ฉัตรสุมาลย์ : ทำไมต้องวัดสุงซาน

ถ้าตั้งหัวข้อใหม่ก็อาจจะเป็นว่า ความสำคัญของวัดสุงซาน ท่านผู้อ่านอาจจะคิดในใจว่า มันสำคัญยังไงว้า

จริงเช่นนั้นเลยค่ะ เรื่องบางเรื่องที่ใครเขาพูดเป็นวรรคเป็นเวร เราอาจจะไม่ให้ความสนใจเลย เพราะมันไม่ได้อยู่ในความสนใจของเราเลยจริงๆ นะ

วัดสุงซานก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่สนใจเรื่องราวของภิกษุณี ก็พลิกข้ามไปได้เลย

แต่ถ้าเป็นเรื่องภิกษุณีไทย เปิดหน้าประวัติศาสตร์ในการเกิดขึ้นของภิกษุณีในประเทศไทยต้องเริ่มที่วัดนี้ค่ะ

ไปไต้หวันครั้งนี้ เขานิมนต์ท่านธัมมนันทาไปประชุม ดังที่ได้เล่ามาแล้วในอาทิตย์ที่ผ่านมา

เช้าวันหนึ่ง ท่านธัมมนันทาท่านเกิดปิ๊งขึ้นมาว่าท่านจะไปวัดสุงซาน

แม่เจ้า! รู้เพียงชื่อวัดเท่านั้นเอง เพราะเราเรียนในชั้นเรียนของการเกิดขึ้นของภิกษุณีไทยว่าภิกษุณีชาวไทยรูปแรกที่ออกไปแสวงหาการอุปสมบทนั้น ได้รับการอุปสมบทที่วัดสุงซาน ในเมืองไทเป ไต้หวัน

ผู้เขียนอยู่ในเหตุการณ์ด้วย เพราะเดินทางไปกับท่านภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ (มารดา) เมื่อ พ.ศ.2514

นี่เรากำลังพูดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาแล้ว 48 ปีเต็ม

 

ทําไมต้องไปอุปสมบทที่ไต้หวัน ก็เมืองไทยติดอยู่กับพระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงชินวรศิริวัฒน์ ว่า ห้ามไม่ให้ภิกษุไทยบวชผู้หญิง ตั้งแต่ พ.ศ.2471 โน่น

ต่อมาเมื่อผู้เขียนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท เอก ที่ประเทศแคนาดา จึงได้รับทราบข้อมูลว่า ไต้หวันเขายังมีการบวชภิกษุณีทุกปี

เราสองคนแม่ลูกก็เลยไปไต้หวัน นอกเรื่องนิดค่ะ ตอนนั้น ค่าเงินหยวนของไต้หวันยังถูก 3 หยวนเท่ากับ 1 บาท ประมาณนั้น ยังซื้อของได้สนุก (ตอนนี้ดอลลาร์ละ 30 หยวน ขณะที่เทียบกับเงินไทย 32 บาท)

เราไปแบบเดาสุ่ม ไม่มีข้อมูลว่าจริงๆ แล้วที่นั่นเขาบวชเพียงปีละครั้ง

อย่าลืมว่าสมัยนั้น ยังไม่มีกูเกิลช่วย

 

เราไปอยู่ที่วัดภิกษุณีในไทเป วัดชื่ออะไรก็ไม่รู้ คือตอนนั้นรู้ แต่ตอนนี้นึกไม่ออก แล้วก็ไปเจอกับพระภิกษุชาวจีนชื่อท่านหมิงซาน หมิงแปลว่า สว่าง, ซานแปลว่า สาม ชื่อท่านเขียนเป็นอักษรจีนง่ายค่ะ สำหรับคนที่รู้การเขียนอักษรจีน

ท่านหมิงซาน ผู้นำแสงสว่างมาให้เราแม่ลูกสองคนนี้แหละ เป็นผู้จัดการติดต่อหาวัดให้บวช และจัดการสารพัดให้ รวมไปถึงพาไปร้านตัดชุดพระ พาไปตัดรองเท้า แบบรองเท้าผ้าที่พระจีนใส่

ท่านเจ้าอาวาสที่ยินยอมบวชให้เป็นกรณีพิเศษ เมื่อท่านทราบว่า ท่านวรมัย กบิลสิงห์ เผยแผ่ศาสนาโดยการออกหนังสือธรรมะรายเดือน ชื่อวิปัสสนา บันเทิงสาร ท่านเองก็มีความสนใจแบบเดียวกับภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ คือ ท่านออกหนังสือธรรมะรายเดือน ชื่อ “สิงห์คำราม”

ท่านหมิงซานยังต้องไปติดต่อพระภิกษุจากวัดต่างๆ มาร่วมในพิธีบวชรวม 13 รูป การอุปสมบท ควรมีพระภิกษุไม่น้อยกว่า 10 รูป

ท่านอุปัชฌาย์ ชื่อพระอาจารย์เต้าอัน

 

จีนจะเรียกว่า ฉือ เต้าอัน ฝ่าซือ ฉือ (Shih) คือ ศ มาจากศากยะ แปลว่าคนที่บวชทุกคนนับว่ามาจากตระกูลศากยะของพระพุทธเจ้า (เวียดนามเรียกว่า ทิค คือคำเดียวกัน บางคนเรียกผิด เพราะไปอ่านตามตัวอักษรฝรั่งว่า ติช (Thich) เช่น พระอาจารยชาวเวียดนามที่เรารู้จักกันดี คือ ทิค นัทฮันห์ ที่เรามักจะออกเสียงเพี้ยนไปว่าติชนัทฮันห์) เต้าอันเป็นฉายาของท่าน และฝ่าซือ แปลว่า ธรรมาจารย์

ท่านให้เกียรติภิกษุณีวรมัยมาก ตั้งฉายาว่า ต้าเต้า เต้าคือเต๋า แปลว่า มรรควิธี ตอนที่พุทธศาสนาไปถึงเมืองจีนใหม่ๆ ไม่รู้จะแปลคำว่านิพพานอย่างไรให้ใกล้เคียงมากที่สุด ก็เลยแปลว่า เต๋า คือคำเดียวกันค่ะ

ท่านอาจารย์เต้าอัน ท่านมีเมตตามาก เมื่อบวชให้แล้ว ท่านก็ยังตามมาเยี่ยมเยียนดูว่า ภิกษุณีต้าเต้า (วรมัย กบิลสิงห์) ผู้ที่ท่านบวชให้นั้น อยู่กินอย่างไร มีวัดวาอารามถูกต้องไหม ท่านกลับไปด้วยความพอใจที่ได้เห็นวัตรทรงธรรมกัลยาณีเป็นปึกแผ่น

แต่การสร้างสังฆะไม่ได้เกิดในสมัยท่าน เพราะการบวชแบบจีนนั้น ต้องฝึกฝนหลายปี และต้องรู้ภาษาจีนดี

ท่านต้าเต้าเมื่อกลับมาเมืองไทย สมาชิกสมาคมเป้าเก็งเต็งที่รู้ทั้งภาษาไทยและจีน แปลฉายาของท่านออกเป็นภาษาไทยว่า มหาโพธิ (คือ ต้าเต้า) ธรรมาจารย์ วงศ์ศากยะ ตามตัวอักษรจีนทุกประการ

 

วัดสุงซานจึงเป็นวัดประวัติศาสตร์ เพราะเป็นสถานที่ที่กำเนิดภิกษุณีไทยรูปแรก

48 ปีผ่านไป ตัดตอนมาถึงปัจจุบัน ผู้เขียนก็รู้อย่างเดียว คือชื่อวัด บังเอิญได้พักอยู่โรงแรม 5 ดาว พนักงานฝ่ายต้อนรับช่วยเหลือดีมาก

คราวนี้มีกูเกิลแล้ว บอกเขาแต่เพียงชื่อ เขาก็หาเจอ แต่เขาว่า เป็นสาขาของโฝวกวางซานนะ ผู้เขียนยืนยันว่าไม่ใช่ อย่างไรก็ตาม เขาว่า มีสุงซานเดียวนี่แหละ เขียนชื่อวัดเป็นภาษาจีนให้

ให้พนักงานฝ่ายยกกระเป๋าแขกที่มาพักออกไปยื่นชื่อวัดให้กับคนขับแท็กซี่

มิเตอร์แท็กซี่ที่ไต้หวันเริ่มที่ 70 หยวน (ประมาณ 70 บาท) วิ่งไปประมาณ 15 นาที ผ่านตึก 101 ด้วย ตึกนี้มี 101 ชั้น เคยเป็นอาคารสูงที่สุดในโลก แต่ตอนนี้ถูกทำลายสถิติไปแล้ว

รถวิ่งเข้ามาในถนนแคบมาก หันมาถามว่า “ใช่ไหม” ผู้เขียนไม่รู้จริงๆ มัน 48 ปีมาแล้วนะ ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด แต่พอเห็นอักษรจีนที่เป็นชื่อวัดก็จำได้ว่า ชื่อนี้แหละ

มิเตอร์ในแท็กซี่บอกราคาว่า 160 หยวน แสดงว่า เราไม่ได้มาไกลเลย

ทั้งวัดมีอาสาสมัครเป็นผู้หญิงวัย 50 ปลาย ทักทายเราอย่างดี เราถามหาพระที่เราจะพูดคุยด้วยได้ ไม่มีเลยสักรูปเดียว

เราบอกเขาว่า เคยพาแม่มาบวชที่วัดนี้ อุปัชฌาย์ชื่อท่านเต้าอันฟ่าซือ พอเขารู้เรื่องก็ชี้ให้เราขึ้นไปไหว้รูปเคารพของท่านอาจารย์เต้าอันฟ่าซือที่อยู่ในโบสถ์

จำสถานที่ไม่ได้เลยค่ะ แต่เขาจัดดอกไม้สวยมาก มีดอกกล้วยไม้สีม่วงเข้มประดับตลอดแนว สถานที่สะอาดมาก แสดงว่าได้รับการดูแลอย่างดี

ท่านธัมมนันทาเข้าไปกราบพระประธานซึ่งเป็นพระยืนสูงมาก บรรยากาศไม่คล้ายคลึงกับที่ท่านรู้จักเลย

แล้วก็กราบรูปเหมือนของท่านอาจารย์เต้าอันฟ่าซือ เหมือนเป็นรูปหล่อทองเหลืองครึ่งตัว ตอนนี้เริ่มมีอาการทำนบพัง ร้องไห้ด้วยความปีติที่ได้มากราบอุปัชฌาย์ของมารดา รูปนี้ ท่านครองจีวรแบบพระไทย เอามือไปสัมผัสเนื้อทองเหลืองที่เป็นรูปหล่อของท่าน ไม่ใช่ทองเหลืองค่ะ เป็นวัสดุคล้ายเรซิ่นมากกว่า

แต่ถ้าไม่สัมผัสก็จะไม่รู้

 

กลับลงมาตรงประชาสัมพันธ์ อาสาสมัครชาวจีนคนเดิม พูดแต่จีนกลาง ผสมจีนไต้หวัน และพยายามพูดไทยด้วย โชคดีว่า อุปัฏฐากของท่านธัมมนันทาไปด้วย เธอพูดภาษาจีนกลางพอสื่อสารกันได้

ทราบว่า วัดเดิมถูกไฟไหม้ไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ทางวัดโฝวกวางซานมาช่วยสร้างให้ใหม่

ก็เลยถึงบางอ้อ ว่า มิน่าเล่า ผู้เขียนถึงจำสถานที่ไม่ได้เลย

เมื่อสร้างวัดให้เสร็จแล้ว ทางโฝวกวางซานก็คืนให้กับวัดสุงซาน อันนี้ประทับใจมาก

แต่วัดสุงซานไม่มีพระเณรที่เป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์เต้าอันที่มีความสามารถจะบริหารจัดการวัดเองได้ แม้จนปัจจุบัน วัดโฝวกวางซานก็ยังต้องเข้ามาช่วยเหลือในการจัดพิธีกรรมสงฆ์ในวันสำคัญทางศาสนา

แม้วันนั้นก็ไม่มีพระภิกษุเลยสักรูปเดียว น่าเสียดายแท้ๆ

เรารีบกลับมาประชุมที่โรงแรมต่อจนจบ

 

ท่านธัมมนันทานึกขึ้นมาได้ว่า มาทั้งทีไม่ได้ทำบุญเลย ปีนี้ ภิกษุณีต้าเต้า (วรมัย กบิลสิงห์) หากมีชีวิตอยู่ก็จะครบรอบวันเกิดวันที่ 6 เมษายนที่จะถึงนี้ (2562) ตอนเย็นท่านจึงเรียกแท็กซี่กลับไปที่วัดสุงซานอีกครั้งหนึ่ง

เจ๊อาสาสมัครคนเดิมก็ยังอยู่ที่เดิม คงสงสัยว่า เรากลับมาทำไม ผู้เขียนแจ้งความจำนงว่าอยากจะกลับมาทำบุญให้มารดาครบ 111 ปี ก็เลยขอบริจาค 11,100 หยวน เทียบให้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ถวายปัจจัยเป็นเงินดอลลาร์

แล้วไม่อยากบอกค่ะ ร้องไห้ต่อ มันเป็นความรู้สึกที่ประหลาด แน่นอนไม่ใช่เสียใจ อธิบายไม่ถูกค่ะ

นึกต่อไปว่า หากเราเล่นหนัง บทที่ผู้กำกับฯ เขาให้บีบน้ำตา เราจะทำได้โดยให้เข้าไปอินกับความรู้สึกแบบนี้แหละ

โมทนาด้วยกันนะคะ ไม่ใช่เรื่องทำนบพัง แต่เรื่องที่เราได้ไปทำบุญด้วยกัน เรื่องที่เราได้ไปย้อนรอยประวัติศาสตร์ จนสามารถนำกลับมาบันทึกให้เป็นอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของภิกษุณีไทย