วิช่วลคัลเจอร์/ ประชา สุวีรานนท์ /เกิร์ด อานซ์ กับไอโซไทป์ (2)

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

เกิร์ด อานซ์ กับไอโซไทป์ (2)

 

หนังสือ Gerd Artnz Graphic Designer เล่าประวัติของเกิร์ด อานซ์ เช่นเมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ขณะอายุเพียงยี่สิบ เขาและพรรคพวก เช่น ฟรานซ์ ไซเวิร์ต, ไฮน์ลิช ฮอล ได้เข้าร่วมกลุ่มโคโลญก้าวหน้า (Cologne Progressives) ในโคโลญและดุสเซลดอร์ฟ

กลุ่มนี้เริ่มงานในเยอรมนียุคไวมาร์ และอาจจะรุนแรงที่สุดเพราะเข้าร่วมกับสหภาพแรงงาน และองค์กรต่างๆ เช่น พรรคแรงงานและพรรคคอมมิวนิสต์ นอกจากนั้น ยังทำงานให้กับนิตยสาร Die Aktion ของ Franz Pfemfert โดยทำหน้าที่ออกแบบปก วาดภาพ และเขียนบทความ

ต่อมากลุ่มนี้ทำนิตยสารศิลปะชื่อ A bis Z (1929-1933) ซึ่งมีงานของศิลปินจากหลายแห่ง เช่น ปราก มอสโก เวียนนา อัมสเตอร์ดัม และปารีส

ประวัติศาสตร์ศิลป์สนใจกลุ่มเอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์และดาด้า แต่มองข้ามศิลปินจำนวนมากที่อยู่ร่วมสมัยเดียวกันเช่นโคโลญก้าวหน้า และแม้จะสัมพันธ์กับเบาเฮาส์, เดอ สไตล์, ซูปรีมาทิสต์ และรัสเชียน คอนสตรักติวิสต์ งานของกลุ่มนี้แตกต่างออกไปสองอย่าง คือ มีเนื้อหาเป็นการเมืองและสมจริงคือเข้าใจง่าย และไม่ใช่เพื่อแกลเลอรี่ นักวิจารณ์ หรือศิลปินคนอื่นๆ แต่เพื่อคนธรรมดา

งานของกลุ่มนี้ช่วยย่อยประเด็นทางการเมืองที่ซับซ้อนให้เข้าใจง่าย และไม่เพียงพูดถึงข้อเสียของระบบทุนนิยมแต่อธิบายเหตุและหาทางออกด้วย

นอกจากนั้น ยังสนใจการ de-individualise art หรือให้ความสำคัญแก่กลุ่มและชนชั้น ไม่ใช่ปัจเจกชน นั่นคือ แสดงจุดยืนโดยวาดรูปคนให้เรียบง่ายจนกระทั่งไร้ใบหน้า ซึ่งก็เหมือนกับการที่ระบบทุนทำกับกรรมกร นั่นคือ ทำให้คนไร้ความเป็นปัจเจกชน

 

กลุ่มนี้ต้องการสร้างศิลปะที่มีลักษณะชนชั้นกรรมาชีพ และพัฒนาสไตล์ที่ปฏิเสธการแสดงตามแกลเลอรี่ ทุกคนเห็นงานเป็นกิจกรรมการเมือง ซึ่งทำลายการผูกขาดของศิลปะและสร้างรูปแบบใหม่ๆ หรือภาษาที่เข้าใจง่าย ทั้งหมดนี้ทำให้เกิร์ด อานซ์ ครูศิลปะที่กลายเป็นหัวหน้าแผนกกราฟิกของนอยราธหรือเวียนนามิวเซียมยึดกุมในการทำแผนภูมิแบบไอโซไทป์

อานซ์ไม่ได้ทำให้ศัตรูทางชนชั้นกลายเป็นผู้ร้ายหรือตัวตลก เขายกตัวอย่างภาพของจอร์จ กรอซ ซึ่งมักจะวาดนายทุนเป็นคนอ้วนๆ และน่าเกลียด

อานซ์บอกว่างานของเขาแตกต่างกัน “นายทุนอาจจะดูดีเป็นแฟมิลี่แมนที่มีลูกสาวสวย … งานของผมชี้ให้เห็นจุดยืนของนายทุนในระบบการผลิต จึงไม่จำเป็นต้องวาดให้น่าเกลียด”

และในขณะที่กรอซวาดรูปกรรมกรให้ดูเหมือนผู้กำลังทนทุกข์ เขาไม่เห็นด้วย กรรมกรเป็นนักปฏิวัติและ “ศิลปะของเรามีเป้าหมายเพื่อฉีกสังคมนี้ทิ้ง มันจะต้องเปิดเผยให้เห็นความขัดแย้งและชี้ทางออก ไม่ใช่แค่จบด้วยการสอนศีลธรรม”

อานซ์มักจะแบ่งงานเป็นสองระดับ โดยใช้ช่องว่างระหว่างชั้นของตึก แสงไฟกับเงามืดเป็นเครื่องช่วยแบ่งภาพ เช่น ข้างบนเป็นนายทุนกับโสเภณีในรถยนต์ แต่ข้างล่างมีกรรมกรเหมืองที่กำลังจะตาย หรือในสนามเพลาะ (1927) ที่ข้างบนเป็นทหารในเครื่องแบบ แต่ข้างล่างนั้นมีทหารที่ถูกยิงตาย

งานของเขาใช้สีขาว-ดำมาก ส่วนหนึ่งเพราะง่ายในการพิมพ์ อีกส่วนหนึ่งเพราะแสดงถึงการแบ่งขั้วความคิดทางการเมืองได้ดี

 

ใน Isotype : Design and Contexts 1925-1971, โดยคริสโตเฟอร์ เบิร์ก, เอริก คินเดล และซู วอล์กเกอร์ จะบอกว่าเดต้าวิช่วลไลเซชั่น เป็นลูกหลานของระบบภาษาภาพที่เรียกว่าไอโซไทป์ ซึ่งเกิดระหว่างสงครามโลกสองครั้ง ไอโซไทป์ต้องการให้ทุกคนได้เข้าถึงข้อมูล โดยไม่เกี่ยงว่าจะมาจากวัฒนธรรมไหน พูดอีกอย่าง มนุษย์ห้องน้ำมีกำเนิดจากการฝันถึงสังคมในอุดมคติ และมีอิทธิพลต่อเดต้าวิช่วลไลเซชั่นในวันนี้

ไอโซไทป์เป็นตัวแทนของวิชาสถิติ และสำหรับนอยราธ วิชานี้บรรจุเอาปรัชญาและศรัทธาทางเศรษฐศาสตร์ไว้มากมาย ก่อนจะยอมรับข้อนี้ต้องเข้าใจว่าในสมัยนั้นวิชานี้ไม่ได้เป็นของใหม่ แต่กำลังได้รับความนิยมมากในวงการวิชาการและสื่อมวลชน

นอกจากนั้น การที่กราฟ ตารางและไดอะแกรมหรือที่รวมเรียกว่า “สถิติแบบภาพ” (pictorial statistic) สามารถนำเสนอความจริงที่ตรงไปตรงมามากกว่าตัวเลขและตัวอักษร ทำให้นอยราธสนใจวิชานี้เป็นอย่างยิ่ง เขาเชื่อว่ามันมีความเป็น “ภววิสัยแบบกล้องถ่ายภาพ” หรือเป็นกลางอย่างที่ไม่ขึ้นต่ออคติของผู้สังเกตการณ์

นอยราธเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง logical positivism หรือแนวคิดเชิงปรัชญาซึ่งต้องการนำเอาสองสิ่งอันได้แก่ เหตุผลนิยม (ratioinalism) ที่ศึกษาสิ่งต่างๆ ผ่านตรรกะ แบบเรขาคณิตและคณิตศาสตร์ มารวมเข้ากับประจักษ์นิยม (empiricism) ที่เชื่อว่าความรู้มาจากการสังเกตปรากฏการณ์ที่เป็นจริง

นอกจากนั้น ยังต้องการนำเอาภาษารูปภาพมาแทนที่ภาษาถ้อยคำ และสร้างกราฟที่มีความเป็น “สากล” ที่ก้าวพ้นกำแพงทางภาษาและวัฒนธรรม อีกทั้งสร้างความเข้าใจที่ตรงกันสำหรับคนทั่วทั้งโลก ซึ่งคล้ายกับอุดมคติของดีไซเนอร์ในยุคโมเดิร์น

 

ในยุคก่อน นอยราธเชื่อในคุณสมบัติเชิงปริมาณ และใช้มันเพื่อนำเสนอข้อมูลและสถิติในตำรา โปสเตอร์ และนิทรรศการ ในตารางของเขา รูปรูปหนึ่งจะเป็นตัวแทนของคนหรือสิ่งของจำนวนหนึ่ง ดังนั้น เมื่อนำรูปเหล่านั้นมาเรียงกันเป็นแถว เราก็จะได้ปริมาตรของสิ่งต่างๆ ผ่านการสัมผัสหรือนับจำนวนด้วยสายตา พูดอีกอย่างหนึ่ง ใช้คุณสมบัติเชิงรูปทรงและที่ว่างของรูปภาพมาสื่อสารแทนตัวเลข

ในบทวิจารณ์หนังสือเล่มนี้ สตีเฟ่น เฮลเลอร์เรียกนอยราธว่า “มิชชันนารีแห่งข้อมูล” ซึ่งเทศน์ในนามของสถาบันไอโซไทป์ และบอกว่า หนังสือเล่มนี้ขยายความหมายของไอโซไทป์ และชี้ให้เห็นว่างานที่ไม่ใช่ตัวเลขมีบทบาทแค่ไหน ที่สำคัญ ไม่ได้เป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อ แต่เป็นงานเพื่อการศึกษา สิ่งที่กระตุ้นนอยราธจึงไม่ใช่คำถามแค่ว่าจะไปห้องน้ำได้อย่างไร? แต่เพื่อสิ่งที่ใหญ่กว่านั้น เช่น งานที่ทำให้มิวเซียมเวียนนาและสถาบันวัณโรค

“คณิตศาสตร์การเมือง” คือความเชื่อที่ว่าตัวเลขสะท้อนความจริงได้ดีกว่าและไม่เข้าใครออกใคร ดังนั้น ในขณะที่ฝ่ายขวาสร้างสโลแกนว่า รักชาติ เสียสละ และทำเพื่อส่วนรวม ซึ่งหมายความว่าฝ่ายนี้ชี้ได้ว่าอะไรจริง อะไรชั่ว อะไรดี และทำไมเราจะตัดสินเองไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งจะอ้างจำนวนผู้ที่เข้าคูหากาบัตรเลือกตั้งเท่านั้น