จรัญ มะลูลีม : สัญญาณระบอบชาฮ์ล่ม เปิดประตูปฏิวัติอิหร่าน

จรัญ มะลูลีม

สถานการณ์ด้านความเป็นระเบียบเรียบร้อยในอิหร่านที่เลวลงและการที่ฝ่ายค้านปฏิเสธไม่ยอมร่วมมือกับชาฮ์ทำให้ชาฮ์ต้องการจะจัดการอย่างเด็ดขาด จึงทรงแต่งตั้งให้รัฐบาลทหารเป็นผู้ปกครองประเทศ รัฐบาลใหม่เอารถถังออกแล่นไปตามถนนเพื่อแสดงแสนยานุภาพ

มีคำสั่งห้ามออกนอกบ้านในเวลากลางคืนคืนละ 8 ชั่วโมง

นายพลกุลาม โอเวซี (Ghulam Oveisi) ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน พยายามใช้นโยบายเด็ดขาดกับกรรมกรน้ำมัน

นอกจากนี้รัฐบาลใหม่นี้ยังใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดกับพวกเสรีประชาธิปไตยด้วย

หัวหน้ากลุ่มหลายคนถูกจับ สถานศึกษาทุกแห่งถูกปิด หนังสือพิมพ์ฉบับสำคัญๆ ถูกปิด ทหารเข้าควบคุมวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์

ในระยะนี้ชาฮ์พยายามเอาใจประชาชนด้วยการให้รัฐบาลใหม่จับนายพลนิอ์มะตุลลอฮ์ นัซซีรี (Nematullah Nassiri) อดีตหัวหน้าหน่วย SAVAK โฮวีดาอดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีอีก 5 นายก็ถูกจับรวมทั้งหัวหน้าตำรวจและข้าราชการชั้นนำอื่นๆ อีกหลายคน

และยังได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนทรัพย์สินและที่ดินของสมาชิกในราชวงศ์และทรงสัญญาว่าจะชำระล้างมูลนิธิปาห์ลาวี ซึ่งเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นในวงราชสำนักด้วย

แต่ก็ไม่มีใครเชื่อใจชาฮ์เสียแล้ว ขบวนการต่อต้านชาฮ์ไม่ยอมรับรัฐบาลทหารชุดนี้เช่นเดียวกับรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้คือรัฐบาลของอิมามี

รัฐบาลทหารชุดนี้ก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ในถนนและไม่สามารถบังคับกรรมกรน้ำมันให้เพิ่มการผลิตน้ำมันได้และไม่ได้รับความร่วมมือ

ชาฮ์จึงต้องหันเข้าหารัฐบาลพลเรือนอีกครั้งหนึ่ง

 

ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ปี 1978 ชาปูร บัคติยาร (Shapour Bakhtiyar) ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเขาหวังว่าจะสามารถหาการสนับสนุนได้พอที่จะจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนขึ้นมาใหม่ภายในโครงร่างของระบบกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และสามารถจะกำจัดอำนาจที่เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ของกลุ่มอิสลามซึ่งเขารู้สึกว่าจะท้าทายพลังของฝ่ายเสรีประชาธิปไตยในอิหร่านได้อย่างแข็งแกร่ง

และต้องการจะเปิดการเจรจาอย่างเปิดเผยกับบรรดาหัวหน้าของขบวนการอิสลาม

โดยเฉพาะอะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงสงครามกลางเมืองคือการปะทะกันระหว่างกำลังทหารที่จงรักภักดีต่อชาฮ์กับฝ่ายต่อต้านเสีย

ความลำบากของบัคติยารก็คือทั้งๆ ที่เขามีความตั้งใจดี แต่ฝ่ายต่อต้านก็ได้หมดความเชื่อถือเขาเสียแล้วเพราะเขากลายเป็นคนของชาฮ์ไป

เขาถูกตั้งข้อรังเกียจจากนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยผู้เกรงว่าชาฮ์จะใช้บัคติยารเป็นเครื่องมือกำจัดขบวนการของพวกตน

อะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ก็ไม่ยอมรับรัฐบาลของบัคติยารว่าเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย

บัคติยารจึงไม่มีทางเลือกนอกจากจะมอบความไว้วางใจไว้กับชาฮ์และการสนับสนุนอย่างไม่เต็มใจของสหรัฐและพวกนิยมชาฮ์ในกองทัพ ซึ่งก็เอาแน่ไม่ได้

เรื่องราวยิ่งยุ่งยากซับซ้อนยิ่งขึ้นเมื่อชาฮ์ออกจากอิหร่านไปโดยอ้างว่าจะไปพักผ่อนในวันที่ 16 มกราคม ปี 1979 หลังจากได้แต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้แล้ว

แต่ชาวอิหร่านก็ยังไม่ลืมประวัติศาสตร์ใน ปี 1953 ซึ่งชาฮ์ย้อนมาทำรัฐประหาร

ดังนั้น การจากไปของชาฮ์จึงยิ่งทำให้การต่อสู้ระหว่างพวกทหารที่นิยมชาฮ์กับฝ่ายต่อต้านชาฮ์เข้มข้นยิ่งขึ้น

อะยาตุลลอฮ์ก็เริ่มมีบทบาทที่สำคัญยิ่งขึ้นด้วย อะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ออกจากอิรักไปอยู่ที่กรุงปารีสเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม และเริ่มต่อต้านชาฮ์อย่างเปิดเผยยิ่งขึ้น บ้านหลังเล็กๆ ของเขา ที่ชานเมืองปารีสได้กลายเป็นฐานปฏิบัติการต่อต้านชาฮ์นอกประเทศอิหร่าน

เมื่อชาฮ์ออกจากอิหร่านไปแล้ว อะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ก็ต้องการจะกลับมาอิหร่าน แต่พวกนายทหารได้ขัดขวางมิให้เขากลับมา ในวันก่อนที่เขาจะมาถึงเตหะรานนั้นทางกองทัพได้จัดการเดินขบวนแสดงแสนยานุภาพ

ในที่สุดเมื่ออะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ปฏิเสธ จึงได้มีการต่อสู้กันระหว่างผู้สนับสนุนชาฮ์ในกองทัพกับฝ่ายต่อต้าน

ในระหว่างการต่อสู้เหล่านี้ หน่วยญาวิดัน (Javidan) คือกองทหารรักษาพระองค์ซึ่งยังจงรักภักดีต่อชาฮ์อยู่ได้ถูกประชาชนรวมทั้งกลุ่มมุญาฮิดีนและเฟดายีน รวมทั้งผู้สนับสนุนอะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ในกองทัพอากาศเข้าโจมตีฝ่ายทหารประสบความพ่ายแพ้

ซึ่งหมายถึงจุดจบของรัฐบาลของชาฮ์ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ปี 1979

 

การกลับมาของอะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี
และการถือกำเนิด
ของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน

ผู้นำนักการศาสนามีชื่อเต็มๆ ว่า ซัยยิด อะยาตุลลอฮ์ รูหุลลอฮ์ อัล-มูซาวี อัลโคมัยนี (ปี 1901-1989) มาจากนักการศาสนาระดับสูงที่เข้ามาท้าทายการปฏิรูปที่ถูกมองว่าเป็นเพียงความพยายามที่จะสถาปนาอำนาจของชาฮ์เท่านั้น

อะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ถูกจับในวันที่ 4 เดือนมิถุนายน ปี 1963 พร้อมกับผู้ประท้วงนับร้อยที่ถูกสังหารหลังจากพวกเขาได้ออกมาตามท้องถนนเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวเขา

หลังจากถูกปล่อยตัวออกมาภายในหนึ่งปี อะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ก็ออกมาต่อต้านชาฮ์อีกในตอนปลายปี 1964 เมื่อชาฮ์ผลักดันทางกฎหมายให้เจ้าหน้าที่ทางทหารของสหรัฐ ซึ่งมีความผิดพ้นผิด อะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ถูกจับอีกครั้งและถูกเนรเทศในเดือนพฤศจิกายนไปยังตุรกี จากที่นั่นเขาได้เดินทางไปยังเมืองนะยัฟ (Najaf) ในอิรัก ซึ่งถือเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์แห่งที่สองต่อจากนครมักกะฮ์ตามความเชื่อของผู้ถือสำนักคิดชีอะฮ์ ที่เมืองนะยัฟเขาอยู่ที่นั่นอย่างเงียบๆ จนเกิดวิกฤตการณ์ความรุนแรงขึ้นในปี 1978

ในเวลานั้นเหตุการณ์ทางการเมืองของอิหร่านย่ำแย่ลงไปอีก เมื่อชาฮ์พยายามระดมพลังประชาชนเข้าด้วยกันภายใต้พรรคการเมืองพรรคเดียวที่มีชื่อว่าพรรครัสตาคิซ (Rastakhiz Party) อาจเป็นไปได้ว่าสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าการขาดระเบียบทางด้านสาธารณูปโภคที่เป็นเรื่องทางกายภาพและการบริหาร ได้แก่ การขาดความเชื่อมโยงเข้าด้วยกันของประชาชนอิหร่านในช่วงทศวรรษ 1970

ทำให้ผู้คนจำนวนมากรู้สึกว่าประเพณีต่างๆ ของพวกเขาได้ถูกทำลายลงไป และประเทศได้ถูกผลักดันเข้าสู่วิถีตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐ

ได้มีความตื่นตัวทางวัฒนธรรมซึ่งถือกำเนิดมาจากอิทธิพลของนักการศาสนาเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970 ทำให้คนหนุ่มสาวยกเลิกเครื่องแต่งกายของประเทศตะวันตกโดยสตรีได้หันมาแต่งกายตามคำสอนของอิสลามด้วยการคลุมศีรษะ (หิญาบ) ทั้งนี้ หนุ่มสาวที่มีความตื่นตัวทางวัฒนธรรมดังกล่าวได้นำเอาศาสนาและประเพณีมาเป็นที่พึ่ง

ก่อนที่จะมีการเริ่มต้นการปฏิวัติในปี 1978 เสียอีกที่ผู้นำแห่งสำนักคิดชีอะฮ์ ซึ่งขึ้นอยู่กับเงินที่อุทิศให้โดยผู้ศรัทธาได้วิจารณ์รัฐบาลในเรื่องของการละเมิดกฎเกณฑ์อิสลาม

จากนั้นก็วิพากษ์ถึงปัญหาเศรษฐกิจ ต่อมาก็ท้าทายทั้งระบบ อันเป็นการระเบิดออกทางสังคมที่ดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในวันที่ 6 มกราคม ปี 1978 ชาฮ์ให้การยอมรับบทความจากสื่อท้องถิ่นที่เยาะเย้ยอะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับชุมชนทางศาสนาเป็นอย่างมาก

นำไปสู่การออกมาต่อต้านชาฮ์ของนักเรียนศาสนาตามท้องถนนในเมืองกูม ตำรวจตอบโต้ด้วยการเริ่มต้นยิงเข้าใส่ผู้ประท้วงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 6 คน

40 วันหลังจากผู้ประท้วงชาฮ์ถูกสังหาร ถือเป็นระยะเวลาของการไว้อาลัยที่เต็มไปด้วยอารมณ์ตามปฏิทินของผู้ถือสำนักคิดชีอะฮ์ ซึ่งปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยต้นๆ ของอิสลาม

ตอนนี้ชาฮ์ได้ถูกนำมาเปรียบเทียบกับผู้กดขี่ในสมัยต้นๆ ของอิสลาม

วันที่ 8 เดือนกันยายน กองทัพอิหร่านได้เปิดฉากยิงเข้าใส่ผู้ประท้วงที่รวมตัวกันอย่างสันติ สังหารประชาชนนับเป็นร้อยๆ คน หรืออาจจะมากกว่า 1,000 คน

ซึ่งถือกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นการสิ้นสุดการปกครองของชาฮ์

ในเดือนธันวาคม ปี 1978 ชาฮ์ได้พิจารณาถึงการออกจากประเทศอย่างจริงจัง ทั้งนี้ พระองค์ได้รับการเตือนจากเอกอัคราชทูตของสหรัฐว่าพระองค์อาจถูกจับตัวได้

แต่ต่อมาพระองค์ถูกเชิญชวนโดยกลุ่มที่ยังคงอยู่เคียงข้างพระองค์ให้สู้ต่อไปโดยเข้าจับกุมผู้คนเป็นจำนวนหมื่นๆ คน

ที่ Neauphle – le Chateau อันเป็นชานเมืองซึ่งอยู่ใกล้กับกรุงปารีส เป็นดินแดนที่อะยาตุลลอฮ์ โคมัยนีได้มาอาศัยเพื่อลี้ภัยทางการเมืองหลังจากถูกบังคับให้ออกมาจากเมืองนะยัฟเมื่อเดือนตุลาคม ที่นี่อะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ได้ยืนกรานว่าชาฮ์จะต้องออกจากอิหร่าน

จำนวนของผู้เดินขบวนและความมีระเบียบตลอดจนความสามารถในการควบคุมฝูงชนที่มารวมตัวกันไม่ได้เป็นที่สงสัยอีกต่อไปว่าชาฮ์จะต้องออกจากอิหร่านไปในที่สุด

ซึ่งพระองค์ได้ตัดสินใจออกจากอิหร่านไปในวันที่ 16 มกราคม ปี 1970

วันที่ 1 เดือนกุมภาพันธ์ ได้มีประชาชนนับล้านๆ คนมาให้การต้อนรับอะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ในกรุงเตหะราน

ซึ่งตัวของอะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ได้เลือกที่จะปรากฏตัวอยู่ในหมู่ประชาชนที่ยากจนของกรุงเตหะรานภายในหนึ่งสัปดาห์จากการกลับมาของอะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ก็เป็นที่ประจักษ์กันโดยทั่วไปว่าโครงสร้างของชาฮ์จะล่มสลายลงในไม่ช้า

และจบสิ้นลงในที่สุด