ศิลปากร-รวมใจถวายพ่อหลวง (2) ครั้งประวัติศาสตร์ไม่เคยปรากฏมาก่อน

เป็นการรวมตัวกันครั้งยิ่งใหญ่ สำหรับชาวจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน อาจเรียกได้ว่าตั้งแต่ก่อตั้งมา ซึ่งนับเวลาได้ถึง 70 กว่าปี

ได้เคยกล่าวไว้บ่อยครั้งแล้วว่า นักศึกษาจากคณะวิชานี้มีจำนวนไม่มาก ถึงแม้จำนวนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อศึกษาเล่าเรียนจนจบก็มักละลายหายไปกับสังคมอันกว้างใหญ่ไพศาลของประเทศ

เหลือปรากฏเคลื่อนไหวใช้ชีวิตในการประกอบอาชีพเป็น ศิลปินอิสระ อยู่จำนวนแทบนับเป็นรายตัวได้ ซึ่งศิลปินในส่วนที่กล่าวนั้นต่างก็ดำเนินชีวิตไปอย่างเรียบง่าย

มีเพียงจำนวนน้อยนิดที่สร้างชื่อเสียงโด่งดังในสังคมด้วยบุคลิกเฉพาะตัวซึ่งก็ต้องยอมรับว่าสามารถสร้างชื่อเสียงให้คณะจิตรกรรมฯ ให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง รวมทั้งเป็นคณะวิชายอดนิยมสำหรับเยาวชนรุ่นหลังซึ่งมีอุปนิสัยรักชอบศิลปะ ได้ตัดสินใจเลือกอนาคตของตนเองด้วยการก้าวเข้าสู่การเริ่มต้นที่นี่

แม้คณะจิตรกรรมฯ จะพยายามขยายการเรียนการสอนให้มากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังไม่พอรองรับกับความต้องการของนักเรียน คนรุ่นใหม่ที่ต้องการจะได้เข้าศึกษาต่อในคณะวิชาแห่งนี้

คณะจิตรกรรมฯ ถึงแม้จะก่อตั้งมากว่า 70 ปี แต่บัณฑิตที่ได้ศึกษาจบออกไปจากสถานที่แห่งนี้มีจำนวนไม่มากดังกล่าว

ขณะเดียวกันหลังจากที่ได้เดินผ่านจากสถานศึกษาแห่งนี้ออกไปแล้วดูเหมือนว่าไม่มีสถานที่พบปะรวมตัวกันเหมือนอย่างคณะวิชาต่างๆ ของมหาวิทยาลัยอื่นๆ

จะมีโอกาสได้พบปะเจอะเจอสังสรรค์กันบ้างเพียงปีละครั้งในวันที่ 15 กันยายนของทุกปี ซึ่งเป็นคล้ายวันเกิดของท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (Prof.Corrodo Feroci) เท่านั้น

สมาคมนักศึกษาเก่า คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ เพิ่งก่อตั้งได้สำเร็จประมาณเกือบ 6 ปีเต็ม โดยมีการเลือกตั้งคณะกรรมการ นายกสมาคม มาแล้ว 2 ชุด ได้กำหนดการบริหารงานเทอมละ 3 ปี ซึ่งก็ได้ผ่านพ้นไป 1 เทอมแล้ว ขณะนี้อยู่ในชุดที่ 2 ซึ่งก็ใกล้จะหมดเวลาเต็มที

ขณะที่ศิษย์เก่าทั้งหลายยังไม่ค่อยรู้จัก และสมัครเข้าเป็นสมาชิกกันสักเท่าไร?

rgergee3g

คณะกรรมการสมาคมนักศึกษาเก่า กำลังจะผ่านพ้นเป็นชุดที่ 2 แต่ยังไม่มีการจัดงาน พบปะสังสรรค์ “นักศึกษาเก่าคณะจิตรกรรม” เหมือนเช่นคณะอื่นๆ เขาได้ทำมาแล้ว สักครั้ง

ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าการรวมตัวกันสำหรับศิษย์เก่าอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเป็นทางการ คงจะยังไม่เกิดขึ้น อาจต้องรอคณะกรรมการสมาคมนักศึกษาเก่า ในชุดต่อไป ว่าจะมีนโยบายอย่างไร?

แต่ถ้าจะว่าไป คณะกรรมการสมาคมนักศึกษาเก่าชุดปัจจุบัน ก็มีผลงานปรากฏพอสมควร

ตั้งแต่เสียสละเวลารวมตัวกันเข้ามารับทำงานเพื่อส่วนรวม เริ่มตั้งแต่ให้การสนับสนุนการจัดงานแสดงผลงานศิลปะของพี่เก่าที่เห็นว่าเหมาะสมในการดึงดูดเชื้อเชิญศิษย์เก่าทั้งหลายให้ได้มาพบปะรวมตัวกันซึ่งย่อมเป็นสิ่งที่ก่อเกิดประโยชน์ไม่มากก็น้อย

ขณะเดียวกันก็ขยายแวดวงในการออกค้นหาเยี่ยมเยียนศิษย์เก่า ครูบาอาจารย์ ตลอดจนแสดงความรู้สึกในการจากไปแบบไม่มีวันกลับของชาวคณะดังกล่าว

ผลงานอีกชิ้นหนึ่งเป็นการร่วมกับคณะจิตรกรรมฯ สมาคมนักศึกษาเก่าคณะต่างๆ สมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร จัดงานวัน “ศิลป์ พีระศรี” ขึ้นในบริเวณคณะจิตรกรรมฯ ลานอนุสาวรีย์ หน้าห้องทำงานของ ศาตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เพื่อให้ศิษย์เก่าทั้งหลายได้มาแสดงความรักความคิดถึงอาจารย์ และได้พบปะสังสรรค์กันในบรรยากาศเดิมๆ ของชาวศิลปากร

ในขณะที่มหาวิทยาลัยไม่ได้มีการจัดงานขึ้น ณ วังท่าพระ โดยเปลี่ยนไปจัดงานเสียยังมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เนื่องจากกำลังรื้อถอน ก่อสร้างอาคารของมหาวิทยาลัย วังท่าพระ กรุงเทพฯ ครั้งใหญ่

 

ผลงานของสมาคมนักศึกษาเก่าคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ครั้งสำคัญ ซึ่งเป็นการร่วมมือกันอย่างรวดเร็วฉับไว กับคณะจิตรกรรมฯ คงหนีไม่พ้น “โครงการแสดงความจงรักภักดี ถวายความอาลัย” ในการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

เฉกเช่นเดียวกันกับพสกนิกรทั่วทั้งแผ่นดิน ซึ่งต่างก็โศกเศร้าเศร้าเสียใจ และพร้อมใจกันแสดงความจงรักภักดี ถวายความอาลัย ในรูปแบบต่างๆ

คณะจิตรกรรมฯ ก็อย่างที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า เป็นคณะวิชาที่มีการเรียนการสอนวิชาศิลปะ ทั้งเขียนภาพ ปั้น และภาพพิมพ์ เรียกว่า “สร้างสรรค์งานศิลปะ” เพราะฉะนั้น ความถนัดของนักศึกษาปัจจุบัน และบรรดาศิษย์เก่าทั้งหลายก็ต้องออกมาในรูปของ “งานศิลปะ”

สมาคมนักศึกษาเก่าคณะจิตรกรรมฯ ซึ่ง” มนัส คงรอด” เป็นนายก ได้จับมือกันอย่างแข็งขันกับคณะจิตรกรรมฯ ซึ่ง “อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ” ดำรงตำแหน่งคณบดี ได้เร่งประชาสัมพันธ์เพื่อระดมสรรพกำลังทุกด้าน

เริ่มต้นตั้งแต่นักศึกษาปัจจุบัน และศิษย์เก่าทั้งหลาย ทั้งที่เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง เป็น “ศิลปินแห่งชาติ” อาจารย์สอนศิลปะ ทั้งที่มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันสอนศิลปะต่างๆ ทั่วประเทศ ตลอดทั้งศิษย์เก่าผู้ที่ก้าวเดินออกไปจากคณะวิชานี้ก็ล้วนแล้วแต่มีความสามารถพอในการสร้างงานศิลปะด้วยกันทั้งนั้น มาร่วมมือร่วมใจกันสร้างงานศิลปะในหัวข้อ “ในหลวงของประชาชน” เพื่อเป็นการถวายความอาลัย เป็นการ “ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย”

การเรียกระดมคนจำนวนมากๆ มาทำงานร่วมกัน การสร้างแรงจูงใจมิได้จำกัดอยู่พียงแค่คณะจิตรกรรมฯ เท่านั้น ผู้ที่รับผิดชอบงานใหญ่อย่างนี้จำเป็นต้องวางโครงงานให้รัดกุมเหมาะสม เพราะฉะนั้น ทุกคณะวิชาจึงเข้าร่วมงานจากการประสานของ “คณะจิตรกรรมฯ+สมาคมนักศึกษาเก่าคณะจิตรกรรมฯ”

งานจึงเกิดขึ้น มีทั้งการแสดงดนตรีของวงออร์เคสตราจากคณะดุริยางคศาสตร์ พร้อมกับการเขียนรูปสดๆ ของ “ศิลปินแห่งชาติ” และการแสดง การปั้นรูป และวาดภาพขนาดใหญ่ (2.40 x 2.40 เมตร) จำนวนถึง 30 ภาพ รวมทั้งความร่วมมือจากทุกคณะวิชาของมหาวิทยาลัยศิลปากร

การแสดงความจงรักภักดี แสดงความอาลัยต่อ “พ่อของแผ่นดิน” โดยการร่วมกันสร้างงานศิลปะขนาดใหญ่จำนวนถึง 89 ภาพ รวมทั้งงานประติมากรรมอีกจำนวนกว่า 10 ชิ้น ย่อมต้องมีนักศึกษาปัจจุบัน ศิลปิน ศิษย์เก่ามารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งเดินทางมาจากทั่วประเทศเพื่อร่วมกันแสดงความรู้สึกบนงานศิลปะตามความถนัด ย่อมขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของสมาคมนักศึกษาคณะจิตรกรรมฯ+คณะจิตรกรรมฯ

 

วันที่เขียนต้นฉบับจนกระทั่งนิตยสารฉบับนี้ปรากฏต่อท่านผู้อ่าน ผลงานศิลปะทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ได้เสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยแล้วทั้งหมด เป็นงานจิตรกรรมจำนวน 89 ชิ้น และงานประติมากรรมอีกกว่า 10 ชิ้น ซึ่งทางสมาคม+คณะจิตรกรรมฯ ผู้รับผิดชอบได้ติดตั้งไว้รอบลานอนุสาวรีย์ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บริเวณคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมผลงานศิลปะซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี และถวายความอาลัยแด่ “พ่อหลวง” ของพสกนิกรชาวไทย ได้ทุกวันจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายไปยังสถานที่อันเหมาะสม

ซึ่งเชื่อว่าผลงานจากการร่วมมือร่วมใจของชาว “จิตรกรรม ศิลปากร” ครั้งนี้ จะได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ และได้รับการเผยแพร่สู่สายตาชาวไทยทั่วประเทศ จนถึงชาวโลกได้ชื่นชม

นักศึกษาปัจจุบัน อาจารย์ผู้สอนศิลปะ นักศึกษาเก่าเกือบทุกรุ่น ศิลปิน ศิลปินแห่งชาติ จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ได้มารวมตัวกันเพื่อถ่ายทอดความอาลัยด้วยความจงรักภักดีครั้งนี้มากเป็นประวัติการณ์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ผลงานจากความรู้สึกอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้จะสำเร็จอย่างสมบูรณ์แบบไม่ได้เลยถ้าหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากท่านทั้งหลาย บริษัทเอกชน ห้างร้าน ผู้จำหน่ายสี พู่กัน อุปกรณ์ในการสร้างงานศิลปะ เพราะศิลปินต้องใช้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าท่านเหล่านั้นได้ “ร่วมสมทบทุนมาด้วยหัวใจดวงเดียวกัน” คือ เพื่อเป็นการ “ถวายความอาลัยและความจงรักภักดี”

ย่อมจะละเลยไม่กล่าวถึง กล่าวคำขอบคุณไม่ได้ ซึ่งจะขอเก็บไว้ในโอกาสต่อไป