วงค์ ตาวัน | ใครคือซ้าย-ขวาในไทย

ด้วยเสียงดังฟังชัดของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ผู้มีสไตล์พูดจาโผงผางดุดัน ได้ทำให้ประเด็นอุดมการณ์ซ้าย-ขวาในสังคมไทย กลับมาเป็นประเด็นใหญ่ให้ได้ถกเถียงกันอีกครั้ง แถมที่บิ๊กแดงหยิบยกมาพูดถึง ยังไม่ใช่แค่พูดถึงฝ่ายซ้ายธรรมดา แต่เน้นไปถึงซ้ายจัด ซ้ายดัดจริต โน่นเลย

แม้จะไม่เอ่ยชื่อใคร แต่ทั้งสังคมรู้ดีว่า เป็นการกล่าวถึงแกนนำพรรคการเมืองที่ประสบชัยชนะในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม อย่างน่าตกตะลึง

การที่พรรคนี้มาแรง ครองใจคนหนุ่มสาวทั่วทั้งสังคมไทย ได้ทำให้กลุ่มคนแนวคิดอนุรักษนิยมทางการเมืองพากันตกอกตกใจอย่างมาก ออกมาสกัดขัดขวางตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง จนกระทั่งหลังเลือกตั้งเมื่อเห็นผลจำนวนที่นั่ง ส.ส.ของพรรคการเมืองนี้ ทำให้ยิ่งต้องต้าน

“หนักกว่านั้น การจัดตั้งรัฐบาลเพื่อให้หัวหน้า คสช.อยู่ต่อไป กลับเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม”

เมื่ออีกขั้วนำโดยพรรคเพื่อไทย ที่จำนวน ส.ส.มาเป็นอันดับ 1 สามารถชิงประกาศจำนวน ส.ส.ในหมู่พรรคแนวร่วม 7 พรรค ว่ามีเกิน 250 ที่นั่ง

แม้ว่าฝ่ายพลังประชารัฐยังยืนยันจะจับขั้วพรรคอื่นๆ ตั้งรัฐบาลได้แน่นอน แถมอ้างอิงคะแนนป๊อปปูลาร์โหวตที่มาอันดับ 1 เพื่ออ้างสิทธิ์ในการเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล

“แต่โดยภาพรวมก็รู้ได้ว่า การจัดตั้งรัฐบาลของทั้ง 2 ขั้ว คงทำได้ไม่ง่ายดายแล้ว!?!”

ปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลนี่เอง เป็นอีกจุดสำคัญที่ทำให้บางฝ่ายเริ่มออกอาการ

แน่นอนว่า 2 พรรคใหญ่ที่เป็นตัวขัดขวางขณะนี้ก็คือ พรรคเพื่อไทยที่มี ส.ส.137 ที่นั่ง กับพรรคอนาคตใหม่ที่มี ส.ส.เกินกว่า 80 ที่นั่ง

ช่วงเวลาที่เหลือก่อน กกต.จะประกาศรับรอง ส.ส.ทั้งหมด ยังมีหลายขั้นตอน เช่น การออกสูตรคิดคะแนน ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์พิสดาร ไปจนถึงการแจกใบเหลือง ใบแดง ใบส้ม ใบดำ

“ทั้งสังคมกำลังจับตาว่า จะเป็นไปอย่างถูกต้อง เที่ยงธรรมหรือไม่ จะส่งผลกระทบต่อการจัดตั้งรัฐบาลฝ่ายไหนอย่างไร”

อีกส่วนหนึ่ง ก็เริ่มหาจุดตายจุดสลบของพรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่อย่างเข้มข้น

กรณีแนวคิดอุดมการณ์ทางการเมืองการปกครองของแกนนำพรรคอนาคตใหม่ จึงเริ่มโดนขุดขึ้นมาโถมถล่มอย่างหนัก!

ความจริงสังคมไทยเคยผ่านยุคซ้ายกับขวาขัดแย้งกันรุนแรงมาแล้ว โดยเฉพาะในช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งขบวนการนิสิตนักศึกษาประชาชน ที่เป็นหลักในการล้มรัฐบาลทหารในปี 2516 ได้กลายเป็นองค์กรนำในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในทุกปัญหาของสังคมไทย ไปจนถึงการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อสร้างประชาธิปไตยให้ก้าวหน้า

ความที่สถานการณ์ในประเทศรอบบ้านช่วงนั้น เกิดสงครามต่อสู้ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับรัฐบาลฝ่ายขวา ในเวียดนาม ลาว กัมพูชา โดยฝ่ายสหรัฐอเมริกาขนกำลังทหารเข้ามาช่วยรัฐบาลใน 3 ประเทศ และเอาไทยเป็นฐานทัพในการส่งกำลังเข้าไปในสมรภูมิของ 3 ประเทศดังกล่าว

เป็นช่วงที่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์กับอุดมการณ์โลกเสรีที่สหรัฐเป็นผู้นำปะทะกันอย่างหนัก ขณะที่ในไทยเองก็มีพรรคคอมมิวนิสต์เคลื่อนไหวด้วย

“จังหวะนั้นขบวนการนักศึกษาประชาชนจึงถูกป้ายสีให้เป็นพวกเดียวกับคอมมิวนิสต์ไปด้วย”

หลักอุดมการณ์ซ้าย-ขวานั้น เกิดในโลกนี้มานานแล้ว โดยฝ่ายขวานั้น หมายถึงพวกนิยมเผด็จการ ต้องการรัฐที่อยู่ในกรอบระเบียบ มีความสงบความมั่นคง เชิดชูอุดมการณ์ชาตินิยม คลั่งชาติ และมักมีทัศนะเหยียดเชื้อชาติ เหยียดผิว เชิดชูเผ่าพันธุ์ชาติตัวเองสูงส่งกว่าใคร รวมทั้งมักยกย่องคนมีฐานะในสังคม มองว่าคนยากจนคือพวกขี้เกียจ ไร้การศึกษา

“อุดมการณ์ฝ่ายขวามักหวาดกลัวการเปลี่ยนแปลงของสังคม เกรงว่าจะไม่อยู่ในกรอบระเบียบที่รัฐจะควบคุมเอาไว้ได้ จึงเรียกกันว่าเป็นพวกแนวคิดอนุรักษนิยมการเมือง!”

ส่วนฝ่ายซ้าย หมายถึงพวกแหกกฎกติกา ที่เห็นว่าเป็นกรอบล้าหลัง ขาดเหตุผล ก็จะไม่ยอมรับ เป็นนักเสรีนิยม ไม่ชอบการตีกรอบทางความคิด ให้ความสำคัญกับการเรียกร้องความเป็นธรรมของคนยากจน คนด้อยโอกาส เรียกร้องการยอมรับความหลากหลายของเผ่าพันธุ์ ปฏิเสธความคิดชาตินิยม เพราะเชื่อว่ามนุษย์ในทุกสังคมมีที่มาหลากหลายเชื้อชาติ

ฝ่ายซ้ายใฝ่หาการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สนับสนุนการต่อสู้เพื่อพลิกโฉมสังคม เกลียดช่องว่างทางชนชั้น

“สังคมไทยในช่วงระหว่างปี 2516-2519 มีการแยกฝ่ายนิสิตนักศึกษาประชาชนที่เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อกรรมกรชาวนาเพื่อความเป็นธรรมทุกวงการ ว่าเป็นฝ่ายซ้าย กระทั่งตีว่าเป็นซ้ายจัด หากมีความสนใจในแนวคิดสังคมนิยม ถึงขั้นยัดเยียดว่าเป็นคอมมิวนิสต์ไปเลย”

ขณะที่ฝ่ายอำนาจรัฐ ได้จัดตั้งขบวนการเคลื่อนไหวฝ่ายขวาขึ้นมา ตั้งองค์กรมวลชนชาตินิยม ไปจนถึงตั้งกลุ่มกระทิงแดง ดึงนักเรียนอาชีวะมาจัดตั้ง เพื่อใช้ความรุนแรงกับฝ่ายนักศึกษา

จนเริ่มเกิดขบวนการขวาพิฆาตซ้าย มีการใช้เจ้าหน้าที่บางหน่วยออกล่าสังหารผู้นำนักศึกษากรรมกรชาวนา ให้กลุ่มกระทิงแดงก่อกวนการชุมนุมของนักศึกษา ลอบยิง ปาระเบิด ใส่ที่ชุมนุม

“แล้วที่สุดของขวาพิฆาตซ้าย คือเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งใช้วิธีสร้างสถานการณ์ บิดเบือนกล่าวหาว่าฝ่ายนิสิตนักศึกษาดูหมิ่นสถาบันที่คนไทยเคารพรัก และจุดชนวนให้กลุ่มมวลชนฝ่ายขวาโกรธแค้นลุกฮือเพื่อปกป้องสถาบัน นำมาสู่การล้อมฆ่าที่ธรรมศาสตร์”

แล้วด้วยอารมณ์ที่ปลุกปั่นจนถึงขีดสุด จึงสามารถเข่นฆ่าทารุณได้ เอาร่างมาเผา เอาลิ่มตอก เอาไปแขวนคอกับต้นมะขาม แล้วใช้เก้าอี้ฟาดศพ

ภาพเก้าอี้ฟาดศพที่ถูกแขวนคอได้กลายเป็นสัญลักษณ์ความรุนแรงโหดเหี้ยมที่จุดชนวนจากการสร้างเรื่องบิดเบือนจนผู้คนเกลียดชังกันสุดขีด!

บรรยากาศบ้านเมืองในขณะนี้ เมื่อมีการหยิบยกประเด็นซ้ายจัดขึ้นมาโหม ด้วยเพราะตกใจกับการเติบโตของพรรคอนาคตใหม่ และสถานการณ์ที่การตั้งรัฐบาลของทั้งสองขั้วอยู่ในภาวะยันกันไปยันกันมา

จึงเริ่มมีเสียงเตือนสติว่า ให้เรียนรู้จากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ด้วย

แน่นอนว่าอุดมการณ์ซ้าย-ขวามีอยู่จริง มีอยู่ทั่วโลก รวมทั้งในไทยเรา ไม่ว่าซ้ายจัด ซ้ายตกขอบ หรือขวาจัด ขวาสุดโต่ง ล้วนเป็นเรื่องเกินเลย อะไรที่มากไปย่อมไม่ใช่เรื่องดี

แต่ความจริงแล้ว อุดมการณ์แบบประชาธิปไตยถือว่าเป็นกลางๆ ที่ทั่วโลกยอมรับ เพราะประชาธิปไตย เปิดกว้างให้กับทุกแนวคิด เพื่ออยู่ร่วมกันได้ ต่อสู้กันด้วยเนื้อหาสาระ แล้วให้ประชาชนตัดสินในวันเลือกตั้ง

“จะเป็นพรรคแนวซ้าย หรือพรรคแนวขวา ก็มาสู้กันบนเวทีที่ใช้สันติวิธี อาศัยเสียงของคนส่วนใหญ่เป็นเครื่องตัดสิน”

พรรคการเมืองทุกพรรค ที่ลงสมัครเลือกตั้ง 24 มีนาคมที่ผ่านมา

รวมทั้งเพื่อไทยและอนาคตใหม่ด้วย ก็มาอย่างถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมายทุกประการ อยู่บนเวทีที่เปิดเผย สันติวิธี

“ดังนั้น การตั้งข้อกล่าวหาถึงขั้นเป็นซ้ายสุดโต่ง คิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่น่าจะสอดคล้องกับความเป็นจริง!”

เพราะเวทีที่พรรคเหล่านี้ โดยเฉพาะพรรคอนาคตใหม่เลือกเข้ามาเดิน อยู่ในกรอบประชาธิปไตย มีประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

เมื่อเข้าทำงานในสภา จะเสนออะไร จะต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงอะไร ก็มีเสียงของเหล่าผู้แทนฯ ในสภาร่วมกันโหวต จะมาเปลี่ยนการปกครองประเทศได้ง่ายๆ อย่างนั้นหรือ

ในประเทศที่เกิดความขัดแย้งแตกหัก ถึงขั้นเกิดสงครามกลางเมือง

“มักเกิดจากรัฐบาลที่เป็นเผด็จการ กดขี่ปราบปรามฝ่ายตรงข้าม จึงเกิดการลุกขึ้นสู้ เป็นสงครามสู้รบ”

ทุกประเทศที่สงบสันติ ล้วนยึดในประชาธิปไตย ทำให้ฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา ฝ่ายเป็นกลาง เข้ามาอยู่ร่วมกันในเวทีที่ใช้สันติวิธี

เมื่อเพื่อไทยและอนาคตใหม่เลือกเวทีสันตินี้แล้ว ก็อย่าไปกดดันบีบคั้นเพื่อให้พ้นไปจากเวทีนี้เลย!