หรือหนังสือที่พิมพ์แบบฝรั่งคือใช้เครื่องผลิตทีเดียวได้เป็นจำนวนร้อยจำนวนพัน ก็เป็นเรื่องที่สังคมไทยคุ้นเคยมาจนถึงทุกวันนี้

มีเรื่องขออนุญาตเล่าแทรกเล่าแถมให้ตรงนี้นิดหนึ่งครับ ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเขาคิดจะควบรวมหน่วยงานสองหน่วยย่อยคือสำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีมาแต่เดิมเข้าด้วยกันเป็นหน่วยเดียว

แต่แรกผู้มาปรึกษาผมขอให้ผมคิดชื่อใหม่ให้สักชื่อหนึ่งสำหรับหน่วยงานใหม่นี้

ผมเป็นคนโบราณก็เลยนึกถึงชื่อ “สำนักจุฬาฯ พิมพการ” ขึ้นมา

ปรากฏว่าชื่อนี้ไปไม่รอดครับ ผู้ฟังหลายคนบอกว่าฟังดูแล้วพิการง่อยเปลี้ยเสียขาอย่างไรก็ไม่รู้

เป็นอันว่าตกลงใช้ชื่อกลางๆ ว่า “สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” แต่รวมงานสองอย่างเข้าด้วยกัน ตกลงไม่ “พิมพ์พิการ” แล้วนะครับ

เวลาผ่านไปร้อยปีเศษ ยุคสมัยที่หนังสือเคยเฟื่องฟูก็ต้องกลับมาพบกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยอีกระลอกหนึ่ง นั่นคือระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย นิตยสารที่ผมเคยอ่านเคยเห็นเป็นประจำตามแผงหนังสือต่างๆ ล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก

แม่ของผมเคยเขียนนวนิยายลงพิมพ์ในนิตยสารศรีสัปดาห์และสกุลไทย

ส่วนผมเองก็เคยเขียนหนังสืออยู่ในนิตยสารลลนา เดี๋ยวนี้เหลืออะไรบ้างครับ

เหลือก็แต่มติชนสุดสัปดาห์นี่เอง ฮา!

หนังสือพิมพ์รายวันก็เกิดแก่เจ็บตายไปหลายเล่มแล้ว

ตอนนี้หนังสือประเภท “อี” หรือออนไลน์กำลังมาแรง การเข้าถึงความรู้และแหล่งค้นคว้าต่างๆ ย้ายไปอยู่ในโทรศัพท์มือถือที่พกพาติดตัวไปไหนได้สะดวก

โรงพิมพ์สำนักพิมพ์ทั้งหลายก็ต้องปรับตัว

ห้องสมุดก็เช่นเดียวกัน หนังสือเป็นเล่มๆ ที่วางอยู่บนชั้นหนังสือหน้าตาคล้ายไดโนเสาร์เข้าไปทุกที

แต่นั่นแหละนะครับ ผมซึ่งเป็นคนยุคสมัยเก่าก็ยังเห็นว่าหนังสือชนิดที่พิมพ์เป็นเล่ม สัมผัสได้ พลิกอ่านได้ ขีดเส้นใต้หรือวงกลมเน้นข้อความสำคัญได้ ใช้นิ้วมือคั่นหน้าหนังสือไว้ได้ขณะที่พลิกหนังสือกลับไปกลับมา กลิ่นหอมของกระดาษ ความสะดวกที่อ่านหนังสือได้ทุกที่ที่มีแสงสว่างโดยไม่ต้องการพลังงานอื่นใด

เหล่านี้ยังเป็นเสน่ห์ของหนังสือที่ไม่อาจมีอะไรมาทดแทนได้

ที่พูดมาอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าผมจะหยุดโลกให้แน่นิ่งอยู่กับที่โดยไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง

เพราะไม่มีใครทำอย่างนั้นได้แน่นอน

ชนิดหรือประเภทของหนังสือที่คนนิยมอ่านก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ถ้าจะนับจำนวนคนที่เคยอ่านพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์รัชกาลที่หนึ่งตั้งแต่ต้นจนจบ (แบบผม) ว่ามีอยู่ในเมืองไทยสักกี่คน

เราก็จะได้จำนวนน้อยจนน่าใจหายเลยทีเดียว

โจทย์หรือคำถามที่ท้าทายจึงอยู่ตรงหน้าของทุกคนที่อยู่ในแวดวงของหนังสือ ต้องเดาใจกันแล้วล่ะครับว่าคนยุคนี้อยากอ่านหนังสือชนิดไหน มีความยาวความสั้นอย่างไร

เขาต้องการความละเมียดละไมของตัวอักษรหรือไม่

คนที่ชอบอ่านหนังสือแบบวรรณคดีที่เปรียบได้กับอาหารภัตตาคารชั้นสูง กับคนที่ชอบอ่านหนังสือแบบง่าย สั้น ไม่ต้องมีลีลามาก ใครจะมีอิทธิพลต่อตลาดหนังสือมากกว่ากัน เทคโนโลยีอะไรจะเหมาะสมสำหรับการนำเสนอหนังสือกับผู้อ่านยุคใหม่

อย่าว่าอะไรอื่นเลยครับ คนซื้อหนังสือก็ยังต้องปรับตัวด้วยเลย จะซื้อเป็นอีบุ๊กหรือซื้อแบบเป็นเล่มๆ แล้วมาปวดหัวเรื่องวิธีจัดเก็บ ในขณะที่บ้านช่องห้องหอก็มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ ถ้าเราอยู่ห้องในคอนโดมิเนียมเล็กๆ แต่มีหนังสือจำนวนมาก เราอาจจะต้องยืนตลอดคืนแทนที่จะได้นอน เพราะหนังสือครอบครองพื้นที่หมดแล้ว

อย่าเพิ่งคิดมาก คิดแค่ว่างานมหกรรมขายหนังสือคราวหน้าไปจัดที่อื่นที่ไม่ใช่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แล้วผมจะเดินทางไปซื้อหนังสือได้อย่างไร แค่นี้ก็ปวดหัวแล้วครับ

นี่ยังไม่ต้องคิดถึงปัญหาใหญ่กว่านั้นของทุกคนคือจะมีเงินซื้อหนังสือหรือไม่

คิดแล้วก็ร้องไห้แงขึ้นพร้อมกัน