ไปดูวิธีปฏิบัติตนช่วงสงกรานต์ของ ‘คนล้านนา’ และตำนานที่มา “ใบประกาศสงกรานต์”

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “หนังสือปี๋ไหม่”

หมายถึง ปฏิทินบัตร หรือใบประกาศสงกรานต์

การประกาศสงกรานต์ เป็นการประกาศให้ทราบว่าในช่วงเปลี่ยนศักราชจากปีเก่าสู่ปีใหม่ ซึ่งแต่โบราณมีการประกาศเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างเช่นของไทยภาคกลางว่า

ศุภมัสดุวรพุทธศาสนา สองพันสามร้อยห้าสิบห้าพระวรรษากาลกำหนดเจตนาสุกรปักษ์ เอกทัศมีดิถี รวิวารตัททิวากาล เพลาเช้าย่ำรุ่งแล้วสองชั่วโมง บรมเทพทินกรเสด็จจากมีนราศีประเวศสู่เมษราศี ทางโคณวิถีใกล้พระเมรุราช…

ส่วนของล้านนาดังตัวอย่างของวัดดวงดี อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ว่า

มังคลวุฒิสิริสุรานมสัตถุ จุลศักราช ๑๒๑๓ ตัว กุญชรฉนำกัมโพชพิสัย ในคิมหัสตฤตุ จิตรมาส… ยามนั้นระวิสังกรม คือพระสุริยอาทิตย์… เสด็จย้ายจากมีนประเทศไปสู่เมษราศีทางโคณวิถีเข้าใกล้เขาพระสุเมรุราช…

ถัดจากนี้ยังมีเนื้อหาอื่นๆ ที่เป็นการพยากรณ์ ซึ่งในส่วนของไทยภาคกลาง มักกล่าวถึงวันธงชัย วันอธิบดี วันอุบาทว์ วันโลกาวินาศ จำนวนนาคให้น้ำเป็นต้น สำหรับล้านนา มีรายละเอียดมากกว่า กล่าวคือมีการบอกวิธีปฏิบัติในวันสงกรานต์ก่อน เช่น

ในวันสงกรานต์ไปนั้น จุ่งหื้อครูบาอาจารย์เจ้านาย ท้าวพระยาเสนาอามาตย์ ไพร่ราษฎร์ทังมวลเอากันไปสู่สระโบกขรณี แม่น้ำ เค้าไม้ จอมปลวกใหญ่ หนทางไคว่เส้นสุมกัน อว่ายหน้าไปสู่ทิศหนตะวันออก อาบองค์สรงเกศเกล้าเกศีลอยจังไรเสียในที่ทั้งหลายฝูงนั้น แล้วมานุ่งทรงผ้าเสื้อผืนใหม่ ทัดดอกไม้ส้มสุก หากจักมีอายุยืนยาวไปชะแล

ในวันสงกรานต์ไปนั้น อย่าหื้อคนทังหลายมีใจขุ่นมัวกวนเกลาด้วยบาปเป็นต้นว่าปาณาติบาต อาทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร อย่าผิดข้องร้องเถียงกัน หื้อมีสามัคคะ ฉันทาพร้อมเพรียงกัน ชำระหอเรือนบ้านช่องกวาดทรายดายหญ้าข่วงวัดวาอาราม ข่วงไม้ศรี เจดีย์ พระธาตุ ขนทรายใส่วัด ก่อเจดีย์ พ่ำเพ็งจำศีลกินทานฟังธัมม์ เมตตาภาวนาไป จักมีผละอานิสงส์กว้างขวางมากนักชะแล

จากนั้นจึงจะเป็นเรื่องของการพยากรณ์ เช่น จำนวนนาคให้น้ำ จำนวนห่าฝน สิ่งไหนรักษาอันใด อะไรเป็นใหญ่ ต้นไม้ที่เป็นใหญ่ ต้นไม้ที่ผีเสื้อ (อารักษ์) อยู่ ต้นไม้ที่ขวัญข้าวอยู่ทิศที่เทวดาวางเครื่องประดับ ทิศปาปคหะและปาปลัคนา เฉพาะสิ่งไหนรักษาอันใดนั้น มีรายละเอียดบอกไว้ เช่น ตัวอย่างจากเอกสารโบราณประเภทใบลาน วัดศรีมงคล อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่านว่า

วอกรักษาปี นกเงือกรักษาป่า ไก่รักษาน้ำ นกแลรักษาเดือน เทวดาชื่อธังสตยารักษาอากาศ กุมภัณฑ์รักษาดิน พระญาเป็นใหญ่กว่าคน งัวเป็นใหญ่แก่สัตว์สี่ตีน นกยางเป็นใหญ่แก่สัตว์สองตีน ไม้งิ้วเป็นใหญ่แก่ไม้จริง ไม้รักเป็นใหญ่แก่ไม้กลวง หญ้าเหนี้ยวหมูเป็นใหญ่แก่หญ้าทั้งหลายแล

การประกาศเป็นลายลักษณ์คงมีกันทุกปี และต่อมามีการเขียนภาพประกอบ ซึ่งมีหลักฐานในประกาศมหาสงกรานต์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตอนหนึ่งว่า “ปีนี้สงกรานต์นามกรอย่างไร ทรงพาหนะอะไร ภักษาหารอะไร จะว่ามาก็ไม่ต้องการ ใครจะใคร่ทราบก็มาดูรูปที่เขียนแขวนไว้ในพระบรมมหาราชวังเทอญ”

ภาพประกอบแรกๆ เป็นภาพเขียนลงบนผืนผ้าแขวนไว้หน้าพระราชวัง ภายหลังพบว่าได้รับการตีพิมพ์แจกโดยบริษัทยาสูบอังกฤษและอเมริกาเพื่อโฆษณาขายบุหรี่ และเรียกใบหรือแผ่นประกาศสงกรานต์นี้ว่า “ปฏิทินบัตร”

เมื่อเชียงใหม่มีโรงพิมพ์ และได้ตีพิมพ์แผ่นประกาศสงกรานต์ลักษณะเดียวกัน แต่ไม่เรียกปฏิทินบัตร กลับเรียกว่า “หนังสือปีใหม่”

ปฏิทินบัตรของไทยภาคกลาง ธนาคารออมสิน ได้จัดพิมพ์แจกทุกปีจนถึงปัจจุบัน หนังสือปีใหม่ก็ถูกจัดพิมพ์จำหน่ายมาตลอด และเพื่อมิให้สับสนกัน เฉพาะหนังสือปีใหม่จึงเติมคำว่า “เมือง” เข้ามา กลายเป็น “หนังสือปีใหม่เมือง” อย่างที่พบเห็นกันทุกวันนี้