สมหมาย ปาริจฉัตต์ : เอไอตอบโจทย์พัฒนาการศึกษา-ลดเหลื่อมล้ำ-ไม่ตกงาน

สมหมาย ปาริจฉัตต์

เวที ED TALK ของภาคีเชียงใหม่เพื่อปฏิรูปการศึกษา ครั้งที่ 4 ช่วงสองของบ่ายวันแรก เป็นคิวของมูลนิธิสดศรี สฤษดิ์วงศ์ พันธมิตรร่วมจัด นพ.ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ เลขาธิการมูลนิธิ ขึ้นเวทีด้วยหัวข้อ ปัญญาประดิษฐ์ Artificial Intelligence ในการพัฒนาการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่/พื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา

“มีผู้ส่งคำถามมาถึงผมก่อนมาพูดที่นี่ หุ่นยุนต์จะมาแทนครูหรือเปล่า หมอ ครูจะพากันตกงานหรือไม่” หมอนักการศึกษาเริ่มต้นบทสนทนาอย่างเป็นกันเอง

การนำเรื่องเทคโนโลยีมาพูดกัน เป้าหมายเพื่อตอบโจทย์ว่า เป็นไปได้ไหมที่จะเอาเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทำอย่างไรการศึกษาจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เด็ก คนแก่ ทุกคนมีเสรีภาพ มีศักยภาพในการเรียนรู้ตลอดชีวิต การทำงานในระดับพื้นที่ทำให้เราจับต้องปัญหาได้ตรงจุด ชัดเจน

“ทำไมภาคเหนือคะแนนดีกว่าภาคกลาง” วิทยากรฉายภาพขึ้นจอหน้าเวที เป็นคำถามที่ชวนให้ผู้ชมคิด

 

นอกจากปัญหาระบบการศึกษาแล้ว เศรษฐกิจมีส่วนสำคัญต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ถ้าฐานะยากจน โอกาสก็น้อยลง 10 ปี ที่ผ่านมาความเหลื่อมล้ำยังไม่ลดลง น่าดีใจที่เชียงใหม่มีกองทุน 10 บาทช่วยแก้เศรษฐฐานะของเด็กที่ขาดเรียน หรือต้องออกจากโรงเรียนไปหารายได้เสริมช่วยครอบครัว

30 ปี มีรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ 26 คน เอาหมอมาแก้ปัญหาการศึกษาถูกหรือเปล่า เป็นคำพูดที่น่าคิด ปัญหาการศึกษาของเราที่ผ่านมา

1. คุณภาพต่ำ

2. ความไม่เสมอภาคทางการศึกษา

3. การศึกษาที่ไม่ตอบสนองต่อความแตกต่างของศาสนาและวัฒนธรรม

4. การบริหารการศึกษาที่มาจากส่วนกลางและซับซ้อนจนด้อยประสิทธิภาพ ทั้งๆ ที่ระบบการศึกษาของเราเรียนฟรีตลอด

จากงานวิจัยพบว่า ตอนอยู่ในกล่อง (โรงเรียน) ในพื้นที่ ความเสมอภาคแตกต่างกันไม่เท่าไหร่ แต่พอย้ายกล่อง (โรงเรียน) ย้ายอำเภอ ยิ่งเพิ่มมาก ความเท่าเทียมในด้านต่างๆ อาจทำให้มีมาตรฐานเดียวกัน แต่ทักษะความถนัด ความชอบในการเรียนรู้ของเด็กแตกต่างกัน ไม่เท่ากัน เด็กบางคนต้องการสนับสนุนดูแลเฉพาะ ต่อให้ครูเก่ง แต่หากต้องดูแลเด็กทีเดียวพร้อมกัน 30-40 คนให้ดีได้น่าจะยาก จึงต้องหาวิธีการ อุดหนุนช่วยเหลือให้เกิดการพัฒนาการ และเรียนรู้รายบุคคลให้ได้

5 ปีที่ผ่านมามีเทคโนโลยีช่วยในการหาคำตอบ การเรียนรู้แต่ละคนมีพฤติกรรมอย่างไร เก็บสะสมวิธีการเรียนรู้ของคน ขอให้ใส่ข้อมูลเข้ามา ความสามารถของคอมพิวเตอร์และเครือข่ายต่างๆ ช่วยกันเก็บพฤติกรรมการเรียนรู้ได้มาก ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ของเขา ช่วยทำให้วิเคราะห์ตัดสินใจต่างๆ ง่ายขึ้น

เรียนรู้อย่างไร ชอบวิธีไหนในการเรียนรู้ เทคโนโลยีทำให้เราเห็นพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคนได้

 

การสร้างและพัฒนา Learning Analytic Platform วิเคราะห์ข้อมูลดิบที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จาก

1. คะแนนสอบรายปีของเด็ก ป.1-ป.6 จำนวน 701 คน ระหว่างปี พ.ศ.2553-2560

2. แผนการสอนที่ครูเขียนสะสมเอาไว้บน Web

3. คะแนน O-net ของปี พ.ศ.2553-2560 พบประเด็นที่น่าสนใจที่จะนำไปสู่การพัฒนาการเรียนรู้รายบุคคลอย่างหลากหลาย

พบกลุ่มข้อมูล (Data Clustering) แยกเป็น 2 กลุ่มเห็นคะแนนเกาะกลุ่ม กลุ่มที่ 1 สีแดง เป็นการเรียนแบบรายวิชา กลุ่มที่สอง สีเขียว เรียนแบบบูรณาการ (Problem Based Learning) พบว่าการเรียนแบบบูรณาการ เด็กนักเรียนมีผลการเรียนสูงกว่าการเรียนแบบรายวิชาอย่างมีนัยยะสำคัญ

เราเอาแผนการสอนของครูมาเข้าเครื่องกรอง การเตรียมการจัดการเรียนการสอน ครูใส่ทักษะอะไรลงไปบ้าง พบว่าแผนการสอนที่ครูออกแบบในการจัดการเรียนการสอนแบบ Problem Based Learning มีการใช้เครื่องมือและทักษะ เช่น ทักษะการใช้สื่อเพื่อการเรียนรู้ (Media Literacy Skill) มาก อย่างมีนัยยะสำคัญ

ทักษะที่ครูไม่ค่อยได้เอ่ย (บรรจุในแผนการสอน) เกี่ยวกับการประเมิน การจัดกลุ่มความรู้ การขมวดรวบรวมความรู้ เมื่อเอาข้อมูลไปให้ครูดู ทำให้ครูสามารถที่จะออกแบบแผนการสอนใหม่ที่ครบถ้วนมากขึ้น

“จากการวิเคราะห์ เราไม่เชื่อว่าการเรียนของเด็กในอนาคตจะเป็นเส้นตรงทางเดียว แต่ละคนมีเส้นทางการเรียนรู้หลากหลาย ครูจัดสื่อการสอนหลากหลาย จับจริตเด็กแต่ละคนได้ ใน 1 ห้องครูรู้เลยว่าเด็กแต่ละกลุ่มชอบเรียนอะไร ด้วยวิธีการอะไร บางคนชอบดูวิดีโอ บางคนชอบอ่านหนังสือ” คุณครูก้องเกียรติย้ำ

“การทดสอบความสามารถ สอบ PISA ได้คะแนน 300-400 เรามีเครื่องมือทดสอบเขาไหม ไม่ใช่เขาผิดแต่แรก การเรียนรู้ของคนต่างกัน กระบวนการวิเคราะห์การเรียนรู้ เกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงเกิดสิ่งนี้ จะทำให้ความเท่าเทียม ความเสมอภาคเกิดขึ้นได้อย่างไร

ระบบวิเคราะห์การเรียนรู้ Learning Analytics ข้อมูลขนาดใหญ่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ทั้งในระบบและนอกระบบ ช่วยให้ครูทำงานสะดวก รวดเร็ว จัดการเด็กได้ดีขึ้น ทำอย่างไรโครงสร้างในระดับพื้นที่จะช่วยลดปัญหา ความพยายามสร้างเครื่องมือ ศักยภาพที่จะใช้ช่วยครูในการพัฒนาเด็กเป็นรายคนได้และเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ร่วมกันต่อไป

จนนำไปสู่โอกาสลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้

 

มูลนิธิสดศรีจะทำ Data visualization เพื่อให้เห็นปรากฎการณ์และนำไปใช้ในโรงเรียน ให้ครูเห็นกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก นำไปสู่การจัดการระดับจังหวัดเพื่อเห็นการเรียนรู้ในภาพรวม ขณะเดียวกันทำวิจัยควบคู่ไปด้วย เพื่อตรวจสอบและสร้างความรู้ใหม่ๆ มาใช้ขับเคลื่อนทางนโยบาย โดยมีความคาดหวังที่จะนำไปสู่การยกระดับการศึกษาของประเทศได้

การดำเนินงานต้องอาศัยเครือข่ายต่างๆ จำนวนมาก เช่น เครือข่ายโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง จำเป็นต้องมีข้อมูลเบื้องต้น โดยเริ่มประสานงานและรวบรวมภาคีเพื่อให้ได้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ดังนี้

1. การติดตามข้อมูลพัฒนาการเด็กระยะยาว

2. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาได้สำรวจเด็กด้อยโอกาสทำให้ได้รับรู้ปัญหาด้านการเงินและผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็กกลุ่มด้อยโอกาส

3. ระบบการเรียนรู้ในโรงเรียน มีการทำงานร่วมกับผู้พัฒนา Go to Know ช่วยพัฒนาระบบการจัดการการเรียนรู้ในโรงเรียนหรือ Class Start (CS) โดยนำข้อมูลจาก CS มาประมวลร่วมกัน

4. Informal Learning ในกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มบ้านเรียน home school เครือข่ายผู้ปกครอง

5. การเรียนรู้ภาคประชาชนทุกช่วงอายุ

“ความพยายามสร้างเครื่องมือ เทคโนโลยีจะช่วยแก้ปัญหาการศึกษาได้อีกทางหนึ่ง”

นพ.ก้องเกียรติปิดท้ายการบรรยายท่ามกลางเสียงปรบมือด้วยความยินดีของครู นักเรียน ผู้ปกครอง ที่ได้ฟังเรื่องราว “การศึกษากับเทคโนโลยี” อย่างเต็มอิ่ม