ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 เมษายน 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
ผู้เขียน | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ |
เผยแพร่ |
พลเอกประยุทธ์ยึดอำนาจแล้วตั้งตัวเองเป็นนายกในปี 2557 โดยอ้างว่าทำเพื่อประคับประคองประเทศใน “ระยะเปลี่ยนผ่าน” และประกาศว่า “จะทำตามสัญญา” ในการคืนอำนาจให้ประชาชน ห้าปีที่ผ่านมาจึงเป็นห้าปีที่ประชาชนอดทนเพื่อให้ประเทศกลับสู่ครรลองที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะนิยามครรลองนั้นว่าอย่างไร
เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า คสช.ไม่ได้กระหายอำนาจจนใช้กองทัพยึดอำนาจเพื่อตัวเอง พลเอกประยุทธ์ระบุว่าจะยอมจัดเลือกตั้งทันทีที่ประเทศเข้าสู่ภาวะปกติ และถึงแม้ห้าปีนี้ผู้มีอำนาจจะมีวัตรปฏิบัติที่แสดงถึงการยึดติดอำนาจมากกว่าการคืนอำนาจจริงๆ คนไทยทั้งประเทศก็อดกลั้นเพื่อให้การเลือกตั้งมาถึงโดยดี
ในมุมมองของคนจำนวนมาก การเลือกตั้งคือประตูบานแรกของการเปลี่ยนประเทศจากเผด็จการทหารไปสู่ระบบประชาธิปไตยรัฐสภา ความไม่พอใจพลเอกประยุทธ์, ความประพฤติของรัฐมนตรี, ผลงานทางเศรษฐกิจ ฯลฯ จึงได้รับการข่มกลั้นเพื่อไม่ให้ คสช.มีข้ออ้างในการเบี้ยวเลือกตั้งอย่างที่ทำมาแทบทุกสิ้นปี
มองในแง่นี้ การเลือกตั้งเดือนมีนาคมเป็นการเลือกตั้งที่คนทั้งประเทศมีส่วนร่วมผลักดันให้ คสช.คายอำนาจที่ผูกขาดไว้ครึ่งทศวรรษ เพราะนอกจากคนหลายฝ่ายจะส่งสัญญาณทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผยจน คสช.เห็นว่าโกหกเรื่องคืนอำนาจอีกไม่ได้ การเลือกตั้งยังดำเนินไปโดยสงบกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
ถ้ายอมรับว่าการที่หัวหน้า คสช.ผิดคำพูดที่ให้ผู้นำประเทศต่างๆ เรื่องเลือกตั้งภายในปี 2558, 2559, 2560 และ 2561 คือหลักฐานของการกลืนน้ำลายตัวเองเพราะหวงแหนอำนาจอย่างต่อเนื่อง การเลือกตั้ง 2562 ก็คือชัยชนะของประชาชนในการง้างอำนาจจากอุ้งเท้าของเผด็จการท๊อปบู๊ตที่เหยียบย่ำไว้ห้าปี
อย่างไรก็ดี ทันทีที่หีบเลือกตั้งปิดลง บรรยากาศของประเทศกลับกลายเป็นการถอยหลังกลับไปสู่การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายและการเผชิญหน้าระหว่างคนกลุ่มต่างๆ อีกครั้ง คสช.เริ่มรื้อฟื้นพฤติกรรมคุกคามคนกลุ่มที่ตัวเองเห็นว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม และหน่วยงานรัฐเริ่มหวนกลับไปสู่การไล่จับประชาชนเข้าคุกตะราง
หลังจากมหกรรมแกล้งฟังเสียงประชาชนเพื่อหาเสียงช่วงเลือกตั้งปิดฉากแค่หนึ่งสัปดาห์ ข่าวใหญ่ของประเทศในเดือนเมษายนเป็นข่าวรัฐใช้อำนาจจัดการประชาชนแทบทั้งหมด ตัวอย่างเช่น คสช.ดำเนินคดีหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ข้อหายุยงปลุกปั่น หรือคนหลายกลุ่มโดนตำรวจดำเนินคดีข้อหา “หมิ่น กกต.”
ด้วยการใช้อำนาจลักษณะนี้ ประเทศไทยหลังเลือกตั้ง 2562 เดินหน้าสู่การทำลายโอกาสในการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการทหารสู่ระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และสิ่งที่กำลังก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ คือความเสี่ยงที่การเลือกตั้งจะถูกใช้เป็นเครื่องมือจรรโลงอำนาจเผด็จการ
ถ้าไม่มีใครทำให้กระบวนการบิดเบี้ยวการเลือกตั้งเพื่อผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจยุติลง การเลือกตั้งที่คนจำนวนมากคาดหวังให้ป็นการถ่ายโอนอำนาจแบบประชาธิปไตย (Democratic Transition of Power) ก็จะถูกทำให้เป็นแค่การเปลี่ยนผ่านที่ไม่เป็นประชาธิปไตย (Non-democratic Transition) ของชนชั้นนำดั้งเดิม
ในสังคมประชาธิปไตยหรือเตรียมกลับสู่ประชาธิปไตย หน้าที่ของการเลือกตั้งคือการรวบรวมเสียงประชาชนเพื่อตั้งรัฐบาลที่ตรงกับความต้องการประชาชนมากที่สุด การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมจึงเป็น “โมงยามมหัศจรรย์” ที่ผู้เกี่ยวข้องต้องบริหารให้เสียงนี้นำไปสู่การตั้งอำนาจจริงๆ ไม่ใช่เป็นแค่พิธีกรรม
โดยปกตินั้นคณะกรรมการการเลือกตั้งคือกลไกรวบรวมเสียงประชาชนเพื่อสถาปนาอำนาจการเมืองตามเจตจำนงประชาชน แต่ในสังคมที่การเลือกตั้งถูกครอบงำด้วยการเปลี่ยนผ่านที่ไม่เป็นประชาธิปไตย คณะกรรมการอาจกลายเป็นกลไกที่บิดเบี้ยวไม่ให้เกิดอำนาจการเมืองที่มาจากเสียงประชาชนอย่างเนียนๆ
ตามหลักการนี้ บรรทัดฐานขั้นต่ำของการเลือกตั้งได้แก่การอำนวยให้เกิดอำนาจการเมืองที่ตรงกับผลการลงคะแนนของประชาชนให้มากที่สุด ส่วนเรื่องที่ต้องไม่เกิดขึ้นเลยก็คือการดำเนินกระบวนการต่างๆ จนบิดเบี้ยวไม่ให้เกิดอำนาจการเมืองที่เป็นไปตามการลงคะแนนของประชาชน (Distortion of Voting)
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ที่ประชาชนระแวง กกต.จนมีผู้ลงชื่อถอดถอนเกือบหนึ่งล้าน ส่วน กกต.แจ้งความดำเนินคดีประชาชนจนเกิดข้อหาที่เรียกว่า “หมิ่น กกต.” คือสัญญาณว่าปรากฎการณ์นี้ได้เกิดขึ้นแล้ว และนั่นหมายความว่าการจัดการเลือกตั้งกำลังตกเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองอย่างไม่ควรเป็น
เท่าที่เป็นอยู่ตอนนี้และจะเป็นต่อไปในอนาคต กกต.กำลังถูกสังคมมองว่า “เอียง” หรือ “เข้าข้าง” หรือพูดอีกอย่างก็คือ กกต. อาจทำให้เกิดอำนาจการเมืองที่บิดเบี้ยวจากเจตจำนงของประชาชนเพื่อสร้างการผนึกอำนาจของชนชั้นนำเก่า (Consolidation of Power) ที่ใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรม
พูดตรงๆ ความน่าเชื่อถือของ กกต.ติดลบเพราะมาจากการแต่งตั้งโดย สนช.ภายใต้ คสช.ที่มีหัวหน้าเป็นแคนดิเดทนายกของพรรคพลังประชารัฐ ส่วนเลขาเป็นผู้บัญชาการกองทัพบก ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่าง คสช.-กองทัพ-สนช.-พลังประชารัฐ จึงทำให้ กกต. ถูกมองว่าเป็นพวกชนชั้นนำกลุ่มนี้โดยปริยาย
กกต.ในอุดมคติมาพร้อมกับความคาดหวังของสังคมเรื่องสร้าง “สัญญาประชาคม” ระหว่าง “ประชาชน” กับ “อำนาจการเมือง” แต่กำเนิดของ กกต.ชุดปัจจุบันทำให้ กกต.ดูห่างไกลจากอุดมคตินี้ขึ้นเรื่อยๆ และจะเป็นเช่นนี้ยิ่งขึ้นเมื่อ กกต.วินิจฉัยการผลเลือกตั้งแล้วมีผลต่อการเข้าสู่อำนาจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยตรง
เท่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ ความขัดแย้งเรื่องผลการคำนวณจำนวน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ จะเป็นชนวนให้ กกต.ถูกสังคมมองอย่างไม่ไว้วางใจมากขึ้นแน่ๆ เช่นเดียวกับการให้ใบแดงใบส้มกับว่าที่ ส.ส.พรรคต่างๆ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการเพิ่มโอกาสในการเป็นนายกของบางคน และสกัดโอกาสตั้งรัฐบาลของบางฝ่ายทันที
เฉพาะเรื่องการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ คำแถลงของศูนย์ข้อมูลข่าวสาร กกต.ว่าจะจบแบบที่ “พรรคเล็ก” จำนวนมากได้เข้าสภาฯ แปลว่า กกต.ต้องตอบเรื่องที่แนววินิจฉัยนี้ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ม.91 และพรป.การเลือก ส.ส.มาตรา 128 ซึ่งระบุว่า “ต้องไม่มีพรรคใดได้ ส.ส.เกินกว่าจำนวน ส.ส.พึงมี”
เท่าที่ผ่านมา กกต.พยายามโต้ปัญหานี้โดยชี้แจงว่าวินิจฉัยเรื่องต่างๆ ตามคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ตอนนี้คณะกรรมการร่างฯ ไม่มีสถานะทางกฎหมาย มิหนำซ้ำความเห็นของกรรมการอาจไม่ตรงกับ “เจตนารมณ์” ของรัฐธรรมนูญ วิธีอธิบายแบบจึงไม่ช่วยให้ กกต.พ้นข้อครหาอย่างสิ้นสงสัยได้สมบูรณ์
หนึ่งในข้อเสนอที่มีผู้พูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ คือ กกต.ควรยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าจะคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบให้ “พรรคเล็ก” ซึ่งได้ ส.ส.ตามสัดส่วนคะแนนราว 0.1-0.9 คน ได้เข้าสภาหรือไม่ แต่ก็น่าสงสัยว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่ และจะทำอย่างไรหากคำตอบคือไม่มี
ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่องค์อธิปัตย์ เขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญจึงจำกัดเฉพาะเรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้เสมอ และถึงแม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ม. 210 จะบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาเรื่องหน้าที่และอำนาจองค์กรอิสระได้ ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถก้าวล่วงองค์กรเหล่านี้ได้ทุกกรณี
ถ้าเข้าใจผิดว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ทุกเรื่อง ก็จะเห็นต่อไปว่าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินปัญหาทางรัฐธรรมนูญได้ทุกอย่าง ผลก็คือศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ก้าวล่วงภารกิจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นๆ อย่างไรก็ได้ นั่นเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีสถานะเทียบเท่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญโดยปริยาย
โดยกฎหมายแล้วการวินิจฉัย ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นหน้าที่ของ กกต. การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นการขอความเห็นจากศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องที่จริงๆ เป็นอำนาจ กกต.โดยแท้ ศาลไม่น่าจะมีอำนาจตัดสินใจแทน กกต.ในเวลาที่ กกต.ไม่รู้ว่าจะคำนวณจำนวน ส.ส.อย่างไร อย่างที่มีการยื่นเรื่องในปัจจุบัน
น่าสนใจด้วยว่าเงื่อนไขในการเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นควรเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ซึ่งได้เกิดขึ้นจริงแล้วหรือไม่ และถ้าคำตอบคือใช่ โอกาสที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตีตกคำร้องของ กกต.ก็มีมากขึ้นไปอีกทันที
โดยหลักการแล้ว กกต.ต้องวินิจฉัยเรื่องต่างๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติอย่างเคร่งครัด แต่ในสถานการณ์ที่คำวินิจฉัยของ กกต.มีผลต่อการตั้งรัฐบาลซึ่งฝ่ายแพ้เพยายามทำให้ฝ่ายชนะเลือกตั้งรวมเสียง ส.ส.ได้ไม่ถึงครึ่งสภา คำวินิจฉัยที่มีช่องว่างย่อมเปิดทางให้คนโจมตีว่า กกต. “เอียง” หรือ “เข้าข้าง” อย่างแน่นอน
ต่อให้ กกต.ยังไม่ได้ให้ใบส้มใบเหลืองกับพรรคใดเลย เงื่อนไขพื้นฐานของการจัดการเลือกตั้งล้วนทำให้ กกต.เผชิญหน้ากับผู้ลงคะแนนอย่างที่สุด กกต.อาจทำให้ “เสียงประชาชน” ไม่นำไปสู่ “อำนาจการเมือง” เลยก็ได้ และถ้าเป็นแบบนี้ กกต.อาจเป็นอุปสรรคต่อการเกิดรัฐบาลจาก “สัญญาประชาคม” ของประชาชน
คนไทยทั้งประเทศคาดหวังว่าการเลือกตั้งปี 2562 เป็นบันไดขั้นแรกในการเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย และในเมื่อกกต.เป็นแกนกลางในภารกิจทางประวัติศาสตร์ข้อนี้ งานของกกต.จึงไม่ใช่แค่จัดเลือกตั้งสำเร็จ แต่ต้องทำให้การเลือกตั้งเป็นการเปลี่ยนผ่านอำนาจแบบประชาธิปไตยสู่ประชาชน
การทำงานที่โปร่งใสเท่านั้นที่จะทำให้ประชาชนเชื่อถือการทำงานของ กกต.ได้ และการไล่ดำเนินคดีกับประชาชนที่เพียงแค่สงสัยการทำงานของ กกต.มีแต่จะเพิ่มความระแวงว่า กกต.ทำงานตามใบสั่งของผู้มีอำนาจที่ใช้บัตรลงคะแนนเพื่อจรรโลงการสืบทอดอำนาจแบบปฏิปักษ์ประชาธิปไตยของนายใหญ่ไม่กี่คน