จรัญ พงษ์จีน : ก้าวย่างของ “ประชาธิปัตย์” สู่ความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่

จรัญ พงษ์จีน

ศึกเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 แม้วันเวลาจะล่วงเลยมาหลายวันแล้ว แต่ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” หรือ “กกต.” ยังชี้แจงแถลงไขผลว่า พรรคไหน ใครได้จำนวนที่นั่ง ส.ส.เท่าไหร่ ยังแกว่งไปแกว่งมา โดยเฉพาะสัดส่วน “บัญชีรายชื่อ” ต้องฝึกสมองด้วยการ “เดา” เอา

รู้อยู่อย่างเดียว โดยไม่ต้องจินตนาการให้เปลืองสมอง สำหรับ “ศึกเลือกตั้ง 62” คือความพ่ายแพ้แบบยับเยิน ดูไม่จืดอย่างน่าตกตะลึงของ “พรรคประชาธิปัตย์”

ที่เข้าป้ายมาในลำดับที่ 4 ลำพังพ่าย “พรรคเพื่อไทย” น่ะเป็นเรื่องพื้นๆ แต่ไม่เหลือลายเมื่อที่นั่งยังตามหลัง “พลังประชารัฐ-อนาคตใหม่” ได้ ส.ส.เขตเลือกตั้งมาเพียง 33 ที่นั่ง เมื่อหลอมรวมกับบัญชีรายชื่อ จึงมียอดเพิ่มเป็น 52 ที่นั่ง

“ประชาธิปัตย์” ได้ฐานคะแนนรวมต่ำมาก เพียง 3,947,726 เสียง ทั้งที่การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2554 ได้ป๊อปปูลาร์โหวตถึง 11 ล้านเสียง สนามที่เคยเข้มแข็ง ดุจผนังทองแดงกำแพงเหล็ก ได้แก่ 14 จังหวัดภาคใต้ จากที่เคยได้ที่นั่ง ส.ส. 52 ที่นั่ง จากยอดเต็ม 54 ที่นั่ง ถูกเผาเครื่อง เสาไฟฟ้าล้มระเกะระกะ ถูก “พลังประชารัฐ” และ “ภูมิใจไทย” แย่งพื้นที่ไปเกือบครึ่ง

“กรุงเทพมหานคร” ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว “ประชาธิปัตย์” พ่ายต่อ “ประชากรไทย” เหลือที่นั่งเดียวไว้ดูต่างหน้าได้คือ “ถนัด คอมันตร์” แต่คาบนี้ ถูกล้างป่าช้าเรียบ ไม่เหลือแม้แต่ตอไว้ทำพันธุ์เลย

ช็อกซีเนม่าอย่างยิ่ง พรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่เคยจดแจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่ามีสมาชิกมากเหลือล้นถึง 2.8 ล้านคน

คร่ำครึ เจนสังเวียน เพราะก่อตั้งเมื่อปี 2489 และเป็นพรรคการเมืองเดียวที่ยังดำรงอยู่ ผ่านร้อน ผ่านหนาว มายาวนาน เคยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมาแล้วด้วยความโชกโชนถึง 6 ครั้ง เป็นพรรคร่วมรัฐบาลมาแล้ว 4 ครั้ง เป็นฝ่ายค้านมากที่สุด 16 ครั้ง

เมื่อพ่ายแพ้ศึกอย่างหมดรูป สมแล้วที่ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ประกาศยกธงขาวลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเป็น “แม่ทัพ” นำรบมายืดเยื้อยาวนาน แต่สะกดคำว่า “ชัยชนะ” ไม่เป็น แพ้เลือกตั้ง 3 ครั้ง เมื่อปี 2550, 2554 และ 2562 บอยคอต 2 ครั้ง เมื่อปี 2549 กับ 2557

ก่อนที่ศึกเลือกตั้ง 62 จะระเบิด “นายอภิสิทธิ์” เคยลั่นวาจาเอาไว้ว่า หากพรรคได้รับเลือกมาเสียงต่ำ 100 จะไขก๊อกออกจากตำแหน่ง และภายหลังรู้ผลอย่างไม่เป็นทางการ เขาพูดความจริง รักษาสัตย์ มั่นคงต่อคำพูด ประกาศลาออกทันที น่านับถือ “ตอนจบ”

 

การพ่ายแพ้แบบไม่สมราคากับที่เคยเป็นแชมป์เก่ามาก่อนของ “ประชาธิปัตย์” แม้ “อภิสิทธิ์” จะรักษาสัจวาจาประกาศสละเรือแล้ว แต่ยัง “พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก” ประเด็นว่าด้วยการ “เลือกข้าง” แตกเป็น 2-3 เสี่ยง ว่าจะเดินไปทางทิศไหน

“ทางเลือกที่ 1” สมาชิกจำนวนหนึ่ง เสียงส่วนใหญ่ ชนะมาจากเขตเลือกตั้ง อยากจะให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลกับฝั่งสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรี มี “พรรคพลังประชารัฐ” เป็นแกนนำ เห็นพ้องต้องกันว่าแม้จะเป็น “เบี้ยล่าง” ระดับ “อะไหล่-ไม้ประดับ” ก็ยังดีกว่า สามารถเข้าไปผลักดันนโยบายของพรรคสู่ภาคปฏิบัติได้ อย่างน้อยๆ สร้างโอกาสให้กับคนของพรรคได้เข้าไปร่วมทำงาน มีตำแหน่งแห่งหน หลายปีมาแล้ว ไม่เคยนั่งซีกรัฐบาล ไม่ว่าในฐานะแกนนำหรือพรรคร่วม อดอยากปากแห้งมาหลายปีดีดัก ดังนั้น ครั้งนี้น่าจะ “กำขี้ดีกว่ากำตด”

“แพร่งที่ 2” กลับไปทำงานที่ถนัด ร่วมกับพรรคฝ่ายค้าน แต่เมื่อหันไปดูหน้ามวลสมาชิก ที่มี “พรรคเพื่อไทย” เป็นตัวยืนโด่เด่อยู่แถวหน้า “ประชาธิปัตย์” เกิดอาการขยะแขยงไม่ยอมร่วมสังฆกรรมกับพรรคการเมืองนี้อย่างหัวเด็ดตีนขาด

นานมาแล้วที่ประชาธิปัตย์ประกาศชักธงรบกับ “ระบอบทักษิณ” จู่ๆ จะให้กลับไปจูบปากย่อมไม่ได้เป็นอันขาด

“ทางเลือกที่ 3” เมื่อไม่เอาทั้ง “มิตรดี-เพื่อนเลว” ผู้หลักผู้ใหญ่ของพรรค ที่ส่วนมากจาก “บัญชีรายชื่อ” บิ๊กเนมประกอบด้วย “ชวน หลีกภัย-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ-บัญญัติ บรรทัดฐาน” เห็นตรงกันว่า ควรอยู่ระหว่างกลาง เพื่อใช้เวลาช่วงนี้กอบกู้ชื่อเสียงพรรคให้กลับมายิ่งใหญ่อลังการเหมือนเดิมอีกครั้ง คือ “ฝ่ายค้านอิสระ” ไม่สนับสนุนขั้วหนึ่งขั้วใด คัดค้านเป็นเรื่องๆ ไป

โดยผู้อาวุโสกลุ่มนี้เห็นว่า การไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลในฐานะ “พรรคร่วม” ทางทฤษฎีถือว่าดูดีก็จริง ย้ำชัดกันไปเลยว่าการต่อสู้กับระบอบทักษิณมีความต่อเนื่อง แต่ “ทางปฏิบัติ” มันสุ่มเสี่ยงมากมายหลายเรื่อง

ขนาดชั่วโมงนี้ยังไม่ได้จับมือจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน แค่จัดแถวขั้นต้น ระหว่าง “พรรคแนวร่วม” มีการตีตราจองเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง “เกรดเอ” กันหมดแล้ว เริ่มจาก “กระทรวงเศรษฐกิจ”

แน่นอนว่า เมื่อ “พลังประชารัฐ” ยังเป็นแกนนำ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ยังต้องเป็นแม่ทัพ จะเป็นใครอื่นไปไม่ได้ “ประชาธิปัตย์” ถนัดชัดเจนงานด้านนี้ จะแทรกยาดำมาคงยาก และ “สี่กุมารทอง” ก็ต้องยกทีมมาทั้งชุด

“มหาดไทย-คมนาคม” น่าจะงัดข้อกันสนุก “พรรคตัวแปร” ที่ชื่อ “ภูมิใจไทย” อยากจะเป็นเชนคัมแบ๊ก แต่ “พปชร.” ไม่ยอมปล่อยง่ายๆ เห็นว่าวางตัวน้องผู้หลักผู้ใหญ่มานั่งเก้าอี้ “มท.1” ต้องออกแรงยื้อกันสุดฤทธิ์

ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว ผู้อาวุโส พรรษาสูงของประชาธิปัตย์จึงอยากเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ”

แต่ด้วยประเด็นที่ว่า ส.ส.เขตเลือกตั้งส่วนใหญ่ บวกกับ “บัญชีรายชื่อ” ที่มีแนวโน้มว่าจะได้ตำแหน่งรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่อยู่สายเดียวกอดคอร่วมเป็นร่วมตายกับ “อภิสิทธิ์” มาตลอด หลายคนมีแนวโน้มจะแหกด่านมะขามเตี้ย ไปอยู่กับฝ่ายร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐซะงั้น ด้วยหวังว่าจะได้เก้าอี้เสนาบดีอีกสักครั้ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อคนกันเองในพรรคประชาธิปัตย์ เอาสิ่งที่เห็นไม่ตรงกันมายึดโยง ต่อสู้กัน ระหว่างฝ่ายร่วมรัฐบาล กับฝ่ายค้านอิสระ

“พรรคประชาธิปัตย์” เลยเกิดละครย้อนยุค เรื่อง “งูเห่า” ขึ้น

และคาดว่า “งูเห่า” น่าจะน้องๆ อนาคอนด้า ประมาณ “งูจงเห่า” ศึกใหญ่มะหึเท่างูจงอาง…พิษสงร้ายกาจพอๆ กับ “งูเห่า”

คุยกันไม่ลงตัว พรรคประชาธิปัตย์ไม่เพียงแต่เล่นไม่ดี พ่ายเกมเลือกตั้ง แต่มีโอกาส “บ้านพัง” เอาได้ง่ายๆ อย่าล้อเล่น