วงค์ ตาวัน | คดี 10 เมษาฯ กับการชิงอำนาจ

วงค์ ตาวัน

อาจจะมีอยู่หลายๆ เหตุผล แต่เหตุผลหนึ่งที่น่าเชื่อได้ว่าเป็นชนวนที่นำมาสู่การช่วงชิงอำนาจ และพยายามจะสืบต่อไปอีกให้ได้ น่าจะมาจากปัญหาเรื่องคดีบางคดีที่ทำให้กลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังกระบวนการเหล่านี้ ต้องการอยู่ในอำนาจเพื่อจะหยุดคดีดังกล่าวเอาไว้ให้ได้อย่างถึงที่สุด

“นี่เป็นปมหนึ่งที่ทำให้กระบวนการชิงอำนาจการเมืองตั้งแต่ปี 2551 ยังจะต้องสู้เพื่ออยู่ต่อไปให้ได้ในปี 2562 นี้!”

ลองพิจารณาดูว่า การเมืองหลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม ยังไม่สามารถเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นการนับคะแนน ส.ส. สูตรคิดคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ และลงเอยคือการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ทุกอย่างดูไม่ลงตัวไปเสียทั้งหมด

นั่นเพราะเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติปกติ

ไม่ใช่แค่การนำพรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่มานำเสนอนโยบาย สร้างความนิยม เพื่อให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน ลงเอยใครชนะก็ตั้งรัฐบาลไป ถ้าไปไม่ไหวก็ยุบสภาเลือกกันใหม่ หรืออยู่ครบวาระก็ต้องเลือกกันใหม่

พรรคไหนพ่ายแพ้ก็ไปปรับแก้ไข เพื่อมาเอาชนะใหม่ให้ได้ในสมัยต่อไป

แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่เป็นธรรมชาติปกติเช่นนั้น เพราะได้เตรียมการเอาไว้ทุกด้าน เพื่อกำหนดให้พรรคการเมืองไหนจะต้องเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลให้ได้ ไม่ว่าจะด้วยทางใด

“ล็อกสเป๊กเอาไว้หมดแล้ว ใครจะเข้าไปนั่งในทำเนียบรัฐบาล”

พอผลเลือกตั้งออกมา ไม่ลงตัวตามแผนที่เตรียมเอาไว้ ก็เลยต้องมาฝืนกันสารพัดวิธี เพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางเอาไว้ล่วงหน้าให้ได้

“สถานการณ์การเมืองวันนี้จึงเต็มไปด้วยความมัวซัว ยังไม่เห็นทางไปที่ชัดเจน”

สิ่งที่บ่งชี้สภาพการณ์ที่ว่านี้ได้อย่างหนึ่งก็คือ ความไม่มั่นใจของผู้ประกอบการด้านธุรกิจ จนทำให้เศรษฐกิจยังคงซบเซาอยู่

ทั้งที่เมื่อประเทศคลี่คลายจากยุครัฐบาลรัฐประหาร มาสู่ยุคการเลือกตั้ง เพื่อจะมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยปกติแล้วต่อจากนี้

แต่ภาพรวมกลับไม่สามารถทำให้การลงทุนการค้าคึกคักขึ้นมาได้สักเท่าไร เพราะดูแล้วการเมืองยังไม่แน่นอน เต็มไปด้วยความอึมครึม

สงกรานต์นี้ ก็ไม่ใช่ช่วงเงินทองสะพัดตามที่ควรจะเป็น!?!

เมื่อ 10 เมษายนที่ผ่านมา แกนนำ นปช. ยังคงรวมตัวกันไปทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิตเมื่อ 9 ปีที่แล้ว เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์นองเลือดคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 จุดเริ่มต้นของการใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุม

จนลงเอยตายไปถึง 99 ศพ เพราะการใช้ความรุนแรง การใช้กระสุนจริงยังเกิดขึ้นต่อเนื่องอีกนับเดือน กว่าจะจบในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553

“ไม่ว่าจะเป็นนายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หมอเหวง โตจิราการ นางธิดา ถาวรเศรษฐ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายก่อแก้ว พิกุลทอง และอีกหลายๆ แกนนำ มากันพร้อมหน้าพร้อมตา ร่วมกับญาติมิตรของผู้ที่สูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อ”

เพื่อทำบุญและรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเน้นย้ำว่า เป็นเหตุการณ์รุนแรง มีคนเสียชีวิตมากมาย ดังนั้น ไม่สามารถลบล้างหรือทำให้ลืมเลือนได้

“รวมไปถึงยังจะต้องทวงถามความเป็นธรรมต่อไปไม่สิ้นสุด จนกว่าคดีจะได้รับการพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรม!”

ความตายของผู้ชุมนุมในคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 และต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ที่รวมแล้วถึง 99 ศพ นี่ยังเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่อาจจบลงไปได้ง่ายๆ

ที่สำคัญ ไม่สามารถทำให้คดีถูกกลบเกลื่อน ด้วยการสร้างวาทกรรมว่า เสื้อดำฆ่าคนเสื้อแดงกันเอง ยิงกันเองเพื่อป้ายสีเจ้าหน้าที่ทหาร อะไรเหล่านี้ได้

เพราะนั่นแค่คำกล่าวร้าย แต่ข้อเท็จจริงคือมีพยานหลักฐานมากมายที่เป็นวิทยาศาสตร์ ทั้งกระสุนปืน ทั้งวิถีการยิง ทั้งภาพถ่าย ทั้งคลิป ที่เห็นเจ้าหน้าที่รัฐลงมือยิงอย่างแน่นอน

“อีกทั้งส่วนหนึ่ง ได้ผ่านกระบวนการไต่สวนชันสูตรศพ ที่พิจารณาในชั้นศาลไปแล้ว และศาลชี้ไปแล้วจำนวน 17 ศพว่าตายด้วยกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ ยิงจากฝั่งเจ้าหน้าที่ ไปจนถึงบางศพสามารถระบุถึงหน่วยที่ก่อเหตุ รวมทั้งมีการสอบปากคำเจ้าหน้าที่ทหารในหน่วยนั้นๆ เอาไว้ครบถ้วนแล้วด้วย”

ที่กล่าวกันว่าผู้ชุมนุมตายด้วยปืนเจ้าหน้าที่นั้น มีจากการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานมาแล้ว และศาลได้ชี้ผลไต่สวนชันสูตรศพไปแล้ว 17 ราย ชัดเจน

มีอะไรชัดเจนขนาดนี้แล้ว ข้ออ้างเรื่องผู้ชุมนุมเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง เป็นพวกก่อการร้าย จึงไม่อาจลบล้างข้อเรียกร้องการพิสูจน์คดีฆ่าคนตาย 99 ศพได้

แต่เมื่อคดีเหล่านี้ถูกตีตกไปในหลายกระบวนการ จึงทำให้ความเป็นธรรมยังไม่มี ขณะที่พยานหลักฐานข้อเท็จจริงนั้นมี

ดังนั้น ข้อเรียกร้องขอให้มีการพิสูจน์ความจริงของ 99 ศพในชั้นศาล จึงยังคงดังต่อไปไม่สิ้นสุด!

ก่อนจะเกิดเหตุการณ์สลายม็อบ 99 ศพในปี 2553 นั้น ต้องมองว่าอำนาจในขณะนั้นเริ่มต้นมาตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาลในปลายปี 2551 ที่เรียกกันว่ารัฐบาลในค่ายทหาร เพราะเปิดเจรจาลับกันในค่าย ก่อนจะไปโหวตกันในสภา

นี่คือกระบวนการเข้าสู่อำนาจของนักการเมืองกลุ่มหนึ่งซึ่งสัมพันธ์โยงใยถึงกลุ่มอำนาจในเครื่องแบบกลุ่มหนึ่ง

ที่มาของรัฐบาลเป็นเช่นนี้ จึงทำให้เสื้อแดงก่อการชุมนุม ด้วยข้ออ้างว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม ขอเรียกร้องการยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใหม่

“ลงเอยจึงเกิดเหตุการณ์สลายม็อบด้วยกระสุนจริง แทนที่จะใช้ตำรวจปราบจลาจลสลายม็อบตามหลักสากล ใช้กระสุนยาง แก๊สน้ำตา กลับใช้ทหารเข้าสลายม็อบ ลงเอยตายกันตั้งแต่คืน 10 เมษายน จนถึง 19 พฤษภาคม 2553”

จนกระทั่งการเลือกตั้งในปี 2554 ได้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาครองอำนาจ และมีการดำเนินคดี 99 ศพนี้อย่างจริงจัง

“เป็นเรื่องกระทบถึงกลุ่มอำนาจในปี 2553 อย่างรุนแรง!!”

เมื่อเกิดม็อบชัตดาวน์ในปลายปี 2556 เพื่อโค่นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งแม้รัฐบาลเพื่อไทยจะยอมยุบสภา ให้ประชาชนตัดสินใหม่ในต้นปี 2557 แกนนำม็อบชัตดาวน์บางคนก็ยังยืนยันไม่เลือกหนทางนี้ ทำทุกอย่างจนเข้าทางตัน เป็นการเปิดทางให้รถถังเท่านั้น

“เมื่อเกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นำมาสู่รัฐบาล คสช. ซึ่งดูตัวละครทั้งที่เป็นนักการเมืองและที่เป็นคณะรัฐประหาร ก็ทำให้เห็นภาพการตั้งรัฐบาลในค่ายทหารได้ทันที”

แล้วน่าสังเกตว่า รัฐบาล คสช.ปกครองอย่างยาวนานถึง 4-5 ปี ต่างจากคณะรัฐประหารชุดอื่นๆ

พอจำเป็นต้องเปิดเลือกตั้งในปี 2562 ก็เกิดกระบวนการที่ทำทุกอย่างเพื่อให้ผู้นำในอำนาจไม่เปลี่ยนแปลง

ตัวละครหลักๆ ตั้งแต่ปลายปี 2551 มาจนถึงเหตุการณ์นองเลือด 2553 และลงเอยการเลือกตั้ง 2562 ที่ทำทุกอย่างเพื่อให้กลุ่มอำนาจเดิมอยู่ได้ต่อไป

“เป็นตัวละครชุดเดิมๆ ทั้งสิ้น!”

ขณะที่การรำลึกถึงคนตาย 10 เมษายน และ 99 ศพของแกนนำเสื้อแดงยังคงมีต่อไป พร้อมกับคำยืนยันต่อสู้เพื่อให้คดีนี้เข้าสู่ศาลให้ได้

ไม่ว่าจะต้องสู้กันไปอีกกี่ปี!?!