คนของโลก : “อันโตนิโอ กูแตร์เรส” ว่าที่เลขาฯ ยูเอ็นคนใหม่

AFP PHOTO / Eduardo Munoz Alvarez

อันโตนิโอ กูแตร์เรส อดีตนายกรัฐมนตรีโปรตุเกส วัย 67 ปี ที่เพิ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) คนใหม่ที่สำนักงานใหญ่ของยูเอ็นในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น

เป็นผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดคนที่ 9 ในองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งมีความมุ่งหมายที่แถลงไว้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ความร่วมมือในกฎหมายระหว่างประเทศ ความมั่นคงระหว่างประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจ กระบวนการทางสังคม สิทธิมนุษยชน และการบรรลุสันติภาพโลก ที่มีอายุ 71 ปีแห่งนี้

กูแตร์เรส อดีตผู้นำรัฐบาลคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งสูงสุดของยูเอ็น จะรับไม้ต่อจาก บัน คี มุน เลขาฯ ยูเอ็นคนปัจจุบันในวันที่ 1 มกราคม 2017

ท่ามกลางสถานการณ์นองเลือดในซีเรีย เยเมน ซูดานใต้ และอีกหลายแห่งทั่วโลก

“องค์การแห่งนี้เป็นเสาหลักและรากฐานสำคัญของความร่วมมือพหุภาคี และนำมาซึ่งสันติภาพเป็นเวลาหลายทศวรรษ แต่ถึงตอนนี้ความท้าทายหลายๆ เรื่องเกินกว่าความสามารถของเราที่จะรับมือได้แล้ว” กูแตร์เรสกล่าวในสุนทรพจน์หลังสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง

และว่า “ยูเอ็นจะต้องพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง”

AFP PHOTO / Eduardo Munoz Alvarez
AFP PHOTO / Eduardo Munoz Alvarez

กูแตร์เรส นักการเมืองแนวคิดสังคมนิยมระบุว่า ยูเอ็น “ต้องยอมรับข้อบกพร่องของตนและปฏิรูปเพื่อให้ทำงานได้” โดยชี้ให้เห็นว่าความล้มเหลวที่จะป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตขึ้นเป็นจุดอ่อนที่ร้ายแรง

กูแตร์เรสที่เคยดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) มาเป็นเวลา 1 ทศวรรษ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2005-เดือนธันวาคม 2015 สาบานตนเข้ารับตำแหน่งในช่วงที่กองทัพซีเรียใกล้จะยึดเมืองอเลปโปคืนจากกลุ่มกบฏต่อต้านรัฐบาลได้ทั้งหมด นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งในสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมายาวนานเกือบ 6 ปี

กูแตร์เรสประกาศว่า “จะเข้าร่วมแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยตนเอง” เป็นการส่งสัญญาณถึงการทำงานเชิงรุกมากกว่า บัน คี มุน ชาวเกาหลีใต้วัย 72 ปี ที่ดำรงตำแหน่งเลขาฯ ยูเอ็นมาแล้ว 2 สมัยเป็นเวลา 10 ปี

การได้รับเลือกให้เป็นเลขาฯ ยูเอ็นของกูแตร์เรสสร้างความตื่นเต้นและเป็นแรงกระตุ้นให้นักการทูตของยูเอ็นที่มองว่าเขาเป็นนักการเมืองที่เก่งกาจ สามารถแก้ปัญหาความแตกแยกที่เกาะกุมยูเอ็นอยู่ในขณะนี้ ที่เห็นได้ชัดคือเรื่องซีเรีย

 

อย่างไรก็ตาม ชัยชนะในการเลือกตั้งอันน่าตกตะลึงของทรัมป์จุดประเด็นให้เกิดคำถามว่า บทบาทของรัฐบาลในกรุงวอชิงตันที่มีต่อโลกและความสัมพันธ์กับยูเอ็นในอนาคต จะเป็นอย่างไร ในฐานะที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินรายใหญ่ที่สุดของยูเอ็น

“ความกลัวเป็นแรงขับเคลื่อนในการตัดสินใจของคนจำนวนมากในโลก” กูแตร์เรสกล่าวโดยอ้างอิงถึงการพุ่งขึ้นมาของลัทธิประชานิยมทั่วโลก และเป็นแรงผลักดันให้ทรัมป์เข้าสู่ทำเนียบขาวได้สำเร็จ

พลเมืองทั่วโลกต่างสูญเสียความเชื่อมั่นในรัฐบาลของตนและในสถาบันระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงยูเอ็นด้วย และกูแตร์เรสบอกว่า ถึงเวลาที่ต้อง “สร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและผู้นำขึ้นมาใหม่”

กูแตร์เรสกำหนดแผนการเปลี่ยนแปลงเร่งด่วน 3 เรื่องในช่วงวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี นั่นคือ การทำงานเพื่อสันติภาพ สนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน และพัฒนาการบริหารจัดการภายในของยูเอ็น

ยูเอ็นถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องระบบการทำงานแบบราชการที่ชักช้าอืดอาด ทำให้ไม่สามารถตอบสนองต่อปัญหาได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ กูแตร์เรสยังประกาศว่าจะผลักดันเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมกันทางเพศในยูเอ็น โดยระบุว่าเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ ในการเลือกผู้หญิงเข้ามาดำรงตำแหน่งอาวุโสในองค์การ

กูแตร์เรสเอาชนะผู้สมัครคนอื่นๆ อีก 12 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง 7 คน ท่ามกลางแรงสนับสนุนผลักดันให้มีการเลือกผู้หญิงขึ้นมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการยูเอ็นเป็นคนแรก

นักการทูตจำนวนมากเชื่อว่า กูแตร์เรสจะเลือก อามีนา โมฮัมหมัด รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของไนจีเรีย ซึ่งเป็นผู้หญิงมาดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสหประชาชาติ นอกจากนี้ กูแตร์เรสยังมีแผนที่จะเลือกผู้หญิงมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ยูเอ็นอีกด้วย

 

กูแตร์เรสจบการศึกษามาทางด้านวิศวกรรม เป็นชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโปรตุเกสตั้งแต่ปี 1995-2002 นำประเทศเข้าสู่การเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) และมีผลงานโดดเด่นในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

การที่กูแตร์เรสเป็นอดีตผู้นำรัฐบาลรายแรกที่ได้มากุมบังเหียนองค์การระหว่างประเทศสำคัญที่สุดของโลกแห่งนี้ ทำให้นักการทูตจำนวนมากเชื่อว่าประสบการณ์ของเขาจะสะท้อนออกมาให้เห็นการบริหารจัดการที่แตกต่างออกไป

เหมือนกับที่ ซาแมนธา พาวเวอร์ ทูตสหรัฐอเมริกาประจำยูเอ็น ยกย่องกูแตร์เรสว่าเป็น

“คนที่ถูกต้องเหมาะสมกับตำแหน่งนี้ในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความท้าทายเช่นนี้”