วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ / โฆษณาคือหัวใจ เตรียมการล่วงหน้า 1 เดือน

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์   

โฆษณาคือหัวใจ

เตรียมการล่วงหน้า 1 เดือน

การรับสมัครผู้สื่อข่าวของกองบรรณาธิการ ไม่เหมือนกับการรับสมัครผู้ร่วมงานในแผนกอื่น อาทิ ฝ่ายขายโฆษณาที่ต้องมีคุณสมบัติพิเศษ เช่น รู้จักการขายโฆษณาลงในหนังสือพิมพ์ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้สั่งซื้อโฆษณามีบริษัทที่เรียกว่าเอเยนซี่ รับเป็นตัวแทนของบริษัทขนาดใหญ่ มีสินค้ามากประเภท หรือเป็นประเภทเดียวแต่ราคาสูง เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

ย้อนกลับไปที่มติชนฉบับปฐมฤกษ์ 9 มกราคม 2521 “เส้นทางเดินจากประชาชาติถึงมติชน” หน้า 9 “ฝ่ายโฆษณา”…หากจะเปรียบเทียบว่ากองบรรณาธิการเป็นมันสมองของหนังสือพิมพ์ ฝ่ายโฆษณาก็คือหัวใจ ด้วยการทำหน้าที่หารายได้ส่วนหนึ่งเข้ามาเลี้ยงหนังสือพิมพ์ให้อยู่รอด

เราตระหนักดีถึงความสำคัญของฝ่ายโฆษณาในข้อนี้ ดังนั้น เราจึงถือว่าผู้บริหารงานฝ่ายขายเนื้อที่ในหน้าหนังสือพิมพ์ของเราจะต้องเป็นผู้มีความสามารถสูง มีประสิทธิภาพในการทำงาน และเป็นการทำงานที่ซื่อสัตย์ต่อลูกค้า

เราจึงมีการเตรียมงานส่วนนี้ล่วงหน้าถึงหนึ่งเดือนเต็มด้วยการประกาศรับสมัครผู้สนใจงานด้านนี้ เปิดการอบรม 7 วัน เชิญผู้มีความรู้ความสามารถ ทั้งผู้เป็นนักวิชาการ และผู้มีประสบการณ์มาบรรยาย

อาทิ ไพบูลย์ สำราญภูติ สุรินทร์ ธรรมนิเวศ ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ เจียม ลิ้มสดใส มานิตย์ รัตนสุวรรณ บุคคลเหล่านี้เป็นคนหนุ่มที่ก้าวเข้ามาในวงการด้วยหลักวิชาการและการแก้ไขปัญหาด้วยศาสตร์และศิลป์…

เราเชื่อว่าคุณภาพของหนังสือพิมพ์มติชนไม่ว่าในด้านข่าวสาร บทความ ข้อคิดเห็น และการโฆษณาธุรกิจการค้าจากบริษัทและกิจการที่ลงโฆษณาจะผ่านสายตาผู้อ่านอย่างไม่ผิดหวัง

 

ในหน้าเดียวกันยังมีบทความเรื่อง “ศาสตร์และศิลป์ของการโฆษณา” ให้ความรู้เรื่องการโฆษณาอีกด้วย ความตอนหนึ่งว่า

การโฆษณาใช่เรื่องง่าย แต่เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์

การเลือกโฆษณาในหนังสือพิมพ์ฉบับใดฉบับหนึ่งก็เป็นเรื่องที่ใช้ดุลพินิจอย่างละเอียดรอบคอบ เพราะเป็นเรื่องของการใช้จ่ายเงินที่ต้องทำให้มีมูลค่าทุกบาททุกสตางค์ให้บังเกิดผลทางด้านโฆษณาที่ต้องการอย่างมีประสิทธิผลและประหยัดในทุกทาง…

ประสิทธิภาพของการโฆษณานี้จะพึงบังเกิดขึ้นได้อยู่ที่การเลือกเฟ้นอย่างถี่ถ้วนว่าหนังสือพิมพ์ฉบับไหนใครเป็นผู้อ่าน…

 

ส่วนการรับสมัครผู้สื่อข่าวและตำแหน่งอื่นในกองบรรณาธิการ พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร เป็นผู้สัมภาษณ์ด้วยตัวเอง มีผมและหัวหน้าข่าวหน้า 1 ร่วมด้วย หรือเป็นผู้สัมภาษณ์บางครั้ง ทั้งผู้สื่อข่าวบางตำแหน่งยังต้องมีบรรณาธิการด้านนั้นร่วมสัมภาษณ์ด้วย

กองบรรณาธิการมติชนจึงมีนักข่าวไฟแรงทั้งที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาวิชาการหนังสือพิมพ์ทั้งคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาร่วมงานจำนวนไม่น้อย ในจำนวนนี้ยังมีจากคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยอื่น เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกด้วย

นอกจากผู้สื่อข่าวและหัวหน้าข่าวของแต่ละโต๊ะข่าว หนังสือพิมพ์มติชนยังมีงานบรรณาธิกร คืองานจัดหน้าและพาดหัวข่าวทั้งข่าวหน้า 1 และข่าวหน้าอื่น ทั้งยังทำหน้าที่พิจารณาความสำคัญของข่าวในแต่ละวันที่นำลงตีพิมพ์ร่วมกับบรรณาธิการข่าวและบรรณาธิการเพื่อให้ข่าวที่ออกมาสด ทันต่อเหตุการณ์ และเป็นที่สนใจของผู้อ่าน

มติชนถือว่าการจัดหน้า (Sub editor – บรรณาธิกร) ของหนังสือพิมพ์เป็นเอกลักษณ์เดียวกันที่จะทำให้ผู้อ่านสะดวกต่อการอ่านและการจัดหน้าในรูปแบบที่เสนอต่อผู้อ่านนี้ เราพิสูจน์มาแล้วว่าง่ายต่อการอ่านและได้ความสวยงามในรูปแบบของหนังสือพิมพ์ โดยเนื้อหาสาระของข่าวสามารถเสนอผู้อ่านได้มากกว่า

ฝ่ายบรรณาธิกร มี ไพโรจน์ ปรีชา บัณฑิตจากวารสารศาสตร์เป็นหัวหน้า “ซับเอดิเตอร์” สุวิทย์ มณีนพรัตน์ วารสารศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 ประสาทพร ภูศิลปธร วารสารศาสตรบัณฑิต คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โอภาส เพ็งเจริญ ว่าที่นิเทศศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นบรรณาธิกร

การ์ตูนนิสต์ประจำทั้งด้านการเมือง การ์ตูนช่อง และภาพประกอบบทความ พิจารณ์ ตังคไพศาล ศิลปศาสตรบัณฑิต (จิตรกรรม) มหาวิทยาลัยศิลปากร รับผิดชอบ มีบุญนิเวศน์ สิทธิหาญ ประกาศนียบัตรจากโรงเรียนช่างศิลป และการออกแบบโฆษณาจากอังกฤษ เป็นผู้ช่วยด้านออกแบบโฆษณา งานอาร์ตเวิร์ก

 

งานสำคัญอีกงานหนึ่งคือพิสูจน์อักษร ทำหน้าที่ตรวจตราอย่างละเอียดหลังการเรียงพิมพ์ แล้วส่งกลับไปให้ช่างเรียงแก้ไข เข้าหน้า จนกว่าจะเรียบร้อยและทันเวลากำหนด ซึ่งนอกจากจะแก้คำผิดแล้ว ยังต้องตรวจรูปประโยคของบทความและอื่นๆ ที่ต้องรับผิดชอบเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจง่าย

งานส่วนนี้ วิทยา ฐิตะโรหิต บัณฑิตโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร หัวหน้า ประทักษ์ ธานิสะพงษ์ ครูสอนหนังสือมากว่า 10 ปี อรสม สุทธิสาคร นักอ่านหนังสือตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 5 เป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ร่วมกันรับผิดชอบ

ทั้งหมดดังกล่าวนั้นแออัดบนดาดฟ้าโรงพิมพ์พิฆเณศ ขนาด 3 ห้อง รวมทั้งห้องผู้บริหารขนาด 4 x 4 เมตร กั้นเป็นห้องกระจกอีก 1 ห้อง ใช้เป็นห้องประชุมด้วย

ทั้งยังต้องแบ่งส่วนหนึ่งเป็นห้องสมุดและศูนย์ข้อมูล ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะ “มติชน” เราถือว่า การเก็บข่าวในแต่ละวันเข้าแฟ้มเป็นเรื่องๆ ไป นั้นสะดวกเป็นระบบที่เอื้อต่อการอ้างข่าวซึ่งต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน และจะเป็นขุมทางวิชาการที่นักเขียนบทความหรือความคิดเห็น จะใช้เป็นแหล่งค้นคว้า

ลัฐิกา อรุณยิ่งมงคล นิเทศศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านงานจากประชาชาติมาหลายด้าน รับหน้าที่เป็นบรรณารักษ์

ลาวัลย์ อังคีรส อักษรศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำหน้าที่เลขานุการกองบรรณาธิการ เปรียบเสมือนแม่บ้านผู้ดูแลความเรียบร้อยและประสานงานทั้งหลายด้วยการอำนวยความสะดวกให้กองบรรณาธิการ ทำให้งานในส่วนที่จะล่าช้า เป็นไปรวดเร็วขึ้น

ส่วนชั้นสามอีก 3 ห้อง เป็นกองบรรณาธิการเข็มทิศ ฝ่ายจัดการ ฝ่ายบัญชี เมื่อหนังสือพิมพ์มติชนต้องเพิ่มหน้าเป็น 12 หน้า ต้องเพิ่มผู้ปฏิบัติงาน จึงต้องหาสถานที่ทำงานใหม่ที่มีพื้นที่มากกว่าขณะนี้