นิธิ เอียวศรีวงศ์ | กรรมสิทธิ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ครูซึ่งผมนับถืออย่างสูงท่านหนึ่ง คือศาสตราจารย์อาคม พัฒิยะ มักพูดทีเล่นทีจริงเสมอว่า กรรมสิทธิ์เหนือทรัพย์สินส่วนบุคคลเป็น “ศาสนา” ของทุนนิยม

ในปัจจุบัน เรามักรู้สึกว่ากรรมสิทธิ์นี้เป็นธรรมชาติ ดังนั้น จึงต้องมีในสังคมทุกชนิด แต่ความจริงแล้วกรรมสิทธิ์ที่เด็ดขาดขั้นนี้เพิ่งเกิดขึ้นในภายหลัง เมื่อทุนนิยมเริ่มก่อตัวขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 14-15 ตามเมืองที่เป็นทำเลค้าขาย โดยเฉพาะเมืองท่าชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของอิตาลี

เมืองในยุโรปและเอเชียนั้นต่างกันมากตรงที่ว่า ในยุโรป เมืองมักเกิดจากพ่อค้าซึ่งยอมเสียภาษีเป็นตัวเงินให้แก่เจ้าครองแคว้นหรือครองราชอาณาจักร เพื่อแลกกับอิสรภาพจากการบังคับควบคุมของเจ้า แต่เมืองในเอเชียคือที่ตั้งของเจ้าหรืออำนาจเด็ดขาดที่ควบคุมทุกอย่างในเมืองได้อย่างใกล้ชิด

ชนบทเสียอีกที่อยู่ห่างไกลจากการบังคับควบคุมมากกว่า

ผมเข้าใจว่า การยอมรับกรรมสิทธิ์เหนือทรัพย์สินส่วนบุคคลอย่างเด็ดขาดเกิดขึ้นในเมืองของยุโรปก่อน เพราะนี่เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นของพ่อค้า ไม่อย่างนั้นจะเหนื่อยยากค้าขายไปทำไม

อย่างไรก็ตาม ผมควรกล่าวเสริมไว้ด้วยว่า ระบอบศักดินาของยุโรปยอมรับกรรมสิทธิ์เหนือทรัพย์สินเหมือนกัน แต่ไม่เด็ดขาดทีเดียวนัก แต่ละคนนับตั้งแต่ไพร่ไปถึงเจ้า (ครองแคว้น) มีกรรมสิทธิ์ – หรือพูดให้ถูก สิทธิการใช้ – เหนือทรัพย์สินตามกฎหมายประเพณีหรือสัญญาทางสังคม เช่น ชาวนาใช้ที่ดินเพื่อเพาะปลูกได้ แต่ต้องแบ่งผลผลิตส่วนหนึ่งให้แก่เจ้าเหมือนเป็นค่าเช่า ตราบเท่าที่เขายังจ่ายผลผลิตตามสัญญา (และพันธะอื่นๆ) เจ้าจะมายึดเอาที่ดินทำกินของเขาคืนไปไม่ได้

นอกจากนี้ ไม่มีอำนาจจะใช้ที่ดินนั้นเพื่อการอื่นนอกสัญญา (เช่น เอาไปขายไม่ได้) ในฤดูล่าสัตว์ เจ้าอาจนำสมุนและสมัครพรรคพวกขี่ม้าลุยไปเหนือที่ดินนั้นเพื่อล่าสัตว์ก็ได้ ดังนั้น จึงเป็นกรรมสิทธิ์ที่ไม่เด็ดขาด แต่ก็ยังดีที่มีกฎหมายประเพณีหรือสัญญาทางสังคมที่ช่วยประกันสิทธิไว้ระดับหนึ่ง ผิดจากในเอเชียที่ไม่มีหลักประกันอะไรแก่กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลเอาเลย เพราะเจ้าหรือพระราชาจะยึดเอาไปเมื่อไรก็ได้

ถึงยอมรับว่าศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 ไม่ใช่ของปลอม ข้อความที่ว่าผู้บุกเบิกเรือกสวนไร่นา ก็จะ “ไว้” แก่ตัวเขาและอาจสืบทอดเป็นมรดกแก่ลูก-หลานได้ ก็ยังไม่ใช่การรับรองกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินเด็ดขาดนั่นเอง เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นของ “พระราชทาน” ก็ย่อมถูกเรียกคืนได้เสมอ

เหตุใดกษัตริย์สุโขทัยจึงใช้นโยบายนี้ ส่วนหนึ่งก็คงเป็นความพยายามจะดึงดูดประชากรให้เข้ามาเป็นกำลังของบ้านเมือง แต่อีกส่วนหนึ่งอาจตรงกับคำอธิบายของศาสตราจารย์ Anthony Reid (Southeast Asia in the Age of Commerce) ซึ่งผมขอสรุปสั้นๆ ไว้ตรงนี้

จะเห็นได้ว่า พ่อค้าซึ่งมักเป็นขุนนางหรือผู้มีอำนาจในรัฐต่างๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักไม่ค่อยยอมลงทุนกับสิ่งที่เรียกว่าทุนตายตัว เช่น ที่ดิน, บ้านเรือนที่อยู่อาศัย, ร้านค้า, เครื่องจักรกลที่ใช้ในการผลิต ฯลฯ เหตุผลที่ Reid มองเห็นก็คือ พระเจ้าแผ่นดินมักเรียกเอาทรัพย์สินจากพ่อค้าอย่างหนัก ยิ่งใครแสดงให้เห็นว่ารุ่มรวยก็ยิ่งถูกเรียกมาก ทุกคนจึงเก็บทรัพย์สินไว้ในรูปที่อาจขนหนีพระราชอำนาจได้โดยง่าย เช่น เครื่องประดับ ขุนนางใหญ่ๆ อาจสร้างเรือนด้วยไม้จริง แต่ก็ซอมซ่อเมื่อเทียบกับมาตรฐานฝรั่งหรือจีน ทั้งแทบไม่มีเฟอร์นิเจอร์อะไรสักชิ้นบนเรือน

อย่างไรก็ตาม Reid ตั้งข้อสังเกตว่า ดูจากหลักฐานโปรตุเกสซึ่งเป็นชาติแรกที่บุกทะลวงเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยกำลังทหาร มีรายงานเต็มไปหมดว่าพ่อค้าและขุนนางซึ่งเป็นเศรษฐีมักสร้างบ้านเรือนของตนให้ใหญ่โตโอ่โถง บางแห่งสร้างกำแพงล้อมไว้ด้วยหินหรือปูนด้วยซ้ำ (เพื่อความปลอดภัยในการรักษาสินค้าและทรัพย์สินของตนด้วย) และบางแห่งบางคนมีกองทหารขนาดใหญ่ไว้ป้องกันตนเองด้วย

สภาพอวดร่ำอวดรวยนี้หมดไป เมื่อการค้าระหว่างประเทศในเอเชียขยายตัวขึ้นอย่างมากในเวลาต่อมา กษัตริย์ของราชอาณาจักรที่มีเมืองท่าติดทะเลหรือของแว่นแคว้นที่ติดทะเล ต่างพากันสะสมอำนาจของตนให้กล้าแข็งขึ้น จึงหวงและกีดกันการค้าระหว่างประเทศไว้กับพระคลังหลวงเพียงฝ่ายเดียว ร้ายยิ่งไปกว่านั้น ยังหาเรื่องริบราชบาทว์พ่อค้าและขุนนางอยู่บ่อยๆ จนกระทั่งการมีทรัพย์สินนั้นเองคือที่มาของราชภัย นอกจากการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคเริ่มซบเซาลงอย่างรวดเร็วแล้ว ยังทำให้ทั้งภูมิภาคย่างเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการอวดจนอวดยากด้วย เพื่อทำให้ทรัพย์สินของตนมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น

สรุปก็คือ ความเฟื่องฟูของการค้าระหว่างประเทศ ทำให้เกิดระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ขึ้นทั่วไปในราชอาณาจักรและแว่นแคว้นต่างๆ

ถ้ากรรมสิทธิ์เหนือทรัพย์สินได้รับคำรับรองระดับหนึ่งมาก่อนจริงในจารึกหลักที่ 1 ตกมาถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 และ 17 สิทธิที่จะมีกรรมสิทธิ์นั้นก็อันตรธานลงหมด กฎหมายที่ออกในรัชกาลพระเอกาทศรถ เรียกเอาหนึ่งในสามของมรดกเป็นของหลวง สัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นในภายหลังด้วยตามรายงานของคนต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในอยุธยา เกือบตลอดศตวรรษที่ 17 กษัตริย์ประหารและริบราชบาทว์ขุนนางที่มีอำนาจและทรัพย์จำนวนมาก พระราชอำนาจมีลักษณะเป็นสมบูรณาญาสิทธิ์เต็มที่ อย่างน้อยก็ในเขตเมืองซึ่งส่วนกลางสามารถขยายอำนาจไปถึงได้

อย่างไรก็ตาม สภาพไม่มั่นคงในชีวิตขุนนางอยุธยามาสิ้นสุดลงเมื่อสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ราชวงศ์ใหม่เลิกนโยบายหาเหตุบั่นรอนอำนาจราชศักดิ์และทรัพย์ของขุนนาง จึงเปิดโอกาสให้ขุนนางหลายตระกูลสามารถสั่งสมอำนาจสืบมาได้ นโยบายใหม่นี้ดำเนินสืบมาจนถึงราชวงศ์จักรี ซึ่งเท่ากับว่ากรรมสิทธิ์เหนือทรัพย์สินของขุนนางและพ่อค้าที่มั่งคั่งทั้งหลายได้รับการรับรองในทางพฤตินัยมากขึ้น แม้ไม่มีกฎหมายรองรับก็ตาม จนดูเหมือนสิทธิเหนือทรัพย์สินส่วนบุคคลในประเทศไทยมีความมั่นคง เสียจนกระทั่งแม้แต่ฝรั่งซึ่งเข้ามาทำสัญญาทางพระราชไมตรีต่างๆ ไม่ได้บรรจุเงื่อนไขนี้ไว้ในสัญญาเลย

ด้วยเหตุดังนั้น เมื่อสยามเข้าสู่ความทันสมัยในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา กฎหมายอาญาและแพ่งพาณิชย์ซึ่งร่างขึ้นภายใต้อิทธิพลของแนวคิดกฎหมายตะวันตก จึงได้รับรองกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลไว้อย่างแข็งแรงเหมือนรัฐสมัยใหม่อื่นๆ แต่ผมคิดว่ามรดกของแนวคิดเรื่องกรรมสิทธิ์แบบไทยซึ่งมีมาตั้งแต่ปลายอยุธยาก็ยังอยู่ เพียงแต่แฝงมาในรูปที่ไปกันได้กับกฎหมายใหม่เท่านั้น

ผมขอพูดถึงมรดกนี้ไว้เพียงสามเรื่อง

1. แกนกลางของชนชั้นนำไทยคือราชสำนักและกลุ่มผู้รากมากดีซึ่งสืบเชื้อสายมาตั้งแต่ปลายอยุธยา ทั้งสองกลุ่มมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นและหลากหลายมิติจนแยกออกจากกันไม่ได้ (เช่น แต่งงานระหว่างกัน) ในขณะเดียวกันกลุ่มแกนกลางนี้ไม่ใช่กลุ่มปิด หากเปิดรับและกลืนเจ้าสัวเชื้อสายจีนเข้าสู่กลุ่มเหมือนกัน ตราบเท่าที่เจ้าสัวเหล่านี้ยอมรับวัฒนธรรมของชนชั้นนำ เช่น ยอมรับลำดับช่วงชั้น, ยอมรับศิลปวัฒนธรรมชั้นสูง ฯลฯ

ผมนึกถึงกลุ่มพ่อค้าใหญ่ในรัฐโบราณของภูมิภาคนี้ ซึ่งภาษามลายูเรียกว่า Orangkaya แปลว่า “บิ๊ก” ในภาษาไทยปัจจุบัน ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดล้วนเป็นคนต่างชาติทั้งสิ้น และเข้าไปมีบทบาททางการเมืองของรัฐมากบ้างน้อยบ้างในฐานะสมาชิกของชนชั้นนำ “บิ๊ก” ที่มีชื่อเสียงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยคงหนีไม่พ้นออกญาวิไชเยนทร์หรือฟอลคอน

2. สิทธิจะมีกรรมสิทธิ์เหนือทรัพย์สินส่วนบุคคลนั้น นอกจากรัฐจะไม่เที่ยวริบทรัพย์คนอื่นเป็นว่าเล่นแล้ว รัฐยังต้องมีหน้าที่ปกป้องทรัพย์สินส่วนบุคคลของคนทั้งสังคมด้วย พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือตีชิงวิ่งราว, ลักเล็กขโมยน้อย, ไปจนถึงการฉ้อโกง จะเกิดขึ้นโดยรัฐไม่ปราบปรามลงโทษไม่ได้ และต้องทำอย่างถ้วนหน้าแก่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นบิ๊กหรือไม่ก็ต้องได้รับความคุ้มครองเท่ากัน

เรื่องนี้ไม่ต้องพูดมากก็เห็นได้อยู่นะครับว่า รัฐไทยเปิดโอกาสให้คนเล็กคนน้อยได้รับความคุ้มครองเท่ากับบิ๊กๆ หรือไม่

3. ทรัพย์สินอีกประเภทหนึ่งซึ่งแม้ไม่ใช่ส่วนบุคคล แต่ทุกคนต้องได้สิทธิในการใช้ประโยชน์ตามวิถีทางของตนด้วย แทบจะไม่ได้รับความคุ้มครองจากรัฐเลย เพราะจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม รัฐเปิดให้ “บิ๊ก” ได้ใช้มันอย่างสุรุ่ยสุร่าย จนกระทั่งคนอื่นไม่ได้ใช้หรือใช้มันไม่ได้ อากาศที่เป็นพิษไม่มีทางจะแก้ได้สำเร็จในเมืองไทย เพราะรัฐไม่กล้าแตะต้องการเอาอากาศไปใช้อย่างไม่ถนอมของ “บิ๊กๆ” เช่น โรงงาน, รถยนต์ส่วนบุคคล ฯลฯ ไล่ไปเถิดครับ นับตั้งแต่อากาศ, แหล่งน้ำ, ป่า, ทางเท้า, ถนนหนทางในเขตเมือง, ไปจนถึงเสือดำ ล้วนเป็นทรัพย์สินสาธารณะที่ได้รับความคุ้มครองอย่างไม่เท่าเทียมระหว่างวิถีการใช้ที่ต่างกันของคนในช่วงชั้นต่างๆ

คนจนที่ยากไร้แทบจะไม่มีทรัพย์สินส่วนตัวเลย มีชีวิตอยู่รอดมาได้ก็ด้วยการใช้ทรัพย์สินสาธารณะ แต่ทรัพย์สินส่วนนี้กลับถูกริบเอาไปให้ “บิ๊ก” ได้ใช้เพียงฝ่ายเดียว

ทั้งหมดนี้ทำให้ “ศาสนา” ของทุนนิยมตามสำนวนของท่านอาจารย์อาคม เป็นศาสนาที่มีสาวกจำกัดอยู่ในหมู่ชนชั้นนำและ “บิ๊ก” เท่านั้น การแข่งขันโดยเสรีของทุนนิยมจึงไม่มีทางเป็นจริงในสังคมไทยได้