จิตต์สุภา ฉิน : เรื่องโกหกสะท้อนความจริง

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

เป็นที่รู้กันว่า วันที่ 1 เมษายน คือวันที่สามารถโกหกใส่กันได้แบบคนที่ถูกโกหกไม่มีสิทธิโกรธ

แต่ในขณะเดียวกันคนที่อยากเล่นสนุกด้วยการประดิษฐ์เรื่องโกหกเองก็ต้องมีขอบเขตที่เหมาะสมและไม่ทำให้มันโอเวอร์เกินไปด้วยเหมือนกัน

วงการเทคโนโลยีก็เป็นอีกหนึ่งวงการที่ทุกคนตั้งหน้าตั้งตารอปล่อยของกันอย่างสนุกสนาน

และที่ผ่านมาก็สามารถเสกสรรปั้นแต่งเรื่องโกหกได้อย่างประณีตและมีรสนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

ปีนี้ก็เป็นอีกหนึ่งปีที่บริษัทเทคโนโลยียังแข่งกันประชันไอเดียว่าใครสามารถสร้างเรื่องโกหกได้เนี้ยบกว่ากัน แม้ว่าทั้งหมดจะไม่ใช่เรื่องจริงเลย แต่เรื่องปั้นแต่งที่ได้เห็นหลายเรื่องก็สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการลึกๆ ของมนุษย์ที่อยากให้นวัตกรรมต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นได้จริงเสียที

และใครจะไปรู้ ไม่แน่สักวันหนึ่งในอนาคตข้างหน้ามันอาจจะเป็นจริงขึ้นมาก็ได้

มีอะไรบ้างเราลองไปดูกันค่ะ

 

เริ่มจากบริษัทที่เล่นใหญ่ทุกวันที่ 1 เมษายน อย่าง Google ปีนี้ออกโฆษณามาว่าแอพพลิเคชั่น Files ของบริษัทไม่ได้แค่ช่วยจัดระเบียบไฟล์ต่างๆ เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บข้อมูลของโทรศัพท์ผู้ใช้ได้เท่านั้น

แต่ยังมีฟีเจอร์ใหม่เอี่ยมที่เรียกว่า Screen Cleaner หรือตัวช่วยทำความสะอาดหน้าจอ ซึ่งใช้เทคโนโลยีในการตรวจจับคราบต่างๆ ที่อยู่บนจอ จากนั้นก็จะใช้ระบบสั่นในการช่วยกำจัดคราบเหล่านั้นให้หลุดออกและช่วยให้หน้าจอกลับมาใสปิ๊งเหมือนเดิม

ทั้งหมดนี้เพียงแค่กดปุ่มครั้งเดียวเท่านั้น

แม้จะไม่ใช่เรื่องจริงและยังไม่ใกล้ความเป็นจริงแต่ก็เป็นไอเดียสร้างสรรค์ที่สะท้อนปัญหาเล็กๆ ที่เราเจอในชีวิตประจำวันทุกวันอย่างการที่หน้าจอโทรศัพท์เรามักจะมีคราบน่ารำคาญมาเกาะติดอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่จะต้องคอยเช็ดคราบแป้งออกจากจออยู่บ่อยๆ

ก็ทำให้นี่เป็นโฆษณาในวันโกหกที่น่ารักมากๆ

 

อีกไอเดียหนึ่งที่น่ารักและสร้างสรรค์ไม่แพ้กันคือเรื่องหลอกจาก Lenovo ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ชื่อดังที่ทำคลิปวิดีโอเปิดตัว InSight360 คอมพิวเตอร์พกพารุ่นใหม่ที่ใช้สโลแกนว่าเป็นคอมพิวเตอร์ที่รู้จักคุณดีกว่าที่คุณรู้จักตัวเองเสียอีก

คอมพิวเตอร์แสนฉลาดเครื่องนี้สามารถรับรู้อารมณ์ของผู้ใช้งานได้ทันทีที่นิ้วแตะคีย์บอร์ด

นอกจากนี้ก็ยังสามารถตรวจจับชีพจรเพื่อทำนายว่าผู้ใช้ต้องการพิมพ์อะไรและพิมพ์ให้แทนเพื่อหลีกเลี่ยงการพิมพ์ผิด หรือพิมพ์สิ่งที่ไม่สมควรจะพิมพ์ออกไปและอาจจะรู้สึกเสียใจทีหลัง หากทำงานเหนื่อยๆ เพียงแค่กดปุ่ม Esc ก็จะเป็นการ Escape หรือหนีไปพักผ่อน คอมพิวเตอร์จะจองตั๋วเครื่องบินไปยังสถานที่ที่ผู้ใช้ชื่นชอบเพื่อให้พร้อมไปพักผ่อนได้ทันทีในวันที่รู้สึกว่าทำงานจนเครียดมาแล้วทั้งวัน

จะว่าไปคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีที่ออกแบบให้รับรู้และเข้าใจอารมณ์ของมนุษย์นั้นก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงแล้ว

ที่เห็นบ่อยก็คือเทคโนโลยีรู้จำใบหน้าที่ถูกนำมาใช้ในการทำความเข้าใจการแสดงออกทางสีหน้าเพื่อคาดการณ์อารมณ์ของคนคนนั้น

โดยที่ระบบสามารถบอกได้ว่าการแสดงออกทางสีหน้าแบบนี้หมายถึงอารมณ์แบบไหน ดีใจ เสียใจ โกรธ กลัว ขยะแขยง

ซึ่งเทคโนโลยีนี้ก็ถูกนำมาปรับใช้เพื่อการสอดส่องใบหน้าของลูกค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือองค์กรต่างๆ เพื่อช่วยให้สามารถดูแลความพึงพอใจของลูกค้าได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น ในขณะที่มีแอพพ์จำนวนไม่น้อยที่ออกแบบมาเพื่อช่วยวัดความเครียดของผู้ใช้ เพียงแค่วางนิ้วลงไปบนกล้องของโทรศัพท์เท่านั้น

(ส่วนค่าจะออกมาแม่นยำแค่ไหนอันนี้ก็ไม่แน่ใจนะคะ)

 

ปีนี้และปีที่ผ่านมาเป็นปีแห่งการที่สมาร์ตโฟนแข่งกันงอกกล้องหลังออกมาเรื่อยๆ จากสองเป็นสาม จากสามเป็นสี่ และจากสี่เป็นห้าอย่างโทรศัพท์ Nokia 9 PureView ที่เปิดตัวออกมาด้วยกล้องหลังห้าตัว ผู้บริหารของบริษัท HMD Global ก็นึกอยากเล่นสนุกในวันโกหกกับเขาด้วย ก็เลยออกมาทวีตว่ารูกลมๆ ที่เห็นปิดทึบๆ อยู่ด้านหลังของโทรศัพท์รุ่นนี้เนี่ยแท้ที่จริงแล้วมันคือเซ็นเซอร์สำหรับการเอ็กซเรย์ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเอ็กซเรย์อะไรก็ได้ที่ต้องการ แถมแนบภาพการใช้โทรศัพท์เอ็กซเรย์มือข้างซ้ายของตัวเองให้ดูสมจริงขึ้นอีกด้วย

ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่มีโทรศัพท์ที่สามารถใช้เอ็กซเรย์ได้และจะยังไม่มีเร็วๆ นี้ แต่นี่ก็สะท้อนความจริงให้เห็นว่าทุกวันนี้จุดขายสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ๆ ไม่ได้อยู่ที่ดีไซน์ ความจุ หน่วยประมวลผล หรือความคมชัดของหน้าจออีกต่อไป

เราเข้าสู่ยุคที่งานเปิดตัวสมาร์ตโฟนใหม่ชูจุดเด่นเรื่องกล้องจนแทบจะกลายเป็นงานเปิดตัวกล้องรุ่นใหม่ไปแล้ว

และสิ่งที่น่าสนใจก็คือ นี่เป็นเรื่องที่ผู้ใช้ให้ความสนใจอย่างจริงจังด้วย

เห็นได้จากความสามารถในการซูมขั้นเทพ 50 เท่าของกล้องสมาร์ตโฟน Huawei P30 Pro ที่ผู้บริหารสาธิตให้ดูด้วยการซูมถ่ายพระจันทร์บนท้องฟ้าในยามค่ำคืน เรียกเสียงฮือฮาและสร้างความประทับใจให้แก่แฟนๆ ทั่วโลกชนิดที่ทุกคนต้องรีบพุ่งตัวออกจากบ้านไปทดลองใช้งานของจริงด้วยตัวเอง

 

ยังมีเรื่องโกหกอีกไม่น้อยที่ถูกปล่อยออกมาสร้างสีสันในวันโกหกประจำปีนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดก็คือ จำนวนผู้เล่นดูเหมือนจะลดน้อยลงเรื่อยๆ ย้อนกลับไปสัก 4-5 ปีก่อน บริษัทเทคโนโลยีเอาจริงเอาจังกับการเล่นสนุกในวันโกหกกันอย่างหนักหน่วงกว่านี้และลงทุนลงแรงไปกับการโกหกมากกว่านี้

ลองดูอย่างบริษัท Microsoft ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่เคยจะพลาดเล่นกับเขาหรอก

แต่ปีนี้มีข่าวออกมาตั้งแต่ก่อนถึงวันโกหกว่าผู้บริหารด้านการตลาดของ Microsoft เขียนเมโม่ภายในเตือนพนักงานว่าอย่าเล่นสนุกในวันโกหก เพราะการปั้นเรื่องโกหกออกมานั้นไม่ค่อยจะได้รับเสียงตอบรับด้านบวกสักเท่าไหร่ แถมอาจจะยังสร้างความเสียหายได้อีกต่างหาก ที่ผ่านมาก็พอจะมีตัวอย่างให้เห็นอยู่บ้างว่าบางบริษัทต้องออกมาขอโทษขอโพยยกใหญ่หลังจากเล่นมุขที่ไม่เหมาะสมไปในวันโกหกและกลายเป็นความผิดพลาดใหญ่โตไปแบบไม่ตั้งใจ

อีกหนึ่งบริษัทที่ไม่สนใจไยดีวันโกหกแม้แต่น้อยก็คือ Apple ซึ่งก่อตั้งบริษัทขึ้นในวันโกหกนี่แหละ (1 เมษายน 1976) แต่เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเพราะการโกหกล้อเล่นเพื่อความสนุกสนานดูจะไม่ใช่วัฒนธรรมของบริษัทสักเท่าไหร่ ไม่แน่ หลังจากนี้ไป Microsoft และ Apple อาจจะกลายเป็นผู้นำเทรนด์ของการอยู่เฉยๆ ในวันโกหก จนทำให้บริษัทอื่นๆ ต้องเลิกเล่นสนุกกันไปโดยปริยายก็เป็นได้

ถ้าเป็นแบบนั้นจริงก็อาจจะน่าเสียดายอยู่บ้างที่เราจะไม่ได้เห็นเรื่องโกหกสนุกๆ ออกมาแต่งแต้มสีสันให้กับวันแรกของเดือนเมษายนอีกแล้ว แต่ในฐานะที่เป็นนักข่าวก็อดโล่งใจไม่ได้…

ที่ไม่ต้องคอยระแวดระวังเป็นพิเศษว่าจะพลาดท่าโดนหลอกเมื่อไหร่