หรือ “ผัดไทย” จะไม่ได้ประดิษฐ์ขึ้นสมัยจอมพล ป.?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ว่ากันว่า “ผัดไทย” เป็นนวัตกรรมทางด้านอาหารที่บุคคลระดับ “ท่านผู้นำ” รุ่นบุกเบิกของสยามประเทศไทยอย่างจอมพลแปลก พิบูลสงคราม (หรือที่ใครต่อใครในประเทศนี้นิยมเรียกกันในชื่อที่ว่า “จอมพล ป.” มากกว่า) คิดค้นขึ้นมา เพื่อนำประเทศให้พ้นยุคเข็ญในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนผมเองก็เคยเข้าใจไปอย่างนั้น

และก็เชื่อถึงขนาดที่เคยเขียนบทความลงในพื้นที่คอลัมน์นี้นี่แหละ

นโยบายอย่างหนึ่งในสมัยจอมพล ที่มีรหัสลับให้เรียกกันอย่างสั้นๆ ว่า “ป.” ท่านนี้ ที่ใช้สำหรับการนำประเทศไทยฝ่าฟันช่วงข้าวยากหมากแพงเพราะวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ดำดิ่งมาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็คือการที่ท่านรณรงค์ให้คนไทยปลูกถั่ว (ส่วนจะเขียว จะเหลือง หรือจะถั่วอะไรช่าง) เพื่อให้มีถั่วงอกไว้รับประทาน

แน่นอนว่า เมื่อเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ข้าวก็ยิ่งยาก หมากก็ยิ่งแพง ดังนั้น ถั่วงอกซึ่งเมื่อก่อนคนไทยไม่ใคร่จะนำมาใช้กันนัก เพราะเห็นเป็นอาหารก็เลยแพร่หลาย จนพบเห็นได้ง่ายไปหมดในอาหารที่ถูกนับว่าเป็นไทย ตั้งแต่สมัยนั้นเป็นต้นมา

ซึ่งก็รวมถึงผัดไทย ผัดหมี่โคราช และผัดหมี่พิมายด้วย

 

สิ่งที่ยิ่งช่วยยืนยันอย่างนั้นก็คือ ที่จริงแล้วประชาชนส่วนใหญ่ในสยามประเทศไทย ณ ขณะเวลานั้น โดยเฉพาะที่กระจายตัวอยู่นอกกรุงเทพฯ เป็นประชากรในภาคการผลิต แต่เป็นการผลิตเพื่อยังชีพ ดังนั้น ถึงแม้เศรษฐกิจจะย่ำแย่ขนาดไหน ประชากรส่วนใหญ่ก็ยังหาอะไรรองท้องได้อยู่เสมอ ไม่ถึงกับไม่มีอะไรจะกินอย่างที่มักจะเข้าใจกันเสียทีเดียว

แต่อันที่จริงแล้วไอเดียบรรเจิดเรื่อง “ถั่วงอก” ของท่านผู้นำแปลกนี้ ก็ได้ตัวอย่างมาจากวิธีแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำของ “มุสโสลินี” ท่านผู้นำเผด็จการแห่งอิตาลีอีกทอดหนึ่ง

ในยุคนั้นคนอิตาลีประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำจนไม่มีอันจะกินยิ่งกว่าชาวไทย เพราะยุโรปปฏิวัติอุตสาหกรรมไปนานแล้ว จึงมีประชากรเพียงจำนวนไม่มากที่อยู่ในภาคการผลิตเพื่อเลี้ยงตัวเอง

ท่านผู้นำมุสโสลินีจึงรณรงค์ให้ชาวอิตาเลียนนำ “มะเขือเทศ” ซึ่งเมื่อก่อนชาวอิตาลีไม่กิน เพราะเป็นอาหารที่ใช้สำหรับเลี้ยงหมูเท่านั้น มากินกันให้หมด

แน่นอนที่ผมหมายความว่า ที่ปัจจุบันนี้เราเห็นมะเขือเทศผุดเต็มอยู่ในอาหารอิตาเลียนราคาระยับทั้งหลายนี่ เป็นเพราะครั้งหนึ่งพวกเขาไม่มีจะกินจนต้องไปเอาอาหารหมูมากินนั่นเอง ไม่ใช่อะไรที่เป็นอิตาลีแท้ๆ อีกเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ถือได้ว่า “มุสโสลินี” ได้สร้างชาตินิยมด้วยการใช้ “มะเขือเทศ” มาสร้างความเป็นอัตลักษณ์ในอาหารประจำชาติ จน “จอมพล ป.” ซึ่งก็ศรัทธาในลัทธิท่านผู้นำ หรือฟาสซิสต์เหมือนกัน นำเอา “ถั่วงอก” มาสร้างชาติไทยบ้างนี่แหละ

 

แต่เอาเข้าจริงแล้ว กลับไม่มีหลักฐานอะไรสักนิดเลยนะครับว่า จอมพล ป. จะเป็นผู้ทำคลอดอะไรที่เรียกขึ้นว่า “ผัดไทย” ขึ้นมาบนโลก จะมีก็แต่ข้อมูลบ่งชี้ที่ว่า ในภาวะที่แร้นแค้นของสงคราม ท่านผู้นำแปลกได้เสนอหนทางในการเอาตัวรอดของผู้คนที่กำลังอดอยากในชาติด้วยการให้ผู้คนหันมารับประทาน “ก๋วยเตี๋ยว” แทน “ข้าว” ต่างหาก

พยานสำคัญอยู่ในปราศรัยของอดีตท่านผู้นำของประเทศคนนี้ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2485 ดังความที่ว่า

“อยากให้พี่น้องกินก๋วยเตี๋ยวให้ทั่วกัน เพราะก๋วยเตี๋ยวมีประโยชน์แก่ร่างกาย มีรสเปรี้ยว เค็ม หวาน พร้อมทำได้เองในประเทศไทย ทุกอย่างราคาก็ถูก หาได้สะดวกและอร่อยด้วย

ถ้าพี่น้องชาวไทยกินก๋วยเตี๋ยวคนละหนึ่งชามทุกวัน คิดชามละห้าสตางค์ วันหนึ่งจะมีคนกินก๋วยเตี๋ยวสิบแปดล้านชาม ตกลงวันหนึ่งเงินค่าก๋วยเตี๋ยวของชาติไทย หนึ่งวันเก้าสิบล้านสตางค์เท่ากับเก้าแสนบาท เป็นจำนวนเงินหมุนเวียนมากพอใช้ เงินเก้าแสนบาททุกๆ วันนี้ไหลไปสู่มือชาวไร่ ชาวนา ชาวทะเล ทั่วกันไม่ตกไปถึงมือใคร และเงินบาทก็มีราคาหนึ่งบาท ซื้อก๋วยเตี๋ยวได้เสมอ ไม่ใช่ซื้ออะไรไม่ได้อย่างทุกวันนี้ ซึ่งเท่ากับไม่มีประโยชน์เต็มที่ในค่าของเงินมันเอง”

แน่นอนว่าเราอาจจะนับ “ผัดไทย” เป็น “ก๋วยเตี๋ยว” ประเภทหนึ่ง แต่ก็จะเห็นได้ว่า ในคำปราศรัยเมื่อเฉียดๆ 80 ปีที่แล้วนั้น จอมพล ป.ท่านไม่ได้เอ่ยถึงผัดไทยด้วยเลยเสียหน่อย ทั้งๆ ที่เชื่อกันว่า ท่านเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นเจ้าก๋วยเตี๋ยวผัดไทยนี้ขึ้นมา

 

ร่องรอยที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งอาจจะเห็นได้จากนิยายสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “ไพร่” กับอะไรที่เรียกว่า “เจ้า” อย่าง “สี่แผ่นดิน” ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ออกวางแผงเมื่อราว พ.ศ.2496 ห่างจากการสิ้นสุดลงของสงครามโลกครั้งที่ 2 เพียงไม่ถึง 10 ปีเท่านั้น

อย่างที่รู้ๆ กันอยู่แทบจะทั้งประเทศว่า เรื่องราวในสี่แผ่นดินดำเนินเรื่องผ่านตัวละครเอกที่ชื่อว่า “แม่พลอย” ซึ่งมีชีวิตอยู่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มาจนถึงแผ่นดินของรัชกาลที่ 8 ในฐานะของคนที่เติบโตมาในรั้วในวัง และดำรงชีวิตอยู่อย่างแทบจะไม่ต่างไปจากอีลิต (elite) ในสังคมสยาม ลากยาวมาจนเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทยมากนัก แม่พลอยรู้เห็น หรือมีประสบการณ์ร่วมอยู่ในเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ช่วงดังกล่าวมาโดยตลอด

รวมถึงช่วงที่ท่านผู้นำแปลกดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นำประเทศไทยเข้าร่วมในสมรภูมิรบอันระอุอุ่นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า ท่านผู้นำได้ประดิษฐ์ก๋วยเตี๋ยวพันธุ์ทาง พันธุ์ไทย ที่เรียกกันว่า ผัดไทย นี่ด้วยนะครับ

แต่ในขณะที่สี่แผ่นดินเสียดสีสารพัดนโยบายนำไทยเข้าสู่สมัยใหม่ ของจอมพลที่มีรหัสลับสั้นๆ ว่า ป. คนนั้น ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้สวมหมวกออกจากบ้านไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง (ตามแคมเปญของท่านผู้นำแปลกอย่าง “มาลานำไทยไปสู่อำนาจ”), การห้ามกินหมาก (แถมยังบังคับให้คนฟันดำเพราะเคี้ยวหมากมาทั้งชีวิต ต้องขัดฟันจนขาว) และรวมไปถึงการรณรงค์ให้หันมากินก๋วยเตี๋ยวนี่ด้วย

และก็น่าสังเกตนะครับว่า คุณชายคึกฤทธิ์ท่านไม่ได้จับคำว่า “ผัดไทย” ยัดใส่ปากตัวละครคนไหนเลยในนิยายโปรดเจ้าเล่มนี้ ทั้งๆ ที่ในนิยายเรื่องดังกล่าว คุณชายท่านก็เสียดสีนโยบายของท่านผู้นำระยะนั้นมาโดยตลอด ในขณะเดียวกับที่ได้เขียนถึงอาการหมั่นหนังหน้าพวก “เจ๊ก” ของบรรดาผู้ดีเก่าในราชสำนักสยาม โดยแสดงผ่านตัวละครอย่าง “เสวี” ซึ่งก็คือลูกเขยเชื้อสายเจ๊ก ฐานะร่ำรวย ของตัวแม่พลอยเอง

ข้อความตอนหนึ่งในนิยายเรื่องนี้ถึงกับประชดประชันเสวีผ่านปากของ “ตาอั้น” ลูกชายของแม่พลอยที่ว่ากล่าว “ประไพ” น้องสาวของตนเอง ควบตำแหน่งภรรยาของเสวี ซึ่งมาออกปากถามวิธีการทำก๋วยเตี๋ยวจากแม่พลอยเพราะจะเอาไปทำขายที่กรม แทนสามีของนางว่า

“แต่ความจริงเสวีเขาไม่น่าถามประไพหรอกเรื่องขายก๋วยเตี๋ยว ทางญาติเขาน่าจะรู้ดีกว่าเราว่าเขาขายก๋วยเตี๋ยวกันอย่างไร”

ที่สำคัญก็คือ เราควรจะระลึกเอาไว้ด้วยว่า ณ ขณะจิตที่คุณชายคึกฤทธิ์เขียนนิยายเรื่องสี่แผ่นดิน จนกระทั่งตีพิมพ์ออกมานั้น ตรงกันอย่างพอดิบพอดีกับช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม กำลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 โดยที่คุณชายท่านถือหางขั้วอำนาจทางการเมืองฝ่ายที่ไม่ใช่ของท่านผู้นำเสียด้วย

การที่คุณชายคึกฤทธิ์ไม่ได้กล่าวถึงก๋วยเตี๋ยวพันธุ์ทาง ที่อ้างตัวว่าเป็น “ก๋วยเตี๋ยวไทย” อย่าง “ผัดไทย” จึงเป็นสิ่งที่ดูจะประหลาดอยู่ไม่น้อย เพราะว่าก็เป็นเจ้าผัดไทยตัวดีนี่แหละครับ ที่เป็นหลักฐานให้ใครหลายคน (ไม่ใช่เฉพาะคุณชายคึกฤทธิ์) ใช้ถากถางถึงความย้อนแย้งในตัวเองของอดีตท่านผู้นำของประเทศไทยคนนี้ เนื่องจากในขณะที่จอมพล ป. ท่านรณรงค์ให้คนไทยหันมากินก๋วยเตี๋ยว ท่านกลับมีอีกสารพัดนโยบายในการตั้งแง่และรังเกียจคนจีนในไทย

เอาเข้าจริงแล้ว ยังเคยมีนักวิชาการบางท่านไปสัมภาษณ์ลูกสาวแท้ๆ ของท่านผู้นำแปลก แล้วได้ความว่า จอมพล ป.เองท่านก็บ่นให้กับลูกสาวฟังอย่างสงสัยใจเอาไว้ว่า ท่านไปสร้างนวัตกรรมฟิวชั่นฟู้ดที่เรียกกันว่าผัดไทย เอาไว้เมื่อไหร่กัน?

ดังนั้น ถึงแม้ว่าท่านผู้นำแปลกอาจจะเคยพยายามประดิษฐ์ “ความเป็นไทย” ขึ้นมาจากอะไรต่อมิอะไรหลายๆ อย่าง แต่ในบรรดาสิ่งประดิษฐ์จำนวนนั้น ก็ไม่น่าจะมีอะไรที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ผัดไทย