คนของโลก : คิรันจิต อาห์ลูวาเลีย ภรรยาผู้จุดไฟเผาสามีตัวเอง

“คิรันจิต อาห์ลูวาเลีย” หญิงชาวอินเดียถูกศาลอังกฤษตัดสินจำคุกตลอดชีวิตจากการจุดไฟเผาสามี “ดีปัก อาห์ลูวาเลีย” จนเสียชีวิต

ทว่าสามารถใช้กระบวนการทางกฎหมายต่อสู้เพื่อให้ศาลเห็นถึงความเจ็บปวดจากความรุนแรงในครอบครัว

สุดท้ายศาลลดโทษลงเหลือ 3 ปี 4 เดือน

เรื่องราวซึ่งกลายเป็นที่มาของภาพยนตร์ที่ออกฉายเมื่อปี 2006 ในชื่อ “Provoked”

คิรันจิต หญิงชาวอินเดีย ปัจจุบันในวัย 63 ปี เป็นนักเขียนและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นที่สนใจอีกครั้งในการจัดงานครบรอบ 40 ปีมูลนิธิ Southall Black Sisters (SBS) มูลนิธิเพื่อผู้หญิงผิวสีและผู้หญิงเอเชีย

 

คิรันจิตเกิดและเติบโตในรัฐปัญจาบ ตอนเหนือของประเทศอินเดีย ในครอบครัวที่เป็นที่รัก เล่าเรื่องราวชีวิตผ่านเว็บไซต์บีบีซี ว่า ตนเป็นน้องคนสุดท้องในบรรดาพี่น้อง 9 คน โดยพ่อและแม่เสียชีวิตลงตั้งแต่เธอมีอายุได้เพียง 16 ปี

ตั้งแต่เธอก้าวเข้าสู่ชีวิตวัยรุ่น แรงกดดันเพื่อให้เธอต้องแต่งงานตามธรรมเนียมก็มีเพิ่มมากขึ้น แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เธอต้องการ เนื่องจากเธอต้องการได้ทำงานหาเงิน และมีชีวิตเป็นของตัวเอง ดังนั้น เธอจึงตัดสินใจไปอยู่กับพี่สาวที่ประเทศแคนาดา

อย่างไรก็ตาม คิรันจิตกลับต้องยอมแต่งงานเมื่อพี่สาวที่ประเทศอังกฤษแนะนำชายคนหนึ่งให้

“เขามาหาฉันที่แคนาดา เราคุยกันประมาณ 5 นาทีและฉันก็ตอบตกลง ฉันรู้ว่าฉันไม่สามารถหนีได้อีกแล้ว ฉันต้องแต่งงาน และก็ตอนนั้นแหละที่อิสรภาพฉันหมดสิ้นไป”

คิรันจิตระบุ

 

ภรรยาผู้โชคร้ายซึ่งย้ายไปอยู่อังกฤษกับดีปัก อาห์ลูวาเลีย ผู้เป็นสามี ระบุว่า ความทรมานเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันแรกที่แต่งงาน โดยเฉพาะเมื่อสามีของเธอโมโห จะต้องเผชิญกับการตะโกนใส่ โยนข้าวของ ข่มขู่ด้วยอาวุธ ทำร้ายร่างกาย จนบางครั้งไม่สามารถพูดคุยได้ไปหลายวัน

คิรันจิตเล่าว่า ครั้งหนึ่งเธอเคยซื้อแหวนทองเป็นของขวัญให้สามีในวันเกิด ก่อนที่ในสัปดาห์เดียวกันนั้นเองที่สามีจะชกหน้าเธอ และแหวนวงนั้นเองที่ทำให้เธอ “ฟันหัก”

เรื่องราวการทำร้ายร่างกายเคยรู้ไปถึงครอบครัวของคิรันจิต ช่วงเวลาที่ทั้งคู่กลับไปประเทศอินเดีย ทว่าหลังจากสามีของเธอขอโทษและขอให้เธอกลับไปอยู่ด้วยกันที่อังกฤษอีกครั้งเธอกลับใจอ่อน และแน่นอนว่าวงจรการทำร้ายร่างกายเดิมย้อนกลับมาหาเธออีกครั้ง

และครั้งนี้สามีของเธอมีภรรยาลับ และยังเรียกร้องเงินจากเธอ นั่นส่งผลให้เกิดการทะเลาะกันรุนแรงจนสติของคิรันจิตขาดการยับยั้งชั่งใจ

ในปี 1989 ทั้งคู่ทะเลาะกันรุนแรง ดีปักผู้เป็นสามี จิกผมคิรันจิต และใช้เหล็กร้อนนาบไปที่ใบหน้าจนกลายเป็นแผล

“ฉันไม่สามารถหลับได้ ฉันร้องไห้หนักมาก ฉันเจ็บปวดทั้งทางกายและจิตใจ” คิรันจิตระบุกับบีบีซี

คิรันจิตระบุว่า สมองของเธอหยุดคิด เธอตัดสินใจราดน้ำมันไปที่เท้าของสามีแล้วจุดไฟ ก่อนจะวิ่งไปอุ้มลูกชายแล้วหนีออกจากบ้าน

“ฉันคิดว่าจะเผาเท้าของเขา เขาจะได้วิ่งตามฉันไม่ทัน ฉันจะให้เขาได้รับรู้ถึงความเจ็บปวดและจำสิ่งที่เขาทำกับฉัน” คิรันจิตระบุพร้อมยืนยันว่าเธอไม่ได้ตั้งใจจะฆ่าสามีของเธอ

ทว่าโชคร้าย ดีปักเสียชีวิตในอีก 10 วันต่อมา

 

คิรันจิต (คนที่ 2 จากซ้าย) ได้รับการปล่อยตัวในช่วงปี 1992

เดือนธันวาคม ปี 1989 คิรันจิตถูกศาลตัดสินให้มีความผิดฐานฆาตกรรมและต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต โดยศาลไม่รับฟังข้อโต้แย้งที่เธอพยายามบอกว่าการกระทำดังกล่าวเป็นผลมาจากการถูกทารุนกรรม

โดยศาลเห็นว่าการกระทำของเธอเป็นไปเพราะความอิจฉาริษยา และช่วงเวลาหลังจากถูกทรมาน จนถึงเวลาจุดไฟเผานั้นมากพอที่คิรันจิตจะสามารถคิดถึงเหตุและผลได้

อย่างไรก็ตาม มูลนิธิ SBS ได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือและรณรงค์อย่างต่อเนื่องจนศาลรับเรื่องอุทธรณ์ในปี 1992 บนพื้นฐานของการลดโทษอาญาผลจากความผิดปกติทางจิต

โดยหลักฐานใหม่พบว่าคิรันจิตนั้น มีภาวะซึมเศร้าต่อเนื่องยาวนานก่อนก่อเหตุ โดยศาลรับฟังด้วยว่าช่วงเวลาระหว่างเหตุวิวาท กับการก่อเหตุนั้นทำให้คิรันจิต “เดือดดาลมากขึ้น” มากกว่าที่จะ “ใจเย็นลง”

สุดท้ายศาลตัดสินลดโทษลงเหลือจำคุก 3 ปี 4 เดือน พอดีกับช่วงเวลาที่เธอได้ใช้ชีวิตในเรือนจำ ทำให้คิรันจิตได้รับการปล่อยตัว และกลายเป็นคดีทางประวัติศาสตร์ ที่ศาลยอมรับพฤติการณ์ของเหยื่อทารุณกรรมจากการกระทำที่ค่อยๆ พลุ่งพล่านขึ้น มากกว่าการตอบสนองโดยฉับพลัน

และยังเป็นการสะท้อนด้วยว่า ผู้หญิง ผู้ที่ก่อเหตุฆาตกรรมผลจากความรุนแรงในครอบครัวอย่างสาหัสนั้น ไม่ควรที่จะต้องได้รับโทษเหมือนกับฆาตกรเลือดเย็น

ผลงานของ SBS และเรื่องราวของคิรันจิต ถูกถ่ายทอดผ่านหนังสือที่คิรันจิตใช้เวลาเขียนขณะถูกจองจำ กลายเป็นผลงานภาพยนตร์ที่สามารถสร้างรายได้ราว 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

และยิ่งกว่านั้นยังเป็นแรงบันดาลใจให้ทั่วโลกหันมามองปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมากยิ่งขึ้น