E-DUANG : พลังใหม่ เลือดใหม่ การเมือง ตัวอย่าง จาก “อนาคตใหม่”

การค่อยๆหายไปของ New Dem ภายในพรรคประชาธิปัตย์ การค่อยๆหายไปของ New Blood ภายในพรรคชาติไทยพัฒนา

ก่อให้เกิดคำถามไปถึงบทบาทและความหมายของ “คนรุ่น ใหม่”ในทางการเมือง

อย่างที่เคยชูกันอย่างคึกคัก ไม่ว่าจะภายในพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะภายในพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะภายในพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะภายในพรรคภูมิใจไทย

หรือว่าหน้าตาของ”คนรุ่นใหม่”เหล่านั้นเสมอเป็นเพียงเครื่อง ถนิมพิมพาภรณ์

หรือว่า”คนรุ่นใหม่”มีสภาพเป็นเพียง”น้ำยาบ้วนปาก”

 

ต้องยอมรับว่ากระแสอันเกี่ยวกับ”คนรุ่นใหม่”มีความคึกคักอย่างสูงในห้วงที่พรรคอนาคตใหม่เปิดตัวและเคลื่อนไหว

เริ่มจาก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ตามมาด้วย นายปิยบุตร แสงกนกกุล และตามมาด้วย น.ส. พรรณิการ์ วานิช

จึงได้มีการเปิดตัว”คนรุ่นใหม่”จากพรรคการเมืองอื่น

แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปบทบาทของ”คนรุ่นใหม่”ในแต่ละพรรคการเมืองก็เสมอเป็นเพียงเครื่องประดับ คึกคักเพียงชั่วครู่แล้วก็ค่อยๆสลายหายไป

เพราะว่าคนที่ยึดและกุมอำนาจภายในแต่ละพรรคการเมือง หาได้เป็น”คนรุ่นใหม่”ไม่

ตรงกันข้าม กลับเป็นนักการเมือง”รุ่นเก่า”

นี่คือจุดอันสร้างความแตกต่างระหว่างพรรคอนาคตใหม่กับ พรรคการเมืองอื่น เพราะการนำเป็นของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประสานเข้ากับ นายปิยบุตร แสงกนกกุล

จุดต่างนี้เองทำให้พรรคอนาคตใหม่แจ้งเกิดได้ทางการเมือง

 

แนวโน้มจากความสำเร็จของพรรคอนาคตใหม่จะจุดประกายให้กับคนรุ่นใหม่ในทางการเมือง โดยเฉพาะหากมีการเลือกตั้งอีกครั้งในอีกไม่นาน

ไม่เพียงแต่พรรคอนาคตใหม่จะเดินหน้าต่อไปเท่านั้น

หากมีแนวโน้มและความเป็นไปได้ที่”คนรุ่นใหม่”จะเข้าสู่วงจรการเมืองมากยิ่งขึ้น

ทั้งในพรรคการเมืองเก่า และที่จะจัดตั้งกันใหม่