ทำไม? ประชาชนส่วนใหญ่ถึงห่วงความไม่โปร่งใส ทุจริตการเลือกตั้ง ?

“เสียของ” กับ “ชอบธรรม”

ประเมินกันมาก่อนหน้านั้นแล้วว่า หลังเลือกตั้งการต่อสู้ทางการเมืองจะยิ่งเข้มข้น ด้วยความเชื่อที่ว่าความคิดของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้งจะไม่เป็นไปในทางเดียวกับที่ฝ่ายคุมอำนาจพยายามให้เป็น ซึ่งจะส่งผลให้ปะทะกันอีกครั้ง

ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ

เพราะเป้าหมายของการทำรัฐประหารอยู่ที่ “ไม่เสียของ” อันหมายถึงจะต้องทำให้สามารถยึดกุมอำนาจต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง แต่ทั้งที่ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนกติกา หรือการใช้กลไกทุกอย่างในทางที่เอื้อให้เป็นไปตามเป้าหมาย

หลายเรื่องถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางชี้ให้เห็นว่ามุ่งสู่ชัยชนะโดยไม่คำนึงถึงวิธีการ อันทำให้เกิดความอ่อนไหวในการยอมรับ

แต่กระนั้นก็ตาม ผลที่ออกมากลับกลายเป็นว่า แม้จะจัดการกันเต็มที่ชนิดยอมสูญเสียหลักการอยู่ร่วมกันบางอย่าง แต่ผลการเลือกตั้งก็ยังออกไปในทางเสี่ยงต่อ “เสียของ”

ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่ทำให้ต้องมีการจัดการต่อ เพื่อยึดกุมเป้าหมายไว้ให้ได้

ขณะที่ยิ่งเดินหน้าไป ยิ่งอ่อนไหวต่อการฝืนความรู้สึกชอบธรรม

ในโลกใหม่ที่เคลื่อนไปด้วยโซเชียลมีเดีย การแสดงความคิดที่ทุกคนสามารถทำได้โดยตรง ไม่ต้องผ่าน “นักสื่อสารมวลชน” เหมือนที่เคยเป็นมา

การตอบโต้ด้วยความรู้สึกรับไม่ได้กับความไม่ชอบธรรมเกิดขึ้นทันทีและไม่อ้อมค้อม

และนั่นคือความเป็นไปที่ยิ่งเหมือนเพิ่มเชื้อให้ไฟระอุขึ้นไม่รู้หยุดหย่อน

ผลสำรวจล่าสุดของ “สวนดุสิตโพล” เรื่อง “ประชาชนคิดอย่างไรกับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา” ในคำถามที่ว่า “สิ่งที่ประชาชนวิตกกังวลในการเลือกตั้งครั้งนี้”

ร้อยละ 69.47 ตอบว่า ความไม่โปร่งใส ทุจริตการเลือกตั้ง ผลคะแนนไม่ชัดเจน, ร้อยละ 28.88 วิตกเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล และผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, ร้อยละ 11.32 ห่วงเรื่องความขัดแย้ง ความวุ่นวายทางการเมืองที่อาจจะมีมากขึ้น, ร้อยละ 10.37 กังวลเรื่องผลการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง, ร้อยละ 4.26 กลัวทำบัตรเสีย กาผิด เข้าใจผิด

นี่คือความรู้สึกของประชาชนต่อการเลือกตั้ง ความเป็นห่วงเป็นใยอยู่ที่ความเป็นธรรมในการประกาศผล

จิตใจของประชาชนส่วนใหญ่ยังปรารถนาความเป็นธรรม ความโปร่งใส ที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง

แต่ทว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น การแสดงออกของฝ่ายผู้มีอำนาจกลับพาไปในอะไรต่ออะไรที่ไม่เกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง หยิบยกประเด็นกล่าวหาที่ไม่เกี่ยวกับการตัดสินใจของประชาชน

อย่างไรก็ตาม การกล่าวหานั้นกลับกระทบต่อผลการเลือกตั้งอย่างรุนแรง แม้จะเป็นไปในทางอ้อม แต่ถึงที่สุดแล้ว ผู้ที่ประชาชนเลือกเข้ามามีแนวโน้มที่ต้องเผชิญชะตากรรมที่ทำให้ผลการเลือกตั้งไม่มีความหมาย

เรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ที่รุนแรง

ความพยายามที่จะไม่ให้ “เสียของ” ดูจะปะทะกับความพยายามที่จะทำให้เกิด “ความชอบธรรม”

ต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันและกันว่า “ไม่อยู่ในครรลองที่ควร”

สถานการณ์หลังการเลือกตั้งจึงระอุร้อน

และดูจะยากในการหาจุดที่ยินยอมให้กันและกันได้