Out of Place นิทรรศการร่วมไทย-เกาหลี ที่สำรวจความเปลี่ยนแปลงของสังคมยุคโลกาภิวัตน์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้ไปดูนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจ เลยเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย

นิทรรศการนี้มีชื่อว่า Out of Place ซึ่งเป็นนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยที่จัดขึ้นในวาระครบรอบ 60 ปี ความสัมพันธ์ไทยและเกาหลีใต้ ด้วยความร่วมมือระหว่าง ศุภโชค ดิ อาร์ท เซ็นเตอร์ และ Korea Foundation

โดยนำเสนอผลงานของศิลปินร่วมสมัยรุ่นใหม่ชาวไทยและเกาหลีใต้จำนวน 7 คนกับ 1 กลุ่มศิลปินอย่างอิสรากาญจน์ ยิ่งยง, ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์, ดาว วาสิกศิริ, เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล, ปฏิพัทธิ์ ชัยวิเทศ, Park Kyung Ryul, Hyemin Park และ Moojin Brothers

นิทรรศการนี้ยังเป็นการร่วมงานของสองภัณฑารักษ์ชาวเกาหลีใต้และชาวไทยอย่าง Jeongsun Yang และชล เจนประภาพันธ์

“นิทรรศการนี้เหมือนเป็นการมองว่าแต่ละสังคม แต่ละประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไปยังไง และสำรวจว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ถูกสื่อสารผ่านผลงานศิลปะได้อย่างไรบ้าง ซึ่งศิลปินที่แสดงในนิทรรศการนี้ก็จะมีความสนใจไม่เหมือนกัน บางคนก็สนใจเกี่ยวกับภัยธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม บางคนสนใจเรื่องปัญหาสังคม หรือว่าปัญหาระหว่างเชื้อชาติ แต่ท้ายที่สุดประเด็นปัญาหาเหล่านี้เป็นอะไรที่เป็นโลกาภิวัตน์ ที่ทุกที่ต่างก็มีเหมือนๆ กัน เราก็เลยหยิบปัญหาเหล่านี้มาแสดงผ่านผลงาน เพื่อที่จะทำความเข้าใจว่าเรามีมุมมองและความเข้าใจต่อปัญหาเหล่านั้นยังไง” Jeongsun Yang ภัณฑารักษ์ชาวเกาหลีกล่าว

“อย่างเรื่องความสัมพันธ์ไทยกับเกาหลีที่ครบรอบ 60 ปีเนี่ย เราพบว่ามันมีที่มาจากการที่ไทยไปร่วมรบในสงครามเกาหลี เราเลยมองว่าบางครั้งสงครามมันทำให้เกิดเงื่อนไขบางอย่างขึ้นมา โจทย์ของนิทรรศการ Out of Place ก็คือความผิดที่ผิดทาง เรานึกถึงการเดินทาง นึกถึงการแลกเปลี่ยน นึกถึงการที่คนย้ายจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง ถูกแยกออกจากกัน เราเลยนึกถึงศิลปินกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวกับการโยกย้ายของสิ่งแวดล้อมหรือวัฒนธรรมต่างๆ”

ชล เจนประภาพันธ์ ภัณฑารักษ์ชาวไทยกล่าวเสริม

เริ่มต้นด้วยผลงานของ Park-Kyung-Ryul งานจิตรกรรมที่ดูคล้ายกับการปะติด (collage) อันเต็มไปด้วยรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ บนพื้นที่ว่างที่เต็มไปด้วยรูปทรงที่คล้ายกับสิ่งก่อสร้าง อาหาร สิ่งของ และสิ่งมีชีวิต

ผลงานของ Park-Kyung-Ryul

องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้ผลงานของเขาดูราวกับทิวทัศน์ที่มีชีวิต ที่กำลังเคลื่อนไหวและเติบโต เนรมิตให้เกิดมิติอันหลากหลายบนผืนผ้าใบ

ย้ำเตือนให้เราไม่มองโลกใบนี้ด้วยความคิดตื้นเขินแบนราบ

ตามมาด้วยผลงานของอิสรากาญจน์ ยิ่งยง ศิลปินไทยที่สร้างสรรค์ผลงานขึ้นจากเสื้อยืดมือสองจากตลาดท้องถิ่นของประเทศไทยที่ถูกส่งมาจากหลายประเทศทั่วโลก

ผลงานของอิสรากาญจน์ ยิ่งยง

ผลงานของเขาเป็นการนำสิ่งของไร้ค่าราคาถูกที่มีอยู่ดื่นดาษกลาดเกลื่อนนำกลับมาสร้างคุณค่าใหม่

และกระตุ้นให้เราตระหนักถึงขยะที่เรากำลังร่วมสร้างขึ้นทุกวินาที

ผลงานของอิสรากาญจน์ ยิ่งยง

“งานของผมเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เริ่มจากผมเอาเสื้อยืดมือสองมาดีไซน์ใหม่แล้วให้คนเอาเสื้อมาแลก แล้วผมก็เอาเสื้อเหล่านั้นมาประกอบขึ้นเป็นงาน โดยการนำเอาเสื้อเหล่านั้นมาทำเป็นงานศิลปะ ส่วนในนิทรรศการนี้ผมเอาเสื้อของคนอเมริกันมาทำเป็นไม้แขวนเสื้อโดยใช้สีแดง ขาว น้ำเงิน ซึ่งเป็นสีของธงชาติ ไทย อเมริกา และเกาหลี โดยไม้แขวนเสื้อนี้จะดูเหลวไร้รูปทรง ล้อเลียนกับความเหลวไหลของการเมืองเรื่องสีเสื้อด้วย ตัวประติมากรรมไม้แขวนเสื้อนี้ คนดูสามารถดัด งอได้ตามใจตัวเอง บนตัวไม้แขวนเสื้อจะมีลวดลายให้คนดูพลิกอ่านถ้อยคำเกี่ยวกับการเมืองและการรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปัจจุบันออกจะไร้ความหมาย เพราะแคมเปญบางอย่างกลับเป็นตัวทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง สร้างขยะ และทำให้โลกร้อนเสียเอง”

ต่อด้วยผลงานภาพถ่ายของดาว วาสิกศิริ ผู้ใช้ภาพถ่ายสังเกตการณ์การขยายตัวและการเปลี่ยนแปลงของเมืองมาร่วมยี่สิบปี ผลงานในนิทรรศการนี้เขาพัฒนามาจากวิธีคิดแบบภาพถ่ายสตรีต โดยเขาสังเกตวิธีการแต่งกายของผู้คนในท้องถิ่นชนบทประเทศไทย

ผลงานของดาว วาสิกศิริ

และพบว่ามันมีการผสมผสานของความเป็นพื้นถิ่นกับความเป็นสมัยใหม่และความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเมือง

หรือผลงานของเรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล ศิลปินที่ทำงานเกี่ยวกับการค้นคว้าทางชีววิทยาและสะท้อนให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมไม่ได้กระทบกับมนุษย์เท่านั้น หากแต่ยังส่งผลต่อสิ่งมีชีวิต พืช และสิ่งแวดล้อมอีกมากมายที่อยู่ในวัฏจักรเดียวกัน ผลงานในนิทรรศการนี้ เรืองศักดิ์เก็บตัวอย่างของน้ำจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ประเทศไทยในปี 2554 ที่มีตะกอน สารแขวนลอย ในพื้นที่ต่างๆ ของเมืองหลวง แสดงอยู่ในหลอดแก้ว ซึ่งเป็นหลักฐานที่บ่งบอกถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ล้มเหลวมาตลอดของรัฐบาลไทย

ผลงานของเรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล
ผลงานของเรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล

ต่อด้วยผลงานของปฏิพัทธิ์ ชัยวิเทศ ศิลปินรุ่นใหม่ผู้สร้างสรรค์ผลงานที่นำสิ่งของ พืช หรืออาหาร ผสมเข้ากับการถักสาน ในนิทรรศการนี้เขาใช้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในฐานะอาหารที่มากับวัฒธรรมป๊อปของเกาหลี นำมาแปรรูปขึ้นใหม่เป็นประติมากรรมรูปศีรษะคน เพื่ออุปมาวัฒนธรรมยุคใหม่กับอาหารกึ่งสำเร็จรูปที่ปรุงได้อย่างรวดเร็ว

ผลงานของปฏิพัทธิ์ ชัยวิเทศ
ผลงานของปฏิพัทธิ์ ชัยวิเทศ

“วัฒนธรรมเกาหลีแพร่ขยายเข้าไปทั่วโลกมาสู่บ้านเราจนกลายเป็นวัฒนธรรมหลัก ทั้งหนัง ซีรี่ส์ เพลง แฟชั่น แต่ในวัฒนธรรมหลักเหล่านี้ก็จะมีวัฒนธรรมแฝงอย่างโฆษณาสอดแทรกอยู่ด้วย ผมเลยใช้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของเกาหลีเป็นสัญลักษณ์แทนโฆษณาเหล่านี้ ด้วยการทำแม่พิมพ์จากใบหน้าและศีรษะของชาย-หญิงในรุ่นที่รับเอาวัฒนธรรมเกาหลีมาเต็มๆ แล้วใช้บะหมี่หล่อขึ้นรูปเป็นประติมากรรมรูปหน้าคนเหล่านั้นออกมา”

หรือผลงานของศิลปินเกาหลี Hyemin Park ที่เล่าเรื่องราวภายใต้พื้นที่ทับซ้อนของวัฒนธรรมอันหลากหลายที่แทรกอยู่ในกรุงโซล และหยอกล้อและตั้งคำถามกับความเป็นรัฐชาติ เชื้อชาติ และวัฒนธรรม และคนหลากเชื้อชาติที่พลัดถิ่นเข้ามาตั้งรกรากเป็นชุมชนใหม่ในเกาหลี

ผลงานของ Hyemin Park

“ฉันโยนคำถามกับคนเหล่านั้นว่าเขาอยากอยู่ในประเทศแบบไหน พอได้คำตอบมา หลังจากนั้นก็ทำเวิร์กช็อปเพื่อสร้างผลงานชุดนี้ขึ้นมา หลังจากนั้นฉันก็นำข้อมูลเหล่านี้มาสร้างเป็นประเทศในจินตนาการขึ้นมา ฉันพบว่าท้ายที่สุดแล้ว ประเทศในอุดมคติของแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกันหมด เราไม่สามารถเอาที่ใดที่หนึ่งเป็นที่ตั้งของความคิดของใครหลายๆ คน หรือเป็นประเทศที่น่าอยู่สำหรับทุกคนได้ นอกจากนี้ ผลงานในนิทรรศการนี้ยังมีแบบสอบถามความคิดเห็นสำหรับผู้ชมชาวไทยด้วยเช่นกัน”

และผลงานของกลุ่มศิลปินเกาหลีพี่น้อง Moojin-Brothers อย่างภาพยนตร์ขนาดสั้นที่ฉายภาพของผู้หญิงกำลังทำกิจกรรมบางอย่างคล้ายกับการเย็บปัก บนหลังของเธอถูกห่อหุ้มด้วยสิ่งที่ดูคล้ายกับเปลือกและขาของแมลงที่ยึดโยงอย่างไม่เป็นระเบียบภายในห้องใต้หลังคาที่อึดอัดมืดทึม

ผลงานของ Moojin-Brothers

ผลงานชิ้นนี้แสดงออกถึงความคาดหวังและความฝันของชนชั้นแรงงานในเกาหลีที่ห่างไกลจากความเป็นจริงเหลือเกิน

ปิดท้ายด้วยผลงานของไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ ศิลปินนักทำหนังทดลองผู้สนใจประเด็นเกี่ยวกับพิธีกรรม ความเชื่อ ศรัทธา และสิ่งเร้นลับ

ผลงานของไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์

ไทกิผสมภาพเคลื่อนไหวที่เขาถ่ายทำจากวัดที่จังหวัดชัยนาทอายุสี่ร้อยปีที่เหลือแค่ซากอยู่บนยอดเขา

เขาพบว่าในวัดมีพระจำวัดอยู่รูปเดียว (ซึ่งพระรูปนี้เล่าให้ฟังว่าตอนหนุ่มๆ ท่านนั่งสมาธิแล้วเห็นนิมิต เห็นตัวเองลอยออกจากร่างขึ้นไปบนเพดาน)

กับวัดอีกแห่งที่เชียงใหม่ ที่เขาสัมผัสได้ถึงพลังลึกลับบางอย่างที่เข้มข้น จนเขารู้สึกหวาดกลัวมาก

ปิดท้ายด้วยภาพเคลื่อนไหวจากพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ที่ซากของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นก็บังเอิญไปพ้องกับซากของวัดเก่าแก่ที่อยู่บนเขา

ภาพของสถานที่สามแห่งนี้ถูกนำไปผนวกกับเสียงที่เป็นเรื่องเล่าของครอบครัวหนึ่งในภาคเหนือที่เล่าถึงความฝันของสามีที่เสียชีวิตแล้ว ที่เห็นวิญญาณประหลาดในฝัน และการเห็นศพที่ถูกเผานั่งยางในป่าสมัยที่เขาทำงานในอุทยาน

ไทกิผสานภาพและเสียงที่บันทึกสถานที่ และเรื่องเล่าในชุมชน จากต่างสถานที่ เวลา และวาระ เพื่อนำเสนอประวัติศาสตร์อันธรรมดาสามัญที่ตกสำรวจหรือถูกลบออกไปอย่างจงใจ

นิทรรศการ Out of Place จัดแสดงระหว่างวันที่ 19 มีนาคม ถึง 28 เมษายน 2562 ณ ห้องแสดงนิทรรศการชั้น 1 อาคารหอศิลป์ ศุภโชค ดิ อาร์ท เซ็นเตอร์

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ โทร. 0-2662-0299 อีเมล : [email protected] ติดตามข่าวสารงานแสดงด้วยแฮชแท็กหลัก : #SAC_OutofPlace

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากศุภโชค ดิ อาร์ท เซ็นเตอร์