ทำไมนางในวรรณคดีส่วนใหญ่ถึงมีผิวเหลือง ?

ญาดา อารัมภีร
หมายเหตุดัดแปลงภาพจากผนังวัดเสมียน

สมุนไพรยอดนิยม

สมัยยังเด็ก อ่านหนังสือวรรณคดีแล้วก็สงสัยตงิดๆ ว่า ทำไมนางในวรรณคดีส่วนใหญ่ถึงมีผิวเหลือง

ที่รู้ว่าเหลืองก็เพราะกวีชอบเอาดวงจันทร์ ทองคำ ดอกไม้ที่มีสีเหลืองอย่างจำปา และการะเกดมาเปรียบเทียบกับผิวนาง

บางทีมีผลไม้ด้วย รัชกาลที่ 2 ทรงชมพระฉวีหรือผิวของพระมเหสีไว้ใน กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน บทชมผลไม้ ดังนี้

“ทุเรียนเจียนตองปู เนื้อดีดูเหลืองเรืองพราย

เหมือนสีฉวีกาย สายสวาทพี่ที่คู่คิด”

เมื่อโตขึ้น อ่านวรรณคดีมากขึ้นก็ถึงบางอ้อว่า คนไทยสมัยก่อนมีรสนิยมเรื่องผิวพรรณต่างกับสมัยนี้

สมัยก่อนผิวงามต้องเหลืองผุดผ่องเป็นยองใย

จริงๆ แล้วผิวพรรณปกติของคนที่สุขภาพดี (ไม่เป็นโรคดีซ่าน ตัวเหลืองตาเหลือง) ก็แค่ขาวเหลืองเท่านั้น ไม่ถึงกับเหลืองลออ

ถ้าต้องการให้ผิวเหลืองขนาดนั้นก็ต้องอาศัย “ตัวช่วย” คือ “ขมิ้นชัน” ที่มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เนื้อในเหง้าสีเหลืองเข้มถึงสีแสดจัด เป็นสมุนไพรยอดนิยมคู่บ้านคู่ครัวคู่วิถีชีวิตไทยในอดีต ใช้ได้ทุกเพศทุกวัยตั้งแต่เกิดจนตายเสียด้วย

ที่สำคัญก็คือ ไม่ต้องซื้อหามาจากไหน เพราะปลูกไว้ตามบ้านอยู่แล้ว

ตอนที่พลายแก้วหรือขุนแผนเกิด ญาติๆ ก็นำทารกน้อยไปอาบน้ำทำความสะอาดให้หมดเลือดเมือกคาว จากนั้นก็ทาขมิ้นให้จนเหลืองนวลไปทั้งตัว

ดังที่วรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน บรรยายว่า

“พี่ป้าน้าอามาดูแล ล้างแช่แล้วก็ส่งให้แม่นม

ทาขมิ้นแล้วใส่กระด้งร่อน ใส่เบาะให้นอนเอาผ้าห่ม”

กรณีนางพิมพิลาไลยก็ไม่ต่างกัน

“นอนหงายตะกายร้องวาวา เป็นหญิงโสภาน่าเอ็นดู

อาบน้ำแล้วซ้ำทาขมิ้น เอานมให้กินแล้วใส่อู่”

ที่เอาขมิ้นทาให้ทารกแรกเกิดนั้น เพื่อใช้เป็นยาฆ่าเชื้อและรักษาผิวไปพร้อมๆกัน พอเด็กโตขึ้น เวลาอาบน้ำก็ใช้ขมิ้นแทนสบู่ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีสบู่ใช้ ตอนที่นางทองประศรีจะพาพลายแก้วลูกชายไปบวชที่วัดส้มใหญ่ ก็อาบน้ำแต่งตัวให้โดยนำ “ขมิ้นสด” มาตำคั้นเอาน้ำมาทาตามตัวลูก

“แกอาบน้ำลูกยาทาขมิ้นตำ ชำระน้ำร่ำรดหมดเหงื่อไคล”

กวียังเล่าถึงขุนช้างว่า อาบน้ำแต่งตัวเตรียมไปงานเทศน์มหาชาติ ความที่เป็นเศรษฐีเงินหนาก็ไม่ต้องอาบน้ำเอง

“เจ้าขุนช้างอาบน้ำสำราญใจ ข้าไทเข้ากลุ้มรุมกันสี

เอาขมิ้นถูตัวให้ทั่วดี ขี้ไคลไหลรี่สีออกมา”

วรรณคดีสมัยอยุธยาบันทึกว่าคนไทยนิยมใช้ขมิ้นขัดถูทาผิวเวลาอาบน้ำหรือหลังอาบน้ำ ดังที่เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ทรงเล่าถึงการใช้ขมิ้นของสาวชาววังไว้ใน กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง ตอนหนึ่งว่า

“ลางนางอาบน้ำท่า ทาขมิ้นเหลืองพึงชม

ทาแป้งแกล้งหวีผม ผัดหน้านวลยวนใจชาย”

“ขมิ้น” ข้างต้นน่าจะเป็นผง เพราะกวีเดียวกันนี้ทรงใช้คำว่า “ลลายทา” ในพระนิพนธ์อีกเรื่องหนึ่งคือ กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก ทรงเล่นคำว่า “ขมิ้น” ในคำว่า “นกขมิ้น” กับ “ขมิ้นเจ้า” ว่าเห็นนกขมิ้นก็ทำให้นึกถึงขมิ้นที่เจ้าเอามาละลายน้ำแล้วทาเนื้อตัว

“นกขมิ้นคิดขมิ้นเจ้า ลลายทา

แอ่นเคล้าพี่เคล้าพงา พี่เคล้า

กวักกวักกว่าจะมา สมสู่

เห็นนกยางเจ่าเจ้า เจ่าแล้วเรียมคอย”

ขมิ้นผงนี้คงจะละลายน้ำไม่มากนัก เอาแค่พอเปียกๆ แฉะๆ เละๆ สำหรับใช้ขัดถูตัว เท่ากับถูขี้ไคลไปด้วย กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง กล่าวถึงสาวชาววังว่า

“ลางนางตักน้ำท่า อาบองค์

ขัดขมิ้นเหลืองบรรจง ลูบน้ำ”

ทำนองเดียวกับนางพิมพิลาไลยตอนแต่งตัวไปงานเทศน์มหาชาติที่วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี วรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน บรรยายว่านางพิมนั้น

“อาบน้ำผลัดผ้าด้วยฉับพลัน

จึงเอาขมิ้นมารินทา ลูบทั่วกายาขมีขมัน”

ไม่เพียงแต่หนุ่มๆ สาวๆ เท่านั้นที่เสริมหล่อเสริมสวยด้วยขมิ้น แก่คราวย่าคราวยายอย่างนางคันธมาลี มเหสีท้าวสันนุราช ในพระราชนิพนธ์บทละครนอกเรื่อง คาวี ก็ใช้ขมิ้นผงด้วย นางกลัวไม่งามพอ เลยใส่เสียเต็มอัตราศึก ดังที่รัชกาลที่ 2 ทรงบรรยายว่า

“คิดแล้วสรงน้ำชำระกาย ขมิ้นผงละลายเป็นค่อนขัน

ลูบไล้ขัดสีฉวีวรรณ ทรงกระแจะจวงจันทน์กลิ่นเกลา”

นอกจาก “ขมิ้นผง” ที่เตรียมไว้ จะใช้เมื่อไหร่ก็ละลายน้ำปริมาณพอดีๆใช้ทาตัวได้ทันทีแล้ว ถ้าอยากจะ “ทาหมักผม” ไว้ทั้งคืนก็ยังได้ เพราะขมิ้นชันให้ความชุ่มชื้นแก่เส้นผม ลดอาการคันหนังศีรษะ รัชกาลที่ 2 ทรงบรรยายไว้ในพระราชนิพนธ์บทละครในเรื่อง อิเหนา ตอนที่นางกำนัลกรุงดาหาเตรียมตัวตามเสด็จไปใช้บนที่เขาวิลิศมาหรา ต่างคนต่างแข่งกันสวยชนิดไม่มีใครยอมใคร

“บ้างวอนว่าให้ป้าตัดผมใหม่ เก็บไรประสมรอยสอยขนเม่น

ติดขี้ผึ้งจับควันกันกระเด็น เวลาเย็นทาขมิ้นหมักไว้”

ใช่จะมีแต่ชาววังที่นิยมใช้ขมิ้นเสริมสวยบำรุงผิว ชาวบ้านตามชนบทหรือชาวป่า เช่น พวกละว้า กะเหรี่ยง ก็ไม่น้อยหน้า สุนทรภู่เล่าถึงสาวชนบทที่พบเห็นใน นิราศวัดเจ้าฟ้า ตอนหนึ่งว่า

“เมื่อกราบลาคลาเคลื่อนออกเลื่อนล่อง เห็นหน้าน้องนามหุ่นนั่งชุนถุง

ทั้งผัดหน้าทาขมิ้นส่งกลิ่นฟุ้ง บำรุบำรุงรูปงามอร่ามเรือง

ที่แพรายหลายนางสำอางโฉม งามประโลมเปล่งปลั่งอลั่งเหลือง

ขมิ้นเอ๋ยเคยใช้แต่ในเมือง มาฟุ้งเฟื่องฝ่ายเหนือทั้งเรือแพ”

วรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอนที่ขุนแผนและพลายงามเดินผ่านตลาดเมืองพิจิตร กวีก็บรรยายถึงชาวละว้าว่า

“พวกละว้าป่าเถินเดินตามกัน สาวสาวทั้งนั้นล้วนใส่เสื้อ

ทาขมิ้นเหลืองจ้อยลอยผิวเนื้อ เป็นชาติเชื้อชาวป่าพนาลี”

ยิ่งไปกว่านั้น รัชกาลที่ 5 ทรงเล่าถึงสาวชาวกะเหรี่ยงนิยมขัดขมิ้นเช่นเดียวกัน ไว้ใน โคลงนิราศท้าวสุภัติการภักดี ดังนี้

“สาวสาวเหล่ากะเหรี่ยง สวยสวย

ปักปิ่นเกล้าผมมวย แช่มช้อย

เงินไพลูกปัดรวย ร้อยรอบ คอนา

ขมิ้นขัดผัดหน้าชม้อย ม่ายเหลี้ยงเอียงอาย”

คนไทยในอดีตนอกจากใช้ “ขมิ้น” แทนสบู่แล้ว ยังใช้ “น้ำส้มมะขามเปียก” เรียกสั้นๆ ว่า “ส้มมะขาม” หรือ “น้ำส้ม” ดังที่ ส.พลายน้อย อธิบายถึงขั้นตอนการอาบน้ำและกรรมวิธีการขัดสีด้วยขมิ้นและน้ำส้มมะขามเปียกที่คั้นเอาเฉพาะน้ำไว้ในหนังสือเรื่อง พฤกษนิยาย ดังนี้

“…การอาบน้ำของคนไทยในสมัยโบราณไม่ใช้สบู่เพราะสมัยนั้นสบู่ยังไม่เกิด การถูตัวจึงใช้ผ้าถูเอาไคลออก เมื่อหมดเหงื่อหมดไคลดีแล้วจึงใช้ขมิ้นผงทาให้ทั่วตัว ถ้าเป็นเด็กๆ ที่โกนผม เขาก็จะทาขมิ้นที่หัวด้วย เมื่อทาขมิ้นทั่วดีแล้วก็รออยู่สักครู่หนึ่งเพื่อให้ขมิ้นซึมเข้าไปในผิวหนัง แล้วจึงใช้ส้มมะขามเปียกทับลงไปอีกชั้นหนึ่งก็เพื่อให้รสเปรี้ยวของมะขามกัดสีของขมิ้นที่จับหนาอยู่ตามผิวหนังให้จางลงนั่นเอง เมื่อทาส้มมะขามทั่วดีแล้ว จึงลงอาบน้ำล้างส้มมะขามให้หมดอีกครั้งหนึ่ง…”

การอาบน้ำด้วยขมิ้นแล้วขัดสีด้วยส้มมะขาม ต่อด้วยการอาบน้ำชำระกายให้สะอาดหมดจดนั้น มีเล่าไว้ในบทละครนอกพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2 เรื่อง สังข์ทอง ตอนที่พระธิดาทั้งเจ็ดของท้าวสามลเตรียมแต่งกายไปในงานเลือกคู่

“แต่งตัวตั้งใจจะให้งาม ขมิ้นใส่ส้มมะขามขัดสี

แล้วอาบน้ำชำระอินทรีย์ ทาแป้งสารภีรื่นรวย”

พิษสงของน้ำส้มมะขามเปียกนั้นใครไม่ลองไม่รู้ เวลาขัดถูบนผิวเนื้อใครเข้าแทบจะดิ้นเร่าๆ เพราะทั้งแสบทั้งคันยิบๆ ดังที่สุนทรภู่เล่าไว้ในเรื่อง พระอภัยมณี ตอนนางกำนัลเมืองลังกาเตรียมแต่งองค์ทรงเครื่อง

“บ้างเรียกข้ามาสีขี้ไคลให้ ขมิ้นใส่น้ำส้มระบบผิว”

ถึง “น้ำส้ม” หรือ “น้ำส้มมะขาม” จะร้ายกาจขนาดไหนก็ยังเป็นรองความอยากสวย ดังตอนที่นางคันธมาลีตัวละครรุ่นย่าในวรรณคดีเรื่อง คาวี รำพันว่า

“ทำไมกับรูปชั่วตัวดำ จะอาบน้ำขัดสีส้มมะขาม

ละลายดินสอพองสักสองชาม ทาให้งามตลอดเท้าขาวทั้งตัว”

ใช่ว่าจะใช้ขมิ้นอาบน้ำแทนสบู่ หรือใช้ประเทืองผิวเสริมสวยเท่านั้น ยังใช้ในกระบวนการอยู่ไฟหลังคลอดของสาวไทยสมัยโบราณอีกด้วย วรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน มีอยู่ตอนหนึ่งเล่าถึงย่าทองประศรีเป็นธุระให้หลานสะใภ้คือนางศรีมาลา (เมียพลายงามลูกขุนแผนกับนางพิม) อยู่ไฟหลังคลอด โดยนำ “ขมิ้นแห้ง” มาฝนทาตามตัวให้

“ฝ่ายข้างนางศรีมาลาแม่ ท่านย่าแกก็ให้เข้าไฟก่อน

ขมิ้นแห้งฝนทากินยาร้อน ให้ลูกอ่อนกินนมแล้วชมไป”

ขมิ้นนั้นมีสรรพคุณหลากหลาย ใช้ย้อมผ้าก็ได้ด้วย สมัยก่อนยังไม่มีผ้าไตรสำเร็จรูปขายเหมือนสมัยนี้ อยากได้ผ้าไตรไว้บวชลูกชายก็ต้องตัดเย็บเองย้อมเองโดยมีขมิ้นเป็นตัวช่วยชั้นดี ดังที่กวีเล่าถึงตอนพลายแก้วบวชเณรว่า

“บางคนออกมาหาขมิ้น โขลกสิ้นแล้วไปเอามาอีกหวา

ออแม่เอ๋ยไม่เคยฤๅไรนา ย้อมผ้าซีดอยู่ดูไม่ดี

เอาน้ำส้มพรมแก้แลเห็นสุก พ้นทุกข์แล้วหนอหัวร่อรี่

ช่วยกันผูกราวขึงผึ่งทันที แห้งดีเข้าไตรไว้บนพาน”

วรรณคดีเรื่องเดียวกันนี้ยังเล่าถึงการทำศพพันศรโยธา (พ่อขุนช้าง) ว่า หลังจากอาบน้ำศพแล้วก็เอาขมิ้นทาศพเพื่อกันไม่ให้ศพเน่า

“อาบน้ำศพแล้วทาขมิ้น ผ้าขาวหุ้มสิ้นตราสังมั่น

เข้าไม้ไว้ในเรือนใหญ่นั้น ค่ำสวดทุกวันหลายคืนมา”

เห็นไหมล่ะ “ขมิ้น” ผลผลิตจากธรรมชาติที่ไม่ผ่านการสังเคราะห์ทางเคมี เป็นสมุนไพรยอดนิยมที่ขาดไม่ได้ในวิถีไทยในอดีตตั้งแต่เกิดจนตายจริงๆ

นอกจากใช้กินก็ได้ทาก็ได้ทั้งคนเป็นคนตายแล้ว ยังใช้ย้อมผ้าได้ดี

นี่คือภูมิปัญญาบรรพบุรุษไทยโดยแท้

ปัจจุบันแม้เทคโนโลยีจะทำให้ขมิ้นแปรรูปเป็นยาแคปซูลขมิ้นชัน สบู่ขมิ้น ครีมขมิ้น ฯลฯ ใช้แทนขมิ้นผง ขมิ้นแห้ง ขมิ้นสดที่เคยใช้กันมา ขมิ้นก็ยังได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย

ผู้เขียนก็ใช้นะ…ขอบอก