คุยกับทูตรัสเซียคนใหม่ กับความสัมพันธ์กับไทยที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน!

มุมมองของมหาอำนาจหมีขาวหลังผนวกไครเมียห้าปี (1)

เมื่อปลายปีที่แล้ว สถานทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทยได้ให้การต้อนรับนายเยฟกินี โทมิคิน (H.E. Evgeny Tomikhin) เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียคนใหม่ ซึ่งมีประสบการณ์เชี่ยวชาญเกี่ยวกับทวีปเอเชีย และเคยปฏิบัติราชการที่ประเทศจีนมาแล้วถึง 17 ปี

โดยมิต้องสงสัยถึงความสามารถทางภาษาจีนซึ่งใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว

“ผมเรียนภาษาฝรั่งเศสตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยม แต่เมื่อเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเลนินกราด ซึ่งตอนนี้คือมหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ผมเลือกเรียนภาษาจีนแมนดาริน ตามด้วยภาษาที่สองคือญี่ปุ่น แน่นอนว่าในช่วงเวลานั้นผมไม่ได้มีความคิดว่าเรียนภาษาแล้วจะมาเป็นนักการทูตดังในปัจจุบัน”

“มีคำถามว่า ผมเรียนภาษาจีนนานขนาดไหน คือผมก็ยังต้องเรียนอยู่ ทั้งนี้เพราะภาษาต่างประเทศค่อนข้างเปลี่ยนแปลงเร็ว คุณจึงต้องตามให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา”

“นั่นเป็นเรื่องของการศึกษาสมัยก่อนการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในอดีต ซึ่งมีระบบการศึกษาและระบบแรงงานในประเทศที่แตกต่างจากรัสเซียในปัจจุบัน ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยจะถูกส่งไปทำงานยังองค์กรหรือสถาบันต่างๆ และมีการเซ็นสัญญา เพราะการศึกษาระดับสูงในสหภาพโซเวียตไม่มีค่าใช้จ่าย เนื่องจากรัฐมีหน้าที่ให้ความรับผิดชอบในเรื่องให้การศึกษาแก่คุณ คุณจึงต้องมีความรับผิดชอบเช่นเดียวกัน”

แม้เพิ่งมาประจำประเทศไทยได้เพียงสามเดือน ท่านทูตเยฟกินี โทมิคิน ไม่ได้รู้สึกแปลกถิ่นเพราะมีความคุ้นเคยเนื่องจากได้มาเยือนเมืองไทยในฐานะนักท่องเที่ยวหลายครั้งในอดีต โดยเฉพาะที่เกาะสมุยซึ่งชื่นชอบเป็นพิเศษ

และเมื่อมีโอกาส ท่านทูตเลือกที่จะขี่จักรยานทั้งในร่มและกลางแจ้งเพื่อออกกำลังกายแทนกีฬาสกีที่โปรดปราน

“เดี๋ยวนี้มีนักท่องเที่ยวรัสเซียมาเยือนประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อนๆ ถึงสิบเปอร์เซ็นต์ และตามสถิติจากฝ่ายไทย คนไทยนิยมไปเที่ยวรัสเซียมากขึ้นทุกปี โดยปีที่แล้วคนไทยที่ไปเยือนมากกว่าแสนคน ผมเชื่อว่าเพราะฟุตบอลโลก 2018 จึงทำให้มีคนจากทุกมุมโลกหลั่งไหลไปเยือนรัสเซียจำนวนมาก”

การแข่งขันกีฬาฟุตบอลโลกที่จัดขึ้นในปี ค.ศ.2018 โดยมีประเทศรัสเซียเป็นเจ้าภาพ นับเป็นการจัดครั้งแรกของรัสเซียและยุโรปตะวันออก และเป็นครั้งแรกที่ประเทศเจ้าภาพคาบเกี่ยวระหว่างสองทวีป คือ ยุโรปกับเอเชีย

“ดังที่ทราบกันดีว่า ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างรัสเซียและราชอาณาจักรไทยเป็นไปในเชิงบวกมาโดยตลอดตั้งแต่ครั้งประวัติศาสตร์ เรามีปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างกันหลายวาระทั้งทวิภาคีและพหุภาคี มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) อันเป็นกรอบความร่วมมือที่สำคัญยิ่ง ส่วนการค้าระหว่างไทย-รัสเซียก็มีปริมาณที่สูงขึ้นถึง 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปีที่แล้ว แต่เราคิดว่ายังไม่เพียงพอเพราะยังต้องการขยายขอบเขตด้านการค้า การลงทุน การพลังงาน และการเกษตรให้มากยิ่งขึ้นอีก”

รัสเซียให้ความสำคัญต่อการลงทุนของประเทศเป็นอย่างมาก เพื่อกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมโดยรวม พร้อมทั้งขยายธุรกิจ การเพิ่มการจ้างงาน การเพิ่มผลผลิต และการพัฒนาระบบธุรกิจของบริษัทในประเทศให้มีความทันสมัย

“การลงทุนของไทยในรัสเซีย กลุ่มซีพีคือกลุ่มที่ลงทุนมากที่สุดกว่า 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐและลงทุนในทางการเกษตรเป็นหลัก”

การลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของไทยในรัสเซียนั้นดำเนินโดย “เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF)” ด้านเกษตร-อุตสาหกรรมซึ่งลงทุนสร้างโรงเลี้ยงสัตว์ที่ลูโควิตซี (Lukhovitsy) ในมอสโก และฟาร์มสุกร 12 แห่งในมอสโก คือ คาลูกา (Kaluga) และคาลินินกราด (Kaliningrad) และภูมิภาคอื่นๆ ปริมาณการลงทุนจนถึงสิ้นปี ค.ศ.2018 นั้นเกิน 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ

“เราสนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่มซีพี โดยมุ่งเน้นป่ารัสเซียซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัย เรามีนโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจรวมถึงนโยบายระหว่างประเทศ เช่น การประชุมฟอรั่มเศรษฐกิจตะวันออก (Eastern Economic Forum) นอกจากนี้เรามีกฎหมายพิเศษเกี่ยวกับการพัฒนาป่าไม้ การจัดตั้งเขตการค้าเสรี ท่าเรือ ปศุสัตว์ โดยมีข้อได้เปรียบมากมายสำหรับนักลงทุนต่างชาติ และโดยเฉพาะเมื่อกลางปีที่แล้ว เราเริ่มใช้วีซ่าอิเล็กทรอนิกส์ (electronic visa) สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการไปท่องเที่ยวป่า”

รัฐบาลรัสเซียได้เปิดตัวโครงการ “นิเวศวิทยา” (Ecology) ระดับชาติ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและนิเวศวิทยา เป้าหมายระดับโลกของโครงการระดับชาติ คือการปรับปรุงการปกป้องสิ่งแวดล้อมทั่วรัสเซียในปี ค.ศ.2024 โครงการมี 10 ทิศทางที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะเกิดขึ้นภายในปี ค.ศ.2024 และการอนุรักษ์ป่าไม้เป็นหนึ่งในทิศทางสำคัญดังกล่าว

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นอาณาบริเวณที่มีพลวัตมากที่สุดแห่งหนึ่งในการเมืองโลกปัจจุบัน

รัสเซียเป็นมหาอำนาจที่มีศักยภาพในการสร้างพันธมิตรกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งทางด้านการถ่ายโอนเทคโนโลยีนิวเคลียร์ การเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะพลังงาน การสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ การเป็นตลาดสำหรับสินค้าเกษตรกรรมจากภูมิภาคนี้ และการเป็นแหล่งลงทุนใหม่ของเอเชียแปซิฟิก

ฝ่ายไทยได้เชิญชวนให้รัสเซียเข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมการบินซึ่งรัสเซียมีความเชี่ยวชาญ ตลอดจนกระบวนการเริ่มต้นเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (EAEU) รวมทั้งเชิญชวนให้รัสเซียเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS)

“เรายังต้องการข้อมูลเพิ่มเติมจากคู่ค้าในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้นับว่ายังไม่เพียงพอที่จะมีแนวคิดทั่วไป ภาคเอกชนหรือบริษัทของรัสเซียต้องรู้ว่ามีอะไรที่น่าสนใจหากเข้าร่วมโครงการเช่น EEC หรือ ACMECS แต่อย่างไรก็ตาม มีสาขาที่น่าสนใจอื่นๆ อีกที่เราสามารถร่วมมือกันได้รวมถึง smart city โครงการเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นรถไฟอันทันสมัย เรือเร็ว หรือเรือไฮโดรฟอยล์ ซึ่งเราพร้อมที่จะหารือ”

“แต่เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะมีสถาบันการทำงานร่วมกัน ผมหมายถึงคณะกรรมาธิการร่วมของความร่วมมือทางเศรษฐกิจ จากรัสเซียและจากไทยซึ่งอาจเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และจากฝ่ายรัสเซีย คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า”

“เมืองอัจฉริยะ” หรือสมาร์ตซิตี้ (smart city) เป็นรูปแบบการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิตอล หรือข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสารในการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของบริการชุมชน เพื่อช่วยในการลดต้นทุน และลดการบริโภคของประชากร โดยยังคงเพิ่มประสิทธิภาพให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยได้ในคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การพัฒนาสมาร์ตซิตี้มีการพัฒนาในหลายภาคส่วนรวมถึงหน่วยงานราชการ การจราจรและขนส่ง พลังงาน สาธารณสุข โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาการจัดการเมืองและชุมชน และการตอบสนองแบบทันท่วงที ตัวอย่างเมืองที่มีการประยุกต์แนวคิดสมาร์ตซิตี้ ได้แก่ เซาแธมป์ตัน อัมสเตอร์ดัม บาร์เซโลนา และสตอกโฮล์ม

“การประชุมครั้งก่อนจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และเราหวังว่าการประชุมครั้งต่อไปจะเป็นที่รัสเซียก่อนสิ้นปีนี้ ภายในกรอบของคณะกรรมการนี้จะมีคณะทำงานร่วมกันหรือคณะกรรมการย่อยจำนวนหนึ่งซึ่งรับผิดชอบเรื่องความร่วมมือทางธนาคาร การเงิน และการพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ของโลกปัจจุบัน เกี่ยวกับข้อจำกัดฝ่ายเดียว ซึ่งผมไม่ชอบคำว่า “การคว่ำบาตร” (sanction) เนื่องจากการคว่ำบาตรนั้นผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น จึงเป็นข้อจำกัดเพียงฝ่ายเดียวจากสหรัฐอเมริกา และประเทศตะวันตกบางประเทศที่ต่อต้านรัสเซีย”

ในปัจจุบันรัสเซียได้เสนอให้มีการเจรจาการค้าเสรีระหว่างอาเซียน (ASEAN) กับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasian Economic Union) ซึ่งเป็นการร่วมกลุ่มทางเศรษฐกิจในประเทศเครือรัฐเอกราชที่รัสเซียมีบทบาทนำ แต่ประเทศสมาชิกอาเซียนยังคงไม่มีความเห็นพ้องต้องกันในเรื่องการค้าเสรีกับสหภาพนี้

“อย่างไรก็ตาม เราได้เตรียมความพร้อมสำหรับฟอรั่มแรกของข้อมูลดิจิตอลและเศรษฐกิจดิจิตอล อันเป็นเวทีแรกที่รัสเซียและไทยจะจัดขึ้นในปีนี้ นับว่าน่าสนใจมาก โดยคาดว่าจะมีหน่วยงานรัฐบาล ราชการ ธุรกิจจากบริษัท ห้างร้าน รวมทั้งสื่อมวลชนเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ โดยหวังว่าจะเกิดผลลัพธ์ที่น่าสนใจ เพราะเศรษฐกิจดิจิตอลเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในยุคปัจจุบัน”

ซึ่งในตอนต่อไป ท่านทูตจะกล่าวถึงแหลมไครเมียในโอกาสกลับมารวมกับรัสเซียครบ 5 ปี

ประวัติเอกอัครราชทูต เยฟกินี โทมิคิน

ค.ศ.1989 : สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเลนินกราด (เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก)

ค.ศ.1990 : เริ่มปฏิบัติงานด้านการทูต กระทรวงต่างประเทศในรัสเซีย และต่างประเทศ

ค.ศ.2007-2009 : รองผู้อำนวยการ กรมเอเชียที่หนึ่ง

ค.ศ.2009-2016 : อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซีย ประจำประเทศจีน

ค.ศ.2016-2018 : เอกอัครราชทูตผู้แทนพิเศษ ประจำกระทรวงต่างประเทศแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย

ค.ศ.2018-ปัจจุบัน: เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสหพันธรัฐรัสเซียประจำราชอาณาจักรไทย และผู้แทนถาวรคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ณ กรุงเทพฯ

ลำดับชั้นทางการทูต : ทูตสามัญและผู้มีอำนาจเต็มชั้นหนึ่ง

ภาษา : จีนและอังกฤษ

สถานภาพ : สมรส บุตรชายสามคน