บทวิเคราะห์ : เมื่อ “แคนาดา” เจอวิกฤตจากภาวะโลกร้อน

“เดอะ การ์เดียน” หนังสือพิมพ์เก่าแก่อายุ 130 ปีของรัฐพรินซ์ เอ็ดเวิร์ด ไอส์แลนด์ ประเทศแคนาดา ทำรายงานเรื่องภาวะโลกร้อนกับผลกระทบทางเศรษฐกิจของแคนาดาฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกเผยแพร่เป็นตอนๆ ผ่านเว็บไซต์

ข้อมูลของเดอะ การ์เดียน บอกให้โลกได้รู้ว่าชาวแคนาเดียนซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับขั้วโลกเหนือกำลังเผชิญกับผลกระทบที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศและมีแนวโน้มว่ากำลังเข้าสู่ขั้นวิกฤต

จึงขอนำมาเรียบเรียงเผยแพร่ต่อ

 

แต่ก่อนอื่นขอบอกเล่าความเป็นมาย่อๆ ของรัฐพรินซ์ เอ็ดเวิร์ด ไอส์แลนด์ หรือพีอีไอ (Prince Edward Island) ซึ่งเป็นหมู่เกาะอยู่ในอ่าวเซนต์ลอว์เรนซ์ ชาร์ล็อตต์ทาวน์เป็นเมืองหลวง

ประชากรบนเกาะพีอีไอทั้งหมดมีอยู่ราว 140,000 คน เศรษฐกิจหลักๆ ปลูกมันฝรั่ง ทำประมงและท่องเที่ยว

คุณภาพชีวิตของชาวเมืองเข้าขั้นดี รายได้เฉลี่ยต่อหัวปีละเกือบ 9 แสนบาท

ภูมิอากาศบนเกาะพรินซ์ เอ็ดเวิร์ด ค่อนข้างแปรปรวนตลอดทั้งวันเพราะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิน้ำทะเลและมวลเย็นจากขั้วโลกเหนือ

ค่าเฉลี่ยระหว่างเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม อยู่ที่ 23 องศาเซลเซียส

หน้าหนาวระหว่างมกราคม กุมภาพันธ์ อากาศเย็นจัด อุณหภูมิในกลางวันติดลบที่ 3.3 c

หิมะตกหนักเฉลี่ยทั้งปี 112 นิ้ว ฝนตกเฉลี่ยทั้งปี 33.7 นิ้ว

 

นักวิทยาศาสตร์แคนาดาตรวจสอบข้อมูลพบว่าตั้งแต่ปี 2491 เป็นต้นมา สภาวะภูมิอากาศชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของแคนาดาเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ

อุณหภูมิเฉลี่ยในแต่ละฤดูกาลเพิ่มขึ้น

หน้าหนาวเพิ่มขึ้น 0.6 c ฤดูใบไม้ผลิ เพิ่มขึ้น 0.8 c ฤดูร้อน 1.3 c และฤดูใบไม้ร่วง 1.1 c

“สภาวะภูมิอากาศฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของแคนาดาเปลี่ยนไปมากเป็นสองเท่าตัวเมื่อเปรียบเทียบกับส่วนอื่นของโลก”

“อัลโดนา เวียเช็ก” ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยเซนต์แมรี่ บอกเดอะ การ์เดียน

การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิมีผลกระทบต่อชายฝั่งทะเล ป่าไม้ ผู้คน และเศรษฐกิจ

ท่าเรือเฟอร์รี่ของฝั่งแอตแลนติกต้องประกาศหยุดเดินเรือข้ามฟากบ่อยครั้งขึ้น เนื่องจากอากาศวิปริต คลื่นลมแรง ฝนตกกระหน่ำอย่างหนักหน่วงราวกับฟ้ารั่ว

แปลงเพาะปลูกของชาวไร่เจอกับศัตรูพืชเพิ่มขึ้นจากอดีต ทั้งยังมีไฟป่าบ่อยครั้ง รุนแรงมากขึ้น

อากาศในตอนกลางคืนที่เคยเย็นๆ กลับอุ่นขึ้นไม่เหมือนก่อน

ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1c ก็จริง แต่บริเวณขั้วโลกเหนืออากาศร้อนขึ้นกว่าส่วนอื่น 2-3 เท่าตัว

 

เวียเช็กบอกว่า ถ้าอุณหภูมิโลกสูงทะลุ 3 c ชาวโลกจะต้องเจอกับมหันตภัยเหมือนอดีตยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้าย ในเวลานั้นอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 5-6 c

เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น 3 c เป็นค่าที่เปรียบเทียบกับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม แผ่นน้ำแข็งในทะเลที่มีอายุเป็นร้อยๆ ปีจะละลายเพิ่มปริมาณน้ำทะเลให้มากขึ้น

อุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงก็ยิ่งเกิดการระเหยของน้ำสู่ชั้นบรรยากาศโลก มีผลต่อสภาวะภูมิอากาศเกิดความแปรปรวนมากขึ้น จะเกิดพายุถล่ม ลมแรง ฝนตกหนัก ปริมาณน้ำฝนมากผิดปกติ

เมืองชายฝั่งของแคนาดา เช่น ฮาลิแฟกซ์ เจอปัญหาน้ำทะเลเอ่อท่วมสูงเนื่องจากคลื่นซัดกระหน่ำรุนแรงหนักกว่าในปัจจุบันและเกิดถี่บ่อยครั้ง

อากาศที่ร้อนจัดๆ จะมีผลต่อพืชไร่ และสัตว์เลี้ยงเกิดอาการช็อก

 

“เดวิด ฟิลิปส์” ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาวะภูมิอากาศชื่อดังของแคนาดาอธิบายถึงค่าเฉลี่ยอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นในแต่ละฤดูกาลว่า แม้ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ผู้คนรู้สึกได้ว่าแตกต่างกับสมัยก่อนๆ

“สมัยคุณย่าคุณปู่มักบอกเราว่า หน้าหนาวอากาศเย็นมาก หิมะตกหนาตกนาน แต่เดี๋ยวนี้หน้าหนาวหดสั้นลง หิมะตกไม่กี่วันก็ละลายเนื่องจากอุณหภูมิสูงขึ้น”

ฟิลิปส์ให้ข้อมูลอีกว่า ช่วง 25 ปีที่ผ่านมา มีเพียงหนึ่งปีเท่านั้นที่อุณหภูมิในแคนาดาเฉลี่ยเย็นนานกว่าปกติ มี 5 ปีที่อุณหภูมิเป็นปกติ แต่อีก 19 ปีอุณหภูมิสูงกว่าเฉลี่ย

ในหน้าร้อน อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ปริมาณน้ำฝนน้อยลง หน้าหนาวมีฝนมากกว่าหิมะตก

อากาศร้อนขึ้น ทำให้เชื้อโรคแพร่ระบาดมากกว่าเดิม เช่น เชื้อไลม์ เชื้อไวรัสเวสต์ไนน์ และประเทศแคนาดาเจอภัยแล้งหนักขึ้น ไฟป่ารุนแรงขึ้น

“เวลานี้เราเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศด้วยกระบวนการปกติ แต่สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นเรื่องปกติอีกต่อไป เพราะความรุนแรงเพิ่มระดับขึ้นเรื่อยๆ”

ฟิลิปส์เตือนว่า ในอนาคตอีกไม่นาน ชาวแคนาเดียนจะเจอกับอุณหภูมิร้อนสุดๆ และคลื่นความร้อนหรือฮีตเวฟจะคร่าชีวิตผู้คนในค่ำคืนเพราะอากาศร้อนจนปรับตัวไม่ได้

 

ฝ่าย “ลูซี่ เคลียร์วอเตอร์” นักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศกับภาคการเกษตร มองในมุมบวกว่า อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นมีผลดีต่อภาคเกษตรของแคนาดา

ถ้าชาวไร่ชาวนาสามารถกักเก็บน้ำได้อย่างพอเพียง เนื่องจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ฤดูหนาวหดสั้นลง ระยะเวลาการเพาะปลูกนานขึ้น ผลผลิตมากขึ้น

“เคลียร์วอเตอร์” ชี้ว่า ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศเหล่านี้จะช่วยให้เกษตรกรฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกปรับตัวรับมือและสร้างผลผลิตผลกำไรต่อไป

เดฟ เฮอร์เบิร์ต ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุทรศาสตร์ ศึกษาระบบนิเวศน์ของมหาสมุทรแอตแลนติกและการเปลี่ยนแปลงของน้ำทะเลในอ่าวเซนต์ลอว์เรนซ์ สรุปข้อมูลที่สำรวจพบตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมาว่า ปี 2553 คุณภาพน้ำทะเลในบริเวณดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งค่าออกซิเจน ค่าความเป็นกรด

ปี 2561 เฮอร์เบิร์ตพบสถิติใหม่ เลวร้ายกว่าปี 2533 เสียอีก เนื่องจากการตรวจวัดอุณหภูมิน้ำทะเลในบริเวณยอร์ช เบซิน ระดับความลึก 200 เมตร สูงถึง 10.5 c

“ปกติแล้วอุณหภูมิในน้ำทะเลความลึก 200 เมตรจะอยู่ที่ 8 c แต่สูงกว่าค่าปกติถึง 2.5 c ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน” นักสมุทรศาสตร์แห่งแคนาดาชี้แจงกับ “เดอะ การ์เดียน”

ข้อมูลของนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของแคนาดาบอกผ่านสื่อนี้ เป็นการสะท้อนความจริงที่ปรากฏและสัมผัสได้