วิเคราะห์ “สุเทพ” เปิดใจพ่ายขั้วเพื่อไทย-ฝ่ายต้าน คสช. “แพ้ยับเยินที่สุดในชีวิต”

“ตั้งแต่ทำงานการเมืองมา คราวนี้เรียกว่าแพ้ยับเยินมากที่สุด” คือคำเปิดใจคำแรกจากปากของสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทย และแกนนำกลุ่ม กปปส. ที่กล่าวกับผู้มาให้กำลังใจ หลังทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ในวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา

ถามว่าแพ้ขนาดไหน? โดยไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับพรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่

คะแนนรวมของพรรครวมพลังประชาชาติไทยแพ้พรรคที่นายสุเทพด่าว่าเป็นพรรคเครือข่ายทักษิณทั้งหมด เช่น เพื่อชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ หรือแม้แต่พรรคเศรษฐกิจใหม่ ที่เพิ่งเปิดตัวและเป็นที่รู้จัก ผ่านลีลาการดีเบตของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ เพียงเดือนเดียวก่อนการเลือกตั้ง

ผิดกับนายสุเทพ ซึ่งเปิดตัวร่วมก่อตั้งพรรคมาร่วมปี มีการเปิดโต๊ะจีน ระดมทรัพยากรกันหลักร้อยล้าน มีการประกาศเชิดชูเจตนารมณ์การตั้งพรรคการเมืองที่ชัดเจน พยายามสร้างระบบและกลไกของพรรคให้ทันสมัย

แถมยังมีพื้นที่สื่อมากกว่า ลงพื้นที่พบปะประชาชนมากกว่า จากปฏิบัติการเดินคารวะแผ่นดินมาทั่วประเทศไทย

หรือหากเจาะให้ละเอียดลงไปอีกนิด ยกตัวอย่างในพื้นที่ภาคใต้ และโดยเฉพาะที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเอง พรรคประชาธิปัตย์กวาดเรียบยกจังหวัด ไม่แบ่งให้รวมพลังประชาชาติไทยเลย

ทั้งที่นายสุเทพส่งตระกูลเทือกสุบรรณลงชิงชัย

และที่น่าเจ็บปวดกว่านั้น หลายเขต ยกตัวอย่าง สุราษฎร์ธานีเขต 1 คะแนนของอนาคตใหม่ แม้จะแพ้ประชาธิปัตย์ มาเป็นอันดับ 2 แต่คะแนนของอนาคตใหม่ยังทิ้งขาดพรรครวมพลังประชาชาติไทยของนายสุเทพ

นี่จึงเป็นที่มาของคำพูดที่ว่า “แพ้ยับเยิน” คำถามที่น่าคิดต่อ สำหรับฝ่ายนายสุเทพและผู้สนับสนุนและผู้ที่สนใจการเมืองก็คือ ทำไมนายสุเทพจึงแพ้?

แน่นอน หากย้อนไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว โดยเฉพาะช่วงก่อนการรัฐประหาร 2557 ตอนนั้นเรตติ้งของนายสุเทพพุ่งกระฉูด เดินขบวนไปไหนก็เจอแต่คนสนับสนุน โดยเฉพาะคนในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผลจากการไม่เห็นด้วยที่เพื่อไทยพยายามดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ก่อนจบที่การรัฐประหาร

ต่อให้คนที่ไม่ค่อยรู้สึกอะไรกับการเมือง เมื่อตกอยู่ภายใต้การบริหารงานตลอด 5 ปีของ คสช. ซึ่งมีทั้งโอกาสและอำนาจในการปฏิรูปประเทศ ตามที่เคยสัญญาไว้ มาถึงวันนี้ ล้วนเห็นตรงกันว่าล้มเหลว เพราะการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะในด้านการเมือง เกิดรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ร่างและออกแบบโดยเนติบริกรซึ่งมีวิธีคิดทางการเมืองชุดที่คล้ายคลึงกับ คสช. ยังไม่นับการสร้างกลไกที่มารองรับ จนถูกวิจารณ์ว่าเป็นกติกาที่ช่วยสืบทอดอำนาจ เช่น เรื่อง 250 ส.ว. เรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอก

ยังไม่นับเรื่องกฎกติกาการเลือกตั้งที่ยังวุ่นวายนับตั้งแต่เริ่มจนถึงวันนี้

ส่วนการปฏิรูปสังคมด้านอื่นๆ เช่น ตำรวจ ก็ถอยหลังลงคลอง ด้านกฎหมาย ก็มีการออกกฎหมายมาเป็นจำนวนมาก หลายฉบับสร้างปัญหามากกว่าแก้ เพราะเป็นกฎหมายที่คิดฝ่ายเดียว ไม่ได้ถามสังคม

ยังไม่นับเรื่องการปรองดอง ความขัดแย้ง ที่ คสช.แทบไม่ได้แก้ไขปัญหาอะไรเลย แถมยังสร้างเงื่อนไขหลายเรื่องในการหล่อเลี้ยงความขัดแย้ง นับวันความความแตกแยกยิ่งรุนแรง โดยเป็นไปในลักษณะความคิดและคำพูด แต่ยังไม่ถึงขั้นลงบนถนน

การเมืองช่วงเวลาเลือกตั้ง จึงเป็นเรื่องการต่อสู้ของคนที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงผู้บริหารประเทศ ว่าต้องการ คสช.อยู่ต่อเพื่อสู้กับการเมืองอีกฝั่ง หรือต้องการคนใหม่ ขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับ คสช. ทั้งนี้ ไม่ว่าเราจะเชื่อหรือไม่ แต่คนจำนวนมากในประเทศตั้งโจทย์แบบนี้

หากเข้าใจการเมืองจากจุดยืนความคิดแบบนี้ ก็จะเข้าใจสิ่งที่นักวิชาการเรียกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ เราอาจจะเลือกพรรคการเมืองที่เราไม่ได้ชอบจริง แต่เลือกเพื่อเจตนารมณ์ทางการเมืองชั่วขณะบางอย่าง

แม้พรรคการเมืองที่นายสุเทพผลักดันจะรู้สึกแพ้ยับเยิน แต่จุดยืนทางการเมืองแบบที่นายสุเทพสนับสนุนไม่ได้แพ้ เพราะเขาเลือกที่จะเทคะแนนให้กับพลังประชารัฐไปเลยมากกว่า อย่างน้อยหากจะสู้กับขั้วอำนาจของอีกฝ่ายหนึ่ง ก็เลือก พล.อ.ประยุทธ์ไปเลย เพราะมีทั้งอำนาจรัฐ ทรัพยากรต่างๆ ที่พร้อมกว่า

ประกอบกับปัญหาความแตกแยกในพรรคประชาธิปัตย์ ที่เลือกที่จะเดินตรงกลาง วิจารณ์ทั้ง คสช. และไม่เอาฝั่งเพื่อไทยไปด้วย

ยังไม่นับคนที่เคยเป็น กปปส. ไม่ชอบการเมืองขั้วทักษิณเหมือนเดิม แต่ก็ยังทิ้งจุดยืนแบบประชาธิปัตย์ไม่ได้ ต้องเลือกต่อ เพราะอาจจะเบื่อการเมืองแบบ คสช. แล้วรู้สึกต้องการเปลี่ยนแปลงมากกว่า

ที่จริงก่อนเลือกตั้ง นายสุเทพก็รู้ว่ากระแสพรรคตัวเองกำลังตก และยังมีคนที่ไม่ชอบทักษิณ แต่ยังยึดติดกับพรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพเลยใช้สงครามวาทกรรมอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นการปลุกผีทักษิณ

ในทุกเวทีปราศรัยช่วงท้าย และการจัดหนักนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยอมแตกหัก ถึงขนาดยอมแฉเรื่องราวสมัยตั้งรัฐบาลในอดีต จนถูกรุ่นใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์สอนมวย

กลยุทธ์แบบนี้ของนายสุเทพก็ยิ่งทำให้คนหันหน้าหนี เพราะหากจะสู้กับทักษิณจริง ก็ไปเลือกพลังประชารัฐที่พร้อมกว่า ขณะที่บางคนมองว่านายสุเทพมีปัญหา เพราะมองไม่เห็นจุดบกพร่องของ คสช. ก็ขอเลือกประชาธิปัตย์ดีกว่า

ฝั่งการเมืองของฝ่ายขั้วที่สนับสนุนเพื่อไทยเองนับวันก็ยิ่งเข้มแข็งขึ้น แถมยังเป็นความเข้มแข็งที่ผูกรัดกันด้วยมิติ อุดมการณ์มากขึ้น เนื่องจากถูกกระทำทางการเมืองมานานหลายปีโดย คสช. มีกติกาที่ไม่เป็นใจ แขนขาในพื้นที่ถูกตัดกำลัง แม้จะส่งผู้สมัครลงจริงเพียง 250 เขต ก็ยังสามารถคว้าเก้าอี้มาได้ถึง 137 เขต โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน เหล่านี้สะท้อนว่าการเมืองของ คสช.ล้มเหลว คนไม่เอาด้วยอย่างชัดเจน

ยังไม่นับการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ซึ่งเป็นพรรคที่นายสุเทพเขม่น กล่าวโจมตีในช่วงท้ายของการปราศรัยในหลายครั้ง ด้วยข้อหาที่รุนแรง แต่กลับเป็นว่าได้รับเลือกคะแนนรวมมาเป็นอันดับ 3 ของประเทศ หนักกว่านั้น ยังคว้าที่ 1 คะแนนรวมในกรุงเทพฯ ส่วนในภาคใต้เองแม้ไม่ได้ ส.ส.เขต แต่หากนำคะแนนรายเขตมาดู จะพบว่าอนาคตใหม่ได้คะแนนลำดับที่ 2 ที่ 3 ตลอด เรียกว่าคว้าคะแนนเป็นกอบเป็นกำอย่างมาก เซอร์ไพรส์คอการเมือง

สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าบริบทการเมืองมันเปลี่ยนไปแล้ว โจทย์การเมืองมันเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ตรงกับโจทย์ของนายสุเทพตั้งไว้

ล่าสุดนายสุเทพผุดวาทกรรมใหม่ขึ้นมา โดยการบอกว่าบ้านเมืองยังไม่ปลอดภัย เนื่องจากคะแนนที่ออกมาพอๆ กันทั้ง 2 ฝ่าย จึงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศโดยเฉพาะการปฏิรูปการเมืองต่อ ท่าทีนี้ก็ไม่ได้ต่างกับ คสช.เลย

การเมืองต่อจากนี้ก็ยังน่ากังวล เนื่องจากไม่มีใครชนะขาด เพราะหากดูตามผลคะแนน ฝั่งที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. ดูเหมือนมีแต้มนำด้วยซ้ำ รวมกันได้เร็วกว่า แต่ก็ยังไม่ชนะขาด ขณะที่พลังประชารัฐคะแนนก็ยังไม่พอตั้งรัฐบาล ยังต้องรอผลคะแนนที่ชัดเจน ก่อนจะขอจับมือกับพรรคอื่น

และในพรรคประชาธิปัตย์เองก็ยังมีความไม่ชัดเจน หลังกลุ่ม new dem ที่เสนอให้พรรคเป็นฝ่ายค้านอิสระไม่เข้าร่วมรัฐบาล ยึดมั่นในหนทางเสรีประชาธิปไตย ไม่เอาสืบทอดอำนาจ จนถูกโต้กลับอย่างหนักจากกลุ่มที่เป็น ส.ส.เขต และเคยเป็น กปปส.เก่า นำโดยถาวร เสนเนียม และสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ที่พยายามผลักให้พรรคไปร่วมรัฐบาลกับ พปชร.สู้กับขั้วเพื่อไทย

โดยล่าสุดไปไกลถึงขนาด ว่าที่ ส.ส.ของพรรคคนหนึ่งให้ข่าวกับสื่อมวลชน พร้อมที่จะแหกมติพรรค หากกรรมการบริหารชุดใหม่มีมติไม่เข้าร่วมกับพลังประชารัฐ แถมยังจัดหนักผู้ใหญ่ของพรรคอย่างนายชวน หลีกภัย ชนิดไม่ไว้หน้า หลังออกมาวิจารณ์นายถาวรว่า “ตะแบง”

ท่ามกลางความเข้มข้นของการเมือง พร้อมไปกับความสับสนวุ่นวาย อันเป็นผลจากกติกาใหม่ ที่แค่เรื่องสูตรการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ก็ยังไม่มีความชัดเจน ถกกันยาวนานเกือบครึ่งเดือน ก่อนจะเคาะสูตร แจกคะแนนพรรคเล็ก สร้างเสียงฮือฮา

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า การประกาศความพ่ายแพ้ยับเยิน นับเป็นความกล้าหาญของนายสุเทพ ซึ่งยังต้องจับตาว่าเกมการเมืองของนายสุเทพต่อจากนี้จะเดินไปในทิศทางใด และจะสรุปบทเรียนจากความพ่ายแพ้ยับเยินครั้งนี้เพื่อนำไปสู่ก้าวย่างไปในทิศทางใด