วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จีนศึกษาผ่านแว่นแนวคิดตะวันตก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ความคิดความอ่าน (ต่อ)

อย่างไรก็ตาม ความรู้เรื่องจีนหลังจากที่ความไร้เดียงสาลดน้อยถอยลงแล้ว จึงได้หันมาอ่านงานเขียนแนวนี้หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะจากฟากฝั่งตะวันตก ซึ่งนับว่าช่วยขยายมุมมองทางวิชาการได้มากทีเดียว

แต่ถึงตอนนั้นขบวนการฝ่ายซ้ายไทยก็ล่มสลายไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เข้ามาทำงานที่สถาบันเอเชียศึกษาแล้ว การศึกษาหลักคิดก็ถูกขยายกว้างออกไปมากกว่าที่จะเป็นลัทธิมาร์กซ์

การศึกษาหลักคิดจากหลากหลายสำนักนี้ทำให้พบว่ามนุษย์บางคนช่างคิดอะไรลึกซึ้งเสียเหลือเกิน เป็นความลึกซึ้งของแต่ละปัจเจกที่ต่างคนต่างคิด จนทำให้แต่ละคนมีสำนักคิดและสาวกเป็นของตนเอง เมื่อมีสำนักเป็นของตนเองก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะมีการตอบโต้กัน ว่าหลักคิดของตนวิเศษกว่าของอีกฝ่ายหนึ่ง

ซึ่งโดยมากเป็นสำนักคิดของตะวันตก

และหลังจากที่ทำงานวิจัยด้านจีนศึกษาผ่านไปหลายปี จึงได้หันมาศึกษาหลักคิดของทางฝ่ายตะวันออกและจีนบ้าง และทำให้พบว่า หลักคิดของฝ่ายตะวันออกไม่เพียงมีมากมายไม่แพ้ตะวันตกเท่านั้น หากความลุ่มลึกก็ยังไม่แพ้เช่นกัน ซ้ำบางสำนักคิดยังลุ่มลึกกว่าอีกด้วย

แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานี้มักเป็นสำนักคิดในอดีต แต่ถ้าเป็นปัจจุบันยังมีน้อยกว่าทางตะวันตกมากนัก

 

ความแตกต่างระหว่างหลักคิดตะวันตกกับตะวันออกดังกล่าวทำให้เห็นว่า สังคมไทยในหลายสิบปีที่ผ่านมานี้ได้ให้ความสำคัญกับความเจริญของตะวันตกอย่างมาก ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของการศึกษาที่ก็ใช้ระบบแบบตะวันตกเช่นกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ การศึกษาหลักคิดของตะวันตกจึงเป็นวิชาอยู่ในมหาวิทยาลัยด้วย ใครที่ต้องการเรียนให้ลุ่มลึกลงไปกว่านั้นก็มุ่งเรียนในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรี หรือไม่ก็ไปเรียนยังประเทศตะวันตกโดยตรง จนทุกวันนี้สังคมไทยมีงานเขียนและงานแปลหลักคิดของตะวันตกอยู่มากมายหลายเล่ม โดยในบรรดานี้ยังมีงานที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยนักคิดปัจจุบันอีกด้วย

ในทางตรงกันข้าม งานเขียนหรืองานแปลหลักคิดของตะวันออกกลับมีน้อยกว่าของตะวันตกโดยเปรียบเทียบ และที่แทบไม่มีเลยก็คือ หลักคิดที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยนักคิดในปัจจุบัน

เพื่อให้เห็นความลุ่มลึกหรือประโยชน์ของหลักคิดตะวันตก ในที่นี้จะยกมาให้เห็นสักหนึ่งตัวอย่าง ตัวอย่างนี้เกิดตอนขณะที่กำลังเขียนงานเรื่อง จีนยุคบุราณรัฐ1 งานชิ้นนี้เป็นงานที่ว่าด้วยการเกิดขึ้นของรัฐจีน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็มีประเด็นคำถามว่า สังคมจีนมีวิวัฒนาการเช่นไรก่อนที่จะเกิดรัฐขึ้นมา

กล่าวอีกอย่าง รัฐจีนคงไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ โดยไร้ที่มาที่ไป ถ้าเช่นนั้นที่มาที่ไปที่ว่านั้นเป็นอย่างไร

 

ตอนที่เริ่มเขียนใหม่ๆ นั้นยังไม่มีแหล่งอ้างอิงใดๆ นอกจากผลงานของนักรัฐศาสตร์ตะวันตกบางคน แต่เป็นผลงานที่ว่าด้วยรัฐในยุคโบราณของตะวันตกเอง ไม่ใช่งานที่กล่าวถึงสังคมก่อนที่จะเกิดรัฐขึ้น จนเวลาผ่านไปนานนับปีก็ยังไม่พบงานที่ตนต้องการแม้แต่ชิ้นเดียว

กระทั่งวันหนึ่ง ขณะที่กำลังอ่านหนังสือเรื่อง ปืน เชื้อโรค และเหล็กกล้า กับชะตากรรมของสังคมมนุษย์ ของจาเร็ด ไดมอนด์ (แปลโดยอรวรรณ คูหเจริญ นาวายุทธ (2547) อยู่นั้น ตอนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึงสังคมมนุษย์ก่อนที่รัฐจะเกิดขึ้นอยู่ด้วย จึงได้เปิดดูแหล่งอ้างอิงท้ายเล่มก็พบหนังสือที่ตนต้องการในที่สุด

หนังสือเล่มนี้เป็นผลงานของนักมานุษยวิทยาวัฒนธรรม (Cultural anthropologist) และเป็นนักทฤษฎีวิวัฒนาการใหม่ (neo-evolutionary) ชื่อเอลแมน โรเจอร์ส เซอร์วิส (Elman Rogers Service) 2 ส่วนผลงานที่นำมาอ้างมีอยู่สองเล่มคือ Primitive Social Organization : An Evolutionary Perspective (1971) และ Origins of the State and Civilization (1975)

ทั้งสองเล่มนี้ได้ให้อรรถาธิบายถึงการรวมตัวทางสังคมของมนุษย์ในแต่ละช่วงแต่ละขั้นได้อย่างเห็นภาพ

เริ่มจากการรวมตัวที่เรียกว่าสังคมหมู่ชน (Bands) ที่น่าจะเกิดขึ้นในราว 40,000 ถึงราว 11,000 ปีก่อน เป็นสังคมที่มีขนาดเล็ก ผู้คนยังคงหาของป่า-ล่าสัตว์ (hunting-gathering) และยังไม่มีสถาบันทางสังคมใดๆ ไม่มีที่พักอาศัยอย่างถาวร และมีการรวมตัวของคนเป็นกลุ่มเล็กๆ ราว 5-80 คน ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือเครือญาติที่ใกล้ชิดกันทั้งสิ้น

ที่สำคัญ เป็นสังคมแบบสมภาพ (egalitarian) คือเป็นสังคมที่ทุกคนมีความเสมอภาค

ขั้นตอนต่อไปคือ สังคมเผ่า (Tribes) ซึ่งใหญ่กว่าสังคมหมู่ชน คือมีสมาชิกนับร้อยคนขึ้นไปและมีการตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง และเป็นสังคมที่มีกลุ่มเครือญาติมากกว่าหนึ่งกลุ่มจนเป็นสังคมสายโลหิตหรือวงศ์ตระกูล (clan)

ที่สำคัญ สังคมเผ่ามีสิ่งที่คล้ายกับสังคมหมู่ชนในเรื่องความเสมอภาค

ขั้นถัดมาคือ สังคมผู้ปกครอง (Chiefdoms) สันนิษฐานกันว่า สังคมนี้เริ่มเกิดขึ้นในราว ก.ค.ศ.5500 ในบางแหล่งอารยธรรม และราว ก.ค.ศ.1000 ในอีกบางแหล่งอารยธรรม สมาชิกของสังคมผู้ปกครองมีตั้งแต่หลายพันจนถึงหลายหมื่นคน สังคมนี้จึงมีหัวหน้าปกครองหรือผู้นำที่มีอำนาจสิทธิ์ขาดและมีลักษณะรวมศูนย์

ที่สำคัญ เป็นสังคมที่เริ่มมีการแบ่งชนชั้น มีการผลิตทางการเกษตร มีระบบส่วยหรือบรรณาการ มีการแต่งกายของชนชั้นปกครองเพื่อให้เห็นถึงความต่างกับชนชั้นอื่น และเริ่มมีพิธีการระหว่างชนชั้นปกครองกับชนชั้นผู้ถูกปกครอง

การวิวัฒน์ขั้นสุดท้ายก็คือ รัฐ (States) โดยก่อนที่จะเข้าสู่รัฐนั้นยังมีอีกสังคมหนึ่งคั่นอยู่คือสังคมก่อนรัฐ (protostate) ซึ่งเป็นสังคมผู้ปกครองขนาดใหญ่ ประกอบไปด้วยหมู่บ้านที่มีอยู่เป็นจำนวนมากและขยายตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ สังคมก่อนรัฐนี้เองที่ทำให้เกิดรัฐที่เรารู้จักกันในที่สุด

 

จากหลักคิดวิวัฒนาการของรัฐดังกล่าว เซอร์วิสยังได้กล่าวถึงกรณีจีนตั้งแต่ยุคบุพกาลที่หมายถึงสามราชวงศ์ในยุคต้นประวัติศาสตร์ของจีนคือ ราชวงศ์เซี่ย ซัง และโจว จนถึงจักรวรรดิจีนได้ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นครั้งแรกในยุคราชวงศ์ฉิน

ซึ่งเขาชี้ให้เห็นถึงลักษณะและขีดขั้นในการเปลี่ยนแปลงไปสู่พารานิยม (urbanism หมายถึง การปรับเปลี่ยนไปสู่ความเป็นเมือง) ในอาณาบริเวณภาคเหนือของจีน ว่าหลักหมายอารยธรรมจีนดำเนินคู่ขนานไปกับแหล่งอารยธรรมที่เป็นที่รู้จักกันดีอย่างเมโสอเมริกา เมโสโปเตเมีย และอียิปต์ ที่สังคมสมภาพต่างก็ก่อรูปขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอนในช่วงต้นของยุคหินใหม่ (Neolithic) อย่างชัดเจน

ซึ่งในกรณีจีนการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นตลอดยุคราชวงศ์เซี่ยที่เริ่มเข้าสู่ลักษณะสังคมผู้ปกครอง ครั้นพอถึงราชวงศ์ซังพัฒนาการทางวัฒนธรรมก็เกิดการขับเคลื่อนครั้งใหญ่ จนบรรลุซึ่งคุณลักษณะที่เป็นแบบอย่างให้แก่อารยธรรมอื่น ตราบจนถึงราชวงศ์โจวตะวันตกจีนก็ประสบผลสำเร็จในการรักษาไว้ซึ่งระดับการพัฒนา

กล่าวโดยสรุปก็คือ สังคมจีนได้วิวัฒน์สู่การเป็นรัฐสี่ขั้นตอนตามที่เซอร์วิสว่าไว้ ซึ่งรัฐอีกจำนวนมากก็วิวัฒน์ไปตามขั้นตอนดังกล่าวเช่นกัน

 

ตัวอย่างที่กล่าวมานี้ทำให้เห็นว่า เวลาที่เราศึกษาเรื่องเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่นั้น เรามักจะเพ่งหาตำราที่อยู่ในศาสตร์ที่เราสนใจเท่านั้น แต่เพ่งหาอย่างไรก็ไม่พบเจอ โดยไม่ได้เฉลียวใจว่าตำราที่ต้องการนั้นเป็นตำราที่อยู่ในอีกศาสตร์หนึ่ง

และกรณีที่เกิดขึ้นเป็นตัวอย่างนี้ก็คือ เริ่มต้นก็เพ่งหาตำราทางรัฐศาสตร์ ด้วยเห็นว่าการศึกษาเรื่องรัฐย่อมเป็นเรื่องทางรัฐศาสตร์ แต่ครั้นพบเข้าจริงกลับเป็นตำราในศาสตร์ทางมานุษยวิทยา

จากเหตุดังกล่าว ตลอดห้วงชีวิตที่ศึกษาเรื่องจีนมานานกว่า 30 ปีทำให้ได้เรียนรู้หลักคิดต่างๆ มากมาย ทั้งเรียนรู้ด้วยความสนใจส่วนตัว และเรียนรู้เพื่อนำมาใช้ในงานที่ตนศึกษา ซึ่งผลที่ได้ไม่เพียงจะมีประโยชน์ต่องานที่ศึกษาเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ต่อโลกทัศน์อีกด้วย

อย่างหลังนี้ช่วยให้มองชีวิตและโลกเข้าใจได้มากขึ้น

———————————————————————————————————————–
(1) เรื่อง จีนยุคบุราณรัฐนี้เคยตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในมติชนสุดสัปดาห์ ระหว่างปี 2557-2559 ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มโดยสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง
(2) เอลแมน โรเจอร์ส เซอร์วิส (Elman R. Service, ค.ศ.1915-1996) เป็นนักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน การค้นพบที่สำคัญและสร้างชื่อให้กับเขาเรื่องหนึ่งคือ วิวัฒนาการของสังคมสี่ขั้นตอน (four stages of social evolution) ที่นำไปสู่องค์กรทางการเมืองสี่ระดับ (four levels of political organization) นั่นคือ สังคมหมู่ชน สังคมเผ่า สังคมผู้ปกครอง และสังคมรัฐ