วิเคราะห์ : จับสัญญาณ-ทิศทาง “ปชป.” “ตะแบง-เบรก” จับมือ พปชร.

เมื่อ “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศเอาไว้ว่า ถ้าหากการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มีจำนวน ส.ส.ต่ำกว่า 100 จะขอลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค

และเมื่อผลคะแนนนิยมออกมาปรากฏว่า ปชป.อยู่ที่อันดับ 4 ด้วยคะแนน 3,947,726 คะแนน เป็นรองพรรคน้องใหม่อย่างพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ที่แซงหน้ามาเป็นอันดับ 3

และยังตามพรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งเป็นอันดับที่ 2 รวมไปถึงพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ครองอันดับ 1 ผลป๊อปปูลาร์โหวตอีกด้วย

พอผลการเลือกตั้งออกมาอย่างไม่เป็นทางการในวันที่ 24 มีนาคม

ค่ำวันนั้น “เดอะมาร์ค” ก็ขอแถลงลาออกจากการดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปชป.ทันที

ทำให้ต้องมีรักษาการหัวหน้าพรรคเข้ามาทำหน้าที่ และเมื่ออดีตหัวหน้าพรรคประกาศลาออก ก็ส่งผลให้คณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคทั้งชุดต้องหมดวาระ กลายเป็น กก.บห.ชุดรักษาการแทน

และภาระหน้าที่ของหัวหน้าพรรค ปชป.ทั้งหมดก็ตกไปอยู่ที่ “อู๊ดด้า” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ทำหน้าที่รักษาการของหัวหน้าพรรคต่อไป

สถานการณ์ภายนอกที่ว่าย่ำแย่ จากพรรคใหญ่มี ส.ส.เกินร้อย แต่กลายสถานภาพเป็นพรรคที่กลายเป็นพรรคที่มีจำนวน ส.ส.พึงมี 50-55 คนเท่านั้น

แค่นี้ยังไม่พอ พื้นที่ที่ผูกขาดฐานเสียง ปชป.มายาวนานอย่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทั้ง 30 เขต พ่ายเรียบทุกเขต ไม่มีใครกลับมาชนะได้เลย

ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่หลายคนมองว่าประชาชนสั่งสอนนักการเมืองอย่าง ปชป.

หากวิเคราะห์ภาพรวมไปถึงเรื่องต่างๆ ตั้งแต่ก่อน 22 พฤษภาคม 2557 ปฏิเสธภาพที่เห็นไม่ได้ว่า “อดีตหัวหน้าพรรค” ร่วมกอดคอเป่านกหวีดกับ “ลุงกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ” ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ต้นตอของการรัฐประหารให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาบริหารประเทศ ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เราทั้งประเทศเฝ้ามองกันมา 5 ปีกว่าๆ

ในปีแรกๆ ยอมรับว่าการเข้ามาของ คสช.อาจทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยก็จริง แต่อยู่ๆ นานวันไป ยิ่งเละเทะ ล้มเหลว ทั้งการที่ไม่มีฝ่ายค้านตรวจสอบในสภา และการใช้อำนาจมาตรา 44 ในเรื่องต่างๆ ตามอำเภอใจ ไหนจะรัฐธรรมนูญที่สามารถออกแบบได้เองอีกด้วย

แม้ว่าในช่วงแรกๆ “เดอะมาร์ค” จะออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงเห็นด้วยที่ คสช.เข้ามาทำให้ประเทศสงบ

แต่อยู่นานวันไปผลงานเริ่มไม่เข้าตา

เริ่มมีการจี้ให้มีการเลือกตั้ง และตรวจสอบผลงานของรัฐบาลนี้มากขึ้น

ปรากฏการณ์แอ๊กชั่นแรกที่เห็นได้ชัดว่าอดีตผู้นำ ปชป.ไม่เอาเผด็จการคือ การประกาศไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับ 2560

แต่ในขณะที่ “ลุงกำนัน” ประกาศสนับสนุน “บิ๊กตู่” และรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ทำให้เห็นความแตกหักของอดีตคนรักทั้งสองที่ได้เริ่มขึ้นแล้ว

จนกระทั่งมาถึงช่วงหาเสียงในการเลือกตั้งของปี 2562 พรรคการเมืองต่างๆ ออกมาแสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าเป็นฝ่าย “ร่วมเผด็จการ” กับ “ไม่เอาเผด็จการ”

ขณะที่พรรค ปชป.ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนว่าจะไปทางไหน ได้แต่พูดว่า “เราคือพรรคทางเลือกอีกทางที่จะเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล”

จนกระทั่งช่วงเลือกตั้งโค้งสุดท้ายมาถึง “เดอะมาร์ค” ได้เผยแพร่คลิป “ฟังชัดๆ นะครับ ผมไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเผด็จการของ คสช.”

สิ่งนี้ทำให้หลายฝ่ายมองว่า หากไม่ร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ ปชป.จะเข้าร่วมสนับสนุนพรรค พท.ที่เป็นระบอบทักษิณ ใช่หรือไม่

วีรกรรมปลุกผีทักษิณเกิดขึ้นทันทีที่อดีตหัวหน้า ปชป.ประกาศไม่เอา “บิ๊กตู่” ทั้งอดีตคนรักอย่างลุงกำนัน หรือแกนนำต่างๆ ของ พปชร.พูดปราศรัยด่าทอต่อว่านายอภิสิทธิ์ ผลักไสให้เลือกข้างไปอยู่ฝั่งทักษิณทันที

ปัจจัยนี้เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้อดีต ส.ส.ปชป.ที่สอบตกหลายๆ คนมองว่า “เป็นเพราะอภิสิทธิ์ออกคลิปไม่เอาบิ๊กตู่ ทำให้คนที่เคยสนับสนุน ปชป.ที่กลัวผีทักษิณเข้าเส้นเลือด หันไปเทคะแนนให้กับ พปชร.หรือพรรคเครือข่าย” ทุกคนต่างเอาแต่โทษอดีตหัวหน้าพรรค

แต่ไม่มีใครส่องกระจกมองตัวเอง หรือมองพฤติกรรมในอดีตที่ผ่านมาของ ปชป.ว่ามีส่วนร่วมอะไรที่ทำให้ประเทศเสียหายบ้าง

อย่างการเกิดรัฐประหารครั้งล่าสุดนี้ ทุกคนก็ลืมย้อนกลับไปมองว่าเป็นต้นตอของความขัดแย้ง

จะเห็นได้จากอดีตแกนนำนกหวีดทุกคนยังอยู่กับพรรคในนาม ปชป. เว้นก็แต่ “สุเทพตระบัดสัตย์” เพียงคนเดียวเท่านั้น

สถานการณ์ของ ปชป.ในตอนนี้มีอยู่สองฝักสองฝ่าย

คือ ฝ่ายที่ต้องการให้พรรคไปเป็นฝ่ายค้านอิสระ คนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ และส่วนใหญ่จะเป็นเด็กในสังกัดของนายหัวชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค

อีกฝ่ายหนึ่งคืออดีตกลุ่มนกหวีดและกลุ่มที่ต้องการจะล้มอภิสิทธิ์ ในการเลือกตั้งหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ในช่วงที่มีการแข่งขันเลือกหัวหน้าพรรคกันระหว่างนายอภิสิทธิ์, นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม, นายอลงกรณ์ พลบุตร นั่นเอง ซึ่งคนกลุ่มนี้ต้องการจะไปร่วมรัฐบาลกับ พปชร.

สถานการณ์ภายนอกคนมองเข้ามายังไม่ให้ค่าพรรคต่ำร้อย แบบว่าจะไปร่วมพรรคไหนฝ่ายไหนก็เรื่องของ ปชป. เพราะเสียงเท่านี้ที่ได้มามันมีค่าคะแนนก็จริง แต่ถ้าสถานการณ์ภายในยังเละเทะต่อกัน คนนอกที่ไหนจะอยากเข้าไปยุ่ง เพราะสถานการณ์ภายในพรรคต่ำร้อยในขณะนี้ทะเลาะกันเองแบบไม่มีใครส่องกระจกดูเงาหัวตัวเองเลย

อีกฝ่ายออกมาตะแบงว่า วงถก ส.ส.อย่างไม่เป็นทางการเห็นด้วยจะไปร่วมกับ พปชร.

ถึงขั้นประกาศกร้าวว่า ถ้า กก.บห.ชุดใหม่มีมติออกมาเป็นฝ่ายค้านอิสระ จะขอแหกกฎไปร่วมกับ พปชร.

ส่วนอีกฝ่ายก็ออกมาเบรกว่าห้ามพูดนั่น พูดนี่ จนกว่าจะได้ กก.บห.ชุดใหม่ว่าจะมีมติอย่างไร

การเป็นฝ่ายค้านอิสระ ถูกคนในพรรคอีกฝ่ายมองว่าจะไปอยู่กับระบอบทักษิณ ระบอบไม่เอาสถาบัน แต่การเป็นฝ่ายค้านอิสระคงไม่ได้ย่ำแย่ขนาดนั้น

เพราะในหลายประเทศก็มีฝ่ายค้านอิสระที่ไม่ได้ร่วมเข้าข้างฝ่ายไหน แต่ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลได้

อยากให้ ปชป.หยุดตะแบงและเบรกกันเสียที แล้วหันมาพิจารณาตัวเองให้ครบครัน ปชป.ควรรีแบรนดิ้งใหม่ได้แล้วในยุคนี้ แม้ทิศทางจะแทบชัดเจนว่า “ไปร่วมรัฐบาลกับ พปชร.แน่นอน” แต่ขอให้มองไปถึงในอนาคต การเลือกตั้งครั้งหน้าที่ยังจะมีคนรุ่นใหม่มีสิทธิ์เข้ามาเลือกตั้งเพิ่มอีก คนเหล่านี้จะมอง ปชป.อย่างไร กูรูหลายท่านฟันธงว่า หาก ปชป.เข้าร่วมรัฐบาลกับ พปชร. เลือกตั้งครั้งหน้าคะแนนจะไม่ใช่แค่ต่ำร้อย แต่จะดิ่งเหวไปถึงต่ำสิบ

ผลประโยชน์ชั่วคราวก็มีได้แค่ชั่วคราว ปชป.เป็นสถาบันการเมืองที่มีมายาวนานที่สุดในประเทศ อย่าให้ต้องมาเสียเพราะคนหัวเก่า หัวตะแบง หรือพวกตาลุกเป็นไฟเมื่อเห็นผลประโยชน์จากอำนาจและเผด็จการ

จริงอยู่ว่าครั้งนี้หากร่วมรัฐบาลกับ พปชร.ก็จะได้ปกครองประเทศในรูปแบบทำนองว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา”

แต่ต้องไม่ลืมว่า “รัฐธรรมนูญฉบับกอลั่มทำพิษ” ที่ชาวเน็ตชอบกล่าวถึงกัน มันไม่ได้ทำให้รัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมีเสถียรภาพเลย

ดังนั้น ในอนาคตหาก ปชป.ตัดสินใจร่วมรัฐบาลกับ พปชร. แต่รัฐบาลนี้กลับอยู่ไม่ถึง 4 ปี แล้วต้องเลือกตั้งใหม่ อาจจะได้เห็นพรรคที่เคยยิ่งใหญ่เป็นพรรคต่ำสิบก็เป็นไปได้