คำ ผกา | ประชาธิปไตยกงเต๊ก

คำ ผกา

เบญญา นันทขว้าง ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมประชาชาติไทย เขียนในเฟซบุ๊กว่า

“คิดหรือว่า

จับปากกาแล้วจะฆ่าเผด็จการได้

ฝันไปเหอะ

เล่นหมากรุกเป็นไหม

ดูเกมสิ เขาวางหมากไว้หมดแล้ว

ส่วนตัวคิดว่า ถ้าฝ่าย ปชต.กงเต๊กชนะเลือกตั้ง

ที่สุดก็จะปฏิวัติอีกรอบ

เอาไหมล่ะ”

ก่อนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ความเห็นของเธอ ก็ต้องว่า การปฏิวัติกับการรัฐประหาร ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

สิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทยครั้งแล้วครั้งเล่านั้นคือ Coup d”etat หรือการรัฐประหาร

คือการที่กองทัพเข้ามายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากประชาชน จากนั้นฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ปกครองประเทศด้วยกฎหมายพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดการลุกฮือ สู้กลับจากประชาชน

จากนั้นร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่โดยคนที่ตัวเองแต่งตั้งขึ้นมา แล้วบริหารประเทศจนคิดว่าสามารถกุมสภาพได้หมดแล้ว จึงยอมให้มีการเลือกตั้ง เพื่อตนเองจะแปลงโฉมจากทหารไปเป็นนักการเมือง ตั้งพรรคการเมืองลงเลือกตั้ง โดยมั่นใจว่ากติกาทั้งหมด “ออกแบบมาเพื่อเรา”

เมื่อชนะการเลือกตั้งก็สามารถยืดอกบอกใครต่อใครได้ว่า เป็นไงล่ะ เราบริหารประเทศเก่ง ประชาชนรัก ตอนนี้ประชาชนเลือกเรามาเป็นผู้นำประเทศอีกรอบ

ฉันเองก็ต้องยอมรับความจริงในข้อที่ว่า ลำพังกำลังและอาวุธของกองทัพคงไม่เพียงพอที่จะทำให้การรัฐประหารสำเร็จ

แต่การรัฐประหารสองครั้งล่าสุดในสังคมไทย ทั้งปี 2549 และ 2557 นั้นมีมวลชนสนับสนุนอย่างเป็นกอบเป็นกำ

ไม่ใช่มวลชนธรรมดา แต่มีทั้งมวลชนที่เป็นชาวบ้าน ชนชั้นกลาง และมวลชนในระดับที่เป็นผู้นำทางความคิด หรือเรียกในภาษาสมัยใหม่ว่าเป็น Influencer ในระดับนำ

ตั้งแต่ชนชั้นอีลิตที่มีประวัติเคยทำคุณงามความดีให้บ้านเมือง

นักหนังสือพิมพ์น้ำดี นักเขียนน้ำดี นักเขียนมือรางวัล ศิลปินระดับชาติ นักวิชาการระดับต้นๆ ของประเทศ ดารา นักร้อง นักธุรกิจระดับชาติ บรรณาธิการนิตยสารชื่อดัง

อันล้วนแต่ทำให้คนที่วิจารณญาณไม่ค่อยทำงาน จะถูกชักจูงให้เชื่อได้โดยง่ายว่า โห…ขนาดคนระดับนั้นเขายังบอกว่ารัฐบาลนี้มันเหี้ย มันโกง มันขายชาติ แสดงว่ามันต้องจริงแน่ๆ

เราไม่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงอะไรหรอก ดูแค่เครดิตคนขึ้นเวทีก็พอแล้ว แต่ละคนมีชาติ มีตระกูล มีการศึกษา แล้วเราเป็นใครจะไม่เชื่อเขา

ไม่เพียงแต่อิทธิพลของ influencer นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2540 เป็นต้นมา ท่ามกลางรัฐธรรมนูญที่เราเชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุด สิ่งที่เบ่งบานมาพร้อมๆ กันคือแนวคิดว่าด้วยหลักธรรมาภิบาล หรือ Good governance หลักการ Good governance ในทางสากล เน้นไปที่ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ พลังของภาคส่วนต่างๆ ของสังคมที่จะถ่วงดุลอำนาจนักการเมืองในสภา

แต่ Good governance เวอร์ชั่นไทยๆ ที่ใส่คำแปลว่า “ธรรมาภิบาล” ถูกลากไปอยู่ในกรอบของเรื่องศีลธรรม ความดี คนดี

สุดท้ายตกผลึกออกมาเป็นเรื่องของการมีองค์กรอิสระต่างๆ พร้อมๆ กับการเกิดตุลาการภิวัฒน์ บนฐานคิดชุดเดียวกันคือ นักการเมืองที่ประชาชนเลือกมาไว้ใจไม่ได้

ดังนั้น จึงต้องมี “คนดี” ที่ไม่เคยกระหายอำนาจ (ดังนั้น จึงไม่เคยคิดอยากลงเลือกตั้งหรือเป็นนักการเมือง) และ “ตุลาการ” ซึ่งดำรงไว้ซึ่งความเที่ยงธรรมสูงสุดมาถ่วงดุลอำนาจของนักการเมืองเหล่านี้

แรกๆ ที่เกิดองค์กรอิสระเหล่านี้ คนไทยโดยเฉพาะคนชั้นกลางก็ยินดีปรีดา ดีใจจะมีองค์กรที่ไม่ผูกติดกับพรรคการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์มาเป็น “ครูฝ่ายปกครอง” คอยกำราบนักการเมืองอีกที

รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ละเมิดสิทธิประชาชนก็แจ้ง กสม., นักการเมืองโกง ก็ยื่น ป.ป.ช., จะเลือกตั้งก็มี กกต. เพื่อไม่ให้พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลอยู่ในช่วงที่มีการเลือกตั้งใช้อำนาจหน้าที่ไปสร้างความเอาเปรียบในการเลือกตั้ง ทำให้พรรคการเมืองอื่นสู้ไม่ได้

ฟังดูก็เหมือนจะดี แต่ผลพลอยได้จากฐานคิดนี้คือการสั่งสมภาพจำกับสังคมว่านักการเมืองตัวเหี้ย ส่วน “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ต่างๆ คือคนดี

ท้ายที่สุด สังคมไทยจดจำไปแล้วว่า เหี้ยที่มาจากการเลือกตั้งต้องมี “ครูฝ่ายปกครอง” ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งคอยคุมประพฤติ

ก่อนปี 2549 ที่เขามาวิเคราะห์กันทีหลังเรื่องรัฐพันลึกอะไรนั่น สุดท้ายมันคือเกมที่ต้องการล้มประชาธิปไตย เพราะการอยู่ภายใต้ประชาธิปไตยที่กินได้เพียง 8-9 ปี ประชาชนคนไทยเกิดฮึกเหิม ได้รับการ empower มีศักดิ์มีศรี มีอันจะกิน เริ่มเสียงดัง และเริ่มมีแววว่าความสำเร็จของพรรคไทยรักไทยจะทำให้พรรคการเมืองอื่นๆ แพ้การเลือกตั้งไปยาวๆ ซึมไปอีกนานๆ กลุ่มอำนาจเก่าและกลุ่มอีลิต ชนชั้นกลางรับไม่ได้

สนธิ ลิ้มทองกุล ปลุกม็อบพันธมิตรฯ ขึ้นมาด้วยการยกประเด็นเรื่องการคอร์รัปชั่นของนักการเมือง เรื่องขายหุ้นเทมาเส็กเท่ากับการขายชาติ แค่นี้เองที่จุดติด เพราะมันมีหัวเชื้อทางอุดมการณ์ที่คนไทยพร้อมจะเชื่อว่านักการเมืองนั้นเหี้ย ฝันถึงการเมือง “สะอาด” (ตกลงจะเปิดร้านซัก-รีดหรือไง มาเน้นความสะอาดขนาดนี้)

เท่านี้เลย ที่นิทานว่าด้วยคนดี 1 คนลงเลือกตั้งทีไรก็แพ้โจรห้าร้อย ทำให้คนไทยจำนวนมากเห็นว่าจำต้อง “หยุด” ระบอบประชาธิปไตยไว้ชั่วคราว เปิดทางให้ทหารเข้ามาทำการรัฐประหาร

คนชั้นกลางเหล่านี้เชื่อ (อย่างไม่น่าเชื่อ) ว่าทหารคือคนดี เขาไม่ได้เข้ามาเพราะกระหายอำนาจ แต่เสียสละเข้ามาแก้ไขประเทศชาติ

ยอมโดนด่า ยอมโดนต่างชาติบอยคอตไม่ต้อนรับ ยอมถูกตราหน้าว่าทำผิดหลักสิทธิมนุษยชน

เขาต้องยอมขนาดนี้เพราะเขารักชาติ รักประชาชน

เดี๋ยวพอสะสาง ล้างบางอะไรเสร็จ เขียนกฎใหม่ เราก็ค่อยกลับไปเลือกตั้ง ทีนี้เอาให้ดีนะ

เลือกแต่คนดีๆ ล่ะ ถ้าเราเลือก “คนดี” เข้าไปทำงานการเมืองมากพอ ก็ไม่ต้องไปรบกวนให้พี่ทหารเหนื่อยมารัฐประหารอีก

แต่ก็นั่นแหละ รัฐประหารไปแล้วรอบหนึ่ง คนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย คนเสื้อแดงตาย เจ็บ ติดคุกไปจำนวนหนึ่ง เลือกตั้งครั้งใหม่ ประชาชนก็ยังเลือกพรรคการเมืองเดิม

ทักษิณไป ยิ่งลักษณ์มา ไม่ใช่เพราะประชาชนโง่ หนักกว่านั้น เมื่อก่อนเขาเลือกไทยรักไทยเพราะบริหารเก่ง ตอนนี้เขาเลือกเพื่อไทยเพราะบริหารเก่งและยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับฝ่ายรัฐประหารและพวก

หนักกว่าเดิมอีก!

แทนที่คนเหล่านั้นจะยอมรับผลการเลือกตั้ง และเฝ้าตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และใช้กระบวนการทางรัฐสภาทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องลงจากอำนาจ

วิธีการเก่าๆ ถูกนำมาใช้อีก นิทานเรื่องนักการเมืองโกงกิน ผลประโยชน์ทับซ้อน แม้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งก็ถูกหาว่าจะเกิดสภาผัวเมีย – เฮ้ย นี่ ปชช.เลือกนะ มาตอนนี้เจอ ส.ว. 250 คนในกระเป๋านี่ อึ้งกิมกี่

หมดยุคสนธิ ก็เป็นกำนันสุเทพ ม็อบนกหวีด ไล่อีคนชั่วเร่ขายชาติ เขายุบสภา เลือกตั้งก็ป่วนจนการเลือกตั้งเป็นโมฆะ

จากนั้นก็สร้างสถานการณ์จนอ้างว่าไม่สงบ

พี่ตะหานต้องลำบากออกมาอีก

ที่ฉันเขียนมายืดยาวนี้ ก็เพื่อจะบอกว่า เหล่านี้คือมหากาพย์ของนิทานเรื่องคนดี 1 คน กับโจรห้าร้อย เล่าซ้ำไปซ้ำมา ร้อยเนื้อทำนองเดียว ย่ำวนอยู่กับที่ไม่ไปไหน

แต่คงลืมไปว่าสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์นั้นคิดได้ เรียนรู้ได้

ผ่านไป 1 ทศวรรษ นิทานเรื่องนี้ไม่ทำงานอีกแล้ว

รัฐบาล คสช.มีทุกอำนาจ สรรพกำลังการพีอาร์ตัวเองอยู่ในมือ แต่คะแนนนิยมไม่มา

กำนันสุเทพเดินคารวะแผ่นดินก็ไม่ปัง เปิดปราศรัยครั้งล่าสุดคนก็โหรงเหรง

เวทีที่เบญญาขึ้นพูดก็ไม่คลาคล่ำด้วยมวลมหาประชาชนเหมือนในอดีต

คนอย่าง โจ นูโว นก สินจัย ดี้ นิติพงษ์ กลายเป็นตัวตลกในสายตาคนรุ่นใหม่

มนต์ขลังของ influencers ยุคพันธมิตรกับยุคนกหวีดคลายไปแล้วอย่างสิ้นเชิง

การสร้างคลิปปลอม ข่าวปลอม การทำผังเครือข่ายเชื่อมโยงคนนั้นคนนี้เข้าด้วยกัน

อย่างล่าสุด เรื่องใครอยู่ข้างหลังธนาธร นี่บอกได้เลยว่าเละเป็นโจ๊ก ใครเห็นใครก็ขำ เพราะพี่เล่นลากโยงกันมาตั้งแต่สำนักข่าวสุดเนิร์ดอย่าง 101 ไปจนถึงเครือเมเจอร์

ฮัลโหล-จิตใจทำด้วยอะไรคะ ถึงได้เชื่อมโยงได้ขายหัวเราะขนาดนี้

กลับไปที่โพสต์ของเบญญา ที่ตอนหลังออกมาแก้เกี้ยวว่า ความหมายที่แท้จริงคือ อยากจะบอกว่า อย่าไปเลือกประชาธิปไตยปลอม (กงเต๊ก) เพราะจะทำให้เราเข้าสู่วงจรอุบาทว์ทางการเมือง เลือกคนชั่วเข้าสภาก็มีปัญหาเดิมแล้วกองทัพก็ทำรัฐประหารอีก

อันนี้เบญญามาโพสต์เพิ่มเติมภายหลัง – แต่ที่โพสต์ไว้อันแรกคือบอกว่า “เขาวางหมากไว้หมดแล้ว”

ซึ่งคนสมองน้อยอย่างฉันก็ตีความได้ว่า หากฝ่ายประชาธิปไตยชนะ (จะกงเต๊กไม่กงเต๊ก ก็ชนะเสียงข้างมากอ่ะค่ะ) จะมีคนไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง

แล้วต้องมีหมากกลอะไรสักอย่าง เช่น สร้างสถานการณ์ความปั่นป่วนวุ่นวาย ไปม็อบ ไปชุมนุม นู่น นั่น นี่

สุดท้ายกองทัพก็มีเหตุผลที่จะเข้ามาทำรัฐประหารให้คุณเบญญาได้ชื่นใจอีก

แต่สิ่งที่คุณเบญญาไม่ได้สำเหนียกคือ สถานการณ์ของวันนี้แตกต่างไปจากเมื่อปี 2549 และปี 2557

วันนี้ผลงาน 5 ปีของ คสช. ทำให้มนต์ของกองทัพในฐานะฮีโร่กอบกู้ชาติให้พ้นภัยนักการเมืองไม่มีความขลังอีกต่อไป คนที่เคยเชื่อก็เหมือนคนห้อยพระหนังเหนียวแล้วก็ยังถูกมีดบาด

เลยตาสว่างว่า เออ…การห้อยพระ กับการฟันไม่เข้า มันไม่มีอะไรเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันนี่หว่า

ตอนนี้ก็เลยเข้าใจแล้วว่า การทำรัฐประหารมันไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการยกระดับคุณภาพนักการเมือง การเป็นประชาธิปไตย

ณ วันนี้ คนเข้าใจแล้วว่า ถ้าพบหนูในบ้าน สิ่งที่ควรทำคือ จับหนู, เลี้ยงแมว, คนในบ้านไม่ทิ้งเศษอาหาร ดูแลรักษาบ้านให้สะอาด ไร้รอยโหว่ รูรั่วที่หนูจะเข้ามาได้ แต่ไม่ใช่การเผาบ้าน

ประชาธิปไตยกงเต๊กนั้นถ้ามีคือ คนที่ไปเป่านกหวีดล้มเลือกตั้ง สนับสนุนรัฐประหารแล้วกลับมาตั้งพรรคการเมือง ลงสมัคร ส.ส. แล้วสนับสนุนคนที่ทำรัฐประหารมาเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วจะมาสวมรอยว่าเป็นนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง อันนี้แหละเรียกว่าประชาธิปไตยกงเต๊ก

ในวันที่คนเขาตาแจ้งกันทั้งบ้านทั้งเมือง ฉันก็ได้แต่เห็นใจคนอย่างเบญญาและพวกที่ยังท่องนิทานเรื่องเดิมๆ นักการเมืองโกงๆๆ เราต้องการคนดี เราต้องการลุงตู่ บวกหม่อมเต่า บวกกำนันสุเทพ

เห็นใจนะ เห็นใจจริงๆ แต่ไม่รู้จะช่วยอย่างไร