จัตวา กลิ่นสุนทร : กฎ กติกาเป็นไปตามเป้าหมาย แต่กลับยังไม่ชนะ?

เป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของ “รัฐธรรมนูญ 2560” ขณะที่ประเทศนี้ได้ว่างเว้นไปถึง 8 ปี หลังการ “ยึดอำนาจ” เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ.2557

เป็นการได้ใช้สิทธิ์ครั้งแรกของคนรุ่นใหม่ประมาณกว่า 7 ล้านคน เพื่อกำหนดอนาคต และบ่งบอกความต้องการของพวกเขา

เวลาเฉียด 5 ปีของ “รัฐบาล” (ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง) สำหรับวางแผนวางงาน จัดร่างรัฐธรรมนูญ สร้างกฎกติกาขึ้นใหม่ แต่เมื่อไม่เป็นไปตามความประสงค์ จึงได้เกิดการคว่ำร่างแรกกันเสียเอง เปลี่ยนประธานร่างคนใหม่เพื่อหาทางสกัดฝ่ายตรงข้าม และต้องการสืบทอดอำนาจให้ยาวนาน

ประธานร่างรัฐธรรมนูญคนใหม่ อาจารย์ “มีชัย ฤชุพันธุ์” (สุดยอด) ได้สนองตอบจนสำเร็จเสร็จสรรพผ่านการทำประชามติ ประกาศใช้เป็น “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560”

(ชื่อของท่านจะต้องได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์)

 

รัฐธรรมนูญ 2560 ได้สำแดงให้ปรากฏในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 โดยพรรคการเมืองใหญ่ๆ ได้กลายเป็นพรรคเล็ก และไม่มีพรรคการเมืองฝั่งไหนได้รับเลือกเข้ามาจนกระทั่งสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แต่ลำพังพรรคเดียว หรือ 2 พรรคต้องผสมกันหลายๆ พรรค

พรรค (เพื่อไทย) การเมืองที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนจนได้ ส.ส.ระดับเขตเกินกว่าพึงมีไปแล้ว จึงไม่ได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว?

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ออกแบบมาเพื่อเอื้ออำนวยให้กับฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาล “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) จนกระทั่งอดีต ส.ส. (น้ำเน่า) ที่หันไปสนับสนุนฝ่ายสืบทอดอำนาจซึ่งยินยอมถูกกวาดต้อนไปด้วยข้อเสนอต่างๆ กัน ถึงกับปราศรัยบนเวทีว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา”

ซึ่งเมื่อผลการเลือกตั้งปรากฏออกมาก็ทำท่าว่าจะเป็นจริงตามนั้น เพียงแต่พรรค “พลังประชารัฐ” (พปชร.) ซีกรัฐบาล ซึ่งก่อตั้งพรรคขึ้นมาจากการอำนวยการของใคร ท่านไหนอยู่เบื้องหลังการวางแผน จัดหาทุนมาลงขันจากกลุ่มทุนซึ่งย่อมปิดบังไม่มิด

คนไทยไม่ได้โง่เง่างมงายจนติดตามสืบรู้ไม่ได้?

 

แม้รัฐธรรมนูญจะออกแบบขึ้นมาเพื่อพรรคการเมืองที่สนับสนุน “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) ซึ่งเสนอชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แต่พอเลือกตั้งเข้าจริงๆ กลับได้ ส.ส.เข้ามาเพียงแค่อันดับ 2 ทั้งๆ ที่เป็นต่อพรรคการเมืองอื่นๆ ในทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นทุนรอนที่เรียกกันว่ากระสุนดินดำ กติกาทั้งหลายทั้งปวง แต่ยังพยายามตะแบงพูดจาหาจุดเปลี่ยนเรื่องคะแนนของผู้แพ้ ซึ่งเอามาคิดจำนวน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อว่าได้รับเลือกเข้ามามากกว่าพรรคที่ชนะที่ 1 เพื่อจะชิงจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งตัวหัวหน้าพรรคได้ออกตัวไว้ก่อนแล้วว่าไม่จำเป็นว่าจะได้รับเลือกเข้ามาเป็นที่เท่าไร ถ้าสามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้ จะจัดตั้งรัฐบาลทันที

นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นรัฐบาลรักษาการทำงานอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งทุกวันนี้ และยังต้องทำงานไปอีกนานกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ก่อนการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีออกเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อช่วยหาเสียงโดยปากก็บอกว่าไม่ได้ไปหาเสียง แต่แถขึ้นเวทีปราศรัยช่วยหาเสียงในวันสุดท้าย

ถามว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการพลเรือน กองทัพทั้ง 3 เหล่าทัพ รวมทั้งองค์กรอิสระทั้งหลาย เฉพาะ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) ซึ่งเพิ่งสรรหามาในรัฐบาลนี้ เพื่อแทนชุดเก่าซึ่งยังไม่ครบเทอม ท่านเหล่านี้จะไม่ให้ความร่วมมือสนองตอบเลยหรือ?

ในเมื่อรัฐบาลยังสามารถให้คุณให้โทษพวกท่านได้อยู่ แต่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก็ยังไม่ชนะเลือกตั้ง

เคยกล่าวไปแล้วว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถให้คุณให้โทษผู้สมัคร ส.ส. และเสนอยุบพรรคการเมืองได้ แต่นายกรัฐมนตรีซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่ในมือสามารถปลดข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และ กกต.ได้

 

รัฐธรรมนูญ (2560) แม้จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายในการทำให้พรรคการเมืองใหญ่ๆ ซึ่งเป้าหมายก็คือพรรคเพื่อไทย (พท.) ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพียงพรรคเดียว ต้องเป็นรัฐบาลผสม ขณะเดียวกันพรรคเล็กๆ ต่างได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อกระจัดกระจาย

เรื่องระยะเวลาของการประกาศรับรอง ส.ส. ขั้นตอนดำเนินงานการจัดตั้งรัฐบาลค่อนข้างจะยืดเยื้อพอสมควร ระหว่างนี้จึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากการล็อบบี้ เจรจาต่อรอง แม้กระทั่งหยิบยื่นตำแหน่งในรัฐบาล ผลประโยชน์ต่างๆ สู่พรรคการเมืองที่ ส.ส.ได้รับเลือกตั้งเข้ามามีจำนวนเป็นตัวแปรในการจัดตั้งรัฐบาล

ขณะที่ กกต.ซึ่งยังไม่ได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ออกอาการไม่ค่อยโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่หลายประเด็น เวลานี้จึงได้ตกเป็นเป้าใหญ่ต้องตรวจสอบจนถึงมีการลงชื่อถอดถอน เพราะพรรคการเมืองและประชาชนทั่วไปเคลือบแคลงสงสัยว่ากำลังจะดำเนินการอะไรกันอยู่ อาจทำให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความไม่ราบรื่น

ไม่เป็นที่ยอมรับจากต่างชาติ

 

ว่ากันว่ากติกาของการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ดำเนินไปอย่างไม่ค่อยเป็นธรรม ฝ่ายหนึ่งวางแผนเอารัดเอาเปรียบเพื่อจะได้สืบทอดอำนาจต่อไป เป็นการระดมสรรพกำลังทุกด้านผลักดันพรรคฝั่งรัฐบาลปัจจุบันให้ชนะการเลือกตั้ง หาทางเอาเปรียบทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่กติกาใหญ่ลงมาจนถึงระดมผู้คนซีกของรัฐบาลให้การสนับสนุน ผลปรากฏว่าเอาชนะประชาชนที่รักประชาธิปไตยไม่ได้

เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปชนิดหน้ามือเป็นหลังมือเมื่อคนระดับเลขาธิการพรรคที่พยายามจะสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ซึ่งเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นๆ ทั่วไปทุกรูปแบบทุกประตู คือ ฝั่งที่ประชาชนเรียกกันว่าสนับสนุนรัฐบาล “เผด็จการ” กลับจีบปากจีบคอพูดถึงพรรคตนเองว่าเป็น “ประชาธิปไตย” เพื่อหาความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล

การเลือกตั้งครั้งนี้คาดว่าอาจจบไม่ลงตามเวลาที่กฎหมายกำหนด ยังมีเวลาแย่งชิงการจัดตั้งรัฐบาลจาก 2 ขั้วจนกว่า กกต.จะประกาศรับรองผลอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องตัวเลขจำนวน ส.ส.ขึ้นได้ แต่ย่อมจะไม่พ้นการตรวจสอบจากพรรคการเมืองและประชาชน

ถึงวันนั้นความยุ่งยากวุ่นวายจะติดตามมา และ กกต.ไม่พ้นจะต้องตกเป็นจำเลยสังคม หรือกระทั่งเป็นจำเลยในการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากการจัดเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าชะตากรรมอาจจะไปเหมือนกับ กกต.รุ่นพี่

รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำลังพ่นพิษกับการได้มาของจำนวน ส.ส.ที่ไม่มีพรรคการเมืองฝั่งไหนชนะกันแบบเด็ดขาด ยากแก่การจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ซึ่งไม่เป็นผลดีกับใครเลยโดยเฉพาะประเทศชาติ

ฝั่งหนึ่ง (เพื่อไทย+อนาคตใหม่+เสรีรวมไทย+เศรษฐกิจใหม่+ประชาชาติ+เพื่อชาติ+พลังปวงชนไทย) สามารถรวมกันจัดตั้งรัฐบาล เพื่อหยุดการสืบทอดอำนาจของ คสช.โดยมีเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง (255) ของ 500 แต่เสียงกลับไม่พอในการโหวตนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องใช้เสียงเกิน 375 เป็นกึ่งหนึ่งของ 750 เมื่อบวกรวมวุฒิสมาชิก (ลากตั้ง) 250 คน

ส่วนอีกฝั่งซึ่งสนับสนุนการสืบทอดอำนาจจะประกาศจะจัดตั้งรัฐบาลด้วยเช่นเดียวกัน นำเอาพรรคที่ได้เลือกตั้งมารวมกันแต่ได้ไม่เกินครึ่งหนึ่งของ 500 แต่กลับมี ส.ว.จำนวน 250 มาช่วยโหวตให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งย่อมไม่เป็นผลดีกับประเทศชาติประชาชนเช่นเดียวกัน

ไม่รู้เหมือนกันว่าบ้านเมืองจะเดินทางมาถึงทางตัน เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งทำให้ผลการเลือกตั้งออกมาก้ำกึ่งกัน และต่างฝ่ายต่างแย่งกันจัดตั้งรัฐบาล

 

มีกระแสข่าวจากคนระดับร่ำรวยเฮงซวยบางคน หรือกลุ่มหนึ่ง ว่าบ้านเมืองอาจวกกลับไปยังจุดเดิม เหมือนเดือนพฤษภาคม 2557 อีกครั้ง ฟังดูค่อนข้างจะเบื่อ สิ้นหวัง และเศร้าใจ แต่เมื่อพยายามพูดคุยกับผู้คนมากมาย ค้นหาเหตุผลจากประสบการณ์ ไม่อาจเชื่อได้ว่าประเทศนี้จะกลับไปถูกปกครองโดย “รัฐบาลเผด็จการ” อีกต่อไป

เพราะประชาชนเฉลียวฉลาด อำนาจของประชาชนไม่ได้แตกต่างจากผู้มีอำนาจ ความเป็นไปกลไกต่างๆ ในสังคมโลกทุกวันนี้ผลักดันเอื้ออำนวยให้ประชาชนรักษาสิทธิ เสรีภาพของเขาด้วยชีวิต

ประชาชนคงไม่คิดว่าธุระไม่ใช่ และยอมจำนนง่ายๆ อีกต่อไป