บทวิเคราะห์ : อารยธรรมศิวิไลซ์เข้าสู่ภาวะล่มสลายจากโลกร้อน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

“ควันบุหรี่ฆ่าคน บริษัทผลิตบุหรี่พยายามทำให้ผู้คนสับสนกับความจริง นี่แหละเป็นสิ่งชั่วร้าย แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่เพียงแต่คร่าชีวิต หากยังทำลายอารยธรรมโลก ใครก็ตามที่ทำให้สาธารณชนสับสนกับเรื่องนี้ ถือว่าชั่วร้ายอย่างสุดๆ หรือคนจำพวกนี้ไม่มีลูก-หลาน”

พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ วิพากษ์คนไม่เชื่อเรื่อง “โลกร้อน” ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส

ครุกแมนเป็นผู้คิดค้นทฤษฎีการค้าใหม่ เคยทำนายว่าเศรษฐกิจเอเชียจะเจ๊งพินาศเพราะเงินทุนจากต่างประเทศไหลออก หลังจากนั้นไม่นานเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ปั่นป่วนทั่วภูมิภาคเอเชีย

ปัจจุบัน ครุกแมนเป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัยชั้นนำ เช่น พรินซ์ตัน ลอนดอนสกูล ออฟ อีโคโนมิกส์ เขียนตำรากว่า 20 เล่ม และยังเป็นคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทม์ส

บทความของ “ครุกแมน” ได้รับการยกย่องว่าทรงอิทธิพลมากที่สุดในสื่อสิ่งพิมพ์อเมริกัน

 

“แมรี่ โรบินสัน” อดีตประธาธิบดีแห่งไอร์แลนด์และข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เป็นอีกคนที่พูดถึงปรากฏการณ์โลกร้อน

“ปรากฏการณ์โลกร้อนบ่อนเซาะทำลายความสุขในทุกระดับของสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่สิทธิของการมีชีวิต การเข้าถึงอาหาร ที่อยู่และสุขภาพ การที่ผู้คนได้รับผลกระทบอย่างเลวร้ายจากปรากฏการณ์โลกร้อนถือว่าไม่ยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง”

“โรบินสัน” เปรียบคนปฏิเสธโลกร้อนไม่มีจริงว่า ชั่วร้าย โง่เขลาเบาปัญญา เป็นหนึ่งในหญิงแกร่งที่ร่วมสนับสนุน “เกรียตา ทุนแบรย์” เด็กหญิงชาวสวีดิช ผู้ลุกขึ้นมาปลุกกระแสนักเรียนนักศึกษาทั่วโลกร่วมกิจกรรมผละทิ้งห้องเรียนในวันศุกร์เพื่อชุมนุมต่อต้านโลกร้อน

ทั้ง “ครุกแมน” และ “โรบินสัน” ตื่นรู้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลกเป็นมหันตภัยและรุกคืบทำลายอารยธรรมโลกครั้งใหม่ซ้ำรอยประวัติศาสตร์

 

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโลกร้อนชี้ว่า โลกใบนี้เกิดวัฏจักรหมุนเวียนเข้าสู่ยุคน้ำแข็งไปแล้ว 7 รอบด้วยกัน

ยุคน้ำแข็งที่ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลกทั้งการเกิดภาวะหนาวเย็นจัดจนผืนพิภพกลายเป็นน้ำแข็งและอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น อากาศร้อนจัดจนธารน้ำแข็งละลาย

ปรากฏการณ์ทั้งอากาศเย็นจัดและร้อนจัดดังกล่าวมีขึ้นเมื่อราวๆ 650,000 ปีแล้ว

ยุคน้ำแข็งครั้งล่าสุดเกิดขึ้น 11,000 ปีก่อน

จากนั้นโลกใบนี้ก็เข้าสู่ยุค “โฮโลซีน” (Holocene) เป็นช่วงที่มนุษย์เริ่มเกาะเป็นกลุ่มตั้งชุมชน เรียนรู้การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสภาพภูมิอากาศในยุคโฮโลซีนค่อนข้างคงที่ แม้จะเกิดปรากฏการณ์ยุคน้ำแข็งในช่วงระหว่าง 1,850 ปี ก่อนคริสต์ศักราช แต่เป็นยุคน้ำแข็งขนาดเล็ก (Little Ice Age) มีน้ำแข็งเฉพาะพื้นที่ ไม่ได้ปกคลุมเกือบทั้งโลกเหมือนยุคไพลส์โตซีน (Pleistocene) หรือราว 1.8 ล้านปีก่อน

ระหว่างนั้นชนเผ่ามายาอยู่ในพื้นที่ภูมิภาคอเมริกากลาง บริเวณตอนใต้ของประเทศเม็กซิโก กัวเตมาลา ฮอนดูรัส เอลซัลวาดอร์ และเบลิซ สามารถรวมกลุ่มสร้างชุมชนที่มีอารยธรรม

ชาวมายาคิดค้นอักขระ มีภาษาพูด ภาษาเขียน สื่อสารภายในชุมชน และยังคิดวิทยาการใหม่ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์

หลักฐานการเป็นสังคมอารยะของชาวมายา ได้แก่ พีระมิด วิหาร ปฏิทิน

เมื่อปีที่แล้ว คณะนักวิจัยด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยบราวน์ สหรัฐ ยิงแสงเลเซอร์จากเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินไปยังป่าทึบทางตอนเหนือของกัวเตมาลา ครอบคลุมพื้นที่ 2,100 ตารางกิโลเมตร เชื่อว่าเคยเป็นแหล่งอารยธรรมมายารุ่งเรืองที่สุด

ข้อมูลดิจิตอลที่ได้จากการยิงแสงเลเซอร์เมื่อนำมาเรียงเป็นแผนที่ คณะนักวิจัยพากันตื่นตะลึง

พื้นที่ซ่อนอยู่ใต้ผืนป่าทึบ เคยเป็นเมืองขนาดใหญ่ ประเมินจากข้อมูลมีประชากรอาศัยไม่น้อยกว่า 15 ล้านคน

รอบๆ เมืองพบแท่นหินที่เป็นรากฐานของอาคารบ้านเรือนกว่า 6 หมื่นหลัง

มีร่องรอยโครงสร้างพีระมิดขนาด 7 ชั้น ป้อมปราการ กำแพงเมือง คูน้ำ และถนนยกระดับขนาดใหญ่สำหรับใช้สัญจร

ความเจริญก้าวหน้าของอารยธรรมมายา ยิ่งใหญ่พอๆ กับอารยธรรมจีนโบราณและกรีก

แต่มีคำถามว่าทำไมสังคมศิวิไลซ์ของชาวมายาจึงล่มสลาย?

 

นักวิจัยสันนิษฐานว่า ความเจริญก้าวหน้าและประชากรมาอยู่กันอย่างแออัด ทำให้เกิดรุกป่า โค่นต้นไม้ทำลายสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ปลูกไร่เลื่อนลอยและขยายเมือง

เมื่อไม่มีป่า ไม่มีต้นไม้ สภาพภูมิอากาศในบริเวณดังกล่าวจึงเกิดการเปลี่ยนแปลง

ชาวมายาเผชิญกับภัยแล้งเป็นเวลานาน ในเมืองขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ พืชไร่แห้งตายซาก ผู้คนอดอยาก แก่งแย่งชิงอาหาร นำไปสู่ภาวะจลาจล

ที่สุดชุมชนมายาล่มสลาย ผู้คนพากันอพยพโยกย้ายถิ่นฐานไปตั้งรกรากในที่ปลอดภัยและอุดมสมบูรณ์กว่า

เช่นเดียวกับยุคเมโสโปเตเมีย ระหว่างจักรวรรดิอัคคาเดียนเข้าปกครองแผ่นดินอิรัก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรียและตุรกีฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อราวๆ 4 พันปีก่อนคริสต์ศักราช

ยุคนั้นถือว่ามีอารยธรรมรุ่งเรืองมาก แต่ปรากฏการณ์ภัยแล้งกินเวลานานถึง 300 ปี อาณาจักร “อัคคาเดียน” เปลี่ยนจากความอุดมสมบูรณ์ เป็นผืนทะเลทรายและล่มสลายในเวลาต่อมา

ส่วนอาณาจักรขอม ผู้สร้างนครวัดอันยิ่งใหญ่อลังการ และปราสาทหินมากมายหลายแห่งทั้งในฝั่งเขมรและไทย

“ขอม” เป็นแหล่งอารยธรรมรุ่งเรืองเมื่อ 3 พันปีก่อนคริสต์ศักราช ก็ถึงกาลล่มสลายเพราะสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ทั้งภัยแล้งในฤดูร้อน และช่วงมรสุมมีพายุฝนถล่มหนักหน่วง

สำหรับชาวไวกิ้ง ชนเผ่าที่อยู่ทางยุโรปตอนเหนือ และมีอารยธรรมไม่น้อยหน้ากว่าชนเผ่าใด ได้พากันไปปักหลักสร้างเมืองบนเกาะกรีนแลนด์ ใกล้ขั้วโลกเหนือ

ชาวไวกิ้งตั้งรกรากราว 5 พันครัวเรือนประสบภาวะวิกฤต เพราะสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยน

อุณหภูมิลดฮวบ ผลผลิตทางเกษตรตกต่ำ ต้องหันมาทำประมง จับปลาในทะเล แต่อากาศไม่เป็นใจ ในที่สุดสังคมไวกิ้งในกรีนแลนด์ล่มสลาย

นี่เป็นประวัติศาสตร์โลกยุคโบราณ

 

เมื่อเทียบกับอารยธรรมโลกปัจจุบัน เรากำลังเห็นเค้าลางคล้ายๆ กัน

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกคำนวณว่า ภาวะโลกร้อนเมื่อปีที่แล้วส่งผลให้ชาวโลกกว่า 62 ล้านคนได้รับความเดือดร้อน และบีบบังคับให้ 2 ล้านคนอพยพออกจากพื้นที่ประสบภัย

ตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา ชาวโลกราว 4,500 ล้านคนเจอกับสภาพภูมิอากาศแปรปรวน

ธรรมชาติส่งคำเตือนล่าสุด ได้แก่ พายุไซโคลนไอได (Cyclone Idai)

ไอไดหอบมวลฝนขนาดยักษ์เทใส่ประเทศโมซัมบิก ซิมบับเว มาลาวี จนเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ไซโคลนลูกนี้คร่าชีวิตผู้คนในทวีปแอฟริกา 746 คน บาดเจ็บกว่า 2,390 คน และอีก 2.9 ล้านคนได้รับผลกระทบไร้ที่อยู่ ไม่มีน้ำ-อาหาร

สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงกับสังคมโลกเชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกัน

วิกฤตทางสังคมที่เกิดขึ้นในสังคมศิวิไลซ์เมื่อหลายพันปีก่อน จนกระทั่งมาถึงการลุกฮือปฏิวัติในฝรั่งเศส หรืออาหรับสปริง ที่ชาวตะวันออกกลางผนึกกำลังล้มล้างผู้ปกครอง ล้วนมีต้นเหตุมาจากความเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ

ฉะนั้น ประเทศไทยอย่ามองข้ามวิกฤตโลกร้อนเป็นอันขาด