เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : โสรจสรงสงกรานต์

สงกรานต์แถวบ้านสมัยเด็กนั้นสนุกนัก ได้ยินเสียงกลองทัดดังตุ้มๆ ต้อมๆ มาจากวัดก้องไปทั้งหมู่บ้านหน้าวัด เหมือนสัญญาณปลุกให้ตื่นเตรียมตัวไปทำบุญ

ขบวนบุญทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ หนุ่ม-สาวและเด็กเล็กทุกทิศทางล้วนร่วมทางสู่ศาลาวัดและลานโพธิ์ใกล้ศาลาริมสระน้ำของวัดและของหมู่บ้านซึ่งมีอยู่สามสระใหญ่

เสียงเพลงจากวงปี่พาทย์บนศาลา กล่อมกลืนบรรยากาศที่สดสวยด้วยสีสันสงกรานต์อย่างมีชีวิตชีวา

พวกเด็กผู้หญิงจะนั่งเก็บดอกพิกุลบนลานทรายใต้ร่มร้อยก้านดอกหญ้าเจ้าชู้ ขณะเหล่าเด็กชายแย่งกันเก็บก้านตะขอกิ่งฉำฉามาเกี่ยวแข่งหาตัวเก่งเอาชนะกัน

อิ่มข้าวอิ่มบุญบนศาลาแล้วก็กระจายกันกลับบ้าน ร่มลานไทรท้ายตลาดนั้นเป็นที่เล่นสนุกของเด็กๆ และหนุ่ม-สาว

ได้เห็นเล่นทรงแม่ศรีก็ที่นี่ มีเด็กสาววัยรุ่นสะสวยด้วยชุดสไบเฉียงมีผ้าคาดปิดตานั่งพนมดอกไม้อยู่บนครกตำข้าวคว่ำ มีเสียงขับร้อง

แม่ศรีเอย แม่ศรีสวยสะ

ยกมือไหว้พระ จะมีคนชม

ทั้งคิ้วเจ้าต่อ ทั้งคอเจ้ากลม

ยกผ้าขึ้นชม ชมแม่ศรีเอย

ยกผ้าขึ้นชมนั้น มักร้องว่า ชักผ้าปิดนมกันเป็นส่วนใหญ่ ร้องวนไปวนมาอยู่อย่างนี้หลายรอบจนแม่ศรีบนครกเริ่มตัวสั่นแล้วลุกขึ้นรำตามจังหวะเพลงร้อง

งามจับตาจับใจมาจนวันนี้

นอกจากทรงแม่ศรีแล้วก็มีเล่นโยนลูกช่วง คือเอาผ้าขะม้ามาผูกเป็นลูกกลม แบ่งฝ่ายกันโยนรับจับปาและวิ่งไล่ปาฝ่ายตรงข้าม ถูกใครก็จับมาเป็นเชลยให้รำให้ทำตามสั่ง สนุกกันอยู่อย่างนี้

นอกจากลานไทรท้ายบ้านแล้ว บางชุมบ้านมีร่มไม้และลานกว้าง ก็จะจับกลุ่มกันเล่นเป็นแต่ละหมู่ไป หิวก็พากันขึ้นเรือนได้แทบทุกบ้าน ซึ่งเขาจะมีแขนมจีนน้ำยาให้จัดการกินกันได้ไม่อั้น

กระด้งขนมจีนมีใบมะยมปิดอยู่ ขนมจีนแป้งหมักจับใหญ่กับน้ำยาในหม้อดินให้ตักเติมกันได้ไม่ขาด อร่อยนัก หลายคนจะนอนแผ่บนชานเรือนนั้นด้วยเหน็ดเหนื่อยกับความสนุกสนาน

วงการละเล่นนี้มักมีต่อภาคกลางคืนอีก โดยมีตะเกียงเจ้าพายุตั้งบนครกตำข้าวคว่ำไว้กลางวง หรือแขวนไว้กับเสากลางลานให้แสงสว่างได้ทั่วถึง

วันสนุกสุดคือวันสรงน้ำพระ จากนั้นก็เล่นสาดน้ำกันในละแวกบ้าน ตอนเย็นจะมีก่อเจดีย์ทรายในวัด ประดับประดาด้วยธูป-เทียนและดวงดอกไม้

เราเป็นเด็กก็สนุกกับเรื่องเหล่านี้โดยไม่ต้องรู้ ไม่ต้องคิดว่าอะไรคือสงกรานต์ อะไรคือพิธีกรรม มีกันเพื่ออะไร และไม่สนใจจะรู้กระทั่งว่า อะไรคืออะไร

สนุกลูกเดียว

สงกรานต์วันนี้ก็ดูจะเหลือเค้าความหมายแค่การรดน้ำขอพรเพื่อแสดงความเคารพผู้หลักผู้ใหญ่เพียงเท่านั้น กับสนุกสนานกับการสาดน้ำใส่กัน เป็นมหกรรมสากลนั่นเลย

คำสงกรานต์กับคำสังขารนี้ดูจะมีความหมายเกี่ยวพันกันอยู่ สงกรานต์หมายถึงวาระฤกษ์บรรจบครบรอบที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนสู่ราศีเมษคือเมษายน ขึ้นต้นวงรอบใหม่ของวิถีจักรราศีตามระบบสุริยคติ มีสิบสองราศี

สังขารหมายถึงความปรุงแต่งอันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ซึ่งย่อมเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งนั้นๆ อยู่เสมอ

สงกรานต์มีวันสำคัญดังเรียกวันสังขารล่องอยู่ด้วย ดังจะเตือนสติให้คนสำนึกถึงวันเวลาที่เปลี่ยนไป พาอายุขัยวัยวารของคนเราให้เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาด้วย

สงกรานต์กับสังขารจึงคู่กันอยู่ ดังประเพณีสงกรานต์ในลาวเขาจะมีพิธีแห่นางสงกรานต์โดยเรียกนางสงกรานต์เป็นนางสังขาร

นางสังขารจึงเป็นสัญลักษณ์ของความเปลี่ยนแปลงทั้งปวงอันกำหนดโดยวันเวลาเป็นสงกรานต์นั้น

นางสงกรานต์จึงเป็นเทพีแห่งความเปลี่ยนแปลงโดยนัยแห่งความเป็นนางสังขาร สัญลักษณ์ของความเปลี่ยนแปลงนั่นเอง

คํากาละหรือเวลานี้ก็คือ “ขณะ” อันเคลื่อนไปตลอดเวลา ไร้การหยุดอยู่ เราอาจหมายถึงชั่วขณะที่หยุดในจุดกำหนดใดกำหนดหนึ่ง แต่ในความจริงแล้ว “ขณะ” ไม่เคยหยุดเพราะมันคือการเคลื่อนไปไหวไปตลอด ยิ่งกว่ากระแสน้ำที่หลั่งไหลไม่เคยหยุดนิ่ง กระแสน้ำอาจหยุดไหลด้วยการปิดกั้น แต่ขณะแห่งกาละไม่หยุดเคลื่อนและไม่มีอะไรมาปิดกั้นได้เลย

จึงมีโวหารว่า “กาลเวลาย่อมกลืนกินสรรพสัตว์กับทั้งตัวมันเอง” ดังศัพท์บาลีว่า “กาโล ฆสติ ภูตานิ สัพพาเนว สหัตตะนา”

ชีวิตคนก็เช่นกัน มีวัยอันเคลื่อนไปเปลี่ยนไปโดยไม่หยุดนิ่งทุกขณะแล้ว น่าสังเกตคือชีวิตยังสืบทอดสืบสายสัมพันธ์ส่งทอดจากชีวิตสู่ชีวิต ดังพ่อ-แม่สืบสอดสู่ลูกในลักษณะสร้างชีวิตใหม่ส่งต่อไปได้เรื่อยๆ เช่นกัน ดังคำที่มักเรียกว่าสืบสายเลือดนั้น

มีกลอนเก่าจำได้อยู่บทหนึ่ง ไม่รู้ชื่อคนแต่ง ว่าดังนี้

คนกินสัตว์สัตว์กินพืชยืดชีวิต

พืชมีสิทธิ์กินดินสิ้นสงสัย

ความวนเวียนเปลี่ยนมาน่าสนใจ

ว่าทำไมแผ่นดินจึงกินคน

นี่ก็เป็นความเปลี่ยนแปลงที่สัมพันธ์สืบเนื่องของสรรพชีวิตในโลกนี้ แผ่นดินนี้ และในจักรวาลนี้ด้วย

ดังระบบสุริยะที่เคลื่อนหมุนมาบรรจบกำหนดเป็นรอบนักษัตร อันเรียกเป็นฤกษ์สงกรานต์อยู่นี้

ไทยเรามาสรุปรวมประมวลเป็นมงคลวารแห่งการตระหนักถึงบุญคุณของผู้สูงวัย ผู้อยู่ในฐานะของความเป็นผู้สร้าง ผู้สืบและผู้ส่งทอดชีวิตและความดีงามจากรุ่นสู่รุ่นสืบไป

พ่อ-แม่เราแหละคือต้นธารส่งกระแสแห่งวัยวันสู่เราผู้เป็นลูกหลานของแผ่นดินนี้ โลกนี้

และชีวิตนี้

แม่ กับ ลูก

“ขอบประตูสวยดี สีเขียวทอง

นี้เป็นของใครกัน นะแม่จ๋า..”

“…ประตูเป็นของลูกเสมอมา…”

“…แล้วชิงช้า…สวนดอกไม้…ของใครกัน”

“ทั้งชิงช้า สวนดอกไม้ ก็ของลูก”

“…โอ…หนูจะปลูกดอกไม้ในสวนนั่น

แล้วท้องฟ้าสีครามงดงามนั้น

ดวงตะวันสีทอง…เล่า ของใคร”

“ทั้งท้องฟ้า ดวงตะวัน นั้นของลูก

ทุกสิ่งผูกสัมพันธ์ อันยิ่งใหญ่

เป็นของลูกทั้งหมด กำหนดไว้

ลูกจงได้ไตร่ตรอง มองให้ดี…

…แม้ตัวแม่นี้ก็ต้อง เป็นของลูก”

“แม่จ๋าแม่พูดถูก ทุกทุกที่

ลูกมีของมีค่า กว่าใครมี…

มากกว่าใครในโลกนี้ เป็นแน่แท้”

“ใช่แล้ว ลูก มีค่ากว่าใครปอง

ลูกมีของมีค่า กว่าใครแน่

…แต่…แม่มีมากกว่านั้น ไม่ผันแปร…”

(…แม่มีอะไรจ๊ะ แม่…)

“แม่มีลูกของแม่ คนนี้ไง”

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

(บันดาลใจจาก บทกวีเวียดนาม)