อานันท์ ปันยารชุน ว่าด้วยบุรุษสำคัญ ในฐานะบุคคลอ้างอิง เพียงไม่กี่คนในสังคมที่เหลืออยู่

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เมื่อไม่กี่วันมานี้ (4 เมษายน 2562) อานันท์ ปันยารชุน ได้พ้นตำแหน่งนายกกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ “ครบวาระและประสงค์ไม่ขอต่อวาระ” (เหตุผลแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ) เป็นการสิ้นสุดตำแหน่งกรรมการธนาคารแห่งสำคัญของไทยอย่างยาวนานถึง 34 ปี กับตำแหน่งนายกกรรมการอีกกว่า 10 ปี (2550-2562)

ธนาคารไทยแห่งแรกผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่าศตวรรษ ถือว่าเปิดฉากยุคใหม่อย่างแท้จริงในช่วงอานันท์ ปันยารชุน เข้ามาเป็นกรรมการครั้งแรก (ปี 2527) ทว่าเรื่องราวและบริบทเกี่ยวข้องบุคคลอ้างอิงวัย 87 ปี ไม่ได้มีเพียงเท่านี้ หากสะท้อนภาพใหญ่กว่านั้น ว่าด้วยความเป็นไป บางฉาก บางตอน สังคมไทยยุคหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นต้นมา

อานันท์ ปันยารชุน เกิดในปีซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย-การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร (ปี 2475) เขาเป็นบุตรของพระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) ส่วนมารดาเป็นคนในตระกูลโชติกเสถียร

“เสริญ ปัญญารชุน สืบเชื้อสายมาจากชาวมอญที่เข้ามาอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารในรัชกาลที่ 4 บิดาของเขาคือพระยาเทพประชุน ซึ่งต่อมาเป็นองคมนตรีของรัชกาลที่ 5” (อ้างจากหนังสือ อานันท์ ปันยารชุน โดยประสาร มฤคพิทักษ์ และคณะ 2541)

จากนั้น “เสริญ ปันยารชุน เรียนหนังสือเก่งสอบชิงทุนหลวงได้ ไปศึกษาต่อที่อังกฤษตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาที่ Shrewsbury School ในปี 2448 ยังไม่ทันจบศึกษาจาก University of Manchester เขาต้องกลับมารับราชการเป็นครู โดยต่อมามีบทบาทสำคัญในฐานะผู้บังคับการคนที่สองของวชิราวุธวิทยาลัย เป็นผู้วางรากฐานการศึกษาโรงเรียนแห่งนี้ ตามโมเดลจากประสบการณ์ Shrewsbury School ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำชาย ต่อมาโรงเรียนของอังกฤษแห่งนี้ได้กลายเป็นโรงเรียนซึ่งมีความสัมพันธ์กับสังคมไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา” (จากหนังสือ “หาโรงเรียนให้ลูก” โดยวิรัตน์ แสงทองคำ 2548)

โรงเรียนประจำชายของไทยก่อตั้งขึ้นโดยพระราชดำริของรัชกาลที่ 6 กษัตริย์ไทยพระองค์แรกผู้ทรงศึกษาในต่างประเทศ เป็นไปตามโมเดลโรงเรียนประจำจากอังกฤษ เอกสารของ Shrewsbury School (ฉบับภาษาไทย ในงานการศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ครั้งหนึ่ง จัดขึ้น ณ กรุงเทพฯ) บรรยายถึงความสัมพันธ์ช่วงศตวรรษกับวชิราวุธวิทยาลัยไว้ “เสริญ ปันยารชุน (2433-2517) เป็นผู้สร้างความสัมพันธ์สำคัญ เป็นประวัติครั้งแรกระหว่างโรงเรียนชรูสส์เบอรี่กับประเทศไทย กับราชสำนักไทย”

เนื้อหาอีกบางตอนในเอกสาร ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่าง Shrewsbury School กับเครือญาติของเสริญ ปันยารชุน ในรุ่นต่อๆ มาไว้ด้วย โดยเฉพาะหม่อมหลวงพีรพงศ์ เกษมศรี นักการทูตคนสำคัญ ซึ่งเป็นหลานเสริญ (มารดาของเขาเป็นบุตรีคนหนึ่งของเสริญ และพี่สาวคนโตของอานันท์ ปันยารชุน) ก็เข้าเรียนโรงเรียนแห่งนี้ (ปี 2492-2497)

ต่อมาหม่อมหลวงพีรพงศ์ดำรงตำแหน่งเป็นราชเลขาธิการ จนถึงแก่กรรม (2538-2543)

 

ขณะที่สายทางมารดาของอานันท์ ปันยารชุน มีเชื้อสายเชื่อมโยงกับต้นตระกูลที่มาจาก “นายอากร” ตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ 3 ในฐานะต้นตระกูลโชติกเสถียร มีหน้าที่จัดเก็บภาษีฝิ่นเป็นการเฉพาะ

ต่อมามีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (อ้างจากหนังสือ Capital Accumulation in Thailand 1855-1985, Suehiro Akira 1996)

ต่อจากนั้นมีบุคคลสำคัญอีกผู้หนึ่งควรกล่าวถึง -รองสนิท โชติกเสถียร มีตำแหน่งเป็นต้นห้องรัชกาลที่ 7-พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ติดตามเสด็จยุโรปตลอดช่วงสละราชสมบัติ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนรัชกาลที่ 7 สิ้นพระชนม์ (อ้างจากหนังสือ “ชีวิตเหมือนฝัน” มณี สิริวรสาร) ต่อมารองสนิท โชติกเสถียร คือผู้ก่อตั้งบริษัทอาคเนย์ประกันภัย โดยผู้ที่ถือกรมธรรม์ฉบับแรกคือสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีในรัชกาลที่ 7

อานันท์ ปันยารชุน เข้าสู่วัยเรียนในช่วงสังคมไทยอยู่ในภาวะยุ่งยาก ท่ามกลางสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดไม่นาน บิดามารดาจึงตัดสินใจส่งเขาไปศึกษาต่างประเทศ

ช่วงเวลา 7 ปีที่อยู่ประเทศอังกฤษ สังคมไทยอยู่ช่วงปลายความขัดแย้งรุนแรงระหว่างขั้วการเมือง กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคใหม่จากอิทธิพลสหรัฐ เริ่มจากสงครามเกาหลี เข้าสู่ยุคเริ่มต้นสงครามเวียดนาม

หนังสือ Knopf Guide : Thailand (Knopf Guide) กล่าวถึงสังคมไทยในช่วงเวลานั้นว่าเป็นช่วง Power struggle

“ระบบการปกครองไม่มั่นคงที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ มาจากความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง และกินเวลายาวนาน”

ต่อด้วย The Pacific war เมื่อสงครามโลกสิ้นสุด เมืองไทยก็เข้าสู่อีกช่วงประวัติศาสตร์ ให้ชื่อว่า The New King เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหัว รัชกาลที่ 9 เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี 2490

อานันท์ ปันยารชุน เดินทางไปศึกษาระดับมัธยมที่อังกฤษ (ปี 2491) ณ Dulwich College โรงเรียนประจำชื่อดังของอังกฤษ ซึ่งชนชั้นนำไทยนิยมส่งบุตร-หลานเข้าเรียน

ถือเป็นอีกช่วงตกทอดมาจากเรื่องราวนักเรียนไทยศึกษาต่อต่างประเทศ ซึ่งเริ่มต้นอย่างเป็นกระบวนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ในยุคระบบอาณานิคม พัฒนาต่อเนื่องเป็นสูตรสำเร็จสร้างชนชั้นนำในระบบราชการ ค่อยๆ ขยายฐาน จากราชสำนัก สู่แวดวงผู้มีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ

อานันท์ ปันยารชุน หลังใช้เวลาศึกษาที่ Dulwich College 4 ปี สามารถเข้าเรียนกฎหมาย ณ Cambridge University เมื่อจบการศึกษา ตั้งแต่ปี 2498 ได้เริ่มต้นชีวิตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นช่วงสังคมไทยกำลังเผชิญกระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลง

อันเนื่องมาจากอิทธิพลสหรัฐอเมริกา

 

ขณะนั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ นักเรียนอังกฤษ (จบการศึกษาจาก Oxford University) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอันสับสนพอสมควร

จากยุคปลายจอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วขัดตาทัพโดยพจน์ สารสิน American connection คนสำคัญ ในช่วงสั้นๆ ก่อนเข้าสู่ยุคเผด็จการทหาร (สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส)

อานันท์ ปันยารชุน มีบทบาทมากขึ้นในช่วง ดร.ถนัด คอมันตร์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ถนัด คอมันตร์ ผู้มีภูมิหลังการศึกษาด้านกฎหมายจากฝรั่งเศส มีประสบการณ์เป็นนักการทูต โดยเฉพาะเคยเป็นเอกอัครราชทูตประจำสหรัฐอเมริกา เขาอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศอย่างต่อเนื่องยาวนานในยุคสงครามเวียดนาม ตั้งแต่รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนถึงจอมพลถนอม กิตติขจร (2502-2514) บทบาทสำคัญของเขาสะท้อนความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ในนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ หลังจากการลงนามในแถลงการณ์ร่วมรัสค์-ถนัด (Rusk-Thanat Communiqu?) ปี 2505

ในยุคต้นๆ สงครามเวียดนาม อานันท์ ปันยารชุน ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ-ถนัด คอมันตร์ (2502-2507) พร้อมๆ กับบทบาทเป็นทีมงานคณะทูตถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ (United Nation) ณ นครนิวยอร์ก

จากนั้นไม่นานเขาได้รับตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสหประชาชาติ (2510-2515)

ในประวัติอย่างเป็นทางการที่ปรากฏใน website ของสหประชาชาติ (http://www.un.org) ในฐานะประธานคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูง ด้านภัยคุกคาม ความท้าทาย และการเปลี่ยนแปลง องค์การสหประชาชาติ (Chairman, High-level Panel on Threats, Challenges and Change United Nation 2003-2004) ระบุว่า อานันท์ ปันยารชุน มีประสบการณ์ที่สหประชาชาตินานถึง 12 ปี (2507-2519)

ในปี 2518 อานันท์ ปันยารชุน มีบทบาทสำคัญควรบันทึกไว้ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เจรจาเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ปูทางให้หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเดินทางไปสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ

ภาพจับมือระหว่างคึกฤทธิ์ ปราโมช กับเหมาเจ๋อตง ยังจำกันได้จนถึงทุกวันนี้

 

ในปีต่อมา อานันท์ ปันยารชุน ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงสุดข้าราชการประจำ-ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในวัยเพียง 43 ปี ด้วยอายุราชการเพียง 22 ปี ภารกิจสำคัญภายใต้สถานการณ์ใหม่เวลานั้นคือ สหรัฐกำลังถอนฐานทัพออกจากประเทศไทย พร้อมๆ กับฟื้นความสัมพันธ์กับจีน ลาว และเวียดนาม

แต่แล้วเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองครั้งหนึ่ง ได้พลิกผันชีวิตข้าราชการของอานันท์ ปันยารชุนอย่างไม่น่าเชื่อ ในประวัติอย่างเป็นทางการ ฐานะประธานคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูง ด้านภัยคุกคาม ความท้าทาย และการเปลี่ยนแปลง องค์การสหประชาชาติ หรือ Chairman, High-level Panel on Threats, Challenges and Change United Nation (อ้างแล้ว) กล่าวถึงไว้อย่างตั้งใจ “After the tumultuous events of 6 October 1976, Thailand experienced a military backlash and the return of a military-led authoritarian rightist government. As a result, Anand became the victim of a rightist conspiracy. He was wrongly accused of being a communist,” ขอคัดลอกต้นฉบับภาษาอังกฤษ เพื่อผู้อ่านได้สาระตรงตามต้นฉบับ

อานันท์ ปันยารชุน ถูกสอบสวน ถูกสั่งพักราชการในปี 2520 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร (8 ตุลาคม 2519 – 20 ตุลาคม 2520)

ธานินทร์ กรัยวิเชียร นักกฎหมาย มีประสบการณ์ในฐานะผู้พิพากษาและอาจารย์มหาวิทยาลัย เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ถือกันว่าเป็นรัฐบาล “ขวาจัด” มาพร้อมประกาศแผนพัฒนาประชาธิปไตย 12 ปี ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามแผน เมื่อพ้นตำแหน่ง ธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้เป็นองคมนตรี อยู่ในตำแหน่งนานทีเดียว (2520-2559)

เมื่อผ่านพ้นมรสุมชีวิตราชการ อานันท์ ปันยารชุน จึงตัดสินใจออกจากเส้นทาง ซึ่งเดินมานานถึง 24 ปี ไปสู่เส้นทางใหม่