ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร | สรรพสิ่งร้อนเป็นไฟ

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (จบ)

สรรพสิ่งร้อนเป็นไฟ

พวกชฎิลมีอุรุเวลกัสสปะเป็นหัวหน้าต่างยอมศิโรราบคาบแก้ว (เป็นสำนวน มิได้คาบแก้วจริงๆ) ต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รับฟังพระโอวาทจากพระพุทธองค์สลัดคราบนักบวชเกล้าผมบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์

บริขารเครื่องใช้ไม้สอยแบบชฎิลก็ถูกโยนทิ้งน้ำหมดว่ากันว่ามีเครื่องแต่งผม ชฎา สาแหรก คาน เครื่องบูชาไฟ น้ำเต้า หนังสือ ไม้สามง่าม ของเหล่านี้ลอยเท้งเต้งมาตามน้ำ

ชฎิลผู้น้อง หรือ “ซือตี๋” เห็นเข้านึกว่าเกิดอันตรายขึ้นแก่ “ซือเฮีย” พร้อมบริวาร จึงพากันขึ้นไปหา รู้ว่าอะไรเป็นอะไรก็เกิดความเลื่อมใส พากันลอยบริขารลงแม่น้ำเช่นเดียวกัน

“น้องเล็ก” อยู่สุดคุ้งน้ำ นึกว่า “พี่ใหญ่” และ “พี่รอง” ประสบอันตรายจึงพาบริวารขึ้นไปดูก็สละเพศภาวะชฎิลเช่นเดียวกับพี่ชายทั้งสอง

พระพุทธองค์ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้ ชฎิลสามพี่น้องพร้อมบริวารรวมแล้วมีหนึ่งพันสามรูป แล้วทรงพาภิกษุเหล่านี้ไปยังตำบลคยาสีสะ ประทับอยู่ ณ ที่นั้นชั่วระยะหนึ่ง

เมื่อทรงเห็นว่าสาวกของพระองค์มีความพร้อมแล้ว จึงแสดงอาทิตตปริยายสูตรให้ฟัง

ต่อไปนี้จะขอสรุปเนื้อหาของพระสูตรให้ฟังดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย ทุกสิ่งร้อนเป็นไฟ ทุกสิ่งที่ว่าร้อนเป็นไฟคืออะไรเล่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ร้อนเป็นไฟ การรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ร้อนเป็นไฟ ความรู้สึกเกิดจากการสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ร้อนเป็นไฟ

ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ ร้อนเพราะความเกิด ความแก่ ความตาย ร้อนเพราะความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ

นี้แหละที่ว่าทุกสิ่งร้อนเป็นไฟ

ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกเมื่อรู้เห็นอย่างนี้ ย่อมหน่ายในตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หน่ายในการรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หน่ายในสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หน่ายในความรู้สึกเกิดจากการสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อหน่ายก็ย่อมคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัด จิตก็หลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็เกิดญาณหยั่งรู้ว่าชาติสิ้นแล้ว เราได้ประพฤติพรหมจรรย์สมบูรณ์แล้ว (คือได้บรรลุจุดหมายปลายทางแล้ว) ไม่ต้องไปทำอะไรอีกต่อไปแล้ว”

พระสูตรนี้เป็นภาษาบาลี 2 หน้า สรุปข้างต้นก็ยังยาวไป ถ้าจะสรุปให้สั้นง่ายแก่การจำจะได้ดังนี้

“ทุกอย่างร้อนเป็นไฟ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ร้อนเป็นไฟ การรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ร้อนเป็นไฟ สัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ร้อนเป็นไฟ ร้อนด้วยไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ ร้อนด้วยชาติ ชรา มรณะ ความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กายทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ อริยสาวกรู้เห็นเช่นนี้ ย่อมหน่าย คลายกำหนัด ไม่ยึดมั่นถือมั่น มีจิตหลุดพ้นและรู้ว่าตนได้สิ้นภพสิ้นชาติ บรรลุเป้าหมายสูงสุดของพรหมจรรย์ ไม่ต้องทำอะไรอีกต่อไปแล้ว”

เมื่อทรงเทศน์จบลง อดีตชฎิล 1,003 รูปก็บรรลุพระอรหัต (อย่าแก้เป็น “อรหันต์” เพราะในที่นี้เป็นคำนามที่หมายถึง “ภาวะของพระอรหันต์”) พร้อมกัน เป็นอันว่าด้วยระยะเวลาอันสั้น พระพุทธองค์ทรงได้สาวกจำนวนพัน มากพอที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างขวางภายในเวลาอันรวดเร็ว

มีข้อที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ พระพุทธเจ้าทรงทราบนิสัย (ความเคยชิน) อุปนิสัย (แวว) และอธิมุติ (ความถนัด) ของผู้ฟังเทศน์ จึงทรงเลือกเรื่องแสดงให้เหมาะกับนิสัย อุปนิสัย และอธิมุติของผู้ฟัง เพราะเหตุนี้เองเวลาทรงแสดงธรรมให้ใครฟัง คนคนนั้นจึงบรรลุธรรมทันทีเป็นที่น่าอัศจรรย์

อย่างพวกชฎิลนี้ วันๆ ก็หมกมุ่นอยู่แต่กับการบูชาไฟหายใจเข้าก็บูชาไฟ หายใจออกก็บูชาไฟ ว่าอย่างนั้นเถอะย่อมมีประสบการณ์เกี่ยวกับความร้อน เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสประโยคแรกว่า

“สพฺพํ ภิกฺขเว อาทิตฺตํ ภิกษุทั้งหลาย ทุกสิ่งทุกอย่างร้อนเป็นไฟ”

เท่านั้น พวกนี้ก็หูผึ่ง

“เอ มันมีแต่ไฟเท่านั้นที่ร้อน ทำไมพระองค์บอกว่าร้อนไปหมดทุกอย่าง” ชักเกิดความอยากรู้ขึ้นมาทันที

พระพุทธองค์ก็ทรงรู้ความในใจของพวกเธอ จึงตรัสยั่วให้กระหาย ใคร่รู้มากขึ้นว่า

“กิญฺจ ภิกฺขเว สพฺพํ อาทิตฺตํ ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่าที่ว่าทุกสิ่งร้อนเป็นไฟ”

ทรงเว้นระยะชั่วขณะยิ่งเร้าให้พวกเธออยากรู้ไวๆ “นั่นสิอะไรล่ะ”

“จกฺขํ อาทิตฺตํ … ตาร้อนเป็นไฟ หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ร้อนเป็นไฟ…”

พระองค์ตรัสต่อไป ค่อยๆ ขยาย ค่อยๆ อธิบายทีละนิดๆ พวกเธอก็ฟังเพลินจนกระทั่งเกิดญาณหยั่งรู้ในที่สุด

ที่บ่นกันว่าฟังพระเทศน์ ฟังผู้รู้ทางศาสนาเทศน์หรือบรรยายธรรมไม่ค่อยรู้เรื่อง ก็เพราะผู้เทศน์ผู้บรรยายไม่คำนึงถึงประสบการณ์ ภูมิหลังของผู้ฟัง ตนถนัดเรื่องอะไรก็พูดแต่แม่น้ำคงคา เมืองพาราณสีของพระเจ้าพรหมทัตโน่น แล้วใครมันจะมองเห็นภาพ

ใช่หรือเปล่า