“ทับ-ท้อง-แท้ง” ในวรรณคดี ที่สะท้อนว่า ในสมัยโบราณมีการ “ทำแท้งโดยเจตนา” ?

ญาดา อารัมภีร

ขบวนการสาม ท

“ทับ-ท้อง-แท้ง” เป็นขบวนการความรักความใคร่ที่ส่งผลต่อกัน ถ้าไม่มี ท หนึ่ง ก็ไม่มี ท สอง ท สาม โดยเฉพาะ ท หนึ่งกับสองนั้น ถ้าเกิดในสมัยที่ความรู้ด้านคุมกำเนิดยังเป็นศูนย์ ก็จะเป็นอย่างที่สุนทรภู่เล่าถึงสาวที่เคยคุ้นกันไว้ใน นิราศเมืองเพชร ว่า

“แค้นแต่ขำกรรมอะไรไฉนน้อง เฝ้าท้องท้องทุกทุกปีไม่มีเหมือน

ช่างกระไรใจจิตไม่บิดเบือน จะไปเยือนเล่าก็รู้ว่าอยู่ไฟ”

ใครจะนึกบ้างว่าแม้แต่เรื่องส่วนตั๊วส่วนตัวของผู้หญิงอย่างการแท้งลูก วรรณคดีก็มีบันทึกไว้ ล้วนแต่เป็น “การทำแท้งโดยเจตนา” ทั้งเจตนาของเจ้าตัวเองและเจตนาของคนอื่น แล้วก็มีมานานเสียด้วย ตั้งแต่สมัยสุโขทัยไกลโพ้น

วรรณคดีเรื่อง ไตรภูมิพระร่วง พระราชนิพนธ์พระมหาธรรมราชาที่ 1 พญาลิไทย เล่าถึง “เปรตกินลูก” ไว้ตอนหนึ่ง (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

“…เปรตฝูงผู้หญิงจำพวกหนึ่งเทียรย่อมเปลือยอยู่ แลมีตนอันเหม็นนักหนาทั่วสารพางค์แล มีแมลงวันตอมอยู่เจาะกินตนเขามากนัก แลตนเขานั้นผอมนักหนา หาเนื้อบ่มิได้เลยสักหยาด เท่าว่ามีแต่เอ็นแลหนังพอกกระดูกอยู่ไส้ เปรตเหล่านี้อดหยากนักหนา หาสิ่งอันจะกินบ่มิได้เลยสักหยาด แลเมื่อเขาจะคลอดลูกแลลูกเขานั้นได้แลเจ็ด แลเจ็ดตน เขาหากกินเนื้อลูกเขานั้นเอง เขาก็บ่มิอิ่มโสด เมื่อเขาคลอดลูกเขาได้แลเจ็ดตนโสด เขาหากกินลูกเขาเองก็บ่มิรู้อิ่มโสด แลเขากินเนื้อลูกเขานั้น เพราะว่าเขาอยากนักหนาอดบ่มิได้เลย…”

นี่คือเปรตเปลือยกายล่อนจ้อนอดอยากผอมกะหร่องเหมือนโครงกระดูกเดินได้ ทั้งยังตัวเหม็นร้ายกาจ มีกองทัพแมลงวันตอมทั่วตัวโดดเด่นเห็นแต่ไกล

ที่ผอมจนปูดโปนทุกเส้นเอ็นก็เพราะไม่มีอะไรกิน เลยต้องกินลูกที่ตัวเองคลอดออกมานั่นแหละเป็นเมนูประจำซ้ำซาก

แย่ตรงที่กินเท่าไหร่ก็ไม่อิ่มสักที ชีวิตในดินแดนเปรตจึงมิใช่ “กินเพื่ออยู่” แต่ “อยู่เพื่อกิน” แต่ละวันๆ ไม่ได้กินลูกแค่ 7 คนเท่านั้น แต่กินถึง 14 คน ช่างกินจุเหลือหลาย ดังที่วรรณคดีเรื่องนี้บรรยายว่า

“…เขาก็อยู่เปลือย แลมีแมลงวันตอมตนเขา เขาผอมหาเนื้อบ่มิได้แล ย่อมจิกเนื้อลูกตนกินเองทุกวันเสมอ วันแล 14 ตน…”

อ้าว! ออกลูกมาแค่ 7 คน ทำไมถึงกินเข้าไปตั้ง 14 คน ก็เพราะว่าออกลูก 2 รอบ เช้ารอบ เย็นรอบ เลยกิน 2 รอบ

การที่เปรตผู้หญิงฝูงนี้ต้องมามีสภาพเป็น “โรงงานผลิตลูก” ประเภทพิเศษสุด ผลิตเองบริโภคเองนั้น

เป็นผลมาจากการกระทำของตัวเองตอนเป็นมนุษย์

“…เปรตฝูงนี้เมื่อเขาเป็นคนอยู่นั้น เขาให้ยาแก่ผู้หญิงอันมีท้องนั้นกินแล ให้ลูกเขาตกจากคัพภะแล้ว แล้วเขาทนสบถว่าฉันนี้ ผิว่ากูให้ยากินแลให้ลูกคนตกไส้ แลให้กูเป็นเปรตมีเนื้อตัวอันเหม็นแลมีแมลงวันอยู่เจาะตอมกูกินทุกเมื่อแล ให้กูคลอดลูกกูเมื่อเช้าเจ็ดตน เมื่อเย็นเจ็ดตนทุกวัน แลให้กูกินเนื้อลูกกูเองทุกวัน จงอย่ารู้สิ้นสักคาบเลย…”

คำว่า “ทำแท้ง” แม้ยังไม่มีใช้ในสมัยสุโขทัย แต่คำอธิบายที่ให้ไว้ก็ชัดเจนว่าความหมายเดียวกัน เกิดเป็นเปรตก็เพราะเอายาขับทารกให้ผู้หญิงท้องกินนั่นเอง

สังเกตไหมไตรภูมิพระร่วงใช้คำว่า “เปรตผู้หญิงฝูงนี้” แสดงว่าอาจจะมีแต่ผู้หญิงกระมังที่รับหน้าที่ทำแท้ง แล้วไม่ได้มีแค่คนสองคน แต่มีเป็น “ฝูง” ก็ชวนให้คิดว่าสังคมสมัยสุโขทัยน่าจะมีขบวนการสาม ท ทับ-ท้อง-แท้ง อยู่ไม่น้อย เพราะผู้ให้บริการทำแท้งมีเป็นจำนวนมาก

เรื่องของ “ขบวนการสาม ท” และ “เปรตกินลูก” ใช่จะมีอยู่แค่สมัยสุโขทัย แม้ห่างกันหลายร้อยปีก็ยังมีในสมัยรัตนโกสินทร์ เพียงแต่เปลี่ยนตัว “เปรต” จากคนทำแท้งทั่วไปมาเป็นคนทำแท้งที่มีเอี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง นั่นคือ เมียหลวงหึงโหดเล่นงานเมียน้อยด้วยยาทำแท้ง ดังที่พระยาธรรมปรีชา (แก้ว) กวีสมัยรัชกาลที่ 1 เล่าถึงรูปพรรณสัณฐานของเมียหลวงที่กลายเป็นเปรตไว้ในวรรณคดีเรื่อง ไตรภูมิโลกวินิจฉัย ว่า

“…ยังหญิงเปรตผู้หนึ่งนั้นเล่าก็แสนเวทนา มีรูปพรรณสัณฐานนั้นชั่ว กายนั้นเปลือย แมลงวันตอมอยู่กลุ้มตัว หญิงเปรตนั้นคลอดบุตรเพลาเช้า 7 คน เพลาเย็น 7 คน สุดแท้แต่คลอด แล้วก็กินลูกของตนเสียจนหมดจนสิ้น…”

วรรณคดีเรื่องนี้เขียนเป็นเชิง “ปุจฉา” (ถาม) และ “วิสัชนา” (เฉลยหรือชี้แจง) ถึงเหตุและผลของการมาเกิดเป็นเปรตว่า

“…กินบุตรของตนมื้อละ 7 คนๆ แล้วก็ไม่อิ่มไม่หนำ อาศัยกรรมอันใด? วิสัชนาว่าหญิงเปรตผู้นี้ แต่ชาติก่อนเป็นภรรยาแห่งอุบาสก เป็นเมียหลวงริษยาเมียน้อย ประกอบยาแท้งลูกให้เมียน้อยกิน ครั้นสามีแลญาติแห่งสามีนั้นไถ่ถามก็กล่าวคำมุสาสบถว่าถ้าข้าพเจ้ากระทำชั่วดังนั้นก็ขอให้ข้าพเจ้าเกิดเป็นเปรตกินเนื้อลูกแห่งตนมื้อละ 7 คนๆ เถิด อาศัยกรรมที่ตนได้กระทำสบถไว้ฉะนี้ข้อหนึ่ง กับกรรมที่ประกอบยาแท้งลูกให้เมียน้อยกินนั้นเข้าเป็นสอง ประชุมกันให้ผล จึงมาทนทุกขเวทนาฉะนี้…”

สาเหตุของการทำแท้งที่บันทึกไว้ในวรรณคดีต่างสมัย มิใช่เกิดจาก “หมอเถื่อนทำแท้ง” อย่างในไตรภูมิพระร่วง หรือเกิดจาก “ความอิจฉาริษยาภายในครอบครัว” ที่ผู้ชายมีหลายเมีย บริหารจัดการความรักได้ไม่ทั่วถึงอย่างในไตรภูมิโลกวินิจฉัยเท่านั้น แต่ยังเกิดจาก “พฤติกรรมสาวรอบจัดสมัยรัตนโกสินทร์” ที่บันทึกไว้ในเรื่อง สุภาษิตสอนหญิง อีกด้วย (วรรณคดีเรื่องนี้ยังตกลงกันไม่ได้ว่าเป็นผลงานของสุนทรภู่ หรือของกวีใดในสมัยเดียวกัน)

สาวที่ว่า “รุกไม่ถอย” ด้วยสารพัดวิธี สาวใดอ่านออกเขียนได้ก็เขียนเพลงยาว(จดหมายรัก)ส่งไปถึงหนุ่ม ถ้าอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ก็อุตส่าห์ไหว้วานคนอื่นเขียนแทน บางคนก็สรรหาข้าวของฝากไปให้หนุ่มเพื่อสื่อความในใจ พอหนุ่มรับไมตรีก็

“ชวนกันเดินหลีกออกนอกสนาม

ทำดื้อด้านหาญหักไม่รักงาม จนเลยลามลืมบ้านสถานตน”

เป็นอันว่าทำตามใจปรารถนา ลักลอบได้เสียกับชายคนรักโดยพ่อแม่ไม่รู้

เมื่อทับแล้วท้อง การทำแท้งก็ตามมา สุภาษิตสอนหญิง เล่าถึงยาทำแท้งที่มีส่วนผสมของตัวยาปนสุรากับพริกไทยไว้ว่า

“ชนิดนางอย่างนี้มีชุมนัก เป็นโรครักเกิดมารศีรษะขน

ต้องกินยาเข้าสุราพริกไทยปน หมายประจญจะให้ดับที่อับอาย”

“มารศีรษะขน” ก็คือ “มารหัวขน” หมายถึงลูกที่พ่อแม่ไม่ต้องการให้เกิด เพราะเป็นหลักฐานประจานการกระทำให้อับอายขายหน้า ในกรณีที่ทำแท้งไม่สำเร็จ “ทำอย่างไรมันก็ไม่มรณา เป็นเวราบาปนั้นไม่บรรเทา”

พ่อแม่ฝ่ายหญิงก็แก้ปัญหาด้วยวิธีย้อมแมวขายให้ลูกสาวแต่งงานไปกับชายผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ก่อนที่แม่ตัวดีจะ “โทต๊อง” ออกมาจนใครๆ สังเกตได้

“เอาลูกไปมุ่นหมกยกให้เขา

แล้วหาผัวตัวประจำเป็นสำเนา พอปัดเป่าความอายให้หายแคลง”

วรรณคดีจึงมิได้มีขึ้นเพื่อให้ความรื่นรมย์แก่ผู้แต่งและผู้อ่านเท่านั้น แต่ยังเป็นเสมือนบันทึกของสังคมเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของผู้คน โดยเฉพาะวรรณคดีสามเรื่องข้างต้นทำหน้าที่เป็นสื่อถ่ายทอดปฏิกิริยาของสังคมว่าไม่เห็นด้วยกับการทำแท้งไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำก็ตาม